เกษตรกรต้นแบบ

"ชัช อินทฤิทธิ์ : เลี้ยงกบแบบเข้าใจ สร้างรายได้มั่นคง"

 26 มกราคม 2560 13,111
จ.นครสวรรค์
ผมไม่ใช่แค่คนเลี้ยงกบ
ที่มีวันนี้ได้ ก็เพราะกบเลี้ยงผมด้วย
เลี้ยงเขาให้ดี แล้วเราก็จะสุขไปกับเขาด้วย

คุณชัช อินทฤิทธิ์ เจ้าของ ศิรดาฟาร์มกบ

ด้วยสภาพแวดล้อมรอบ ๆ พื้นที่เกษตรได้เปลี่ยนแปลงไป จากการมุ่งใช้สารเคมีจำนวนมาก ส่งผลให้กุ้ง หอย ปู ปลา รวมถึงสัตว์อื่น ๆ ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ซึ่งเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของผู้คนในชนบท ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว บางพื้นที่ถึงกับสุญพันธุ์ไปแล้วก็มี ขณะที่ความต้องการบริโภคยังคงมีอยู่ค่อนข้างมาก ทั้งยังมีราคาดี ทำให้เกษตรกรหันมาเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ในเชิงพาณิชย์กันมากขึ้น โดยเฉพาะ “กบ” ที่เนื้อมีรสชาติดี และสามารถเลี้ยงได้ไม่ยากนัก

คุณชัชบอกว่า ครั้งแรกซื้อกบพ่อแม่พันธุ์มาทดลองเลี้ยงเพียง 2 คู่ เพื่อศึกษาพฤติกรรม การเจริญเติบโต ประสิทธิภาพการใช้อาหาร รวมทั้งวิธีการเพาะขยายพันธุ์ โดยเลี้ยงไว้ในกระชังพลาสติกที่ทำขึ้นเองง่าย ๆ แค่พอขังน้ำได้ ไม่ได้เป็นอุปกรณ์การเลี้ยงที่ถาวรนัก ซึ่งใช้เวลาเลี้ยงอยู่ประมาณ 3 เดือน แม่พันธุ์ก็ให้ไข่และได้ลูกกบมาประมาณ 4,000-5,000 ตัว จากนั้นก็นำลูกกบมาเลี้ยงขุนอีก 2-3 เดือน ได้กบขนาด 4-5 ตัว/กิโลกรัม น้ำหนักรวมประมาณ 1 ตัน ซึ่งก็จำหน่ายในราคากิโลกรัมละ 50 บาท ทำให้มีรายได้ถึง 50,000 บาท เมื่อหักต้นทุนก็เหลือกำไรพอสมควร

ตอนนั้นใช้แค่เวลาว่างแค่ช่วงเช้าและเย็น ในการให้อาหารและเปลี่ยนถ่ายน้ำ แต่สามารถขายได้เงินถึง 50,000 บาท จึงเริ่มมองอาชีพเลี้ยงกบจริงจังมากขึ้น แต่ก็ยังเลี้ยงควบคู่กับการทำกระเป๋าด้วย ยังไม่ได้ทำเป็นรูปแบบฟาร์มแต่อย่างใด แต่ในระหว่างนี้ได้ศึกษาหาความรู้จากฟาร์มต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความรู้ความเข้าใจเลี้ยงกบมากขึ้น จึงพัฒนาบ่อเลี้ยงให้ได้มาตรฐาน เพื่อเลี้ยงกบป้อนตลาดให้ได้อย่างต่อเนื่อง โดยจับกบจำหน่ายทุก 2-3 เดือน ครั้งละประมาณ 500-1,000 กิโลกรัม ทำให้มีรายได้เสริมจากการเลี้ยงกบมาตลอด

ผลผลิตจากการขยายพันธุ์กบ

ที่มาที่ไปเหตไฉนถึงมาเลี้ยงกบ

คุณชัช อินทฤิทธิ์ ศิรดา อายุ 50 ปี เป็นผู้หนึ่งที่ยึดการเลี้ยงกบเป็นอาชีพสร้างรายได้มากว่า 10 ปี ให้ข้อมูลว่า ก่อนหน้านี้เป็นผู้ผลิตกระเป๋าสุภาพสตรีให้โรงงานส่งออก ซึ่งทำมาเกือบ 10 ปี แต่ทว่าช่วงหลังค่าแรงงานและวัตถุดิบต่างมีราคาสูงขึ้น ทำให้เหลือกำไรไม่มากนัก ที่สำคัญแฟชั่นกระเป๋ามีการเปลี่ยนแปลงค่อนข้างบ่อย ทำให้สินค้าจำหน่ายได้จำนวนจำกัด ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงของงานประเภทนี้ ดังนั้นแม้รายได้ที่เข้ามาก็ยังพออยู่ได้แต่มองว่าคงไม่ยืนยาวนัก

“ ขณะนั้นก็มองหาอาชีพอื่นมาช่วยเสริมรายได้ พอดีได้ไปเห็นเกษตรกรรายหนึ่งเลี้ยงกบ ทำให้นึกสนใจเพราะมองว่ากบเป็นสินค้าที่ตลาดต้องการอยู่อย่างต่อเนื่อง และยังไม่ค่อยมีผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ ให้ความสนใจมากนัก ไม่เหมือนไก่หรือสุกร หากตนเองผลิตได้ก็น่าจะจำหน่ายได้ราคาพอสมควร จึงตัดสินใจซื้อพันธุ์กบมาทดลองเลี้ยง ”

ภูมิปัญญาการเลี้ยงกบของคุณชัช

“ พอเลี้ยงได้มาสักระยะ ก็เริ่มเป็นที่รู้จัก และมีผู้สนใจเลี้ยงกบ เข้ามาขอดูวิธีการเลี้ยงกบของตัวเอง โดยแรก ๆ ก็เริ่มจากผู้ที่อยู่ใกล้เคียง คนในอำเภอ พร้อมกับขอซื้อลูกกบไปเลี้ยงด้วย ซึ่งตอนแรกไม่เคยจำหน่ายลูกพันธุ์เลย จำหน่ายเฉพาะกบที่นำไปบริโภคเท่านั้น ก็ทำให้เกิดช่องทางสร้างรายได้จากการเลี้ยงกบเพิ่มขึ้น ”

พ่อพันธุ์ แม่พันธุ์ จากศิรดาฟาร์มกบ

เมื่อมีผู้ติดต่อขอซื้อลูกพันธุ์ด้วย ทำให้ต้องผลิตลูกพันธุ์เพิ่มขึ้น ขยายบ่อเพาะพันธุ์ บ่อเลี้ยง ทั้งบ่อปูนและบ่อดิน ขณะเดียวกันก็รับออร์เดอร์ในการผลิตกระเป๋าน้อยลงเพื่อจะได้มีเวลาการเลี้ยงกบมากขึ้น โดยลูกพันธุ์ที่ผลิตเพื่อจำหน่ายให้เกษตรกร อายุประมาณ 1 เดือน จำหน่ายราคาตัวละ 1 บาท แต่ละครั้งการผลิตจำหน่ายประมาณ 20,000-30,000 ตัว

“ การเลี้ยงให้ได้ผลผลิตและคุณภาพที่ดี รูปแบบของบ่อเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เท่าที่เลี้ยงมาการเลี้ยงบ่อปูนให้ประสิทธิภาพดีที่สุด แม้เลี้ยงในบ่อดิน บ่อนาได้ ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายลงทุนต่ำ ทว่าจัดการเรื่องความสะอาดยาก ซึ่งมีผลต่อประสิทธิภาพการเลี้ยงโดยตรง ดังนั้นหากต้องการเลี้ยงเป็นอาชีพระยะยาวต้องลงทุนสร้างบ่อปูน แนะนำให้มีขนาดสัก 4x4 เมตร ความสูงประมาณ 1 เมตร ใช้พื้นปูนแบบขัดมันเพื่อป้องกันไม่ให้ตัวกบถลอกและไม่ให้น้ำซึมออกได้ ภายในบ่อมีวาล์ว เพื่อง่ายต่อการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ”

ส่วนพ่อแม่พันธุ์ ซึ่งพันธุ์ที่นิยมเลี้ยงมีกบนา และกบลูกผสมบลูฟล็อก โดยธรรมชาติกบตัวเมียจะมีโครงสร้างใหญ่กว่าตัวผู้ประมาณ 1 เท่าตัว การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มาผสมพันธุ์กัน นอกจากดูลักษณะภายนอกและความสมบูรณ์แข็งแรงแล้ว จะเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่มาจากคนละถิ่นที่ห่างไกลกันด้วย เพื่อป้องกันปัญหาเลือดชิด เพราะเราไม่รู้ว่ากบที่นำมาผสมพันธุ์กันจะเป็นลูกหลานหรือพี่น้องกันหรือไม่ ซึ่งตรงนี้มีผลต่อทั้งการเจริญเติบโต การให้ผลผลิตรวมทั้งความต้านทานโรค การคัดเลือกพันธุ์ลักษณะนี้ทำให้ฟาร์มได้ลูกกบที่แข็งแรง

“ พ่อแม่พันธุ์กบ หลายที่มีจำหน่าย คู่ละ 500-600 บาท แต่ของฟาร์มไม่มีขาย พ่อแม่พันธุ์ที่มีจะเก็บไว้เพาะพันธุ์เองมากกว่า โดยเลือกจากกบที่มีอายุ 1 ปี ขึ้นไป ซึ่งเป็นวัยเจริญพันธุ์ ทำให้ไข่มีความสมบบูรณ์ เปอร์เซ็นต์ฟักเป็นตัวสูง พร้อมมีพันธุ์ประวัติว่ามาจากพ่อแม่ตัวไหน เหล่าไหน เพื่อจะได้จัดการการเพาะพันธุ์ให้มีลูกพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพดีที่สุด ซึ่งแต่ละปีที่ฟาร์มใช้พ่อแม่พันธุ์หลายพันตัว มีอายุใช้งานประมาณ 1 ปี จากนั้นก็จะปล่อย ตามธรรมชาติ แล้วคัดเลือกตัวใหม่มาเป็นพ่อแม่พันธุ์แทน ”

เลี้ยงอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ

คุณชัชบอกว่า การเลี้ยงกบให้ประสบความสำเร็จ เรื่องน้ำถือเป็นเรื่องที่จำเป็นมาก เกษตรกรหลายรายที่ประสบปัญหา มีเหตุผลมาจากค่าความเป็นกรดด่าง หรือ ค่า pH ของน้ำไม่เหมาะสม ทำให้จัดการการเลี้ยงได้ยาก โดยปกติแล้วค่า pH ของน้ำที่เหมาะสมต่อการเลี้ยงกบอยู่ที่ 6-7 หากสภาพน้ำในบ่อยังไม่ได้ก็ต้องพักน้ำไว้ก่อน ยิ่งเป็นน้ำประปาต้องทิ้งให้คอลีนระเหยเสียก่อนถึงปล่อยกบลงเลี้ยงได้ ดังนั้นต้องให้ความสำคัญกับเรื่องน้ำให้มาก หากเป็นน้ำตามแหล่งธรรมชาติเช่นน้ำคลอง บ่อ หรือแม่น้ำ ส่วนใหญ่มีค่า pH เหมาะสม นำมาเลี้ยงกบได้เลย แต่ถ้าเป็นน้ำบาดาล ระดับออกซิเจนมักไม่เพียงพอ จำเป็นต้องเติมอากาศก่อน โดยการฉีดน้ำให้เกิดฟองในบ่อ

ต้องจัดการคุณภาพน้ำให้ดี โดยเฉพาะระยะลูกอ๊อด ซึ่งถือเป็นระยะที่อ่อนไหวที่สุด หากจัดการได้ไม่ดีพอ มีโอกาสตายยกบ่อได้ง่าย ๆ อย่างการเปลี่ยนถ่ายน้ำ ต้องค่อย ๆ ทำทีละน้อย ๆ ไม่เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด แต่ถ้าไม่เปลี่ยนเลยน้ำก็จะเน่าเสีย ที่ฟาร์มจะเปลี่ยนทุกวัน แต่ต้องทำครั้งละน้อย ๆ

ส่วนอาหาร ลูกอ๊อดอายุ 3 วัน ต้องเริ่มให้อาหาร โดยใช้ไข่แดงต้มสุก พอลูกอ๊อดอายุได้ 7 วัน ก็ให้อาหารกบเล็กไฮเกรท ให้เช้าและเย็น ซึ่งต้องคอยสังเกตด้วยว่า อาหารที่ให้เพียงพอหรือไม่ หรือมีอาหารเหลือ ซึ่งต้องคอยปรับปริมาณให้มีความเหมาะสมด้วย เช่น ลูกอ๊อดจำนวน 20,000-30,000 ตัว ช่วงเล็ก ๆ ให้อาหารประมาณ 1 กำมือ พออายุสัก 10 วัน ก็ให้ 4-5 กำมือ แต่พออายุ 1 เดือน ก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารกบเบอร์ 1 โดยให้กินประมาณ 10 วัน ก็เปลี่ยนมาเป็นอาหารกบเบอร์ 2 ใช้นานประมาณ 1 เดือน ถึงค่อยเปลี่ยนมาเป็นอาหารกบเบอร์ 3 กระทั่งไปจนถึงจับได้ ตลอดการเลี้ยงกบตัวหนึ่ง ใช้ต้นทุนค่าอาหารอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาท

และในระหว่างการเลี้ยงต้องมีการคัดไซส์ด้วย กล่าวคือ กบอายุ 1 เดือนขึ้นไปเมื่อแยกมาเลี้ยงอนุบาล พอประมาณ 4-5 วัน แต่ละตัวมักมีขนาดที่แตกต่างกัน ตัวไหนกินเก่งก็จะใหญ่เลย พอตัวไหนเล็กก็จะไม่กล้าเข้าไปกินอาหาร ตัวก็ไม่โต จึงจำเป็นต้องคอยจับแยก และถ้ามีกบตัวเล็กมาก ๆ ก็ถูกกบตัวใหญ่กินเป็นอาหาร ต้องแยกกบที่มีขนาดเล็ก ๆ เลี้ยงต่างหาก หากรู้ธรรมชาติของกบและวิธีการเลี้ยงที่ถูกต้อง กบถือเป็นสัตว์เศรษฐกิจที่เลี้ยงไม่ยากเลย

สำหรับเกษตรกรที่ต้องการเลี้ยงกบ อย่างแรกต้องศึกษาหาข้อมูล ความรู้ ให้เพียงพอที่ดำเนินการได้เสียก่อน เพราะหากไม่รู้เลยแล้วมาลงทุนเลี้ยง มีความเสี่ยงสูง ต้องรู้ข้อมูลเบื้องต้นของการเลี้ยงกบ รูปแบบการเลี้ยง บ่อเลี้ยง อาหาร และการเลี้ยงแต่ละขั้นตอนเป็นอย่างไร ต้องมีความรู้ก่อนถึงจะเลี้ยงได้ ไม่ใช่แค่เพียงเห็นคนอื่นเลี้ยงดี แล้วก็เลี้ยงตาม เพราะที่เห็นว่าดี ๆ นั้น บางครั้งเขาอาจจะขาดทุนอยู่ก็ได้

ส่วนเรื่องตลาดและการจำหน่าย ก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับกบเลย เพราะเป็นสัตว์ที่ตลาดต้องการอยู่แล้ว อย่างตนเองที่เริ่มเลี้ยงใหม่ ๆ ส่งจำหน่ายให้แม่ค้าตลาดนัด ตลาดสด หรือ แม่ค้าบางรายก็มารับถึงที่ แต่บางครั้งหากเลี้ยงจำนวนมาก ๆ ต้องเสาะหาพ่อค้าที่รับซื้อได้ครั้งละเป็นตัน (หาได้ไม่ยาก) ซึ่งก็ทำให้จำหน่ายผลผลิตหมดในครั้งเดียว จัดการง่ายกว่า ที่สำคัญได้เงินก้อนมาหมุนเวียนอีกด้วย

“ ของที่ฟาร์ม แรก ๆ ก็เริ่มจากการจำหน่ายให้พ่อค้ารายย่อย เกษตรกรรายเล็ก ๆ พอนานเข้า ก็สร้างเป็นเครือขาย ขยายตลาดมาอย่างต่อเนื่อง กระทั่งปัจจุบันจำหน่ายลูกพันธุ์ได้มากถึงเดือนละ 100,000 ตัว ตลาดส่วนใหญ่อยู่ในภาคเหนือและอีสาน ที่นิยมบริโภคกบกันมาก ”

ฝากไว้สักนิด ก่อนคิดจะเลี้ยงกบ

คุณชัชฝากข้อคิดไว้ว่า การที่จะทำอาชีพอะไรก็แล้วแต่ ควรมีความรู้ ต้องหาข้อมูลพอสมควร ถ้ามุ่งทำตามกระแส เห็นคนอื่นทำดีก็ทำตามแต่ไม่เคยมีประสบการณ์ พอเกิดปัญหาก็ไม่รู้ว่าแก้ไขอย่างไร ก็ลำบาก การเลี้ยงกบก็เช่นกัน ไม่ใช่ว่าทุกคนมาเลี้ยงจะประสบความสำเร็จ ซึ่งก็เหมือนอาชีพทั่ว ๆ ไป ที่มีทั้งได้กำไรและขาดทุน

“ มาถึงวันนี้ ผมไม่ใช่แค่คนเลี้ยงกบ หากแต่กบก็เลี้ยงผมด้วย ที่มีอยู่ทุกวันนี้ก็เพราะเขา จะคิดว่าเราเลี้ยงกบไม่ได้ ต้องทำอย่างไรก็ได้ให้เขามีความสุข ที่เลี้ยงเขาแบบอด ๆ อยาก ๆ มีความทุก เป็นโรค เขาเจ็บป่วย ปัญหามันก็จะกลับมาหาเรา เพราะเขาตาย เราก็ไม่มีอะไรขาย และก็ไม่มีเงิน เหมือนกับว่าเขามีความสุข เราก็จะสุขไปกับเขา ” คุณชัช กล่าวในที่สุด

ที่นี่เลี้ยงกบแบบคอนโด และแบบบ่อเลี้ยงทั่วไป

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

ขอขอบคุณข้อมูล :
คุณชัช อินทฤิทธิ์ ศิรดาฟาร์มกบ
ที่อยู่ 121/1 หมู่ที่5 ต.โกรกพระ อ.โกรกพระ จ.นครสวรรค์ 60170

เลี้ยงกบแบบเข้าใจ สร้างรายได้มั่นคง

เคล็ดลับในการเลือกกบ มาทำพ่อพันธุ์แม่พันธุ์

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด