เกษตรกรต้นแบบ

"สันทัด วัฒนกูล : ทำนาตามแนวพ่อ ลดต้นทุน สร้างรายได้ ให้กำไรเกินเท่าตัว"

 10 กุมภาพันธ์ 2560 6,514
จ.อุทัยธานี
ตั้งแต่หันมาทำเกษตรแบบนี้
ของกินมีทุกอย่างในสวน สุขภาพก็ดีไม่มีค่าหมอ ใช้ชีวิตสบายขึ้น มีความสุขมากขึ้น

แปลงนาที่มีข้าวเขียวชะอุ่มแบบนี้ด้วยปุ๋ยอินทรีย์ล้วนๆ

แม้ว่าอาชีพทำนาจะเป็นอาชีพหลักของคนไทยก็ตาม แต่วิธีการจัดการระบบการทำนาที่มั่นคง ยังเป็นเรื่องใหม่สำหรับชาวนาไทยอยู่ เพราะคนไทยใช้การทำเกษตรแบบเดิม ๆ ทำตามบรรพบุรุษ จนทำให้เกิดความเสียหายทั้งทางธรรมชาติ และขาดทุนจากการทำนา ดั้งนั้นการทำนาแบบลดความเสี่ยง ถือเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำแล้วรอด จนเป็นที่มาของ “เกษตรทฤษฎีใหม่” ลดความเสี่ยงจากการทำนา ตามรอยพ่อ

หลักคิดในการใช้ชีวิต
ผู้ใหญ่สันทัดบอกว่าเดิมครอบครัวของตนยึดอาชีพเลี้ยงสัตว์ เนื่องจากมีพื้นที่ไม่เหมาะต่อการเพาะปลูก พื้นที่เป็นที่ดานที่สุดในจังหวัดอุทัยธานี ปลูกพืชปลูกอะไรก็ไม่งาม เป็นมาตั้งแต่รุ่นคุณพ่อคุณแม่ อีกทั้งชาวบ้านส่วนใหญ่ก็ยึดอาชีพเลี้ยงสัตว์ จนเป็นตลาดนัดโคกระบือมาตลอดในสมัยนั้น จนกระทั้งปีพ.ศ. 2535 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงเสด็จมาอำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ครอบครัวของผู้ใหญ่สันทัดจึงสร้างศาลาที่ประทับและทรงงานถวาย ซึ่งผู้ใหญ่สันทัดก็เป็นผู้ดูแลอยู่ในปัจจุบัน ตอนนั้นสมเด็จพระเทพฯ ทรงเข้ามาช่วยในเรื่องของการปรับปรุงพัฒนาที่ดิน จนทำให้สามารถทำการเกษตรได้ ชาวบ้านบางส่วนจึงผันตัวเองมาเป็นเกษตรกรปลูกข้าว แทนการเลี้ยงสัตว์ตามที่สมเด็จพระเทพฯ ท่านทรงแนะนำ

“พอผันตัวเองมาทำเกษตร ต้นทุนการทำเกษตรตอนนั้นก็สูงมาก เพราะเราอัดสารเคมีอย่างเดียว แต่ราคาขายกลับไม่ได้สูงตาม เมื่อย้อนกลับมาดูบัญชีที่จดไว้ ก็พบว่าขาดทุนมากกว่า ทำไปก็ติดหนี้ ธกส. เลยลองคิดที่จะหาวิธีเปลี่ยนการทำนาแบบใหม่ โดนกลับมามองว่าทำไมพื้นที่ของตน ทำแล้วไม่ได้กำไร ในเมื่อพื้นที่ใกล้เคียงห่างกันแค่ 1 กิโลเมตร ทำแล้วได้ผล เลยมองกลับมาใหม่ ใช้ทฤษฎีของพ่อหลวง ทำเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียง ลดต้นทุน ตามแนวทาง “เกษตรทฤษฎีใหม่” ที่พระองค์ท่านทรงทำเป็นแบบอย่างไว้ มาปรับใช้ในพื้นที่ของตน ”

ปุ๋ยหมักชีวภาพที่คุณสันทัดหมักเองใช้เอง

ประวัติและความเป็นมาเกี่ยวกับตัวเกษตรกร
คุณสันทัด วัฒนกูล บ้านเลขที่ 234 หมู่ที่ 1 ตำบลทัพทัน อำเภอทัพทัน จังหวัดอุทัยธานี ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านและชาวนาตัวอย่างจากจังหวัดอุทัยธานี เล่าว่า ได้ทำนาบนพื้นที่ 190 ไร่ สืบต่อมาจากบรรพบุรุษ ทำให้มีประสบการณ์มากในอาชีพการทำนา ทำนามาแล้วหลากหลายรูปแบบ จนค้นพบวิธีที่จะสามารถลดความเสี่ยงจากอาชีพทำนาได้ ทำให้ประสบความสำเร็จ จนกลายมาเป็น “เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 59 สาขาอาชีพทำนา” ในวันนี้

“ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 1 ตำบลทัพทัน เมื่อมาเป็นผู้ใหญ่บ้าน ก็ใช้หน้าที่นี้ในการถ่ายทอดวิธีการทำนาแบบลดความเสี่ยงให้กับชาวบ้าน ซึ่งได้ทำการเกษตรตามแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว คือ เกษตรทฤษฎีใหม่ มีการบริหารจัดการทรัพยากร โดยเฉพาะดินและน้ำที่มีอยู่จำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด แบ่งพื้นที่ทำการเกษตรออกเป็น 4 ส่วน คือจัดให้มี แหล่งน้ำ ร้อยละ 30 ทำนา ร้อยละ 30 พืชไร่พืชสวน ร้อยละ 30 และพืชผักสวนครัว ร้อยละ 10 ซึ่งถือว่าเป็นแนวทางการทำเกษตรที่ประสบความสำเร็จดีที่สุด ณ ขณะนี้เลยก็ว่าได้”

วางแผน ปรับปรุง เพื่อการเปลี่ยนแปลง
ผู้ใหญ่สันทัดเริ่มจากการวางแผน โดยใช้พื้นที่ของตนแบ่งพื้นที่ทั้งหมด 20 ไร่ ในการทำสระน้ำ เพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ในการเกษตร ทั้งหมด 9 สระ โดยสระใหญ่สุด มีขนาดกว้าง 79 เมตร ยาว 121 เมตร และมีความลึกถึง 24 เมตร สามารถจุน้ำได้กว่า 200,000 ลูกบาศก์เมตร และอยู่บนพื้นที่ดอนที่สุด ทำให้ง่ายต่อการระบายน้ำลงมายังสระอื่นๆ ซึ่งการขุดสระแต่ละสระ จะไม่ได้เสียค่าใช้จ่ายในการจ้างขุด เพราะให้ดินเป็นค่าตอบแทนต่อผู้รับเหมาเป็นการแลกเปลี่ยน

ข้าวสวยด้วยปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์

เมื่อมีสระครบถ้วนตามจำนวนที่ตั้งใจไว้ ก็ได้ทำการนำสัตว์เลี้ยงที่มีอยู่แล้วเข้ามาเลี้ยงในพื้นที่ จัดสัดส่วนตามความเหมาะสม ให้อยู่แบบพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันได้ ตามระบบนิเวศ จากนั้นก็ได้เริ่มทำการปรับปรุงดินในพื้นที่ ๆ แบ่งออกเป็นพื้นที่ในการทำเกษตร โดยจะมีการตรวจเช็ดดินปีละ 1-2 ครั้ง เมื่อตรวจเช็ดดินแล้วก็ต้องทำการตรวจเช็คน้ำด้วย เมื่อดินดีน้ำดี ก็มาตามหาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ดี เพียงเท่านี้ก็ได้ผลผลิตที่ดี ขายได้กำไรงาม ต้นทุนน้อย เพราะลดการใช้ปุ๋ยใช้ยา มาเป็นการดูแลดินและน้ำแทน ส่วนในเรื่องการฆ่าแมลงหรือศัตรูพืชก็ใช้น้ำหมักชีวภาพ ตามที่พ่อหลวงท่านสอนไว้ในทฤษฎีใหม่แทนการใช้ยาฆ่าหญ้า ต้นทุนก็ลดลงไปได้เยอะ

“การทำเกษตรทฤษฎีใหม่จะต้องมีการวางแผนก่อนว่าปีนี้ตลาดต้องการข้าวอะไร ต้องมีการคุยกับโรงสีก่อนว่าปีนี้โรงสีต้องการข้าวสายพันธุ์ไหน แล้วค่อยทำการปลูกข้าวในสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการ จะได้ขายได้ อีกหนึ่งเรื่องที่สำคัญคือเรื่องบัญชี รายรับ-รายจ่าย ทุกอย่างต้องมีการจดไว้ จะได้รู้ว่าขาดทุนจากตรงไหน สร้างกำไรด้วยวิธีใด โดยปี ๆ หนึ่ง จะแบ่งพื้นที่ประมาณ 70 ไร่ ในการทำนา ปลูกข้าวหลากหลายพันธุ์ตามความต้องการของตลาด ได้แก่ พันธุ์ กข ต่างๆ เช่น กข 31 กข 41 กข 49 ข้าวหอมชลสิทธิ์ ข้าวหอมปทุม ข้าวไรซ์เบอร์รี่ และแบ่งพื้นอีกประมาณ 15 ไร่ ในการทำแปลงเพาะกล้าพันธุ์ข้าว ด้วยการเพาะกล้าข้าวลงในถาดเพาะ แล้วจัดวางลงในแปลงตามชนิดของพันธุ์ข้าว เพื่อสะดวกในการดูแลรักษา ใช้เวลา 12-15 วันก็จะได้กล้าพร้อมลงปลูกปักดำ ซึ่งทุกอย่างที่เป็นการลดต้นทุนจะทำเองหมด เพราะถ้าทำเองได้ กำไรก็จะมากขึ้น คำว่าขาดทุนก็จะหายไป”

หากจะให้พืชมีผลผลิตที่ดี ต้องเริ่มที่ดินก่อน
ผู้ใหญ่สันทัดบอกว่าปัจจัยทำให้ประสบความสำเร็จในการทำนามากที่สุด คือความสำคัญในการปรับปรุงดิน ซึ่งตนใช้การปรับปรุงดินด้วยการปลูกพืชปุ๋ยสด เช่น ปอเทือง ถั่วพร้า พอโตขึ้นมาในระยะเหมาะสม ก็จะทำการไถกลบเพื่อปรับปรุงสภาพดิน ส่วนการเตรียมดินก่อนการทำนา จะไม่มีการเผาทำลายต้นฟางข้าว ให้ใช้วิธีไถพลิกหน้าดินเพื่อกลบฟางข้าวแทน การไถดะควรทิ้งไว้ 7-10 วัน จากนั้นจึงไถแปร แล้วจึงหว่านเมล็ดพันธุ์ หากเป็นนาดำให้ทำเทือก ทิ้งไว้ 1 คืน เพื่อรักษาระดับน้ำในแปลงให้สูงประมาณ 5 เซนติเมตร ซึ่งปัจจุบันได้มีการนำเครื่องจักรมาใช้ดำนาเพื่อประหยัดระยะเวลาและแรงงาน อีกทั้งการใช้เครื่องจักรยังช่วยลดต้นทุนเรื่องต้นพันธุ์ได้ดีอีกด้วย

“ส่วนเรื่องของปุ๋ย ตนจะใช้ปุ๋ยอินทรีย์ อย่างปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมัก ใส่ลงในแปลงนา ซึ่งวัสดุการทำปุ๋ยก็หาได้จากพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นเศษผลผลิตภายในสวน เศษหญ้า หรือมูลสัตว์ที่เลี้ยงไว้ ซึ่งผู้ใหญ่สันทัดเลี้ยงกระบือที่ตกทอดจากพื้นที่เดิมเคยเป็นตลาดนัดโคกระบือมาก่อน โดยปัจจุบันมีกระบืออยู่ 50 ตัว ทำให้ได้มูลจำนวนมากพอที่จะทำปุ๋ยใช้ในพื้นที่ของตน และบรรจุถุงขายให้กับชาวบ้านได้ ทำให้มีเงินเพิ่มในการจำหน่ายปุ๋ยอีกทางหนึ่ง”

เรื่องของการตลาดผู้ใหญ่สันทัดบอกว่าสามารถทำผลผลิตสูงสุดถึง 1,132 กิโลกรัม/ไร่ ซึ่งต้นทุนการทำนาแบบลดความเสี่ยงจะใช้ทุนอยู่ที่ประมาณ 3,000 บาท/ไร่ หากขายเป็นพันธุ์ข้าวจะได้ราคาสูงถึงเกียนละ 12,000 บาท เหลือจากการขายข้าวพันธุ์แล้ว จึงจะนำมาสีรับประทาน และขายได้ทั้งแบบข้าวขาว ข้าวกล้อง เดิมจะทำการจำหน่ายข้าวเปลือกให้กับโรงสีและพ่อค้าคนกลาง แต่ได้ราคาต่ำ ผู้ใหญ่สันทัดจึงได้ทำการรวมกลุ่มชาวนา นอกจากเป็นศูนย์ข้าวชุมชนแล้ว ยังจดทะเบียนเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชน จำหน่ายผลผลิตด้วยการแปรรูปเป็นข้าวสารและข้าวกล้องขายในนามของกลุ่ม เพื่อไม่ให้เกิดการกดราคาของพ่อค้าคนกลาง อีกทั้งยังสร้างกิจกรรมทางการเกษตรและสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนอีกด้วย

“ตลาดข้าวปัจจุบันหากเป็นข้าวสาร ถ้าทำแบบปลอดสารเคมี เป็นข้าวอินทรีย์ แทบจะไม่ต้องง้อตลาดเลย มีคนมารับซื้อถึงบ้าน แต่ที่สำคัญต้องปลอดภัยจริง ไม่มีสารเคมี ไม่ผสม ยังไงก็ขายได้ ไม่จำเป็นต้องพึ่งพ่อค้าคนกลาง ขายได้กำไรดี ไม่มีคนมาหักส่วนแบ่ง แถมตลาดยังขยายได้เรื่อย ๆ อยากแนะนำให้เกษตรกรตั้งกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน สีข้าวเอง บรรจุถุงเอง ขายกันเอง ราคาดีกว่าแน่นอน ยังไงก็ไม่ขาดทุนถ้าทำการตลาดด้วยวิธีนี้”

เปลี่ยนมาทำเกษตรแบบนี้ ชีวิตผู้ใหญ่เปลี่ยนไปอย่างไร. . .
ผู้ใหญ่สันทัดบอกว่าสำหรับรางวัลที่ตนได้รับมาทุกรางวัลนั้น ถือเป็นความภาคภูมิใจในอาชีพชาวนา ซึ่งตนก็ได้รับรางวัลมามากมาย ไม่ว่าจะเป็น เกษตรกรสาขาอาชีพทำนาดีเด่น รางวัลชนะเลิศเกษตรกรปราดเปรื่องต้นแบบด้านข้าว (Smart Farmer) เกษตรกรสัมมาอาชีพดีเด่น จากสภาเกษตรกรแห่งชาติ ฯลฯ และล่าสุดเมื่อวันที่ 29 พ.ค.วันพืชมงคล ปี 2559 ตนก็ได้รับรางวัลพระราชทานเป็น เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ ปี 59 สาขาอาชีพทำนา ซึ่งเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่และภูมิใจที่สุดในชีวิต เป็นกำไรชีวิต จากการยึดมั่นหลักการทำเกษตรตามแนวทางของพ่อหลวง

“ตั้งแต่หันมาทำเกษตรแบบนี้ ชีวิตการเป็นอยู่ก็เปลี่ยนไป เมื่อก่อนเราปลูกข้าวอย่างเดียว เช้ามาก็ต้องไปตลาดซื้อผัก ซื้อหมู ซื้อไก่ มาทำอาหาร แต่เดี๋ยวนี้เราทำเกษตรแบบผสมผสาน ปลูกผักไว้กินเองเลี้ยงสัตว์ไว้ทำอาหาร มีไข่ให้เก็บทานได้ทุกวัน มีปลาไว้จับไปทำอาหาร จะกินผักอะไรก็เข้าสวนไปเก็บ ไม่ต้องซื้อ ค่าใช้จ่ายก็ลดลง การเจ็บป่วยก็ลดลง เนื่องจากเราไม่ใช้สารเคมี เมื่อไม่ป่วยค่าหมอค่ายาก็ลดลง มีเงินเก็บไว้ใช้หนี้ เมื่อหนี้หมดก็มีเงินเก็บ ใช้ชีวิตสบายขึ้น มีความสุขมากขึ้น แถมยังสามารถนำความรู้จากประสบการณ์ตรง มาเผยแพร่สู่คนในชุมชน ให้สามารถใช้ชีวิตอย่างพอเพียง มีกิน มีใช้ มีเงินเหลือเก็บ เห็นคนในชุมชนมีความสุข ตนก็มีความสุขทางใจที่ได้แบ่งปัน”

ข้อคิดดีๆ จากผู้ใหญ่สันทัด
ผู้ใหญ่สันทัดยังฝากข้อคิดถึงเกษตรกรทั่วไปอีกว่า ไม่ว่าคุณทำเกษตรประเภทไหน ไม่ว่าจะเลี้ยงปลา เลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ ปลูกผัก ทำนา ทำไร่ น้ำและดินคือสิ่งมีชีวิต เพียงแต่พวกเขาพูดไม่ได้ เราจึงต้องดูแลและใสใจเขาให้ดี แนะนำว่าต้องมีการวางแผน คือ ต้องดูว่าที่ของเราเหมาะกับข้าวพันธุ์อะไร ตลาดต้องการข้าวอะไร ราคาเป็นอย่างไร ไม่ใช่ทำตามอย่าง เห็นเขาทำได้ทำก็ทำบ้าง ทำแบบนั้นไม่ได้ เราต้องดูว่าตลาดต้องการอะไร ต้องวางแผนทุกอย่าง ฤดูผลิตตอนไหน ศัตรูพืชคืออะไร และเมื่อรู้ว่าเราเก่งแล้ว ควรถ่ายทอดให้คนอื่นได้รู้ด้วย ถ้าคุณเก็บไว้คนเดียวคุณจะพลาดโอกาสดี ๆ อีกมากมาย...

เคล็ดลับทำปุ๋ยของคุณสันทัด วัฒนกูล
คุณสันทัด วัฒนกูล เล่าถึงการทำปุ๋ยหมักง่ายว่าสามารถทำปุ๋ยหมักง่ายจากเศษวัสดุพืชผักที่บ้านหรือในแปลง และมูลสัตว์ เคล็ดลับอีกอย่างคือการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อเข้าไปติดต่อกับหน่วยงานราชการ กรมพัฒนาที่ดิน ซึ่งสามารถที่จะขอรับความช่วยเหลือเรื่อง กากน้ำตาล สารเร่งจุลลินทรีย์ (พด.) ถังหมัก กรมพัฒนาที่ดินพร้อมสนับสนุน เพื่อให้เกษตรกรใช้เป็นวัตถุดิบในการทำปุ๋ย เราสามารถใช้ใบฉำฉา เศษใบไม้ คลุกกับมูลสัตว์ และแกลบดิบ จากนั้นนำพด.1 มาคลุกผสม นำมากองหมักไว้ประมาณหนึ่งเดือนสามารถนำไปใช้บำรุงไม้ดอกไม้ผลหรือข้าวก็ได้ ที่สำคัญไม่เป็นอันตรายกับร่างการเรา เราปลอดภัย เมื่อทำเกษตรปลอดภัย แล้วธรรมชาติที่สมบูรณ์จะกลับคืนมาในน้ำมีปลาในนามีข้าว

ปุ๋ยหมักชีวภาพที่ทำเอง ใช้ต้นทุนน้อยมาก กำไรจึงเหลือเยอะ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

นายสันทัด วัฒนกูล
เลขที่234 หมู่ที่1
ต.ทัพทัน อ.ทัพทัน
จ.อุทัยธานี 61120.

ทำนาตามแนวพ่อ ลดต้นทุน สร้างรายได้ ให้กำไรเกินเท่าตัว

ปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยดีที่ทำเองได้ง่ายๆ

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด