เกษตรกรต้นแบบ

"สุทธิเดช กฤษณะเศรณี : ผู้เปลี่ยนวิกฤตทุเรียนไทยให้เป็นโอกาส"

 27 กุมภาพันธ์ 2560 11,972
จ.จันทบุรี
เกษตรกรที่ทำทุเรียนจะอยู่ได้ต้องดิ้นรน ขยัน
และยึดถือความซื่อสัตย์เป็นสำคัญ

ลุงต้อย หรือ คุณลุงสุทธิเดช ผู้มีแนวคิดพลิกวิกฤติให้ทุเรียนพื้นเมือง

ทุเรียนเป็นผลไม้ขึ้นชื่ออันดับต้นๆของไทย เป็นผลไม้ที่มีรสชาติและกลิ่นเฉพาะตัว บางคนว่าทุเรียนมีกลิ่นหอม บางคนกลับบอกว่ามันมีกลิ่นเหม็น ก็แล้วแต่นานาจิตตัง แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้เลยคือทุเรียนเป็นผลไม้ยอดนิยมไม่เป็นสองรองใคร และด้วยความที่เป็นที่นิยมนี่เองจึงมีเกษตรกรหันมาทำการปลูกทุเรียนกันมากขึ้น โดยเฉาะสายพันุ์ยอดฮิตอันดับ1อย่างหมอนทอง คุณสุทธิเดช กฤษณะเศรณี หรือลุงต้อยเจ้าของ เพจลุงต้อยเกษตรอินทรีย์ ที่เป็นที่รู้จักกันดีในหมู่เกษตรกรของจังหวัดจันทบุรี ได้พูดถึงทุเรียนหมอนทองและตลาดทุเรียนไว้อย่างน่าสนใจดังนี้

ที่มาที่ไปของทุเรียนไทยโบราณ
“ปัจจุบัน หมอนทองเป็นที่นิยมและยอมรับของตลาดส่งออก แต่ปัญหาของชาวเกษตรคือทุเรียนหมอนทองเป็นทุเรียนที่เปราะเป็นโรคง่าย และอีกด้านเรื่องการตลาดปัจจุบันนี้เอาเฉพาะในจังหวัดจันเนี่ยก็มีปลูกไม่ต่ำกว่า 3 - 4 ล้านต้น ประเทศกำพูชา พม่า ลาว ปลูกกันทั้งนั้น และผมเองมองว่าต่อไปอีกไม่นานทุเรียนหมอนทองของเราจะตันก็เพราะตอนนี้จีนก็เอาไปปลูกและเค้ายังได้เปรียบเรื่องการขนส่งกับการตลาดอีกด้วย เมื่อมันเป็นหยั่งงี้ผมก็เลยหันมามองและศึกษาทุเรียนพันธุ์โบรานดูและคัดมาได้ 3 พัน คือพัน นกหยิบ พวงมณี และพันธุ์กบสุวรรณ สามสายพันธุ์นี้เป็นตัวที่เข้าตลาดได้ เรายังมีการรวมกลุ่มอนุรักษ์ทุเรียนพันธุ์โบราณอีกด้วย โดยมีสมาชิกเครือข่ายตอนนี้อยู่ 42 รายคอยช่วยเหลือกันในด้านการตลาดโดยมีผมลุงต้อยนี่แหละเป็นประธานของกลุ่ม เพื่อช่วยกันแก้ปัญหาราคาทุเรียนตกต่ำ”

ลุงต้อยยังบอกอีกว่า ตอนแรกๆนั้นนกหยิบยังไม่เป็นที่ที่นิยมมากนัก ราคาก็เลยต่ำมากอยู่ที่กิโลกรัมละ 20-30 บาท สมาชิกก็ยังไม่มั่นใจว่านกหยิบจะตีตลาดได้ ลุงต้อยก็เลยประกันให้เลยว่าทุเรียนนกหยิบจะขายได้ใน ราคากิโลละ 55 บาท พอเข้าปีที่สองขยับราคาเป็น85 ปรากฏว่าสมาชิกยิ้มสบายใจเลยว่าขายได้ตีตลาดได้แน่นอน เพราะตัวลุงต้อยเองก็มีตลาดรองรับอยู่เยอะ ทางกรุงเทพก็มาติดต่ออยู่มาก จึงการันตีให้กับสมาชิกได้สบายใจในระดับหนึ่ง

ทุเรียนในสวนลุงต้อย

“ช่วงสองปีที่แล้วปัญหาการตัดทุเรียนอ่อนเกิดขึ้นมากในจังหวัดจัน คนที่มาซื้อทุเรียนริมทางซื้อไปแล้วทุเรียนอ่อนกินไม่ได้ ทางจังหวัดบอกให้ผมช่วยออกมาเปิดแผงริมทางให้หน่อย แล้วผมเองก็มีชื่อเสียงอยู่พอสมควรจากเพจและไลน์ลุงต้อยเกษตรอินทรีย์ ผมนี่เอารูปติดไว้ด้วยเลยตอนขาย แล้วก็รับประกันกับลูกค้าว่าถ้าเสียหายกินไม่ได้ก็คืนได้ ขายปีแรกปรากฏว่าไม่มีใครเอามาคืนเลย”

แผนการตลาดของลุงต้อยนอกจากจะรวมตัวกันเป็นกลุ่มสมาชิกแล้ว ลุงต้อยยังทำการตลาดผ่านเพจเฟสบุ๊คและไลน์ด้วย อย่างที่ทราบกันในชื่อลุงต้อยเกษตรอินทรีย์ ลุงต้อยกับสมาชิกตัดทุเรียนมารวมที่บ้านแล้วลงประกาศทางไลน์ พอถึงกำหนดลูกค้าโทรมาจองและก็มาเอาถึงบ้าน ปีนี้ทั้งปีลุงต้อยกับสมาชิกเลยขายทุเรียนโดยไม่ต้องออกไปตลาดเลย ราคาที่ได้ก็ยังสูงอีกด้วย จากที่ขายนกหยิบปีที่ผ่านมา ตอนแรกขายอยู่ที่ 150 แล้วขยับขึ้นมาเป็น180 บาท

ในงานมหกรรมทุเรียน ทางจังหวัดขอให้ลุงต้อยไปขายช่วย ซึ่งในงานนั้นทุเรียนนกหยิบราคาถึง ก.ก.ละ250บาท ก็ยังขายคล่องอยู่ แถมยังมียอดจองกันอีกต่างหาก ในปีนั้นลุงต้อยกับสมาชิกยังได้ส่งทุเรียนเข้าประกวด ซึ่งนกหยิบได้รางวัลที่1 กับที่2มา ลูกค้าก็เลยพากันจองกันใหญ่ ลุงต้อยยังบอกด้วยความภูมิใจอีกว่าตอนประกวดอาเซี่ยนก็เช่นกัน ลุงแกก็ได้ที่1 , 2 และ3 ประเภททุเรียนค้าภายในประเทศอีกด้วย

ที่ผ่านมาทั้งหมดจึงทำให้เห็นว่าถ้าเราตั้งใจจะทำอะไรซักอย่างแล้วสิ่งสำคัญคือความตั้งใจและเชื่อมั่นในคุณภาพของสิ่งที่เรากำลังทำบวกกับการวางแผนการตลาดที่ดีด้วย จึงจะประสบผลสำเร็จ

พูดถึงเรื่องคุณภาพของทุเรียนโบราณ ในปัจจุบันคนที่พูดถึงทุเรียนโบราณเค้าจะบอกว่าลูกเล็กเนื้อน้อย แต่จริงแล้วนกหยิบจากที่ลุงต้อยปรับปรุงพันธุ์แล้วนี้เนื้อหนาและมีรสหวาน

“จากที่ได้ยินมา คนที่ซื้อไปกินส่วนใหญ่ก็บอกกันว่านกหยิบของเราเนี่ยเหมือนก้านยาวกับหมอนทองรวมกัน จนตอนหลังใครมาเยี่ยมมาหาก็จะถามถึงแต่ทุเรียนนกหยิบ ไม่มีถามถึงหมอนทองกันเลย” ลุงต้อยกล่าวอย่างอารมณ์ดี

เกษตรกรที่ทำทุเรียนจะอยู่ได้ต้องดิ้นรน ขยัน ลองหันมาทำพันธุ์ทุเรียนขายด้วย ผมสั่งเม็ดต่อพันธุ์โบราณมาจากภาคใต้ เป็นพันธุ์ทุเรียนป่าของใต้มาทำสต็อกไว้ แล้วใช้ยอดของพันธุ์นกหยิบของผม จนปัจจุบันที่ผมทำพันธุ์ทุเรียนขายนี้ไม่พอขายเพราะเค้าเชื่อถือผม เชื่อในชื่อเสียงที่สั่งสมมา และความซื่อสัตย์เป็นสำคัญ

ต้นกล้าทุเรียนพันธุ์พื้นเมือง

“ ปัจจุบันผมทำกิ่งนกหยิบซื่งเป็นกิ่งปีเดียว ขายกิ่งละ 70 นกหยิบกับพวงมณี และก้านยาว ราคาเดียวทั้งหมด แต่ตัวก้านยาวนี่จะทำน้อยหน่อย ทำเอาแค่ตามสั่ง ตอนนี้ทำ 6,000 กิ่งก็ขายได้หมดภายใน2เดือนด้วย.. ”

สิ่งที่ลุงต้อยกล่าวทิ้งท้ายทำให้เราได้รู้ว่าผลจากการตั้งใจ จริงจังและซื่อสัตย์ที่ลุงต้อยยึดถือในการประกอบอาชีพเกษตร นั้นส่งผลดีให้เห็นได้ชัดเจนแค่ไหน

ขั้นตอนปลูกทุเรียนของลุงต้อย
1. กิ่งพันธุ์ทุเรียนที่ปลูกอาจเป็นกิ่งตอน กิ่งเสียบยอด หรือ กิ่งทาบก็ได้ แต่กิ่งพันธุ์ควรมีอายุประมาณ 1 ปี หากอายุน้อยกว่านี้จะไม่แข็งแรงและหากอายุมากเกินไปรากอาจขดได้ เมื่อได้กิ่งพันธุ์อายุเหมาะสมแล้ว ควรรอให้ใบอ่อนแก่ก่อน จึงลงปลูก ไม่ควรลงปลูกขณะที่แตกใบอ่อน เพราะหากโดนแดดจัดจะทำให้ทุเรียนเฉาในทันที และช่วงเวลาที่ปลูกควรปลูกตอนเย็น เพราะจะทำให้ต้นไม่เหี่ยว

2. การปลูกจะยกโคก(พูนดิน)โดยใช้ดินจากบริเวณที่จะปลูก ทำให้ร่วนซุย และพูน ขึ้นมาจากพื้นประมาณ 50 เซนติเมตร และมีเส้นผ่านศูนย์กลาง 1 เมตร จากนั้นขุดหลุมปลูกบริเวณกลางโคก โดยขุดลงไปเท่าขนาดถุงชำ และใช้ดินร่วนหรือดินผสมปุ๋ยคอกผสมแกลบดิบใส่รองก้นหลุม เพื่อล่อให้รากทุเรียนออกมาหาอาหาร และถ้ามีปลวกให้ใช้พูราดาน 1 ส่วนผสมปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด 3 ส่วน โรยที่ก้นหลุมประมาณ 1 กำมือก่อนแล้วจึงลงปลูก

3. เมื่อตัดถุงชำ(ถุงสีดำ)ออกแล้ว ควรเอาดินออกประมาณครึ่งหนึ่ง เพื่อให้รากได้เจอกับดินใหม่ที่เราใส่ไว้ที่ก้นหลุม ขณะที่เอาดินออกนั้น ต้องสังเกตที่รากแก้ว หากพบว่ารากแก้วขดอยู่ ก็ควรใช่กรรไกรตัดออก เพราะรากที่ขดนั้นจะทำให้ต้นทุเรียนโตช้ากว่าที่ควรในกรณีที่กิ่งพันธุ์ทุเรียนที่ชำเอาไว้นาน จะทำให้ดินมีลักษณะจับตัวกันแน่นและรากแก้วของทุเรียนอาจขดอยู่เป็นเรื่องปกติ แต่เราสามารถตัดรากแก้วที่ขดออกได้ เนื่องจาก ทุเรียนมีรากแขนงที่แตกมาจากรากแก้วและมีรากพิเศษ หรือ “รากตะขาบ” เป็นรากหากิน ทำให้การตัดรากแก้วไม่กระทบกระเทือนการหากินของต้นทุเรียน

การปลูกทุเรียนแบบยกร่อง(มีการกักน้ำไว้ในร่องสวน)และมีน้ำใต้ดินมาก จึงแนะนำให้ตัดรากแก้วทั้งในกรณีที่รากแก้วขดและไม่ขด เนื่องจาก หากไม่ตัดรากแก้ว รากแก้วจะลงไปดูดน้ำใต้ดินทำให้ทรงพุ่มของทุเรียนสูงชะลูดเพียงอย่างเดียว และระดับน้ำใต้ดินที่สูงจะทำให้รากแก้วแช่อยู่ในน้ำตลอดปี ดังนั้น** หากผู้ปลูกทำสวนแบบยกร่องสวนหรือมีระดับน้ำใต้ดินสูงควรตัดรากแก้วออกทั้งในกรณีที่รากแก้วขดและไม่ขด ส่วนผู้ที่ไม่ได้ยกร่องก็สังเกตเพียงว่ารากแก้วขดหรือไม่ หากรากแก้วขดจึงค่อยตัดออก

4. เมื่อตอนลงปลูกควรขยายรากให้แผ่ออกหรือจัดรากให้แผ่ออกไปรอบๆต้นให้เหยียดตรงเมื่อทุเรียนโตขึ้นจะได้มีรากสมดุลกัน คือ แผ่รากไปรอบๆต้นป้องกันการโค่นล้ม วางกิ่งทุเรียนลงในกลางพูนดินให้ลำต้นตั้งตรง ใช้ไม้ไผ่ปักขนาบไว้ใช้ดินกลบโคน กิ่งตอนกลบพอมิดกาบมะพร้าวกิ่งทาบกลบพอเสมอดินเดิมหรือราว 1 นิ้ว ถ้าเป็นกิ่งเสียบยอดก็เช่นเดี่ยวกันไม่จำเป็นต้องปลูกลึกโคนทุเรียนจม ถ้าเป็นฤดูฝนปลูกเสร็จแล้วควรให้โคนต้นทุเรียนสูงกว่าระดับดินธรรมดาเล็กน้อยเพื่อกันน้ำแช่โคน ถ้าเป็นฤดูแล้งควรยกขอบรอบๆ

5. การวางแนวปลูกทุเรียนต้องปลูกให้เป็นแถวตรงเป็นระเบียบ ควรปลูกร่องแรกกับร่องสองให้สลับกัน เพื่อความสวยงามและสะดวกเวลาปฏิบัติดูแลรักษา การปลูกไม่เป็นระเบียบทำให้ยากแก่การดูแลและไม่สวยงาม ทำให้เสียเวลาและแรงงานไปโดยเปล่าประโยชน์เพราะทำงานยาก

6. นิสัยทุเรียนไม่ชอบที่โล่งแจ้ง ดังนั้นจึงควรมีไม้บังร่มให้แก่ทุเรียนบ้างโดยเฉพาะทุเรียนในปีแรกที่ยังเล็กอยู่ต้องการร่มเงามาก สามารถบังร่มได้โดยปลูกต้นไม้บังร่มหรือใช้แสลนบังแดดก็ได้ นอกจากนี้ประโยชน์ของไม้บังร่มอาจปลูกเพื่อเป็นรายได้จุนเจือ พืชที่เหมาะสมที่สุดคือกล้วย เพราะกล้วยให้ร่มเงาเร็วที่สุดในการใช้เป็นไม้บังร่มเงาชั่วคราว ส่วนไม้บังร่มถาวรนั้นในสวนแบบยกร่องชาวสวนจะหากิ่งทองหลางมาปลูกสลับระหว่างต้นทุเรียนเสียก่อน เพราะทองหลางนี้นอกจากจะให้ร่มแล้วยังเป็นประโยชน์แก่ทุเรียนอีกด้วย ใบของทองหลางที่หล่นลงร่องพอถึงปีชาวสวนจะขุดขึ้นมาถมโคนทุเรียนซึ่งเป็นพวกอินทรียวัตถุ อันเป็นประโยชน์ต่อทุเรียนต่อไป พอถึงฤดูแล้งน้ำที่ระเหยจากใบทองหลางจะช่วยให้ความชื้นในอากาศมากขึ้น ทำให้ทุเรียนไม่ชะงักการเจริญเติบโต การปลูกไม้บังร่มถาวรนี้ในสวนแบบยกร่องจะต้องปลูกไปพร้อมกับกล้วยหรือปลูกไว้ก่อนแล้ว กล้วยที่แนะนำให้ปลูกคือกล้วยไข่ กล้วยหอม ยิ่งถ้าเป็นสวนทุเรียนที่มีทุนน้อยถ้าได้กล้วยขายเป็นรายได้ไปพลางๆ อย่างน้อยก็พอเป็นค่ารักษาสวน ค่าปุ๋ยทุเรียน หรือไม่ก็เป็นการป้องกันกำจัดวัชพืช เพราะเมื่อมีกล้วยขึ้นปกคลุมแล้ว พวกวัชพืชก็จะขึ้นน้อยลง

ก่อนที่จะปลุกทุเรียนควรที่จะปลูกไม้กันลมโดยรอบคันล้อม และปลูกไม้เพื่อเป็นร่มทุเรียนให้สูงขึ้นอย่างน้อย 3 เมตร เสียก่อน เมื่อเห็นว่าสวนร่มครึ้มดีแล้วจึงค่อยลงมือปลูกทุเรียนได้ ในการปลูกไม้กันลมควรเป็นไม้ที่มีระบบรากลึกแข็งแรง รากไม่แผ่ออกไปกว้าง เพราะจะไปรบกวนทุเรียนแถวริมสุด เป็นไม้ที่ปลูกง่ายไม่ผลัดใบในฤดูแล้ง เจริญเติบโตเร็ว กิ่งไม่เปราะ มีลำต้นเหนียวและโอนอ่อนไปตามกระแสลมได้ มีใบพุ่มหนาตลอดลำต้น ใบไม่ใหญ่โตนัก ไม้กันลมที่ควรใช้ปลูก เช่น แคบ้าน สะเดา ขี้เหล็ก จามจุรี ไม้ไผ่เป็นต้น

7. หลังจากปลูกเสร็จแล้วต้องรดน้ำให้ทันที ในระยะแรกที่ปลูกควรรดน้ำตอนเช้าทุกวันอย่างสม่ำเสมอ และในระยะแรกที่ปลูกไม่ต้องรดมาก เนื่องจากรากยังไม่เจริญไปห่างต้น รดเพียงโคนก็พอ การใช้ขนาด(ขนาดรดน้ำ)หรือเครื่องรดน้ำไม่ควรทำเพราะจะทำให้โคกพังเร็วขึ้น ยังทำให้ดินบริเวณนั้นจับกันแน่นและรากเดินไม่สะดวก เมื่อทุเรียนจะเริ่มตั้งตัวได้ ถ้าเป็นกิ่งทาบหรือต้นเสียบยอดประมาณ 1 เดือน ก็จะเริ่มแตกใบอ่อนถ้าเป็นกิ่งตอนอาจแตกใบอ่อนช้ากว่าเล็กน้อย บางทีอาจ 2 เดือนก็มี

ลุงต้อยฝากถึงเกษตรรุ่นใหม่
“ผมว่าเกษตรรุ่นใหม่เป็นคนรุ่นที่เก่งพอสมควร แต่เค้ายังไม่มีผู้นำที่จะนำให้เค้าไปเล่นอะไรแนวๆนี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำไม้ผลอินทรีย์ที่ตลาดต้องการมาก เพราะฉะนั้นมียังโอกาสอีกมากกับการที่จะเริ่มต้นทำการเกษตรแบบอินทรีย์นี้ ในเรื่องของทุเรียนมีหลายๆบริษัทมาติดต่อผมแต่ผมรับอยู่เจ้าเดียวก็ยังไม่พอขาย แล้วมาเลย์ ไต้หวันมาติดต่ออีก ทางออสเตรเรียก็มาดูสวนมาชมสวน มาติดต่อจะให้ทำให้ นั่นแสดงว่าการทำเกษตรอินทรีย์หรือการทำทุเรียนอะไรต่างๆพวกนี้ ตลาดยังเปิดกว้างอยู่ เพียงแค่รู้จักที่จะเรียนรู้ ลงมือทำ และทำอย่างชาญฉลาดเท่านั้นเองครับ”

และนั่นก็คือประสบการณ์บวกแง่คิดดีๆจากเกษตรผู้มากประสบการณ์อย่างคุณสุทธิเดช กฤษณะเศรณี หรือลุงต้อยเกษตรอินทรีย์ของชาวจันทบุรีนั่นเอง..

การเสียบยอดทุเรียนของลุงต้อย จะใช้กิ่งพันธุ์ดี ต้นตอต้องดีด้วย

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณสุทธิเดช กฤษณธเศรณี
เลขที่ 5 หมู่ที่.5
ตำบลซึ้ง อำเภอขลุง
จังหวัดจันทบุรี 22110

เปลี่ยนวิกฤตทุเรียนพื้นเมืองไทย ให้เป็นโอกาส

วิธีเสียบยอดขยายพันธุ์ทุเรียน

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด