เกษตรกรต้นแบบ

"ไพโรจน์ ตะเพียนทอง : ทำนาข้าวปลอดภัยเพื่อคนที่รัก ยึดหลักพึ่งตนเองตามแนวพ่อ"

 31 พฤษภาคม 2560 5,988
จ.ปทุมธานี
คิดจะทำอะไรที่ยังไม่เคยทำ
ก็ลองเปิดใจ
แล้วจะรู้ว่าทุกอย่าง
ไม่ได้ยากอย่างที่คิด

ไพโรจน์ ตะเพียนทอง เกษตรกรที่ปรับเปลี่ยนวิธีการทำนา เพื่อสุขภาพที่ดี

เกษตรกรในอดีตนั้นยึดติดกับการทำนาข้าวแบบพึ่งพาสารเคมีตลอดมาจนปัจจุบัน ซึ่งทุกวันนี้ผู้บริโภคและคนรุ่นใหม่หันมาใส่ใจสุขภาพและตระหนักถึงภัยที่ซ่อนอยู่ของการสะสมสารเคมีในร่างกาย คุณไพโรจน์ ตะเพียนทอง ชาวนารุ่นใหม่จากจังหวัดปทุมธานีก็เล็งเห็นถึงความสำคัญในข้อนี้ดี จึงพยายามที่จะปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาจากนาสารเคมีมาเป็นการทำนาข้าวแบบปลอดภัย ซึ่งการทำนาข้าวปลอดสารเคมีนี่เองที่ผู้บริโภคกำลังให้ความสำคัญและเป็นตลาดข้าวเพื่อสุขภาพที่กำลังขยายตัว และกำลังขยายตัวเลขรายได้ให้กับคุณไพโรจน์

หวนสู่ท้องนา...
คุณไพโรจน์ ตะเพียนทอง หรือโรจน์ ชาวนา อ.คลองหลวง จ. ปทุมธานี จบชั้น ปวส.สาขาการไฟฟ้า หลังจากเรียนจบออกมาคุณโรจน์ก็เข้าทำงานด้านไฟฟ้าที่โรงงานแห่งหนึ่ง แต่ทำไปได้สักพักก็รู้สึกว่าการงานที่ทำอยู่มันไม่มีอะไรยั่งยืน ต้องอยู่ในกรอบ ไม่มีอิสระ ประจวบกับตอนนั้นคุณพ่อของคุณโรจน์เองก็เริ่มที่จะทำนาไม่ไหว คุณไพโรจน์จึงตัดสินใจที่จะออกจากงานมาสานต่องานทำนาจากพ่อ

“ผมอยู่กับนามาตั้งแต่เด็ก ก็ได้วิชาความรู้มาโดยธรรมชาติ สมัยก่อนการทำนานั้นรายได้น้อย ชาวนาก็ยังจนอยู่เหมือนเดิม แต่ในปัจจุบันนี้การทำนาที่ทันสมัยทำให้เราสามรถที่จะทำนาได้ปีละ2ครั้ง ขอแค่ระบบน้ำดี มีแหล่งน้ำใกล้ๆ ข้าวในสมัยนี้มีหลายสายพันธุ์ครับ ก็สะดวกในการเลือกทำให้ตรงกับสภาพภูมิประเทศและฤดูกาล” ข้าวที่คุณโรจน์เลือกปลูกนั้นเป็นข้าวพันธุ์ กข57 เพราะว่า กข57นั้น ช่วงออกรวงจะเป็นช่วงหน้าหนาว สามารถต้านทานโรคได้ดี หากเป็นพันธุ์อื่นข้าวจะไม่ออกหรือไม่ก็ได้เมล็ดที่ลีบ

นาข้าวที่เจริญเติบโตด้วยดินที่มีคุณภาพ

“การปลูกข้าวนี่เราต้องรู้ว่า ข้าวพันธุ์ไหนเหมาะจะปลูกช่วงเวลาไหน เหมาะกับสภาพพื้นที่แบบไหนด้วยครับ ถ้าเราศึกษาดีๆทำอย่างรอบคอบ การทำนาเป็นอาชีพก็ทำให้เราสามารถอยู่ได้อย่างสบาย เมื่อก่อนผมทำงานโรงงานได้เงินเดือนเดือนละหมื่นกว่าบาท แต่ค่าใช่จ่ายเยอะ ไหนจะค่ารถ ค่าอาการ ค่าใช้จ่ายระหว่างไปทำงาน หักรายจายออกเดือนนึงก็เหลือเงินไม่เท่าไร่ที่ผม ผมทำนานี่ก็ได้เดือนละหมื่นกว่าบาท หลายคนอาจจะมองว่าทำนาเยอะ 20กว่าไร่ เฉลี่ยได้เดือนหมื่นกว่าไปทำงานโรงงานดีกว่า แต่มองมุมกลับ 20 ไร่ ผมทำนาผสมผสาน กล้วยที่มีอยู่ขายได้เท่าไหร่ พริกนี่ผมเก็บ 2ครั้งได้แล้ว2-3ร้อย อีกหน่อยตะไคร้ผมก็ขายได้ หม่อนผมก็มีก็ขายได้อีก ทำไมต้องเสียเวลากับการทำงานโรงงานตั้งกี่ชั่วโมงต่อวัน”

คุณไพโรจน์บอกว่าการทำนานั้นจะหนักจริงๆอยู่ที่ช่วงแค่5-6วันแรก นอกจากนั้นก็เดินแค่ดูเช้าเย็นเท่านั้นเอง ส่วนเวลาที่เหลือก็จะมีเวลาทำอย่างอื่นอีกที่สามารถสร้างรายได้

“ระยะเวลาในการทำนา 4เดือน ผมได้ 8หมื่นอันนี้ผมถือว่าเป็นเงินเก็บ ส่วนพวกเรื่องค่าน้ำค่าไฟก็เอาจากพวกพืชผักต่างๆที่ปลูกเสริมไว้นั่นแหละครับ ตอนทำงานโรงงานผมไม่มีเงินเก็บเลยด้วยซ้ำ”

เหตุใดชาวนาควร ลด ละ เลิก สารเคมี...
การปลูกการดูแลข้าวนั้น คุณโรจน์บอกว่า คนสมันก่อนมักจะใช้การปลูกด้วยสารเคมีเป็นหลัก ซึ่งจะมีตารางการทำนาอย่างเป็นขั้นเป็นตอนเลยทีเดียว อย่างเช่นพอหว่านข้าวเสร็จอีก 2 วันก็ฉีดยาคุมดิน แล้วปล่อยทิ้งไว้ให้แห้ง 14-15 วัน ก็ฉีดยาฆ่าย่าวัชพืชอีกเที่ยว ผ่าน 3 ก็วันปล่อยน้ำเข้านาให้ท่วมยอดหญ้าตาย พอ20-25วัน ชาวนากเริ่มใส่ปุ๋ยเคมี ในอัตรา ไร่ละ25กิโลกรัม

“มันเป็นตารางตายตัวเลยครับ การทำนาสมัยก่อน อย่างพอเค้าพอใส่ปุ๋ยแล้วข้าวมันงามโรคแมลงก็มา ต้องฉีดยาฆ่าแมลงมันก็กลายเป็นรายจ่ายของชาวนาหลังฉีดฆ่าเสร็จ พอข้าวอายุได้ 40-50 วันก็ใส่ปุ๋ยบำรุงอีกเที่ยว ทีนี้ก็หนักเลยมีแมลงอีกแล้ว พอต้นข้าวใหญ่ขึ้นก็จะมีเชื้อรา ต้องมีย่าฆ่าเชื้อราอีกตัว ยังไม่หมดนะพอข้าวท้องได้เต็มที่ก็จะมียาอีกตัวเป็นยาน้ำขาวสารพัดที่มีมา ค่าใช้จ่ายในการทำนา รวมที่ฉีดๆแล้วก็เป็นเงินไม่ใช่น้อย”

เมื่อสารเคมีราคาแพงก็ต้องรู้จักปรับตัว

เมื่อเห็นว่าเป็นอย่างนั้น คุณโรจน์ก็เลยหาวิธีในการทำนาข้าวให้ลดต้นทุนให้ได้มากที่สุด ด้วยการลดการใช้สารเคมี พวกปุ๋ยเคมี

“ตอนที่ผมเกี่ยวข้าว ผมจะไม่เผาฟางแล้ว ผมเลือกที่จะหมักฟางไว้ ตีๆแล้วหมักฟางไว้ หมักแบบธรรมชาติ ตีเสร็จก็เอารถเล็กมาย่ำให้เต็ม แล้วก็ย่ำซ้ำอีก จนเกิดเลน เกิดการเน่า ถึงค่อยทำนา ผมทำแบบนี้มา2ปีแล้วครับ ก็ช่วยลดต้นทุนไปได้ระดับหนึ่ง นี่คือข้อแตกต่างของการทำนาสมัยใหม่กับแบบเก่า”

ตอนที่เริ่มทำนาแรกๆนั้น คุณโรจน์ยังมองไม่เห็นกำไรจากการทำนาสักเท่าไหร่ เพราะตอนนั้นคุณโรจน์พึ่งสารเคมีซึ่งทำให้ปริมาณข้าวได้ดีกว่าเยอะ แต่สารเคมีทำให้ร่างกายเสื่อมโทรม ปีหลังๆคุณโรจน์จึงพยายามที่จะเรียนรู้ให้มากขึ้น การใช้สารเคมีในการทำนาก็ลดลง

“ช่วยลดต้นทุนได้เยอะเลยจากที่เราต้องซื้อพวกสารเคมีก็ไม่ได้ซื้อแล้ว ยาฆ่าเมลงนี่ไม่ฉีดเลยครับ ปล่อยตามมชาติ พวกแมลงก็มีไม่มาก แต่ถ้าหนักหน่อยผมก็จะมีใช้ เชื้อราบิวเวอเรีย กับไตรโคเดอร์ม่า พวกนี้เป็นสารชีวภาพไม่เป็นอันตรายต่อข้าวและสุขภาพ แต่กำจัดแมลงได้ชะงัดครับ คือต้องศึกษาด้วย ผมโชคดีได้นักวิชาการเกษตรจากเกษตรอำเภอแนะนำมา ก็ได้ความรู้มาปรับเปลี่ยน วิธีการทำนาอย่างปลอดภัย ตอนนี้จากชาวนาเคมี ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นทำนาแบบปลอดภัย วันข้างหน้าผมคิดว่าต่อไปก็จะเป็นเกษตรอินทรีย์เต็มตัวครับ”

การปลูกข้าวปลอดสารพิษ...
การปลูกข้าวปลอดสารพิษนั้นคุณไพโรจน์บอกว่าต้องให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกพันธ์ข้าวให้เหมาะกับพื้นที่ โดยส่วนใหญ่แล้วก็ๆไม่ได้ยุ่งยาก พันธุ์ข้าวและเมล็ดพันธุ์ก็ใช้พันธุ์ข้าวตามความต้องการของตลาด

“เรื่องการเตรียมดินและวิธีปลูก ผมจะใช้วิธีปักดำเพื่อสะดวกในการกำจัดวัชพืช มันจะกำจัดง่าย การเตรียมดินก็ใช้รถแทรกเตอร์หรือรถไถนาแบบเดินตามครับ” คุณไพโรจน์บอกว่าจะไถดะเตรียมดินช่วงเดือนเมษายน - พฤษภาคม จากนั้นก็ตกกล้าในเดือนมิถุนายน - กรกฎาคม แล้วไถแปรคราดน้ำขัง แล้วถอนกล้าข้าวมาปักดำในเดือนกรกฎาคม – เดือนสิงหาคม

การจัดการความอุดมสมบูรณ์ของดิน ในเบื้องต้นคุณไพโรจน์มีการไถกลบตอซังข้าวในนา นำฟางข้าวมาทำเป็นปุ๋ยหมักผสมกับปุ๋ยคอกแล้ว นำกลับไปใส่ในนา ซึ่งในนาปักดำควรปลูกพืชปุ๋ยสดร่วมด้วย โดยหว่านเมล็ดพืชปุ๋ยสดประมาณ 2 เดือนก่อนปักดำเพื่อ ให้พืชปุ๋ยสดเจริญเติบโตและสะสมน้ำหนักแห้ง ในปริมาณที่มากพอ ซึ่งชนิดพืชปุ๋ยสดที่มีศักยภาพสำหรับปลูกเป็นปุ๋ยพืชสดก่อนนามีหลายชนิด เช่นถั่วเขียว ถั่วพุ่ม ถั่วพร้า โสนอัฟริกัน ถั่วขอ เป็นต้น

การควบคุมน้ำและควบคุมวัชพืช “การทำนาดำช่วยควบคุมวัชพืชได้เป็นอย่างดี รวมทั้ง การดูแลคันนาเพื่อ รักษาระดับน้ำขังในนาให้พอดีกับการเจริญเติบโตของข้าว ก็เป็นการควบคุมวัชพืชอย่างได้ผลครับ” คุณไพโรจน์กล่าวเสริม

การจัดการก่อนและหลังเก็บเกี่ยว คุณไพโรจน์บอกว่าคุณภาพของข้าวได้รับผลกระทบจากขั้นตอนนี้มาก โดยเฉพาะจากการตกของฝนช่วงก่อน – หลังการเก็บเกี่ยว อย่างไรก็ตาม การจัดการแบบดั้งเดิมก็ใช้ได้ผลดี คือ ระบายน้ำออกมาให้แห้งพอดี ในช่วงที่ข้าวสุกก็ใช้คนเก็บเกี่ยวแล้วตากสุ่มซัง 34 วัน หลังจากนั้น นำมารวมกองไว้รอคนนวดหรือใช้เครื่องนวด กองไว้ไ ด้น้านกว่า 30 วัน โดยข้าวยังคงมีคุณภาพดี “การใช้เครื่องนวดข้าวจะต้องระวังกรณีที่เปลี่ยนจากข้าวเหนียวเป็นข้าวเจ้านะครับ เพราะจะเกิดการปนของข้าวที่ติดอยู่ในเครื่องนวด เราต้องเป่าหรือล้างทำความสะอาดเครื่องนวดก่อน” คุณไพโรจน์บอกอีกว่า ข้าวเปลือกที่ได้จะมีความชื้นเฉลี่ย 13 – 15 % ตามมาตรฐาน นำไปเก็บรักษาในยุ้งฉาง

หลักคิดในการใช้ชีวิตที่คุณไพโรจน์ใช้ควบคู่ไปกับการประกอบอาชีพก็คือคุณไพโรจน์นั้นจะยึดหลักพึ่งพาตนเอง “การไปพึ่งคนอื่นมันไม่ยั่งยืน ไปเป็นลูกจ้างเค้าไม่รู้ว่าเมื่อไหร่เขาจะไล่ออก ชีวิตเราแต่ต้องใช้กฎของคนอื่นผมว่าไม่มีความสุข พึ่งพาตนเองให้ได้เป็นสิ่งที่แน่นอนกว่า”

สุดท้ายนี้คุณไพโรจน์มีข้อเสนอแนะสำหรับคนที่สนใจอยากเปลี่ยนอาชีพมาทำนาปลูกข้าวไว้ทานเองหรือเพื่อเป็นธุรกิจ “สำหรับข้อเสนอแนะกับคนที่อยากมาทำนานะครับ ผมว่าสมัยนี้การเป็นชาวนาไม่ใช่เรื่องน่าอาย มันเป็นเรื่องที่น่าภาคภูมิใจต่างหากครับ ดูอย่างคนที่เค้าได้ซื้อข้าวกิน เค้าก็คงอิจฉาเราอยู่ในใจว่าเราทำข้าวกินเอง มีข้าวโดยไม่ต้องซื้อ คนที่อยากมาทำเกษตรที่อาจไม่ใช่แค่เรื่องข้าว สิ่งสำคัญก่อนทำคือ ริเริ่มวางแผน ปลูกอะไรสักอย่างก่อนซักหนึ่งปี ถ้าไปได้ดีแล้วค่อยออกจากงานประจำ เพราะถ้าออกมาเลยโดยไม่มีอะไรรองรับมันเสี่ยงเกินไป อยากให้กลับมาทำเกษตร มาช่วยพ่อแม่ อยู่ใกล้กับพ่อแม่ดีกว่าครับ”

จากชาวนาเคมี ตอนนี้ก็ปรับเปลี่ยนมาเป็นทำนาแบบปลอดภัย

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

นายไพโรจน์ ตะเพียนทอง
เลขที่ 41 หมู่ที่ 16
ตำบลคลองสี่ อำเภอคลองหลวง
จังหวัดปทุมธานี 12120

ทำนาข้าวปลอดภัยเพื่อคนที่รัก ยึดหลักพึ่งตนเองตามแนวพ่อ

ทำนาไม่เผาฟาง ปลูกปอเทืองเสริมเพิ่มธาตุอาหารในดิน

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด