เกษตรกรต้นแบบ

"นัยนา ช่างทอง : เส้นทางของคนไม่ยอมแพ้ ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ สู่ชีวิตที่ดีขึ้น"

 22 พฤษภาคม 2560 5,974
จ.ปทุมธานี
อย่าไปอะไรมากกับชีวิต
ชิวิตไม่ควรจะเครียด
ทำไปตามความรู้สึกและให้มีความสุขก็พอ
แล้วทุกอย่างก็จะดี

คุณนัยนา ช่างทอง ยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ปี 2559 จากจังหวัดปทุมธานี

ข้าวไรซ์เบอรี่ เป็นข้าวที่ชาวนาหันมาสนใจปลูกกันมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็นสายพันธุ์ข้าวที่สร้างความตื่นตัวในตลาดข้าวเพื่อสุขภาพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งข้าวไรซ์เบอรี่ นี้มีคุณสมบัติเด่นทางด้านโภชนาการมากมาย คุณนัยนา ช่างทอง ชาวเกษตรจังหวัดปทุมธานีก็เป็นอีกคนหนึ่งที่หันมาสนใจการทำข้าวไรซ์เบอรี่ และจุดเริ่มต้นนั้นก็มาจากความที่คุณนัยนาต้องการให้คนในครอบครัวมีสุขภาพที่ดีและส่งผลไปถึงการมองเห็นโอกาสในการสร้างรายได้อย่างเป็นกอบเป็นกำลังให้กับคุณนัยนา

คุณนัยนา ช่างทอง เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ปี2559 จากจังหวัดปทุมธานี ซึ่งก็ถือว่าเป็นน้องใหม่ของวงการนาข้าว ก่อนหน้าที่จะมาปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ คุณนัยนาเคยทำบ่อปลาดุกมาก่อน “ตอนนั้นก็ทำอยู่ 38 บ่อ รายได้ตอนแรกๆนั้นก็ดี แต่พอไปๆมากลับ ได้ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะปลาในบ่อเราหายบ่อย ก็เป็นอุปสรรคอย่างหนึ่ง อีกปัญหาอีกอย่างก็คือกับลูกค้าบางรายที่ได้ปลาเราไปแล้วกลับให้เช็คเด้งมา พอเจอบ่อยเข้าก็ ขาดทุนเยอะ” คุณนัยนาเล่าถึงประสบการที่ไม่ดีนักในการทำธุรกิจบ่อปลา แต่เรื่องที่น่าตกใจก็คือตัวเลขการขาดทุนของคุณนัยนานั้นสูงถึงแปดล้านบาท “ประสบการของเราที่ยังมีไม่มากด้วย เพราะรับช่วงต่อมาจากพ่อ ความเชี่ยวของเราก็ไม่ทันต่อปัญหาที่เข้ามา ก็เลยปรึกษากับครอบครัวว่าจะเลิกทำบ่อปลาแล้ว”

เริ่มจากตัวเราก่อน...เมื่อเหลือจึงแบ่งปัน
ปัจจุบันการเปลี่ยนมาทำนาข้าวของคุณนัยนานั้นก็ไม่ได้ราบรื่นตั้งแต่แรกซะทีเดียว เพราะตอนที่กลบดินปิดบ่อปลากลับมานั้น แรกๆคุณภาพดินก็ยังไม่ดีเท่าที่ควร ก็ต้องปรับกันอยู่พักใหญ่ รวมถึงปัญหาที่เพิ่งเริ่มปลูกข้าวกันใหม่ๆ ที่ต้นอ่อน จะเจอพวกแมลงเยอะมาก พอโตมาหน่อยเจอ ลมมาต้นก็ลม ไม่ได้ข้าว คุณนัยนาก็ยังไม่ท้อและพยายามที่จะศึกษาปรับเปลี่ยนวิธี “ตอนนั้นยังทำข้าวขาวอยู่ ยังไม่ได้ทำไรซ์เบอรี่ ทำข้าวขาวก็มีขาดทุนบ้างกำไรบ้างมันไม่เป็นชิ้นเป็นอัน” คุณนัยนายังเล่าต่อว่าก็ยังพยายามทำให้ดีมาเรื่อยๆ ทุกอย่างก็ดีขึ้น รู้มากขึ้น ปัญหาก็ลดลง ข้าวกำลังสวย หลังจากนั้นปี54 น้ำเกิดท่วมเขื่อนแตก ข้าวที่จะได้ตังอยู่แล้วพอน้ำมาข้าวก็ไปหมดเลย “ท้ออยู่เหมือนกันนะ ก็เป็นหนี้ใหม่อีก วันหนึ่งเรานั่งฟังวิทยุ ได้รู้เรื่องข้าวไรเบอรี่ เห็นว่ามันมีประโยชน์ เลยไปหาข้าวไรเบอรี่มา คือตอนนั้นพ่อเป็นเบาหวานด้วย แต่พอทานข้าวไรซ์เบอรี่ แล้วสุขภาพดีขึ้น ก็เลยตั้งใจอีกครั้งลองหันมาปลูกไรเบอรี่ดูดีกว่า แรกเริ่มก็ปลูก7ไร่ เก็บเกี่ยวมาสีกินเองไม่หมด ก็เลยเอาไปฝากญาติแบ่งญาติกิน ก็รู้สึกว่าสุขภาพดีกัน ตอนนั้นข้าวไรซ์เบอรี่ เหลือเยอ ญาติก็เสนอว่าลองขายดูสิ เราก้เริ่มศึกษาจริงจังและสนใจ สุดท้ายก็ลงทุนซื้อเครื่องและทำโรงสี เองเลย” คุณนัยนาได้เล่าความเป็นมาก่อนที่จะได้มาทำข้าวไรซ์เบอรี่ ให้ฟังอย่างละเอียด จะเห็นได้ว่าคุณนัยนาแม้แรกเริ่มเดิมทีจะไม่มีความรู้และเจออุปสรรคมาก แต่ด้วยความมุ่งมั่นที่จะเป็นเกษตรที่มีชีวิตมั่นคงให้ได้ก็ทำให้คุณนัยนาเดินมาได้ถูกทางและเป็นจุดเริ่มต้นของส้นทางการเกษตรแบบมีอยู่มีกิน

“เรื่องรายได้จริงๆจะนับเป็นรายเดือนก็ไม่ได้ เพราะข้าวปลูกเป็นฤดู แต่ถ้าให้คิดต่อปีแล้วหาร12เดือนก็จะตกอยู่ที่เดือนละ30,000กว่าบาทค่ะ อันนี้ยังไม่นับที่เราจะเอามาแปรรูปและขายปลีกนะคะ ถ้าแปรรูปขายปลีกดีๆรายได้ก็จะอีกเกือบเท่าตัว” จากที่คุณนัยนาเล่ามาก็จะเห็นได้ว่าการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ นั้นสามารถพลิกวิกฤติที่เกือบจะแย่ให้คุณนัยนากลับมาดีขึ้นจากหน้ามือเป็นหลังมือกันเลยทีเดียว จวบจนปัจจุบันคุณนัยนามีการทำนาข้าวไรซ์เบอรี่ ในพื้นที่ 30ไร่

ข้าวกล้องไรซ์เบอร์รี่อินทรีย์ของคุณนัยนา

การปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ โดยวิธีการโยนกล้า
คุณนัยนาบอกว่าการปลูกข้าวแบบโยนกล้าเป็นการทำนารูปแบบใหม่ โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อควบคุมข้าววัชพืชและพืชทั่วไป “เราเคยลองเปรียบเทียบต้นทุนการผลิตก็พบว่าต้นทุนการทำนาแบบโยนกล้าเพื่อควบคุมข้าววัชพืชและวัชพืชทั่วไป มีต้นทุนต่ำที่สุดแถมยังให้ผลผลิตสูงกว่าการทำนาด้วยวิธีอื่น” คุณนัยนายังได้แนะนำขั้นตอนการปลูกข้าวไรซ์เบอรี่แบบโยนกล้าให้อีกด้วย ดดยสรุปได้ดังนี้

1.ขั้นตอนการเตรียมเพาะกล้าพันธุ์ ซึ่งเตรียมได้ 2 แบบคือ
วิธีเตรียมถาดเพาะกล้าแบบแห้ง  โดยย่อยดินแห้งให้ละเอียด เม็ดดินโตไม่เกิน 0.5 ซม. ดินนั้นต้องไม่มีเมล็ดข้าววัชพืช นำถาดพลาสติกมาวางกับพื้นที่ ที่เตรียมไว้ พื้นที่ต้องเสมอกัน โดยวางเป็นแถวตอน 2-4 แผ่น (แล้วแต่ความสะดวกในการปฏิบัติงาน) หว่านดินไปก่อนประมาณ 50-70% จากนั้นหว่านเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ (แช่ 1 คืน หุ้ม 1 คืน หรือข้าวแห้ง) อัตราประมาณ 3-4 กก.ต่อ 50-60 ถาด (ต่อไร่) แล้วหว่านดินตามลงไปให้เต็มเสมอปากหลุมพอดี อย่าให้ดินล้นปากหลุมเพาะ เพราะจะทำให้รากข้าวพันกันเวลาโยนต้นกล้า มันจะไม่กระจายตัว การใช้แรงงานย่อยดินแห้งและเพาะข้าว 1 คน ต่อ 150-200 ถาดต่อ 1 วัน (หว่านได้ 2-3 ไร่) การให้น้ำระยะแรก ๆ ต้องให้ฝอยละเอียด ระวังอย่าให้เมล็ดข้าว กระเด็น หรือให้น้ำแบบท่วมพื้นแปลง เพราะน้ำจะซึมเข้าก้นถาดหลุมเอง ให้รักษาความชื้นจนกว่าข้าวงอก หากมีฝนตกให้หาวัสดุหรือกระสอบป่านเก่ามาคลุมจนกว่ารากจะงอก วิธีนี้สามารถเพาะเมล็ดในร่มและย้ายถาดไปที่ที่เตรียมไว้ พอข้าวกล้าอายุ 12-16 วัน สามารถนำไปโยนได้ทันที ความยาวต้นกล้าประมาณ 3-5 นิ้ว ซึ่งก็แล้วแต่ความอุดมสมบูรณ์ของวัสดุเพาะ ใช้พื้นที่เพาะกล้าประมาณ 12-15 ตารางเมตรต่อ 50-60 ถาด หว่านได้ 1 ไร่   วิธีเพาะกล้าแบบแห้งนี้ ได้คิดค้นวิธีหยอดเมล็ดพันธุ์ที่แม่นยำ สามารถควบคุมดินและเมล็ดพันธุ์ตามต้องการได้

วิธีเตรียมถาดเพาะกล้าแบบเปียก โดยเลือกแปลงนาที่ไม่มีข้าววัชพืชและวัชพืชทั่วไประบาด มีการเตรียมแปลงคล้ายกับเพาะกล้านาดำ ลูบเทือกให้ดินสม่ำเสมอ นำถาดเพาะกล้าวางเป็นแถวคู่เอาหัวชนกัน วางเป็นแถวตอนความยาวแล้วแต่แปลงกล้า แต่ละคู่แถวห่างกันประมาณ 50 ซม.เพื่อให้สะดวกในการปฏิบัติงาน โดยนำดิน เลนระหว่างร่องทางเดินใส่บานถาดให้เต็ม ปรับให้เสมอปากหลุมถาด แต่อย่าให้ดินล้นปากหลุมเพาะ เพราะจะทำให้รากข้าวพันกันเวลาหว่านต้นกล้า จากนั้นหว่านเมล็ดพันธุ์บริสุทธิ์ (โดยแช่ 1 คืน หุ้ม 1 คืน หรือข้าวแห้ง) ด้วยอัตราประมาณ 3-4 กก./50-60 ถาด (ต่อไร่) ใช้แผ่นไม้คล้ายไม้บรรทัดกดหรือลูบเมล็ดพันธุ์ให้จมเลน โดยรักษาความชื้นตลอดไป หากมีฝนตกต้องหาวัสดุมาคลุมเพื่อกันเมล็ดข้าวกระเด็นออกจากถาดเพาะ พอกล้าอายุ 12-16 วัน นำไปโยนได้ทันที หรือความยาวต้นกล้าประมาณ 3-5 นิ้ว ใช้พื้นที่เพาะกล้าประมาณ 12-15 ตารางเมตร 50-60 ถาด โดยได้ 1 ไร่ ก่อนนำไปโยนควรหยุดให้น้ำต้นกล้า 1 วัน

2.ขั้นตอนการเตรียมแปลง  ก่อนทำนาให้พักแปลงนาให้แห้งอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อให้ข้าววัชพืชพ้นระยะพักตัว หรือให้เมล็ดข้าววัชพืชที่ร่วงในนาก่อนนี่พร้อมที่จะงอกให้มากที่สุด   ให้ขังน้ำในแปลง 1 คืน และปล่อยให้น้ำแห้งเองเพื่อล่อข้าววัชพืชให้งอกขึ้นมาเต็มที่ซึ่งไม่ควรพ่น สารเคมีกำจัด แต่ให้ไถกลบทุบเป็นปุ๋ยไปเลย... ควรล่อวัชพืชอย่างน้อย 1 ครั้งขึ้นไป   ต่อจากนั้น ให้ไถเตรียมดินเหมือนนาดำ หรือนาหว่านน้ำตมทั่วไป แต่ปรับเทือกให้สม่ำเสมอมากที่สุด พอเช้าวันต่อมาให้โยนกล้าได้กรณีที่เป็นดินเหนียว แต่ถ้าเป็นดินร่วนปนทรายหรือดินทราย หลังปรับเทือกให้โยนต้นกล้าทันทีทันใด  

3.ขั้นตอนการโยนต้นกล้า ขณะที่โยนต้นกล้าในแปลงควรมีน้ำขลุกขลิกเล็กน้อย วิธีโยน ให้เดินถอยหลังโยนกำมือละ 5-15 หลุม โดยตวัดหงายมือโยนต้นข้าวขึ้นสูงกว่าระดับศีรษะ ต้นกล้าจะกระจายตัวพุ่งลงตั้งตรงหรือเอนเล็กน้อย สำหรับถาดเพาะให้วางบนท่อนแขนครั้งละหลาย ๆ แผ่นแล้วแต่จะรับไหว หากเห็นว่าต้นข้าวห่างเกินไปให้โยนเพิ่มเติมได้ วิธีโยนสามารถนำอุปกรณ์คล้ายเรือลงไปในแปลงนาได้ เพื่อให้สามารถใส่ถาดเพาะครั้งละมาก ๆ และสะดวก ในการโยน เกษตรกร 1 คน โยนต้นกล้าได้ 3-5 ไร่/วัน หลังจากหว่าน 1-2 วัน ให้เติมน้ำทันทีและเพิ่มระดับน้ำขึ้นเรื่อย ๆ จนถึง 5-10 เซนติเมตร ซึ่งมีประสิทธิภาพควบคุมข้าววัชพืชและวัชพืชได้ดีมาก ให้รักษาระดับน้ำจนถึงข้าวโตคลุมพื้นที่นาหรือจนถึงก่อนเกี่ยว 15-20 วัน

4.ขั้นตอนการปฏิบัติดูแลรักษา ควรใส่ปุ๋ยรองพื้นก่อนโยนต้นกล้า 1 วัน ขณะปรับเทือกและการปฏิบัติดูแลรักษาเช่นเดียวกันกับการทำนาวิธีอื่น ๆ ทุกประการ

คุณนัยนา ช่างทอง เคยเป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ปี2559 จากจังหวัดปทุมธานี และยังได้เข้าร่วมกิจกรรมช่วยแนะนำเกษตกรรุ่นใหม่ตลอดมา แม้จะผ่านเรื่องราวมาเยอะมากมาย แต่คุณนัยนาก็ยังมีแนวคิดในการดำเนินชีวิตที่เรียบง่าย “อย่าไปอะไรมากกับชีวิต” คือคำคมสั้นๆที่คุณนัยนาทิ้งท้ายไว้ให้เราได้คิดว่า ชิวิตไม่ควรจะเครียด ทำไปตามความรู้สึกและให้มีความสุขก็พอ แล้วทุกอย่างก็จะดี

ศูนย์เรียนรู้ในการใช้ปุ๋ยผลิตข้าว

เรื่องของปุ๋ย...
เกี่ยวกับเรื่องของการเกษตร เกษตรกรแต่ละพื้นที่มักจะมีเคล็ดลับภูมิปัญญาที่แตกต่างกัน ของคุณนัยนาก็เช่นกัน ที่กรุณาบอกเคล็ดลับดีๆเกี่ยวกับการทำการเกษตรให้ได้คุณภาพและประหยัด

“ในส่วนเรื่องของปุ๋ย พี่ก็พยายามที่จะหาวิธีลดต้นทุนโดยที่ยังมีคุณภาพที่ดีอยู่ ก็ไปได้สูตรฮอร์โมนปลาเป็ดมา จริงๆจะเป็นปลาอะไรก็ได้หรือปลาเน่าๆตามตลาดก็ได้ แต่ที่นี่ปลาเป็ดหาง่าย ซื้อมาโละ50บาท ก็เอามาหมัก ปลา3 น้ำตาล1 หมักยิ่งหลายเดือนยิ่งคุณภาพดี ตอนเอาใส่ข้าวก็จะไม่เทหัวคันนาเลย จะตักไปผสมกับน้ำในบ่อน้ำที่ขุดไว้จะช่วยเจือจางและจะกระจาย ทิ้งระยะไว้ว่าหมดหรือยัง ถ้าดูสีจางๆ ก็เทน้ำหมักเพิ่ม ส่วนผลที่ได้จากปุ๋ยน้ำปลาหมักคือคุณภาพคุณภาพจะไม่แตกต่างจากปุ๋ยทั่วไปที่ซื้อมา ต้นข้าวจะเขียวสวยและแข็งแรง”

นอกจากปุ๋ยปลาหมักแล้วคุณนัยนายังแนะนำ ปุ๋ยขี้หมูที่ผ่านวิธีการหมักแบบเดียวกันกับปุ๋ยน้ำปลาหมัก “ปุ๋ยขี้หมูนี่จะไม่เป็นน้ำ พอหมักได้ที่แล้วเราก็ตักใส่ถุงให้เต็มถุงเอาไปโยนตรงทางน้ำลงแปลงนา น้ำจะไหลผ่านโดนขี้หมูหมักลงแปลงนาข้าวทีละหน่อย ค่อยๆละลายลง พอละลายใกล้หมดเราก็เอาถุงใหม่ไปเปลี่ยน นี่คือเทคนิคส่วนตัว ผลที่ได้ก็จะช่วยให้ทำให้พืชออกมาสวยงามสมบูรณ์ค่ะ”

ส่วนเคล็ดลับสุดท้าย คุณนัยนาแนะนำเรื่องของการดูแลตันข้าว ซึ่งคุณนัยนาบอกว่าช่วงหน้าหนาวต้นข้าวจะมีเชื้อรามาก คุณนัยนาก็จะใช้เปลือกมังคุดผสมน้ำแช่ไว้รอตกตะก่อนแล้วเอาไปพ่นฉีดนาข้าวทำให้สามารถกำจัดเชื่อราได้โดยที่ไม่ต้องสินเปลืองเงินไปซื้อยาแพงๆมา ส่วนเรื่องแมลงสัตรูพืชคุณนัยนาก็แนะนำให้ใช้บอระเพ็ด วิธีทำก็เหมือนกับเปลือกมังคุดแล้วเอาไปฉีดพ่นต้นข้าวจะช่วยได้ในเรื่องกนแมลงศัตรูพืช

แปลงนาที่ใช้ปลูกข้าวในปัจจุบัน จากปุ๋ยคุณภาพดี เพื่อผลผลิตที่ดี

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

น.ส.นัยนา ช่างทอง
41 หมู่ 16 ต.คลองสี่
อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 10120

เส้นทางของคนไม่ยอมแพ้ ปลูกข้าวไรซ์เบอรี่ สู่ชีวิตที่ดีขึ้น

วิธีใส่ปุ๋ยในแปลงนาแบบง่ายๆ ไม่เปลืองแรง

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด