เกษตรกรต้นแบบ

"บุญส่วน แก้วไพฑูรย์ : ผู้ผลิตมะม่วงส่งออกแห่งดินแดนอีสาน"

 23 สิงหาคม 2559 10,392
จ.ขอนแก่น
ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น
จะทำสิ่งใดให้สำเร็จได้นั้น ต้องเรียนรู้
และลงมือทำอย่างจริงจัง

นายบุญส่วน แก้วไพฑูรย์ ต้นแบบเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงเพื่อการส่งออก

คุณบุญส่วน แก้วไพฑูรย์ เกษตรกรวัย 53 ปี เจ้าของ “ไร่มะม่วงสวนอุดม” บ้านสว่างพัฒนา หมู่ 4 ตำบลหนองแซง อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น เดิมเป็นเกษตรกรชาวนา ปลูกข้าว ทำไร่อ้อย และปลูกมันสำปะหลัง เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่ของตำบลหนองแซง มีสภาพเป็นลูกคลื่น มีความลาดชัน คิดเป็นร้อยละ 50 ของพื้นที่ทั้งหมด สภาพทั่วไปเป็นดินร่วนปนทรายไม่สามารถกักเก็บน้ำได้ในฤดูแล้ง การทำนาปลูกข้าวโดยส่วนใหญ่จึงเป็นการปลูกข้าวไร่เพื่อการยังชีพ ส่วนการปลูกมันสำปะหลังถึงแม้จะได้ผลผลิตดี แต่ก็ต้องมีความเสี่ยงต่อราคาที่ผันผวนอยู่ตลอดเวลา ไม่มีความแน่นอน การปลูกอ้อยก็ต้องใช้ระยะเวลานานข้ามปี จึงจะสามารถนำไปจำหน่ายได้ คุณบุญส่วนจึงมีแนวคิดที่อยากจะหันไปทำอาชีพการเกษตรอื่นๆเพื่อให้ครอบครัวมีรายได้หมุนเวียนกันได้ตลอดทั้งปี

หลักคิดในการใช้ชีวิต

คุณบุญส่วน เล่าว่า ตนได้ปลูกอ้อยและมันสำปะหลังต่อเนื่องกันมาเป็นเวลานานหลายปีจนทำให้ดินเสื่อมสภาพลง ผลผลิตพืชไร่ที่ปลูกเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน ตนจึงต้องหาพืชอย่างอื่นมาปลูกทดแทน และจากการที่คุณบุญส่งเป็นคนช่างสังเกต จนพบว่าพื้นที่ดังกล่าวมีสภาพภูมิประเทศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการทำนา อีกทั้งการปลูกพืชไร่ก็ได้ผลผลิตไม่คุ้มค่าต่อการลงทุน แต่ก็ยังพบว่ามีต้นมะม่วงป่าและมะม่วงกะล่อนเกิดขึ้นเองตามธรรมชาติเป็นจำนวนมาก ให้ผลผลิตดี ติดผลดกตลอดทั้งปี อีกทั้งมีอายุยืนยาว ทนทานต่อโรคและแมลงได้ดี เมื่อสุกจะมีรสหวาน มีกลิ่นหอมที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว จึงเป็นจุดเริ่มต้นของแนวคิด “การปลูกมะม่วงเพื่อการค้า” ในเวลาต่อมา

ปี พ.ศ.2531 คุณบุญส่วน แก้วไพฑูรย์ เจ้าของแนวคิด “ความพยายามอยู่ที่ไหน ความสำเร็จอยู่ที่นั่น” ได้เริ่มปรับเปลี่ยนจากพื้นที่การปลูกพืชไร่มาทำการปลูกมะม่วงโดยใช้ต้นตอจากมะม่วงป่าและมะม่วงกะล่อน และเปลี่ยนยอดเป็นมะม่วงสายพันธุ์ที่ตลาดต้องการในปีถัดมา ควบคู่ไปกับการศึกษาหาความรู้การปลูกมะม่วงเพิ่มเติมจากแหล่งเพาะปลูกอื่นๆอย่างเป็นจริงเป็นจัง “ถ้าจะทำอะไรให้สำเร็จได้ก็ต้องเกิดจากการเรียนรู้และลงมือทำอย่างจริงจัง” หนึ่งในคำพูดที่ท้าทายความสามารถของคุณบุญส่วนอย่างแท้จริง คุณบุญส่วนจึงถือเป็นเกษตรกรกลุ่มแรกๆผู้บุกเบิกการทำสวนมะม่วงในจังหวัดขอนแก่น และเป็นเกษตรกรกลุ่มแรกๆที่เริ่มปลูกมะม่วงสายพันธุ์ทะวายในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งมะม่วงสายพันธุ์นี้จะมีลักษณะคล้ายๆกันกับมะม่วงกะล่อนเนื่องจากมะม่วงทะวายเป็นมะม่วงที่ ให้ผลผลิตได้มากกว่า 1 ครั้งต่อปี ออกผลดี ติดผลดก ผลออกมาเป็นพวงทะวาย และตลาดมีความต้องการสูงทั้งแบบมะม่วงรับประทานผลดิบและสุก ได้แก่ มะม่วงโชคอนันต์ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง มะม่วงเขียวเสวย ฟ้าลั่น หนองแซง อกร่อง มะม่วงตึก(ลูกผสมระหว่างมะม่วงแรดกับมะม่วงแก้ว) และมะม่วงป่า(สำหรับเป็นต้นตอมะม่วงพันธุ์ดี) รวมพื้นที่ 49 ไร่ และเพิ่มพื้นที่การปลูกมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองอีก 20 ไร่ รวมพื้นที่การปลูกมะม่วงทั้งสิ้น จำนวน 69 ไร่ ในนาม “ไร่มะม่วงสวนอุดม”

คุณบุญส่วนได้เล็งเห็นถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค จึงเริ่มหันเข้าสู่กระบวนการผลิตมะม่วงแบบปลอดสารพิษ ในปี 2547 โดยได้รับการสนับสนุนด้านวิชาการจากสำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตร เขตที่3 (ขอนแก่น) ผ่านการรับรองแหล่งผลิตมะม่วงมาตรฐาน GAP มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกมะม่วงภายใต้ชื่อ วิสาหกิจชุมชนมะม่วงบ้านแฮดเพื่อการส่งออก ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 39 ราย มีพื้นที่การปลูกมะม่วง รวม 1,070 ไร่

ปลูกมะม่วงปลอดสารพิษมาตรฐาน GAP

ประวัติและความเป็นมาเกี่ยวกับตัวเกษตรกร

“มะม่วงป่าและมะม่วงกะล่อน” เป็นมะม่วงสายพันธุ์พื้นบ้าน จัดอยู่ในกลุ่มมะม่วงสายพันธุ์ทะวายที่เจริญเติบโตได้ดีกับสภาพพื้นที่แห้งแล้งดินเลว และทนทานต่อสภาพแวดล้อมได้ดี คุณบุญส่วนจึงปลูกมะม่วงป่าและมะม่วงกะล่อน ไว้เพื่อใช้สำหรับเป็นต้นตอให้กับมะม่วงพันธุ์ดีที่ตลาดมีความต้องการสูง จนได้มะม่วงสายพันธุ์ที่มีความต้านทานต่อโรคแมลง มีอายุยืนยาว ให้ผลผลิตและติดผลดกตลอดทั้งปี ซึ่งภายในพื้นที่ 69 ไร่ คุณบุญส่วนจะแบ่งพื้นที่การปลูกมะม่วงออกเป็นหลายๆแปลงเพื่อให้มะม่วงออกผลผลิตสลับสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันได้ตลอดทั้งปี เนื่องจากมะม่วงสายพันธุ์ทะวายสามารถบังคับให้ออกผลผลิตนอกฤดูได้ตามความต้องการของตลาด ซึ่งมีส่วนช่วยให้ขายผลผลิตได้ราคาดีกว่าฤดูกาลปกติ

จากบทบาทการเป็นหมอดินอาสาและอาสาสมัครเกษตร คุณบุญส่วนได้นำเอาความรู้ มาประยุกต์ใช้ภายในสวน อาทิ การปลูกพืชปุ๋ยสดในระหว่างแปลงปลูกมะม่วงแล้วทำการไถกลบเพื่อใช้สำหรับเป็นปุ๋ยตามธรรมชาติ ร่วมกับการใช้ปุ๋ยหมัก น้ำหมักชีวภาพ รวมถึงการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรได้อย่างเหมาะสม อีกทั้งพืชปุ๋ยสดที่ปลูกจะมีส่วนช่วยคุมหญ้าวัชพืชในสวนมะม่วงได้ดี ซึ่งสามารถลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมีได้เป็นอย่างดี การเสียบยอดมะม่วงพันธุ์ดีกับต้นต่อมะม่วงป่า การขยายพันธุ์มะม่วงด้วยวิธีการทาบกิ่งมะม่วงเพื่อให้ได้มะม่วงพันธุ์ดี การเสริมรากมะม่วงเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับลำต้น ฯลฯ ซึ่งสามารถถ่ายทอดความรู้ให้แก่ผู้สนใจโดยทั่วไป จนกระทั่งไร่มะม่วงสวนอุดมได้รับการขนานนามให้เป็น “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงชุมชน และศูนย์เรียนรู้การพัฒนาที่ดินตามแนวทางเศรษฐกิจพอเพียง”

ปี พ.ศ.2557 “ไร่มะม่วงสวนอุดม” โดยกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงบ้านแฮดเพื่อการส่งออก ได้รับการคัดเลือกจากจังหวัด ให้เป็นศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร ในกิจกรรมการผลิตมะม่วงเพื่อการส่งออก เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพการผลิตให้เป็นสินค้าส่งออกไปยังต่างประเทศ เป็นจุดถ่ายทอดความรู้ เป็นแปลงสาธิตการผลิตมะม่วงนอกฤดู อีกทั้งยังได้จัดทำหลักสูตรการเรียนรู้ให้แก่เกษตรกรผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาดูงานโดยไม่หวงวิชา โดยแบ่งฐานการเรียนรู้ออกเป็น 6 ฐาน ได้แก่
ฐานที่ 1 : ให้ความรู้เรื่องการผลิตมะม่วงนอกฤดูตามมาตรฐาน GAP โดยการรับรองจากกรมวิชาการเกษตร
ฐานที่ 2 : ให้ความรู้เรื่องการบำรุงรักษาต้นมะม่วง การตัดแต่งกิ่ง การตัดแต่งทรงพุ่ม ฯลฯ
ฐานที่ 3 : ให้ความรู้เรื่องการใช้สารเคมีร่วมกับการใช้ปุ๋ยหมักเพื่อบำรุงดินและสร้างตาดอก
ฐานที่ 4 : ให้ความรู้เกี่ยวกับการให้ปุ๋ยทางใบและการป้องกันกำจัดโรคแมลง
ฐานที่ 5 : ให้ความรู้เรื่องการตัดแต่งผลและการห่อผลมะม่วง
ฐานที่ 6 : ให้ความรู้เรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิต

วิสาหกิจชุมชนมะม่วงบ้านแฮดเพื่อการส่งออก จังหวัดขอนแก่น โดยคุณบุญส่วน แก้วไพฑูรย์ เป็นประธานกลุ่ม ดำเนินกิจกรรมการผลิตนอกฤดูเพื่อการส่งออกภายใต้การบริหารจัดการที่มีศักยภาพเหมาะสม โดยการควบคุมการผลิตตามมาตรฐาน GAP อย่างเป็นระบบจากกรมวิชาการเกษตร มีตลาดรับซื้อแน่นอน มีกระบวนการเรียนรู้ตลอดเวลา ทั้งการบริการจัดการกลุ่มที่เชื่อมโยงกับสมาคมผู้ปลูกปลูกมะม่วงทั่วประเทศ ภายใต้การบริหารจัดการของสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย ให้ได้ผลผลิตตามความต้องการของตลาด โดยเฉพาะมะม่วงน้ำดอกไม้สีทองที่ตลาดต่างประเทศต้องการ มี 2 เกรด ด้วยกัน แบ่งออกเป็น
1.มะม่วงเกรด A = สีผิวสวย สด สะอาด ผิวมีตำหนิไม่เกิน 5% น้ำหนักผลขนาด 280-600 กรัม
2.มะม่วงเกรด B = สีผิวสวย สด สะอาด ผิวมีตำหนิ 5-20 % น้ำหนักผลขนาด 300-500 กรัม

ปัจจุบัน “ไร่มะม่วงสวนอุดม” ปลูกมะม่วงสายพันธุ์หลักอยู่ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ มะม่วงน้ำดอกไม้สีทอง จำนวน 27 ไร่ มะม่วงโชคอนันต์ จำนวน 21 ไร่ มะม่วงเขียวเสวย จำนวน 4 ไร่ และมะม่วงตึก จำนวน 3 ไร่ รวมถึงมะม่วงป่าและมะม่วงกะล่อนที่ใช้สำหรับเป็นต้นตออีก 14 ไร่ ผลผลิตมะม่วงส่งออกไปยังประเทศญี่ปุ่น จีนและเกาหลีใต้ สัดส่วน 75% และจำหน่ายภายในประเทศอีก 25%

ปลูกมะม่วงป่าไว้เป็นต้นตอมะม่วงพันธุ์ดี

เกียรติประวัติและผลงาน

- ผู้นำอาชีพก้าวหน้าจังหวัดขอนแก่น ปี พ.ศ.2542
- หมอดินอาสาและอาสาสมัครเกษตรระดับอำเภอ
- เกษตรกรดีเด่น สาขาอาชีพทำสวน จังหวัดขอนแก่น ปี พ.ศ.2548
- ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนมะม่วงบ้านแฮด
- ประธานเครือข่ายมะม่วงจังหวัดขอนแก่น
- คณะกรรมการสมาคมชาวสวนมะม่วงไทย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ)
- เกษตรกรดีเด่น สาขาวิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP ดีเด่น) ระดับเขต ปี พ.ศ.2551
- เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาวิชาการเกษตรดีที่เหมาะสม(GAP ดีเด่น) ปี พ.ศ.2551

ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร/การผลิตมะม่วงส่งออก

เรื่อง/ภาพโดย: อภัย นามเพ็ง จนท.ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.ขอนแก่น