เกษตรกรต้นแบบ

"ประภาส ปิ่นตบแต่ง : ข้าวนครชัยศรี ข้าวดีที่ต้องอนุรักษ์"

 26 มกราคม 2560 10,339
จ.นครปฐม
ผมมีความสุขนะ สุขที่ได้ปลูกข้าวกินเอง
ได้อยู่กับครอบครัว ได้ออกกำลังกาย
ข้าวให้อะไรดีดีกับผมเยอะเลย

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง ผู้อนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองแห่งนครชัยศรี

เมื่อพูดถึงข้าวพื้นเมือง บางคนอาจะรู้จัก บางคนอาจจะเคยได้ยินแต่ชื่อ หรือบางคนอาจจะเคยได้ทาน...แต่เชื่อว่ามีอีกหลายๆคนที่อาจจะไม่เคยรู้จักข้าวพื้นเมืองเลย

เหลืองหอม เหลืองสวน ทองระย้า ขาวพระยาชม ที่เอ่ยมานี้เป็นเพียงบางส่วนของข้าวพื้นเมืองเท่านั้น ยังมีพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอีกมากมาย มีอีกเป็นหมื่นๆ สายพันธุ์ ที่มีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไปตามภูมิประเทศและภูมิอากาศของประเทศไทย

ในอีกไม่ช้า หากไม่มีการอนุรักษ์ ข้าวพื้นเมือง คงสูญหายไปแน่...รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง จึงลุกขึ้นมาฟื้นฟูพันธุ์ข้าวพื้นเมืองให้กลับมาเป็นที่รู้จักอีกครั้ง โดยเฉพาะพันธุ์ข้าวหอมนครชัยศรี

ทำไมถึงอยากฟื้นฟูพันธุ์ข้าวนครชัยศรี . . .
รศ.ดร.ประภาส เล่าว่า ผมเป็นลูกหลานชาวนา โดยกำเนิด นอกจากผมจะเป็นอาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยแล้ว ผมยังเป็นเกษตรกรที่ทำนาปลูกข้าวกินเองด้วย ถ้าถามผมว่าทำไมอยากทำนา ผมอยากปลูกข้าวไว้กิน อยากเอาข้าวมาคืนทุ่ง เพราะเดี๋ยวนี้ข้าวที่ปลูกในทุ่งส่วนใหญ่เป็นข้าวเคมี เป็นข้าวคุณภาพต่ำ และหากชาวนายังปลูกข้าวอยู่แบบนี้ แม้จะมีโครงการรับจำนำข้าวช่วยพยุงราคาก็ตาม แต่สุดท้ายแล้วการทำนาเคมีก็จะไปไม่รอด

เมื่อรู้อยู่แล้วว่า อนาคตของชาวนาจะเป็นอย่างไร ผมเลยคิดว่า การทำนาแบบลดต้นทุน ไม่ใช้สารเคมี น่าจะเป็นทางเลือกที่ดี ผมเลยชวนชาวบ้านปลูกข้าวแบบอินทรีย์ และรวมตัวกันตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้าขึ้นมาด้วย

กลุ่มของผม จะปลูกข้าวแบบเข้มข้น เรียกว่าข้าวคุณภาพ หมายความว่าเราจะไม่ปลูกข้าวแข็ง ข้าวสารเคมีแบบในตลาดขาย แต่เราจะปลูกข้าวที่มีเอกลักษณ์ เช่น เราเอาข้าวพันธุ์พื้นเมืองกลับมาปลูก

สาเหตุที่เลือกปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมือง รศ.ดร.ประภาส บอกว่า ข้าวพื้นเมืองเป็นข้าวที่มีเอกลักษณะเฉพาะตัว รสชาติดี ชาวนาปลูกน้อย ทำให้ข้าวพื้นเมืองค่อยๆหายไปจากทุ่ง หากเรานำข้าวพื้นเมืองกลับมาปลูก ผมมองว่า นอกจากจะมีข้าวรสชาติอร่อยกินแล้ว ยังเป็นการอนุรักษ์พันธุ์ข้าวพื้นเมืองไม่ให้สูญหายไปด้วย ผมกับชาวบ้านจึงช่วยกันค้นหาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง จนมาเจอข้าวหอมนครชัยศรี เป็นข้าวพื้นเมืองของจังหวัดนครปฐม

บริบทสบายๆ ในบทบาทชาวนา

ข้าวหอมนครชัยศรี ข้าวพื้นเมืองรสชาติอร่อย มีเอกลักษณ์เฉพาะ รสชาติคล้ายข้าวหอมมะลิ และข้อดีของข้าวพันธุ์นี้คือ เป็นข้าวนาปีที่ดูแลง่าย ไวต่อแสง ไม่กินปุ๋ย และต้านตานโรคได้ดี ส่วนข้อเสีย ถ้าปลูกในนาพื้นที่ลุ่มและเป็นดินเหนียว ช่วงข้าวใกล้ออกรวงสูงประมาณ 105 เซนติเมตร ถ้าน้ำหนักรวงเยอะ ต้นข้าวจะล้ม ซึ่งข้าวหอมนครชัยศรีจะปลูกได้ดีในดินร่วนปนทราย

ผมไปขอพันธุ์ข้าวพื้นเมืองที่เคยอยู่ในทุ่งนครชัยศรีมาจากศูนย์ข้าวปทุมธานีซึ่งเก็บรักษาไว้ 40-50 ปี ได้มา 15สายพันธุ์ แต่ว่าเป็นข้าวเหนียว 2-3 พันธุ์ ได้พันธุ์ข้าวเจ้ามา 11 พันธุ์ เช่น เหลืองหอม เหลืองสวน ทองระย้า ขาวพระยาชม และพันธุ์อื่นๆ ที่ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีเก็บรวบรวมพันธุ์ข้าวพื้นเมืองไว้มากถึง 24,000 ชนิด อย่างของนครปฐมมี 15 พันธุ์ สุพรรณมี 90 พันธุ์ ปทุมธานี อยุธยาก็มี

เอาใจใส่และดูแลแต่ละแปลงอย่างดี

รศ.ดร.ประภาส เล่าเสริมอีกว่า ข้าวพื้นเมืองบางสายพันธุ์ของทุ่งนครชัยศรี เคยชนะเลิศการประกวดตั้งแต่ในช่วงยุคสมัยรัชกาลที่ 5 รัชกาลที่ 6 เช่น พันธุ์เหลืองหอม พันธ์ทองระย้า พันธุ์ขาวพระยาชม ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีให้พันธุ์ข้าวผมมาอย่างละ1กรัม นับแล้วได้ประมาณ 300 กว่าเมล็ด

ขั้นตอนการปลูก การขยายพันธุ์เป็นอย่างไร
หลังจากได้พันธุ์ข้าวมาแล้ว ผมก็นำมาปลูกในแปลงทดลองของผม ผมเรียกแปลงนานี้ว่า แปลงปลูกเพื่อเก็บและขยายพันธุ์ ในแปลงนี้ก็จะมีข้าวพื้นเมืองของทุ่งนครชัยศรีหรือของจังหวัดนครปฐมเกือบทั้งหมด ผมจะแบ่งเป็นล๊อคๆเป็นแต่ละสายพันธุ์ไป เช่น ขาวพระยาชม ทองระย้า เหลืองหอม เหลืองสวน วิธีการปลูก ผมจะดำกล้า เพราะว่าเมล็ดพันธุ์ที่ได้มามีจำนวนน้อย ทุกพันธุ์ที่อยู่ในแปลงนี้ ผมจะปลูกแบบอินทรีย์ทั้งหมด

ผมจะปลูกแล้วก็ลองชิมรสชาติข้าวแต่ละสายพันธุ์ จะดูลักษณะต้น ลักษณะรวง ดูจำนวนรวง จำนวนเมล็ด เราอยากจะได้พันธุ์ที่ดีที่สุด เพื่อที่จะได้นำไปขยายพันธุ์ต่อไป

ส่วนพันธุ์หอมนครชัยศรี ผมทดลองปลูกด้วยระบบอินทรีย์ในพื้นที่ ประมาณ 6 ไร่ ซึ่งผลผลิตที่ได้ในปีแรก ส่วนใหญ่เก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ในปีต่อไป อีกส่วนหนึ่งสีเป็นข้าวสารแจกจ่ายให้คนในพื้นที่ได้ทดลองชิม เมื่อทุกคนได้ชิม ต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า กลิ่นหอม รสชาติอร่อย

มีการขยายพันธุ์ข้าวพื้นเมืองอย่างไร
รศ.ดร.ประภาส เล่าให้ฟังต่อว่า ผมก็นำพันธุ์ข้าวหอมนครชัยศรีไปให้สมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านโฉนดชุมชน คลองโยง-ลานตากฟ้าปลูก เพื่อจะได้ขยายพันธุ์และขยายพื้นที่ปลูกออกไปได้อีกเกือบๆ30ไร่ ตอนนี้ที่กลุ่มของผมปลูกข้าวอยู่ 3 สายพันธุ์ คือ ข้าวหอมปทุมหรือปทุมเทพ ข้าวหอมนิล และข้าวหอมนครชัยศรี ซึ่งเป็นพันธุ์ที่ขายดีที่สุดในกลุ่มเรา

ส่วนข้าวพันธุ์พื้นเมืองอื่นๆ ผมก็มีพูดคุยกับทางศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี ในเรื่องการปรับปรุงพันธุ์ให้ดีขึ้น อย่างทำให้ข้าวต้นเตี้ย เหมาะกับการทำนาปรัง อีกส่วนหนึ่งเราไปเรียนไปอบรมกับมูลนิธิข้าวขวัญ ในความตั้งใจของผมและของกลุ่มก็คือ จะปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองของที่นี่ให้เป็นนาปรังและคงรสชาติความอร่อย ผลผลิตดี ต้นเตี้ย เป็นสิ่งที่กลุ่มพยายามจะทำ

รศ.ดร.ประภาส กล่าวทิ้งท้ายอีกว่า การเก็บพันธุ์ พัฒนาพันธุ์ข้าวพื้นเมือง ก็เพื่อให้เป็นเอกลักษณ์เฉพาะถิ่นเฉพาะที่ เวลาใครมาทุ่งนครชัยศรี ก็จะได้เห็น ได้รู้จักทั้งข้าวพื้นเมืองเดิมของทุ่งนครชัยศรี และข้าวพื้นเมืองที่มีการพัฒนาขึ้นมาใหม่ด้วย

การนำข้าวพื้นเมืองกลับมาปลูกอีกครั้ง ได้รับความสุขอย่าง . .?
" ผมมีความสุขนะ ผมทำนาผมมีข้าวดีดีกินเป็นข้าวที่เราปลูกเอง ได้ชิมข้าวเหมือนชิมไวน์ เป็นไวท์ที่เราหมักเอง แล้วอีกอย่างการปลูกข้าว ทำให้ผมได้เจอพ่อแม่ด้วยได้กินข้าวที่เราปลูกด้วยกันพ่อแม่ผมก็อายุ 90 แล้ว ได้กินข้าวด้วยกัน ได้คุยกันไป ได้ออกกำลังกายด้วย ออกกำลังกายจากการปลูกข้าว ผมมองว่า การทำนา การปลูกข้าวให้อะไรดีดีกับผมได้เยอะเลย "

ฝากถึงเกษตรกรรุ่นใหม่
" ผมคิดว่าถ้ามีที่นาอยู่แล้ว ควรปลูกข้าวแบบพอกินเองในครอบครัว เลือกปลูกพันธุ์อร่อยๆ เพราะข้าวพื้นเมือง ข้าวท้องถิ่นเรามีเยอะ เลือกปลูกได้เลย หรือว่าจะเลือกพันธุ์ข้าวจากพันธุ์ที่พ่อแม่เคยปลูก เคยกินมาก่อนได้ แล้วมาแลกเปลี่ยนกันกิน ผมคิดว่าชาวนารุ่นใหม่ต้องเป็นชาวนาแบบเรา คือ ทำนาแบบดั้งเดิม แบบพึ่งพาตนเอง ปลูกข้าวแบบไม่ใช้สารเคมี ทำนาอินทรีย์ เพื่อนำไปสู่ช่องทางที่ดีกว่าชาวนาทั่วไป แล้วอาชีพทำนาจะเป็นอาชีพที่ยั่งยืน "

ทั้งหมดนี้คือการกลับมาของ ข้าวเก่าแก่ ข้าวพื้นเมือง ข้าวท้องถิ่น ที่จะไม่สูญหายไปไหน...แต่กลับทำให้ชาวนาสามารถพึ่งพาตนเองได้ มีทางเลือกในการทำนาที่ดีขึ้นโดยไม่ต้องพึ่งพิงนโยบายใดๆ ชาวนาก็มีชีวิตและอาชีพที่มั่นคง และยังคงเป็นกระดูกสันหลังของชาติไทยตลอดไป

"ผมมีความสุขนะ ผมทำนาผมมีข้าวดีดีกินเป็นข้าวที่เราปลูกเอง"

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

รศ.ดร.ประภาส ปิ่นตบแต่ง เลขที่ 65/4 หมู่ที่ 2
ตำบลลานตากฟ้า อำเภอนครชัยศรี จังหวัดนครปฐม 73120

ข้าวนครชัยศรี ข้าวดีที่ต้องอนุรักษ์

การเพาะพันธู์ข้าวแห่งทุ่งนครชัยศรี

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด