

"สุเทพ ศิริมูล : เกษตรกรต้นแบบการเลี้ยงสัตว์ปีกเมืองดอกบัว"



จะยกเลิกฟาร์มแบบผูกขาดเพื่อความสุขที่ยั่งยืนตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง
นายสุเทพ ศิริมูล เกษตรกรวัย 52 ปี เกิดเมื่อวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ.2507 เป็นคนจังหวัดอุบลราชธานีโดยกำเนิด เกิดและโตที่ตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์ เดิมทีอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอวารินชำราบ การศึกษาจบชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนบ้านท่าช้าง จบชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 จากโรงเรียนวิจิตราพิทยา อำเภอวารินชำราบ ด้วยความรักและความผูกพันในอาชีพเกษตรกรเมื่อครั้งวัยเยาว์จึงได้ไปศึกษาต่อระดับอาชีวศึกษาที่วิทยาลัยเกษตรกรรมอุบลราชธานีและเข้าศึกษาต่อในระดับปริญญาตรีด้านการเกษตรที่มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี ในปีพ.ศ.2534
ได้มีโอกาสเข้าทำงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งซึ่งเป็นผู้นำด้านการผลิตปศุสัตว์รายใหญ่ของประเทศในตำแหน่งสัตว์บาลประจำฟาร์มและได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้จัดการฝ่ายขายประจำภาคตะวันออกเฉียงเหนือ คุณสุเทพได้สมรสกับนางมยุรา ศิริมูล มีบุตรชาย 3 คน ลูกชายคนโตเรียนคณะศิลปะศาสตร์ สาขาศิลปะประยุกต์ คนที่สองเรียนคณะบริหารศาสตร์ สาขาการจัดการ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ส่วนคนสุดท้องกำลังศึกษาในระดับประถมศึกษาที่อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
กว่า 20 ปีที่คร่ำหวอดอยู่ในวงการด้านปศุสัตว์คุณสุเทพ ศิริมูล ก็ได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวเอาประสบการณ์จากฟาร์มใหญ่ๆจนมีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งการผลิตและการตลาด จนกระทั่งในปี พ.ศ.2551 ได้ลาออกจากงานประจำมาใช้ชีวิตแบบเกษตรกรอย่างเต็มตัวกับครอบครัวและจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกเล็กๆขึ้นมาในนาม "เทพศิริฟาร์ม” ภายใต้แนวคิด “ทำเพื่อกิน ทำเพื่อให้ ทำเพื่อขาย ทำเพื่อเครือข่าย สู่ชุมชุมที่ยั่งยืน"
"เบื่อการเป็นมนุษย์เงินเดือน" และ"คิดถึงบ้าน" สองคำพูดสุดท้ายที่คุณสุเทพได้กล่าวไว้ก่อนที่จะลาออกจากงานประจำ การจากบ้าน จากครอบครัว การทำงานแบบเอาเป็นเอาตายจนไม่มีเวลาได้อยู่ใกล้ชิดกับคนที่ตนรักมานานกว่า 20 ปี ทำให้ได้เรียนรู้อะไรหลายๆอย่าง "การเริ่มนับหนึ่งใหม่ในบ้านเกิดเมืองนอนถึงแม้จะเป็นโจทย์ของการทำงานที่ยากขึ้น แต่ถ้าลงมือทำก็คงจะไม่ใช่เรื่องยากจนเกินความสามารถของตน" คุณสุเทพ กล่าว
“เกษตรปลอดสารพิษเพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนตามแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง" คำๆนี้จะเรียกว่าเป็นวิสัยทัศน์ในการทำงานครั้งใหม่ของคุณสุเทพเลยก็ว่าได้ครับ “เทพศิริฟาร์ม” ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เล็กๆของคุณสุเทพ ก็เริ่มต้นขึ้นภายหลังจากความมุ่งมั่นที่อยากจะกลับมาใช้ชีวิตใกล้ชิดกับครอบครัวอีกครั้ง ฟาร์มสัตว์ปีกที่ถูกขับเคลื่อนไปด้วยความรู้ความสามารถและประสบการณ์ด้านการเลี้ยงสัตว์ที่สั่งสมมานานหลายปี ผนวกกับการดำเนินชีวิตโดยยึดหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ความมีเหตุผล สร้างภูมิคุ้มกันให้กับตนเองและครอบครัว ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน ความเพียรและมีสติปัญญา หมั่นศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมจากแหล่งเรียนรู้อื่นๆ นำความรู้วิชาการและเทคโนโลยีสมัยใหม่มาประยุกต์ใช้ในการวางแผนและดำเนินการประกอบอาชีพโดยสำนึกในคุณธรรมและจริยธรรม ความซื่อสัตย์สุจริตและให้มีความรอบรู้ที่เหมาะสมโดยคำนึงถึงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม และมีการรวมกลุ่มสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือซึ่งกันและกันและเป็นการสร้างอำนาจต่อรองด้านการตลาด ส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เสริมนอกเหนือจากการทำนา การสร้างความมั่นคงอาหารด้านปศุสัตว์อย่างยั่งยืนโดยไม่ต้องพึ่งพาการทำฟาร์มแบบผูกขาดจากพ่อค้ารายใหญ่ พร้อมพัฒนากลุ่มผู้เลี้ยงเป็ด-ไก่ สู่ตลาดอาเซียนได้ในอนาคต
ปัจจุบันภายในฟาร์มมีพ่อ-แม่พันธุ์ไก่ดำ จำนวน 50 ตัว ลูกไก่ดำ จำนวน 250 ตัว พ่อ-แม่พันธุ์ไก่พื้นเมือง จำนวน 30 ตัว ไก่พื้นเมือง จำนวน 150 ตัว เป็ดเทศ จำนวน 30 ตัว ไก่งวง จำนวน 20 ตัว ไก่ห่าน จำนวน 10 ตัว หมูดำเหมยซาน จำนวน 2 ตัว และลูกหมูเหมยซาน จำนวน 11 ตัว ปัจจุบันเป็นทั้งฟาร์มตัวอย่าง เป็นศูนย์เรียนรู้ฯและเป็นฟาร์มต้นแบบการเลี้ยงสัตว์ปีกของจังหวัดอุบลราชธานี อีกทั้งยังได้มีการรสร้างกลุ่มเครือข่ายเพื่อเป็นการช่วยเหลือกันและเป็นการสร้างอำนาจต่อรองด้านการตลาด ได้แก่ กลุ่มแม่บ้านสายใยรักแห่งครอบครัว กลุ่มผู้ผลิตพืชสมุนไพร จัดตั้งศูนย์เรียนรู้เพื่อ กลุ่มวิสาหกิจชุมชนการเลี้ยงเป็ดเทศ กลุ่มผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวชุมชน กลุ่มเครือข่ายผู้ผลิตข้าวปลอดสารพิษ ศูนย์เครือข่ายผู้แทนเกษตรกรอำเภอสว่างวีรวงศ์ เป็นต้น และได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากหน่วยงานภาครัฐจัดตั้งฟาร์มเลี้ยงไก่พื้นเมืองสายพันธุ์พัฒนา เพื่อเป็นศูนย์เรียนรู้ต้นแบบในการเลี้ยงสัตว์ปีกครบวงจรแห่งแรกของจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งด้านองค์ความรู้ต่างๆไปจนถึงการสร้างเครือข่ายและการตลาดซึ่งคุณสุเทพมีแนวคิดที่จะสร้างแบรนด์ไก่ย่างเป็นของตัวเองและให้เป็นเอกลักษณ์ไก่ย่างของจังหวัดอุบลราชธานี
ภายหลังจากที่สั่งสมประสบการณ์จากบริษัทเอกชนจนนำมาสู่การปฏิบัติจริงในระดับครัวเรือนคุณสุเทพก็ได้เริ่มการเลี้ยงสัตว์ปีกแบบผสมผสาน เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ที่ตลาดมีความต้องการสูง ก่อเกิดเป็นองค์ความรู้ทางด้านการผลิตและการตลาดที่สามารถถ่ายทอดไปยังผู้ที่สนใจได้อย่างไม่หวงวิชา โดยมีเป้าหมายในการผลิตลูกไก่อย่างน้อยสัปดาห์ละ 100 ตัว แบ่งออกเป็นจำหน่ายลูกไก่ 50 ตัว ไก่เนื้อชำแระ 30 ตัว และคัดเป็นไก่พ่อแม่พันธุ์ 20 ตัว

ทำเพื่อกิน ทำเพื่อขาย ทำเพื่อเครือข่าย
นายสุเทพ ศิริมูล ถือเป็นตัวอย่างของเกษตรกรที่มีแนวคิดหลากหลาย ด้านปศุสัตว์ได้นำเอาความรู้ในรูปแบบของปราชญ์ชาวบ้านมาผสมผสานและประยุกต์รวมกับเทคโนโลยีใหม่ๆที่มีอยู่ในปัจจุบัน จนก่อเกิดเป็นภูมิปัญญาด้าน ปศุสัตว์สมัยใหม่ที่สามารถนำไปใช้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่น รวมถึงการสร้างนวัตกรรมในอาชีพการเลี้ยงสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น ในกระบวนการผลิตลูกเป็ด ลูกไก่ ตู้ฟักไข่จะต้องใช้อุณหภูมิและความร้อนสูงทำให้ต้องสิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้าและมีค่าใช้จ่ายที่สูงขึ้น คุณสุเทพจึงคิดค้นหาแนวทางในการลดต้นทุนด้วยการใช้พลังงานแสงอาทิตย์มาใช้ทดแทนพลังงานไฟฟ้า หรือที่เรียกกันว่า “ตู้ฟักไข่พลังงานแสงอาทิตย์”นั่นเอง
ส่วนวิธีการคัดเลือกไข่เข้าตู้ฟักนั้น คุณสุเทพจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นโดยการสังเกตว่าไข่ไก่ที่จะนำเข้าตู้ฟักจะมีเชื้อและสามารถนำไปฟักออกมาเป็นตัวได้หรือไม่ด้วยวิธีการที่ไม่ยุ่งยากครับ เนื่องจากไข่ไก่ที่ออกมาใหม่ๆจะมีสีขาวนวลอ่อน เปลือกจะบาง เกษตรกรสามารถมองเห็นความเปลี่ยนแปลงของเชื้อไข่ที่พร้อมฟักออกมาเป็นตัวได้โดยเอาไข่ไปส่องด้วยไฟฉายในที่มืดให้ไฟฉายแนบสนิทกับเปลือกไข่ ถ้าไข่มีเชื้อจะสังเกตเห็นจุดสีแดงและเส้นใยอยู่ภายในเนื้อไข่ ซึ่งสามาถนำไปเข้าตู้ฟักออกมาเป็นตัวได้ แต่ถ้าไม่พบจุดสีแดงก็แสดงว่าไข่ไม่มีเชื้อจะไม่สามารถฟักออกมาเป็นตัวได้นั่นเอง วิธีการง่ายๆที่ไม่ต้องใช้ต้นทุนอะไรมากนักถือเป็นการประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาด้านปศุสัตว์สมัยใหม่ที่สามารถนำไปใช้ให้เหมาะสมกับท้องถิ่นได้ผลดีจริงๆครับ
ถัดมาก็เป็นการลดต้นทุนค่าอาหาร สืบเนื่องมาจากต้นทุนค่าอาหารสำเร็จรูปที่เพิ่มสูงขึ้นโดยไม่มีทีท่าว่าจะลดลงแต่อย่างใด คุณสุเทพจึงได้นำวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรมาผลิตเป็นอาหารเพื่อใช้ในการเลี้ยงสัตว์ ได้แก่ กากมันหมักยีสต์และกากถั่วเหลืองหมักยีสต์ ซึ่งเป็นอาหารที่ต้นทุนต่ำแต่มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารสูง รวมถึงการทำแปลงปลูกหญ้าเนเปียร์ให้สัตว์กินเป็นอาหารเสริม ฯลฯ และด้วยแนวคิดที่อยากจะผลิตไก่พื้นเมืองและเป็ดขุนเนื้อแบบคุณภาพ การเอาใจใส่ต่อสิ่งแวดล้อมและใส่ใจต่อสุขภาพของผู้บริโภค การใช้สมุนไพรพื้นบ้านมาผ่านกระบวนการหมักเพื่อนำไปใช้สร้างภูมิต้านทานโรคให้สัตว์ปีกแทนการฉีดวัคซีนและใช้ยาปฏิชีวนะ รวมถึงการป้องกันและขับไล่แมลง การลดกลิ่นเหม็นภายในฟาร์ม ถือเป็นกระบวนการปศุสัตว์อินทรีย์ที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์ภายในฟาร์มได้อย่างลงตัว
"เลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม ช่วยเพิ่มรายได้ให้กับครอบครัว" "จะเป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์และเป็นแหล่งอาหารให้กับครอบครัวและชุมชน" แนวคิดต่างๆที่เกิดจากปณิธานอันมุ่งมั่นถือเป็นแรงจูงใจขั้นพื้นฐานที่มีต่ออาชีพการเลี้ยงสัตว์ จากพนักงานบริษัทเอกชน จากมนุษย์เงินเดือน สู่การเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว แต่ทว่าในช่วงระยะเวลาเพียงไม่ถึง 10 ปี ชื่อของ “นายสุเทพ ศิริมูล” เริ่มเป็นที่รู้จักของคนในชุมชนมากขึ้น ด้วยแนวคิดที่เป็นเกษตรกรหัวก้าวหน้า ทำให้ฟาร์มเลี้ยงสัตว์เล็กๆเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเพิ่มมากขึ้น ด้วยความเป็นคนที่มีจิตอาสาชอบช่วยเหลือผู้อื่นจึงได้รับความไว้วางใจจากหน่วยงานภาครัฐให้ดำเนินการจัดเก็บข้อมูลการเกษตรในด้านต่างๆ ได้แก่ การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจหลัก การจัดเก็บข้อมูลพื้นฐานด้านการประมงและปศุสัตว์ การจัดตั้งศูนย์เรียนรู้ฯและเป็นวิทยากรให้ความรู้แก่เกษตรกรในชุมชนเรื่องการผลิตปศุสัตว์และการตลาด รวมถึงการมีส่วนร่วมจัดทำแผนพัฒนาการเกษตรระดับหมู่บ้านและระดับอำเภอสว่างวีระวงศ์ อีกทั้งยังเป็นตัวแทนของเกษตรกรในการรวบรวมข้อมูลปัญหาของเกษตรในชุมชนนำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง การันตีความรู้ความสามารถด้วยเกียรติประวัติและรางวัลมากมาย ดังนี้
- ดำรงตำแหน่งอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน บ้านใหม่สารภี ตำบลท่าช้าง
- ที่ปรึกษากลุ่มศูนย์ข้าวชุมชนตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์
- เกษตรกรดีเด่น สาขาทำสวน ปี 2553
- ดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาเกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี (ตัวแทนอำเภอสว่างวีระวงศ์)
- ประธานศูนย์เรียนรู้ด้านการเกษตรในหมู่บ้าน เป็นจุดเรียนรู้ด้านการเกษตรของอำเภอสว่างวีระวงศ์
- ประธานศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลท่าช้าง อำเภอสว่างวีระวงศ์
- ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้เลี้ยงเป็ดเทศสว่างวีระวงศ์
- ผู้นำการสร้างเครือข่ายด้านการเกษตรในการเลี้ยงไก่พื้นเมือง
- ที่ปรึกษาด้านปศุสัตว์อำเภอสว่างวีระวงศ์
- เกษตรกรดีเด่น ด้านปศุสัตว์ ปี 2558
ไก่ดำ ไก่พื้นเมืองและเป็ดเนื้อ สินค้าคุณภาพจากเทพศิริฟาร์ม




