

"อุไร จันจำปา : ปราชญ์เกษตรผู้เปลี่ยนชีวิตด้วยข้าวอินทรีย์"



ป้าอุไรยิ้มได้เพราะนาไร้สารเคมี
คุณอุไร จันจำปา เกษตรกรที่กำเนิดในครอบครัวชาวนา ใน จ.นครศรีธรรมราช ซึ่งมีอาชีพทำนาจำนวน 70 ไร่ เป็นอาชีพที่ตกทอดมาจากบรรพบุรุษ ป้าอุไรทำนาข้าวพื้นเมือง โดยปลูกข้าวสายพันธุ์ยุมหนุน ซึ่งเป็นข้าวพื้นเมืองของ ตำบลบ้านเพิง อำเภอปากพนัง และปลูกข้าวปิ่นแก้ว ซึ่งปลูกโดยใช้ปุ๋ยเคมีและสารเคมี ทำให้ต้นทุนสูง ต่อมาได้ถูกชักชวนให้เข้าโครงการของ สสส. จึงได้ปรับเปลี่ยนมาทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ และมีโอกาสศึกษาจนจบ มส.3 จบมาแล้วก็ได้มาสืบทอดอาชีพของครอบครัว โดยสมรสกับนายสมพร ศรีวิรัตร์ และมีบุตรจำนวน 1 คนโดยมีเป้าหมายหลักให้ครอบครัวอยู่อย่างเป็นสุข มุ่งเน้นให้บุคคลในครอบครัวมีกิจกรรมร่วมกัน เป้าหมายสูงสุดอยากเห็นทายาทเกษตรกร จากบุตรของตนเองสืบทอดอาชีพเกษตรกรรมสืบไป ทางครอบครัวจึงทำข้าวซ้อมมือแบบแพ็คสูญญากาศโดยเริ่มต้นจากตนเองทำให้ลูกดูควบคู่ไปกับการทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เป็นการปลูกฝังให้บุตรมีความเชื่อมั่น และศรัทธาในอาชีพเกษตรกรรม จนลูกมีใจรักและสืบสานด้านการเกษตรต่อ ป้าอุไรและครอบครัวใช้หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในการดำเนินชีวิตอย่างเป็นสุขและช่วยลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือนได้อีกด้วย
การดำเนินกิจกรรมของครอบครัว ตามแนวหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง โดยมุ่งยึดถือการทำนาแบบอินทรีย์ จะใช้วิธีการทำนาโดยไม่ใช้สารเคมีแต่จะใช้เป็นการทำปุ๋ยอนทรีย์ และการนำอินทรียวัตถุต่าง ๆ มาใช้ในนาข้าวแทนการใช้สารเคมี มีทั้งการปลูกปอเทืองเพื่อทำปุ๋ยพืชสด การใช้น้ำหมักชีวภาพในการฉีดพ่นนาข้าวเพื่อบำรุงต้นข้าวและฟื้นฟูสภาพดิน การทำปุ๋ยจะนำมาใช้เองในครัวเรือน สำหรับการปลูกผักที่ปลอดสารพิษเพื่อรับประทานเองและเพื่อจำหน่าย มีการรวมกลุ่มกันทำการผลิตข้าวไว้ขาย โดยการจัดตั้งกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือบ้านเพิง เพื่อทำการผลิตและมีโรงสีข้าวของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือบ้านเพิง ซึ่งจะเป็นเครื่องสีข้าวขนาดกลาง มีเครื่องทำความสะอาดข้าวและเครื่องคัดแยกสิ่งเจือปน ก่อนนำข้าวขึ้นสี
เมื่อ พ.ศ.2549 ได้มีการจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น โดยได้รับการสนับสนุนด้านเครื่องมือ ความรู้ และการตลาดจากหน่วยงานของรัฐ และ ได้รับการสนับสนุนทุนวิจัยจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย ฝ่ายวิจัยเพื่อท้องถิ่น เพื่อศึกษาการเปลี่ยนแปลงกรรมวิธีการทำนาของชาวนาจากอดีตจนถึงปัจจุบัน และศึกษาการเปลี่ยนแปลงของฤดูกาลที่เกี่ยวข้องกับการทำนา และผลกระทบที่เกิดขึ้นต่อการทำนา เพื่อให้นาข้าวมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้นด้วย

กลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือบ้านเพิง
ป้าอุไร เล่าว่าได้นำภูมิปัญญาแบบพื้นบ้านมาใช้ โดยการหาวัสดุอุปกรณ์ในท้องถิ่นมาใช้ทำนาเพื่อลดต้นทุนเพื่อลดค่าใช่จ่ายในครัวเรือน เช่น การทำน้ำหมักชีวภาพ ทำโดยนำซากพืชซากสัตว์ที่หาได้จากในท้องถิ่นมาหมักดองไว้เพื่อเป็นน้ำหมักชีวภาพ ใช้กำจัดตอซัง หรือนำมาทำเป็นปุ๋ยเร่งการเจริญเติบโตของกอข้าว และการคัดเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าว ซึ่งป้าอุไรต้องมีความประณีตในการเลือกเมล็ดพันธุ์ข้าวตั้งแต่การเก็บเกี่ยวข้าวมาจนถึงการนำข้าวมาเก็บไว้ในยุ้งฉาง เพื่อป้องกันการปะปนของเมล็ดข้าวต่างสายพันธุ์ โดยการเก็บข้าวด้วยแกะ การเก็บข้าวด้วยแกะนั้นเป็นเครื่องมือที่ใช้ในการเก็บข้าวของทางภาคใต้ วิธีเก็บข้าวด้วยแกะนั้นเป็นวิธีที่ป้องกันการปนของเมล็ดพันธุ์ข้าว เพื่อเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวเอาไว้ใช้เองสำหรับฤดูกาลใหม่ ซึ่งเป็นวิธีที่ลดต้นทุนได้อีกทางหนึ่ง โดยไม่ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ข้าวมาจากที่อื่น ด้วยความสามารถและความรอบรู้ของป้าอุไรและครอบครัว ต่อสู้จนมาตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนข้าวซ้อมมือบ้านเพิง และเป็นที่รู้จักกันต่อๆมา
-ได้รับมาตรฐานจากกรมการข้าว (GAP) พ.ศ. 2557
-ได้รับมาตรฐานสินค้า OTOP ระดับ 4 ดาว พ.ศ.2559
ข้าวยุมหนุนบ้านเพิง



