เกษตรกรต้นแบบ

"สง่า มาลัยทัต : ผู้อนุรักษ์สายพันธุ์ไก่แจ้ไทย"

 03 กรกฏาคม 2560 18,065
จ.กรุงเทพมหานคร
ยิ่งให้ยิ่งได้
แบ่งปันและรวบรวมพันธุ์ไก่แจ้ไทย
เพื่อการอนุรักษ์
ให้เป็นมรดกของลูกหลานเราสืบไป

สง่า มาลัยทัต ผู้รวบรวมสายพันธุ์ไก่แจ้ไทยมากที่สุดถึง11 สายพันธุ์

การเลี้ยงไก่แจ้ไทยควรเริ่มต้นจากแหล่งเพาะพันธุ์ที่ไว้ใจได้มีความรู้และเชี่ยวชาญ มั่นใจได้ว่าเป็นสายพันธุ์แท้เพื่อป้องกันการถูกหลอก หรือความไม่แม่นของผู้ขายว่าดูสีเป็นหรือไม่ สำหรับคนที่ต้องการเลี้ยงไก่แจ้ไทยควรมีเวลาอย่างน้อยสัก 1-2 ชั่วโมงต่อวัน ในการดูแลให้ความรักความเอาใจใส่ได้ลูบได้สัมผัสเขาจะเชื่องรู้ภาษา การเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยงนั้น อย่าเลี้ยงเยอะเอาแค่พอประมาณเพราะไม่อย่างนั้นเราจะดูแลไม่ทั่วถึง

หลักคิดของคนเลี้ยงไก่. . .
การที่ทุกวันนี้หลายคนนิยมเลี้ยงไก่แจ้สากลหรือไก่แจ้ต่างประเทศอาจจะเลี้ยงเพื่อต้องการถ้วย ,ชื่อเสียง ,เงินจากไก่โดยหลงลืมความเป็นไทยทำให้ไก่แจ้ไทยจะค่อยๆสูญพันธุ์ไปในที่สุด ทุกวันนี้มีคนถามผมว่าเลี้ยงไปทำไมมีค่าใช้จ่ายไม่ต่ำกว่าเดือนละ 5,000-6,000 บาทเป็นอย่างต่ำไม่ได้อะไรจากไก่เลย สำหรับผมแล้วสิ่งที่ได้คือความสุข ความสุขจากการเป็นผู้ให้ โดยเฉพาะเด็กๆการให้ไก่แจ้ไทยไปเลี้ยงถ้าเด็กชอบจริงๆรักจริงเขาเอาไปเลี้ยงเพาะขยายพันธุ์นั่นเป็นการช่วยอนุรักษ์สายพันธุ์ไก่แจ้ไทยให้คงอยู่คู่กับเราไปอีกนานแสนนาน

คุณสง่าเลี้ยงไก่มานานแค่ไหน...
การเลี้ยงไก่เป็นงานอดิเรกในวัยเด็กในสมัยที่กรุงเทพฯยังไม่แออัด วัยรุ่นแถวบ้านมักนิยมเลี้ยงไก่แจ้ ไก่ชน ซึ่งตัวคุณสง่า มาลัยทัตก็เป็นเช่นนั้น เขาหลงรักไก่แจ้สายพันธุ์ไทยมาตั้งแต่เยาว์ แต่มีอันต้องเลิกเลี้ยงไปชั่วคราวเมื่อในเมืองหลวงไม่เอื้ออำนวยในเรื่องพื้นที่การเลี้ยง จนเมื่อตัดสินใจย้ายครอบครัวออกจากเมืองหลวงมาอยู่ที่คลอง 12 เขตหนองจอกเพื่อมาทำธุรกิจขายเนื้อซึ่งเป็นธุรกิจของครอบครัวพื้นที่กว้างขวางทำให้คุณสง่า หันกลับมาเลี้ยงไก่แจ้อีกครั้งโดยเป็นการเลี้ยงไก่แจ้เพื่อการอนุรักษ์สายพันธุ์ดั้งเดิม คุณสง่า มาลัยทัต เป็นหนึ่งในไม่กี่คนของประเทศไทยที่ได้สะสมรวบรวมสายพันธุ์ไก่แจ้ไทยมากที่สุด 11 สายพันธุ์จากทั้งหมด 12 สายพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทย

เมื่อ 3 ปีก่อนคุณสง่าเห็นว่าไก่แจ้สวยงามจากต่างประเทศได้รับความนิยมสูงมากแต่กับไก่แจ้สายพันธุ์ไทยกำลังจะค่อยๆเลือนหายไปจากสังคมไทย จึงอยากจะกลับมารวบรวมมรดกภูมิปัญญาของคนรุ่นก่อนไม่ให้หายไปจากเมืองไทย “ไก่แจ้สายพันธุ์ไทยเป็นไก่ที่สวยงาม จะน่าเสียดายมากถ้าชาวต่างชาติเอาไปจดลิขสิทธิ์เหมือนข้าวหอมมะลิ ,แมวไทย,เปล้าน้อย ทั้งๆที่มันคือมรดกที่คนรุ่นปู่ย่าตายายเป็นคนทำขึ้นมา” จึงเป็นที่มาของการกลับมาเลี้ยงไก่แจ้ไทยเพื่อการอนุรักษ์

พันธุ์ไก่แจ้ที่สวยงามน้อยนักที่จะได้เห็น

การเพาะพันธุ์ไก่แจ้ไทย
ไก่แจ้สายพันธุ์ไทยนับเป็นมรดกภูมิปัญญาและวัฒนธรรมของชาวไทยที่ควรค่าแก่การอนุรักษ์ให้คงอยู่คู่กับประเทศนี้ตามตำราของคนโบราณ ไก่แจ้ไทยมีทั้งหมด 12 สีได้แก่ ไก่แจ้สีเบญจรงค์,ไก่แจ้สีโนรี,ไก่แจ้สีไก่ป่าเหลือง,ไก่แจ้สีกาบหมาก,ไก่แจ้สีกาบอ้อย,ไก่แจ้สีประดู่,ไก่แจ้สีไก่ป่าหูขาว,ไก่แจ้สีเหลืองดอกโสน,ไก่แจ้สีไก่ป่าเข้ม,ไก่แจ้สีเหลืองหางขาว,ไก่แจ้สีเหลืองลูกปลา,ไก่แจ้สีสร้อยสุวรรณ อายุไก่แจ้ไทยถ้าเลี้ยงให้ดีสามารถอยู่ได้เป็นสิบปี

การคัดเลือกพ่อ-แม่พันธุ์ไก่แจ้มีคำจำกัดความดังนี้ “ หน้าดี สีสวย กระรวยตั้ง หางดก อกกลม สมส่วน ควรอนุรักษ์” การเพาะพันธุ์ไก่แจ้ไทยเมื่อเลือกสายพันธุ์แท้ลักษณะดีควรมีดังนี้ หน้าใหญ่ จักรหงอนลึกมีช่องไฟห่างพอดี 4-5 จักร ,สีถูกต้องตามสายพันธุ์ ระย้าดกยาว หางตั้งตรง ,อกใหญ่ หลังสั้น กระเบนหางใหญ่และหางบาน ,ขากลางถึงยาว แข้งขาใหญ่อยู่สูงจากพื้นราว 1 ข้อนิ้วมือ

ผ่านการดูแลให้ความรักความเอาใจใส่

นอกจากลักษณะที่ดีแล้วควรจะดูพ่อ,ปู่,ย่า,พี่,น้องด้วยว่ามีลักษณะ สีสันเหมือนกันหรือไม่ ถ้าเหมือนกันแสดงว่าสายพันธุ์นิ่งแล้ว จากนั้นนำพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์มาผสมพันธุ์กัน เมื่อได้ไข่ให้นำออกมาไว้นอกกรงเพื่อรอเข้าตู้ฟัก การทำลักษณะนี้จะเป็นการกระตุ้นให้แม่ไก่ออกไข่เพิ่มมากขึ้น สำหรับประสิทธิภาพการฟักถ้าฟักตามธรรมชาติย่อมดีกว่าการฟักด้วยตู้ไฟให้ความอบอุ่นฟัก หลังจากที่ได้ลูกเจี๊ยบแล้วต้องเข้ากรงอนุบาลเปิดไฟให้ความอบอุ่น หลังจากไก่อายุ 1 เดือนไปแล้วทำวัคซีนรวมให้กับไก่ทุกตัวเป็นการป้องกันโรคต่างๆในไก่ การทำวัคซีนควรทำปีละ 1 -2 ครั้ง การเพาะเลี้ยงไก่แจ้มิใช่จะสมบูรณ์100% ในทุกครั้ง ในแต่ละครั้งอาจมีตรงตามสายพันธุ์ดั้งเดิมเพียงร้อยละ 10 เท่านั้นหรือบางครั้งอาจไม่มีเลยก็มี การจะดูว่าตรงสายพันธุ์ตามตำรารอบแรกจะดูที่ขาสั้นได้มาตรฐาน รอบที่ 2 รอดูหาง เลือกตัวที่หางได้ทรงสวย สุดท้ายเรื่องสีสันประจำพันธุ์อาจต้องใช้เวลา 6-7 เดือนเลยทีเดียว กว่าจะได้ไก่สายพันธุ์แท้ 100 ตัวอาจได้ไม่ถึง 10 ตัว ซึ่งความยากของการเพาะพันธุ์ไก่แจ้ไทยนั้นไม่ได้มีหลักประกันเลยว่าถ้าพ่อแม่สวยลูกจะต้องสวยเหมือนกัน

สำหรับไก่พื้นเมืองตราเอราวัณ อาหารเสริมมีข้าวเปลือก สำหรับไก่เล็กจำเป็นต้องใช้เครื่องบดให้ละเอียดเพื่อไก่เล็กจะได้จิกกินอย่างสะดวก การให้อาหารจะให้วันละครั้งในช่วงเย็น

เกียรติประวัติและผลงาน
สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระราชทานรางวัลชนะเลิศยอดเยี่ยม การประกวดไก่แจ้ ประเภทไก่สีสากลโตเต็มวัย เพศผู้ เนื่องงานวันมหิดลคนรักสัตว์ ครั้งที่ 12 วันที่ 28 กุมภาพันธุ์ 2559 ณ มหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา

รางวัลยอดเยี่ยม งานประกวดไก่แจ้ การกุศล ประเภท ไก่ใหญ่เพศผู้ วันที่ 8 มกราคม 2560 โดยสมาคมส่งเสริมผู้เลี้ยงไก่แจ้แห่งประเทศไทย

รางวัลแห่งความภูมิใจ ที่ได้มาเพราะใจรัก

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณสง่า มาลัยทัต บ้านเลขที่ 4/1 แขวงคลอง12 หมู่ 8 เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร 10530

สง่า มาลัยทัต ผู้อนุรักษ์สายพันธุ์ไก่แจ้ไทย

เคล็ดลับเพาะพันธุ์ไก่แจ้ไทย

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด