

"ถนอมวรรณ สิงห์จุ้ย : กับการปลูกผักปลอดสารพิษ ทางเลือกใหม่ที่ไม่มีทางตัน"

ไม่ว่าจะทำอะไรก็แล้วแต่
ต้องทำจากใจ แล้วจะมีความสุข

คุณถนอมวรรณ สิงห์จุ้ยหรือคุณอ้อ เจ้าของแปลงผักปลอดสารพิษแห่งนี้
เกษตรกรรุ่นเก่ามักจะไม่ค่อยเชื่อในเรื่องของการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษว่าจะทำให้ชีวิตมั่นคงได้ตลอด เนื่องจากคิดเพียงว่าผลผลิตที่ได้ออกมามันน้อยไม่คุ้มกับที่เสียเวลาไป แต่ในปัจจุบันการทำเกษตรอินทรีย์ปลอดสารพิษนั้น กำลังได้รับความสนใจและความนิยมต่อผู้บริโภคสมัยใหม่มากขึ้น ทำให้ผักปลอดสารพิษนั้นมีตลาดรองรับที่กว้างขึ้น และมองเห็นถึงโอกาสทางการตลาดในทิศทางที่ดี ดังที่คุณถนอมวรรณ สิงห์จุ้ย จะได้มาแชร์ประสบการณ์ให้เกษตรกรในปัจจุบันได้ทราบ
กว่าจะมาถึงจุดนี้..ก็มีปิดกิจการมาแล้ว
คุณถนอมวรรณ สิงห์จุ้ย หรือคุณอ้อ อายุ 33 ปี พื้นเพเป็นคนสมุทรสาคร อาศัยอยู่บ้านเลขที่ 135/4 หมู่ที่ 6 ถนน ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน จังหวัดสมุทรสาคร ก่อนหน้าที่จะมาทำการปลูกผักเชิงเกษตรอินทรีย์ คุณอ้อเคยหุ้นกับเพื่อนทำบริษัทเกี่ยวกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์และรับติดตั้งระบบคอมพิวเตอร์ เมื่อตอนปี 2549 ซึ่งช่วงแรกที่ทำนั้นรายได้ดีมาก ต่อเดือนก็ 3-5 ล้านบาท แต่ต่อมาเมื่อเทคโนโลยีก้าวล้ำไปอย่างรวดเร็ว บวกกับมีคู่แข่งผุดขึ้นมามากมาย ทำให้รายได้ที่เคยเป็นหลักล้านลดลงมาเหลือเพียงหลักแสนเท่านั้น ซึ่งมันไม่พอเพียงกับค่าใช้จ่ายที่ทางบริษัทกำลังรับผิดชอบ
“ลูกค้าที่ติดต่อด้วยเค้าก็เปลี่ยนเป้าหมายในการใช้บริการ คือด้วยเศรษฐกิจตอนนั้นลูกค้าเค้าก็ต้องปรับกลยุทธ์ของเค้าด้วย คู่แข่งก็เกิดขึ้นเยอะ จากที่รับประกอบคอมพิวเตอร์ ติดตั้งระบบได้กำไรเครื่องละ 2,000 กลายเป็นว่าเหลือแค่ 300 ปัญหาคือเรามีรายจ่ายมากกว่ารายรับ ค่าพนักงาน ค่าเช่าที่ ตอนนั้นก็พยายามปรับวิธีการต่างๆดู จากที่มีคอมพิวเตอร์อย่างเดียว ก็เพิ่มกล้องวงจรปิด แต่ก็ไม่ดีขึ้นเท่าไหร่ กลายเป็นอยู่ในสภาวะเครียด สุดท้ายก็ต้องหยุดกิจการไปเลย”
เมื่อกิจการปิดตัวลง แต่ชีวิตยังต้องดำเนินต่อไป คุณอ้อก็มองหาอาชีพใหม่ทดแทนงานด้านคอมพิวเตอร์และกล้องวงจรปิด แต่โชคดีว่าก่อนที่กิจการจะปิดตัวลง คุณอ้อ ได้หันเหชีวิตมาศึกษาเรื่องการทำเกษตร คุณอ้อเล่าให้ฟังต่อว่า “ที่หันมาทำการเกษตรนี่ คือตอนช่วงปลายที่จะหยุดทำบริษัท ตอนนั้นสามีเราทำการเกษตรอยู่แล้ว เค้าทำอยู่ก่อนแล้ว เป็นสวนมะลิค่ะ ก็เห็นเค้ามีรายได้ทุกวัน ส่งมะลิขายที่ปากคลองตลาด ตอนเย็นก็ได้เงินแล้ว” คุณอ้อยังบอกอีกว่ารายได้ของสามีในการทำสวนมะลิ ตอนนั้นตกอาทิตย์ละ 5-6หมื่นเลยทีเดียว
ผักกาดหอมสวยๆ ด้วยการปลูกแบบอินทรีย์
“ ตอนนั้นแฟนคงเห็นว่าเราเครียด แฟนเลยชวนกลับมาอยู่บ้าน และชวนมาทำสวนมะลิด้วยกัน เราก็เอาหลักการบริหารจัดการจากที่ทำบริษัท มาปรับทำที่บ้าน อย่างเช่น การรวบรวมข้อมูล การเก็บสถิติต่างๆซึ่งเราคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์และดีกว่าไม่ได้มีข้อมูลอะไรไว้” ซึ่งสวนมะลิที่คุณอ้อทำกับแฟนนั้น ต้องจ้างแรงงานเพื่อเก็บมะลิในกิโลละ40 บาท ซึ่งในวันหนึ่งๆนั้นจะเก็บได้50-100กิโลกรัม คุณอ้อจะใช้วิธีปลูกเป็นรุ่นๆทำให้มีผลผลิตสู่ตลอดเวลา “เรามีสถิติไว้เพื่อรู้ข้อมูลรู้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์อย่างปี51ได้มะลิ8000กก.หักแล้วได้ล้านกว่า แต่พอปีที่ทำ16ไร่ เยอะกว่าจริงแต่ได้แค่9แสน เลยมาลองทบทวนและรู้ปัญหาว่ามันเกิดจากอะไร ก็ได้รู้ว่ากลไกราคาพวกนี้มันขึ้นอยู่กับตลาด มันไม่ได้ผิดที่เรา ”
ทำไมถึงเลือกปลูกผัก...
หลังจากตัดสินใจแล้วว่า จะวางมือจากการปลูกมะลิ แล้วหันมาปลูกผักแทน คุณอ้อได้บอกเหตุผลที่เลือกปลูกผักให้ฟังว่า เพราะผักเป็นพืชอายุสั้น ขายทำเงินได้ไว ซึ่งอ้อคิดว่าผักสามารถ ตอบโจทย์เราได้จริง จึงหันมาทำการเกษตรแบบปลอดภัยจากสารเคมี คุณอ้อบอกว่ารู้สึกสบายใจมากขึ้นหลังจากมาทำการเกษตรและไม่คิดมากเหมือนเมื่อก่อน
เมื่อเลือกแล้วว่าจะทำการเกษตรแบบปลอดสารเคมี คุณอ้อ จึงเน้นใช้สารชีวภัณฑ์เป็นหลักในการดูแลรักษาพืชผัก บวกกับภูมิปัญญาชาวบ้าน อย่างการทำแคมร่องระยะประมาณ 50 เซนติเมตรไว้สำหรับเดินทำงานในแปลงผัก ซึ่งคุณอ้อบอกว่า ประโยชน์ของการมีแคมร่องส่งผลดีดีกับผักและการป้องกันโรค ด้วยเพราะสภาพพื้นดินของคุณอ้อเป็นดินเหนียวและปลูกแบบยกร่อง การทำแคมร่อง จะสะดวกมากในเรื่อง การตัดผัก รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ฉีดยา เพราะว่าเราจะได้ไม่ต้องเหยียบแปลงผัก หรือข้างบนร่อง จะได้ไม่ทำผักเน่า หรือผักตาย เพราะถ้าผักตายจะเกิดการเน่า เกิดเชื้อโรค ทำให้พืชผักของเราในแปลงเกิดเชื้อโรคได้ ทำให้รักษายาก ผักในแปลงก็จะเสีย เราเลยต้องมาประยุกต์ทำแคมร่อง อันนี้เป็นภูมิปัญญาของชาวบ้านแถบนี้ทำกัน
นอกจากภูมิปัญญาการทำแคมร่องแล้ว คุณอ้อยังมีเทคนิคในการบำรุงดินด้วยปุ๋ยพืชสดที่หมักเองด้วย โดยใช้เศษผักมาเป็นวัตถุดิบ และทำอย่างง่ายๆแต่ใช้ประโยชน์ได้จริง คือ หลังจากตัดผักขายแล้ว ปกติจะต้องเหลือโคนผักไว้ในแปลงอยู่แล้ว จากนั้นก็ทำหวดหรือตัดโคนให้ราบกับพื้น ปล่อยทิ้งไว้ให้แห้งหรือเน่า เมื่อผักแห้งหรือเน่าก็ใช้รถพรวนกลับดินเผื่อเอาผักลงข้างล่าง จากนั้นจะใช้ฟางปู เหมือนทำปุ๋ยปกติทั่วไป เพราะทุกครั้งที่ตัดผักขายหมดแล้ว ส่วนใหญ่จะเหลือใบผักและตอผัก เพราะเราแต่งผักจากในร่องเลย การนำมาหมักเป็นปุ๋ยพืชสด เป็นอีกหนึ่งวิธีที่สามารถลดต้นทุนได้ เพราะอย่างไรแล้วเราต้องใช้คนงานขนไปทิ้ง เมื่อพบตอนตัด แล้วเจอผักไม่ได้สวย ต้องมีการแต่ง ต้องมีเน่าบ้าง เราก็ทิ้งไว้ในร่อง ที่เราจะขนไปทิ้งข้างนอก เปลืองแรงงานคน เสียเวลา
นอกจากนี้คุณอ้อ ยังบอกเคล็ดลับที่ทำให้ผักที่ปลูกห่างไกลจากโรคแมลงโดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีด้วยนะคะ นั่นคือ การทำเชื้อราไตรโคเดอร์ เพื่อป้องกัน รักษา โรคแมง และบำรุงผักทุกชนิดที่ปลูก โดยได้แนะนำวิธีทำไว้ให้ด้วย เพื่อเกษตรกรท่านในสนใจ จะลองทำนะคะ คือ ใช้ข้าวเปลือก ข้าวเปลือกหนึ่งกระสอบประมาณ 50 กิโลกรัม ซาวน้ำเพื่อให้แกลบออก เสร็จแล้วก็เอามาหุง ก็หุงตั้งดงหม้อข้าวปกติ เหมือนสมัยก่อน หุงสักประมาณ 1.30 ชั่วโมง ดูให้เม็ดข้าวบาน แล้วก็ดงน้ำ จากนั้นก็ใช้ถุงร้อน ตักข้าวที่หุงแล้วใส่ ประมาณ 4 ขีด แล้วใส่เชื้อราไตรโคเดอร์ นิดหน่อย บ่มทิ้งไว้ 7 วัน ถุงข้าวจากสีขาวก็จะกลายเป็นสีเขียว เลยเรียกเชื้อไตรโครเดอร์ม่าว่าเชื้อราเขียว แล้ววันที่ 8 ก็นำมาใช้งานได้ แต่ถ้าทำผักในปริมาณที่น้อย พื้นที่น้อยๆ อาจะใช้ข้าวเปลือก 15 กิโลกรัม แล้วใช้หม้อหุงข้าวที่เรามีหุงก็ได้ สามารถทำได้เหมือนกัน อันนี้แนะนำว่า อยากให้ทำเพราะลดต้นทุนการผลิตได้เยอะจริง คุณอ้อ กล่าวทิ้งท้าย
วิธีการปลูกผักปลอดสาร แบบถนอมวรรณ สิงห์จุ้ย
โดยสิ่งแรกที่คุณอ้อลงมือทำ หลังจากตัดสินใจแล้วว่า จะปลูกผัก คือ ศึกษาเรื่องตลาด ศึกษาสภาพพื้นดิน น้ำ พืชผักที่จะปลูกว่ามีโรคหรือแมลงใดรบกวนบ้าง เพื่อเป็นข้อมูล จากนั้นจึงวางแผนการปลูกผักแต่ละชนิด ซึ่งผักที่คุณอ้อ เลือกปลูกจะมีอยู่ด้วย 4 ชนิด คือ คะน้า กวางตุ้ง คื่นฉ่าย และผักกาดหอม โดยผักกาดหอม จะลงปลูกในช่วงเดือนกันยายน จนถึงประมาณเดือนกุมภาพันธ์ เพราะช่วงนี้อากาศเย็น จะทำให้ผักกาดหอมงาม ระยะปลูกประมาณ 40 วันก็ตัดขายได้แล้ว ส่วนคะน้า กวางตุ้ง และคืนฉ่าย จะปลูกตลอดทั้งปี แบ่งปลูกอย่างละ 2ไร่ แต่จะสลับร่องปลูกไปเรื่อยๆ ปลูกเว้นช่วง เพราะการปลูกแบบนี้นอกจากจะช่วยเรื่องโรคและแมลงได้แล้ว ยังทำให้มีผักขายตลอดทั้งปี เนื่องจากสภาพดินที่สวน เป็นดินเหนียว คุณอ้อจึงเลือกปลูกแบบยกร่อง เพื่อความสะดวกในการให้น้ำ ส่วนวิธีการปลูกผักแต่ละชนิดก็จะมีเทคนิคต่างกันออกไป อย่าง การปลูกคื่นฉ่าย สิ่งสำคัญอยู่ที่เมล็ดพันธุ์ ก่อนจะปลูกต้องนำเมล็ดพันธุ์ไปแช่น้ำไตรโคเดอร์ม่า 1 คืน จากนั้นก็นำมาคลุกกับไตรโคเดอร์อีกครั้ง ซึ่งกระบวนการนี้จะช่วยป้องกันโรคและยังช่วยเรื่องระบบรากอีกด้วย ส่วนคะน้ากับกวางตุ้งก็เช่นกันก่อนจะนำไปปลูกจะต้องนำเมล็ดพันธุ์มาคลุกเคล้ากับไตรโคเดอร์ม่าก่อน โดยเฉพาะคะน้าฮ่องกง ต้องสร้างภูมิคุ้มกันให้กับเมล็ด เพราะคะน้าฮ่องกง ต่างจากคะน้าทั่วไป คะน้าฮ่องกงต้นใหญ่ เมล็ดจะแตกยาก งอกยาก อันนี้เทคนิคหนึ่ง เราแช่เพื่อให้เมล็ดบวม เวลาลงแปลงปลูกประมาณ 4 วัน ก็จะงอก และโตเร็ว ส่วนขั้นตอนการปลูก คุณอ้อจะใช้วิธีหว่านเมล็ดพันธุ์ลงแปลงแล้วก็คลุมด้วยฟาง ตามด้วยการให้น้ำเช้า-เย็นทุกวัน
การดูแลก็ต้องคอยหมั่นสำรวจแปลงผักแต่ละชนิด เผื่อดูว่าผักเป็นโรคหรือมีแมลงมารบกวนไหม ซึ่งเคล็ดลับสำคัญในการทำเกษตรปลอดสารพิษของคุณอ้อ คือ ต้องรู้จักโรคของพืช และแมงศัตรูของพืชที่เราปลูก เพื่อจะได้รับมือและแก้ไขปัญหาได้โดยไม่ต้องพึ่งพาสารเคมีหรือพึ่งพาให้น้อยที่สุด แต่โดยส่วนใหญ่แล้วคุณอ้อจะใช้สารชีวภัณฑ์ อย่างบิววาเรีย ไตโคเดอร์มา และเชื้อ BT ในการกำจัดโรคและแมลงศัตรูต่างๆของผักคะน้า กวางตุ้ง คื่นฉ่าย และผักกาดหอม
ส่วนการให้ปุ๋ยจะใส่เพียงครั้งเดียวในปริมาณที่เหมาะสม โดยใช้ปุ๋ยสั่งตัด ใส่ในช่วง 20 วันแรกเท่านั้น จากนั้นก็บำรุงด้วยการใส่ปุ๋ยหมัก มีการตัดแต่งใบ เพื่อช่วยให้ต้นสมบูรณ์แข็งแรงด้วย ส่วนการลงทุนนั้นคุณอ้อบอกว่าอยู่ที่ประมาณ12,00 บาทต่อการปลูกผัก 1 รอบ แบ่งเป็นค่าแรงงาน ค่าปุ๋ยและค่าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งในการปลูกผักใน 1 รอบจะได้ผลผลิตไม่ต่ำกว่า 1 ตัน
ส่วนเรื่องของการตลาดคุณอ้อบอกว่า ชาวเกษตรจำต้องยอมรับว่าเกษตรกรนั้นไม่สามารถกำหนดราคาพืชผักได้ คนที่กำหนดคือพวกพ่อค้าคนกลาง ซึ่งบางครั้งก็ดูไม่เป็นธรรม ไม่สมเหตุสมผล คุณอ้อยังบอกอีกว่าถ้าอยากได้ราคาตามต้องการเกษตรกรต้องออกมาขายเอง แต่จะมีกี่คนที่มาขายเองได้ “ราคาตลาดขึ้นๆลงๆค่ะ เราปลูกเป็นเชิงพานิช เน้นที่ปริมาณ ตลาดหลักๆที่เราส่งอยู่ก็มีสี่มุมเมือง ตลาดไท และโรงแรมต่างๆค่ะ แต่เราก็พยายามที่จะดูตลาดรายย่อยด้วย ก็ขายตรงกับลูกค้าโดยตรง โดยผ่านเว็บไซด์ ผ่านทางไลน์ด้วย ซึ่งมีผู้บริโภคที่หันมาสนใจพืชผักปลอดสารพิษกันมาก ก็เป็นช่องทางการตลาดอีกทางหนึ่งค่ะ” เมื่อถามถึงรายได้จากการปลูกผักขาย คุณอ้อบอกเพียงเบาๆด้วยรอยยิ้ม ว่ารายได้ต่อเดือนนั้นก็ประมาณ1-5แสน บาทจากเนื้อที่ผลผลิตผักปลอดภัย30ไร่
เมื่อถามถึงข้อเสนอแนะที่คุณอ้อจะมีต่อเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจหันมาทำเกษตรปลอดสารพิษ คุณอ้อแนะว่า “คนรุ่นก่อนจะไม่ค่อยชอบการทำเกษตรที่ปลอดสารเคมีสักเท่าไหร่เพราะผลผลิตที่ได้มันน้อย แต่ถ้าเราทำอย่างจริงจังและถูกวิธี เกษตรอินทรีปลอดสารพิษนั้นสามารถให้ผลผลิตที่ดีได้จริงแถมยังมีตลาดเฉพาะทางรองรับ อยากให้เกษตรกรในปัจจุบันมีจิตสำนึกในการผลิต สร้างความภูมิใจในอาชีพและเปิดรับเทคโนโลยี คนรุ่นใหม่เก่งหลายคน ที่อยากฝากก็คือ หัวใจนั้นสำคัญ อยากทำก็เลือกทำให้สุด ผิดพลาด เรียนรู้แล้วปรับใช้ค่ะ ”
ผักสดปลอดสารพิษจากแปลงคุณภาพดี กับรอยยิ้มของคู่สามีภรรยาเกษตรกร
กลุ่มเกษตรปลอดภัยบ้านหนองพะอง
เลขที่ 135/4 หมู่ที่ 6 ถนน
ตำบลสวนหลวง อำเภอกระทุ่มแบน
จังหวัดสมุทรสาคร 74110

