

"ชาติชาย เหลืองเจริญ : เกษตรกรผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยบ้านนอก"

ภายใต้แนวคิดระบบเศรษฐกิจพอเพียง
เมื่อนั้นเขาจะเป็นเกษตรกรที่มีความมั่นคง

มหาวิทยาลัยบ้านนอก ชุมชนบ้านจำรุง แหล่งเรียนรู้นอกตำรา
มหาวิทยาลัยบ้านนอกชุมชนบ้านจำรุง เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวรวมถึงประชาชนที่สนใจในเรื่องของการทำการเกษตรหลายพันคนต่อปี มุ่งเน้นเรื่องปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงและการทำเกษตรแบบครบวงจร โดยเกิดจากการรวมตัวของกลุ่มต่าง ๆ ในชุมชนทำให้เกิดเป็นชุมชนที่เข้มแข็งพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเรียนรู้ นอกจากจะมีองค์ความรู้ในเรื่องของการเกษตรต่าง ๆ ให้เลือกศึกษามากมาย ยังมีบริการบ้านพักโฮมสเตย์พาเที่ยวชมวิถีชีวิตแบบชาวสวน ชมศิลปะวัฒนธรรมท้องถิ่น บริการอาหารปลอดสารพิษ ของฝากและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นผลผลิตภายในชุมชน ผลิตโดยคนในชุมชน และจำหน่ายโดยคนในชุมชน คุณชาติชาย เหลืองเจริญ ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยบ้านนอกเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ได้ยึดแนวคิดตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการจัดการชุมชนแห่งนี้ด้วยเช่นกัน
คุณชาติชาย เหลืองเจริญ เกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ตำบลเนินฆ้อ อำเภอแกลง จังหวัดระยอง ผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยบ้านนอกเครือข่ายองค์กรชุมชนบ้านจำรุง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่บรรพบุรุษ โดยปลูกพืชหลากหลายชนิดไม่ว่าจะเป็นยางพารา เงาะ มังคุด ขนุน ทุเรียน รวมถึงพืชผักต่าง ๆ โดยเน้นการทำการเกษตรแบบอินทรีย์ ซึ่งนอกจากจะมีต้นทุนการผลิตที่ถูกกว่าการใช้สารเคมีแล้วยังส่งผลดีต่อสุขภาพของเกษตรกร ผู้ซื้อ รวมถึงคนในชุมชนอีกด้วย โดยยึดแนวคิดหลักเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตในทุกเรื่อง "หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีประโยคที่สำคัญ 3 ประโยค ได้แก่ 1.ปรัชญา แปลว่า ความเชื่อ โดยเราต้องเปลี่ยนความเชื่อก่อนว่าเรามีความสามารถในการพึ่งพาตนเองได้ เราทำให้ชีวิตเรารอดได้ ต้องเชื่อแบบนั้น ถ้าเราไม่เชื่อเราก็จะไม่เรียนรู้ อย่าไปคิดว่าเราทำไม่ได้ต้องรอคนมาช่วย เชื่อเถอะว่าคุณทำได้ จากนั้นเราก็จะแปลงความเชื่อไปสู่การปฎิบัติ 2.ระบบเศรษกิจ เราต้องมีการรวมกลุ่มเกษตรกร หากอยู่พียงลำพังเราจะถูกกลไกของระบบทุนนิยมครอบทั้งระบบ การรวมกลุ่มจะทำให้เรามีช่องว่างในการหายใจ มีโอกาสเติบโต เมื่อรวมกลุ่มแล้วก็ต้องทำให้เกิดระบบเศรษฐกิจ โดยกลุ่มต่าง ๆ ต้องมีการเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน ตั้งแต่การผลิต แปรรูป การตลาด การท่องเที่ยว การสื่อสาร 3.พอเพียง คือ การใช้ชีวิตให้สมฐานะ เรามีฐานะอย่างไร มีกำลังขนาดไหน ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป ทำจากเล็กไปหาใหญ่ ง่ายไปหายาก ค่อย ๆ เรียนรู้"
คุณชาติชาย ทำการเกษตรแบบเศรษฐกิจพอเพียงโดยทำปุ๋ยและน้ำหมักไว้ใช้เอง ปลูกพืชผักรวมถึงไม้ผลอีกหลากหลายชนิด ตัวอย่างเช่น ต้นไผ่ ซึ่งนอกเหนือจากการได้ทานหน่อแล้ว ลำต้นของไผ่ยังใช้ประโยชน์ได้อีกมากมาย รวมถึงนำมาเป็นฟืนสำหรับเผาถ่านอีกด้วย นอกจากนี้ยังมีการปลูกไม้ยืนต้น อาทิเช่น ต้นยางนาเพื่อนำไม้มาใช้ประโยชน์หรือจำหน่าย มีการเลี้ยงผักตบชวาเพื่อนำมาผลิตเป็นปุ๋ย คุณชาติชาย ยังได้กล่าวว่า เมื่อใดที่เกษตรกรเรียนรู้เรื่องการพึ่งตนเองและเรียนรู้เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง เมื่อนั้นเขาจะเป็นเกษตรกรที่มีความมั่นคง
เลี้ยงผักตบชวา ผลิตเป็นปุ๋ยให้กับต้นไม้
คุณชาติชาย เหลืองเจริญ ยึดอาชีพเกษตรกรรมมาตั้งแต่สมัยหนุ่ม ๆ ปลูกพืชหลากหลายชนิด เช่น ยางพารา เงาะ ทุเรียน มังคุด โดยเน้นไปที่การทำเกษตรแบบอินทรีย์ ลดต้นทุน ไม่ใช้สารเคมี "เราทำเกษตรอยู่ เราก็มาคิดว่าจะทำอย่างไรให้ระบบเกษตรมันเดินได้อย่างครบเครื่อง หลักที่จะทำให้มันครบเครื่องมันต้องอาศัยการทำงานกับคนหลายกลุ่ม เพื่อจะทำให้ระบบการเกษตรของเรามั่นคงอย่างยั่งยืน" สิ่งแรกที่คุณชาติชายคิดก็คือเรื่องของการลดต้นทุนการผลิต โดยการทำเกษตรแบบอินทรีย์ตามวิถีธรรมชาติ ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยคอก รวมถึงน้ำหมักต่าง ๆ ไว้ใช้เองไม่พึ่งพาสารเคมีซึ่งมีราคาแพง ต่อมาได้ชักชวนเกษตกรในพื้นที่ก่อตั้งเป็นศูนย์เรียนรู้เกษตรธรรมชาติบ้านจำรุงเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความรู้กัน "พอเรารวมกลุ่มเกษตรอินทรีย์เพื่อลดต้นทุนการผลิตแล้ว ปรากฎว่าระบบของเราไปได้แค่ภาคการผลิต เราผลิตของดีได้ในราคาต้นทุนที่ต่ำลงก็จริง แต่เรายังไปไม่ถึงภาคการตลาด เราผลิตได้และมีพ่อค้ามารับซื้อ ราคาที่เราจำหน่ายไม่ได้สูงนัก เราจึงไปเชื่อมโยงกับกลุ่มกิจกรรมอื่น ๆ ในชุมชน โดยผมทำหน้าที่เป็นผู้ประสานงานเครือข่ายของการจัดการระบบเกษตรอินทรีย์แบบครบวงจร ชักชวนกลุ่มต่าง ๆ เช่น กลุ่มแม่บ้านที่เค้าทำอาหาร มารวมกลุ่มกันผลิตอาหารที่มาจากเกษตรอินทรีย์ซึ่งเป็นกลุ่มงานอาหารท้องถิ่นไทย โดยรับซื้อผลผลิตทางการเกษตรของสมาชิกภายในกลุ่มมาประกอบอาหาร เช่น ผักน้ำพริกปลาทู ขาหมูต้มหน่อไม้ ทำให้ช่องว่างตลาดมันแคบลง ไม่ต้องนำผลผลิตไปขายที่อื่น
ส่วนอาหารที่ทำนั้นก็ทำมาจากพืชผักปลอดสารเคมี ผู้บริโภคจึงมั่นใจ ทำให้ตลาดค่อย ๆเติบโตขึ้น" หลังจากที่คุณชาติชายได้จัดการเรื่องของการผลิตและการต่อยอดเรียบร้อยแล้ว จึงเริ่มคิดเรื่องของการแปรรูป โดยการนำผลไม้ของสมาชิกภายในกลุ่มที่ลักษณะของผลไม้ไม่เป็นที่ต้องการของตลาด เช่น ทุเรียนที่ทรงไม่สวยหรือไม่ได้ทรง มังคุดผิวไม่เรียบไม่มันวาว กล้วยที่ขนาดลูกไม่สวย ซึ่งจะขายไม่ได้ราคานำมาแปรรูปเป็น กล้วยกรอบแก้ว กล้วยฉาบ มันเชื่อม ทุเรียนทอด เป็นต้น โดยตั้งเป็นกลุ่มเครือข่ายแปรรูปผลผลิต จนกลุ่มค่อย ๆ เติบโตขึ้นเรื่อย ๆ คุณชาติชายได้กล่าวว่า "เมื่อก่อตั้งกลุ่มได้แล้ว เราจึงเรียนรู้ว่าสินค้าที่เราผลิต ถ้าเราวางอยู่กับที่ผู้บริโภคอาจไม่รู้จัก จึงตั้งกลุ่มตลาดสีเขียวขึ้นมา โดยใช้พื้นที่ของศูนย์เรียนรู้เป็นแหล่งจำหน่ายสินค้าของกลุ่ม หน้าที่ของผมก็คือทำหน้าที่ไปเชื่อมโยงกลุ่มกิจกรรมจัดให้มันสัมพันธ์กันเหมือนเป็นห่วงโซ่ เพื่อที่จะทำให้ฐานการผลิตที่เป็นเกษตรอินทรีย์มันขับเคลื่อนไปต่อได้"
คุณชาติชายค่อย ๆ เพิ่มกลุ่มกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจนปัจจุบันมีมากกว่า 40 กลุ่มด้วยกัน "พอเรามีกลุ่มต่าง ๆ ที่ทำงานสัมพันธ์กันระบบมันก็จะค่อย ๆ เดินด้วยตัวมันเอง กลุ่มของเราก็เริ่มแข็งแกร่งขึ้น เราจึงตั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยวและตั้งกลุ่มบ้านโฮมสเตย์ เพื่อให้นักท่องเที่ยวที่ต้องการรับประทานอาหารปลอดสารพิษมาชมวิถีชีวิตแบบชาวสวน มาอุดหนุนผลผลิตทางการเกษตรที่มีคุณภาพ และตั้งกลุ่ม ฒ.ผู้เฒ่า มาเล่นดนตรีไทย ดนตรีพื้นบ้านให้กับนักท่องเที่ยวได้ฟัง หลังจากกลุ่มต่าง ๆ เริ่มเติบโตและเป็นที่รู้จักมากขึ้นแล้ว คำถามที่ตามมาก็คือ คุณชาติชายสามารถตั้งกลุ่มต่าง ๆ ขึ้นมาได้อย่างไร แต่ละกลุ่มมีหน้าที่ทำอะไรและทำอย่างไร เราจึงคิดที่จะก่อตั้งเป็นมหาวิทยาลัยบ้านนอกเพื่อให้ความรู้แก่ผู้ที่สนใจ "วิธีการทำงานแบบบ้านนอกมันไม่มีเขียนในตำรา ที่เป็นระบบหรือเป็นเรื่องเป็นราว เราก็เลยใช้พื้นที่ของเราเป็นแหล่งเรียนรู้แบบครบวงจร ไม่ใช่แค่เรื่องเกษตรเรื่องเดียว มีทั้งเรื่องการแปรรูป ระบบการตลาด ระบบการจัดการท่องเที่ยวชุมชน และระบบสารสื่อสาร จึงเริ่มตั้งเป็นมหาวิทยาลัยบ้านนอก แหล่งเรียนรู้นอกตำรา ที่เขียนทฤษฎีจากแผ่นดิน เพื่อให้คนที่สนใจในระบบของเราได้เข้าถึงและเรียนรู้" กระบวนการเรียนรู้ของมหาวิทยาลัยบ้านนอกใช้หลักแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียงโดยเน้นในเรื่องความสำคัญของการรวมกลุ่มเพื่อเชื่อมโยงเป็นห่วงโซ่เศรษฐกิจ ใช้พื้นเพทางความเชื่อในเรื่องของการพึ่งตนเองภายใต้วิถีวัฒนธรรมของชุมชน
- คนดีแทนคุณแผ่นดิน หนังสือพิมพ์คมชัดลึก
- ผู้ใหญ่บ้านยอดเยี่ยมแหนบทองคำ กระทรวงมหาดไทย
- อสม.ดีเด่นระดับเขต
- คณะกรรมการเสริมสร้างความเข้มแข็งชุมชน สำนักนายกรัฐมนตรี
- ผู้ทรงคุณวุฒิของสภาองค์กรชุมชนแห่งชาติ
ก่อตั้งมหาวิทยาลัยบ้านนอก เพื่อเป็นแหล่งท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้


