เกษตรกรต้นแบบ

"ดวงเด่น ลีรัตนปัญญา : ต้นแบบผู้ผลิตและก่อตั้งศูนย์เมล็ดพันธ์ุข้าวไร่ชุมชน แห่งแรกของไทย"

 21 กรกฏาคม 2559 4,400
จ.ขอนแก่น
ไม่อยากให้เกษตรกรชาวนาต้องมาซื้อข้าวกิน
แต่อยากให้ปลูกข้าวไว้กินเอง เก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ใช้ ประหยัดค่าใช้จ่าย
และได้เมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพ

คุณดวงเด่น ลีรัตนปัญญา ผู้ก่อตั้งศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวังหว้า

อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น มีภูมิประเทศที่เป็นป่าดงดิบ พื้นที่เนินสลับพื้นราบ และมีสัตว์ป่านานาชนิดอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ในอดีตมีชาวบ้านทำการแผ้วถางป่าเพื่อปลูกสร้างบ้านเรือนที่อยู่อาศัยและใช้ทำการเกษตรมาจนถึงปัจจุบัน จากสภาพพื้นที่เนินซึ่งไม่เหมาะแก่การทำนา ชาวบ้านจึงหันมาปลูกพืชไร่ ได้แก่ ปอ อ้อย และมันสำปะหลังเป็นอาชีพหลัก และหาของป่าขาย เพื่อนำเงินไปซื้อข้าวมาใช้บริโภคในครัวเรือน จนกระทั่งมีหน่วยงานภาครัฐนำเอาเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่มาส่งเสริมให้เกษตรกรได้เพาะปลูก เพื่อแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวเพื่อการบริโภค

หลักคิดในการใช้ชีวิต

คุณดวงเด่น ลีรัตนปัญญา เกษตรกรวัย 48 ปี ชาวอำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น อดีตเคยทำงานในบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งที่อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ และเป็นหนึ่งในผู้ใช้แรงงานที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤติเศรษฐกิจในยุคฟองสบู่แตกเมื่อปี พ.ศ.2540 จนกระทั่งได้หันเหชีวิตมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว ซึ่งคุณดวงเด่น มองว่า “การทำเกษตร” ก็น่าจะเป็นช่องทางหนึ่งที่จะช่วยเหลือเยียวยา เพิ่มรายได้ที่หายไปไม่มากก็น้อย จนกระทั่งได้ย้ายครอบครัวมาอยู่ที่บ้านวังหว้า หมู่ที่ 11 ตำบลบ้านแฮด อำเภอบ้านแฮด จังหวัดขอนแก่น มาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งภายหลังจากที่เข้ามาคลุกคลีและได้เข้าไปสัมผัสกับความยากลำบากของชีวิตชาวไร่ชาวนาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็นการทำนาปลูกข้าวไร่ ประมาณ 15 ไร่ และใช้พื้นที่บางส่วนทำการปลูกมันสำปะหลังและอ้อยโรงงาน

คุณดวงเด่น เล่าให้ฟังว่าข้าวไร่เป็นพืชที่ต้องการน้ำน้อย ปลูกได้ในพื้นราบ ที่ดอน และที่สูง อำเภอบ้านแฮดมีประวัติการปลูกประมาณปี พ.ศ.2529 หรือเมื่อกว่า 30 ปีที่ผ่านมา โดยเกษตรกรที่บ้านวังหว้าจะเป็นชาวนากลุ่มแรกๆที่เริ่มปลูกข้าวเพื่อการบริโภคในครัวเรือน โดยได้รับการสนับสนุนเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่จากการส่งเสริมของหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกข้าวไร่มากที่สุดในจังหวัดขอนแก่น กว่าหมื่นไร่ โดยข้าวส่วนใหญ่ที่เกษตรกรปลูกมีอยู่ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ ซิวแม่จัน และสกลนคร ซึ่งเป็นพันธุ์ข้าวเหนียวที่มีความหอมนุ่ม และเป็นที่นิยมของผู้บริโภคในปัจจุบัน

ด้วยความรู้ในการเพาะปลูกข้าวไร่และประสบการณ์การที่สั่งสมมาในช่วงระยะหนึ่ง จนสามารถถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้ที่สนใจทั่วไปอย่างไม่หวงวิชา อีกทั้งยังสวมบทบาทของผู้ประสานงานด้านการเกษตรระหว่างหน่วยงานภาครัฐและชุมชน โดยเล็งเห็นถึงปัญหาของเกษตรกรที่ปลูกข้าวไร่เพื่อการยังชีพเพียงอย่างเดียว เนื่องจากเกษตรกรจะแบ่งพื้นที่ในการปลูกข้าวไร่โดยเฉลี่ยเพียง 1-2 ไร่/ครัวเรือนเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าการปลูกพืชไร่ชนิดอื่นๆ จนส่งผลให้เกษตรกรเริ่มขาดแคลนเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อใช้สำหรับเพาะปลูกในฤดูกาลถัดไป

คุณดวงเด่น มีแนวคิดที่จะส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวไร่เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไว้ใช้เองและยังคงอนุรักษ์วิถีการปลูกข้าวไร่แบบดั้งเดิมเอาไว้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจ จนกระทั่งในปี พ.ศ.2551 ได้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ก่อตั้งเป็น “ศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวังหว้า” เพื่อเป็นธนาคารเมล็ดพันธุ์ข้าว และถือเป็นแหล่งผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่แห่งแรกของประทศไทย มีคุณดวงเด่น เป็นประธานศูนย์ข้าวชุมชนมาจนถึงปัจจุบัน

ศูนย์ผลิตข้าวไร่ชุมชนแห่งแรกของประเทศไทย

ประวัติและความเป็นมาเกี่ยวกับตัวเกษตรกร

การปลูก “ข้าวไร่” เป็นการนำพันธุ์ข้าวที่ทนแล้งได้ดีมาปลูกบนพื้นที่ดอน หรือที่ราบเนินเขาซึ่งไม่มีน้ำท่วมขัง หรือปลูกในสภาพพื้นที่ไร่ที่ต้องอาศัยน้ำฝนเป็นหลัก เกษตรกรบ้านวังหว้าจะเริ่มปลูกข้าวไร่ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายน ภายหลังจากการเก็บเกี่ยวผลผลิตอ้อยและมันสำปะหลังแล้วเสร็จ และจะไปเก็บเกี่ยวข้าวในช่วงประมาณเดือนตุลาคม โดยจะมีรายได้จากการปลูกอ้อยและมันสำปะหลังและพืชไร่ชนิดอื่นๆเป็นหลัก เนื่องจากการปลูกข้าวไร่จะช่วยแก้ปัญหาการขาดแคลนข้าวเพื่อการบริโภค ช่วยลดความเสี่ยงต่อปัญหาฝนทิ้งช่วง ปลูกง่าย ประหยัดต้นทุนและแรงงานได้ดี

“ข้าวซิวแม่จัน” ข้าวสายพันธุ์แรกๆที่เกษตรกรชาวอำเภอบ้านแฮดเริ่มปลูกกันเพื่อบริโภคในครัวเรือน เป็นข้าวที่ไวต่อช่วงแสงเล็กน้อย ความสูงของลำต้นประมาณ 110-150 เซนติเมตร อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 120-130 วัน เหมาะสำหรับการปลูกในสภาพไร่และนา เก็บเกี่ยวได้ในช่วงปลายเดือนกันยายน-กลางเดือนตุลาคม ใบและต้นมีสีเขียว มีใบแคบและยาว คอรวงยาว เมล็ดยาว ข้าวเปลือกมีสีฟาง เมล็ดข้าวสุกจะมีความหอม ผลผลิตเฉลี่ย 450-480 กิโลกรัม/ไร่

“ข้าวสกลนคร” เป็นข้าวไร่สายพันธุ์จากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เหมาะสำหรับปลูกในสภาพที่ดอน อายุการเก็บเกี่ยวประมาณ 130 วัน ความสูงของลำต้นประมาณ 120-150 เซนติเมตร เป็นข้าวไม่ไวต่อช่วงแสง ซึ่งสามารถปลูกได้ตลอดทั้งปี คุณภาพของเมล็ดสุกจะอ่อนนุ่มกว่าข้าวซิวแม่จัน แต่มีความหอมที่น้อยกว่า

เนื่องจากเกษตรผู้ปลูกข้าวไร่ส่วนใหญ่จะนิยมปลูกเพื่อการบริโภคเป็นหลัก ทำให้เกิดปัญหาพันธุ์ข้าวปนเป็นจำนวนมาก ทำให้คุณภาพข้าวด้อยลงเห็นได้อย่างชัดเจน ในฐานะที่คุณดวงเด่น เป็นเกษตรกรผู้มีภูมิรู้และเป็นต้นแบบของเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ในชุมชนที่มีการนำเอาความรู้ด้านวิชาการสมัยใหม่ที่ไปพบเห็นมาจากแหล่งเพาะปลูกอื่น มาร่วมถ่ายทอดให้กับคนในชุมชน อีกทั้งยังเล็งเห็นถึงความจำเป็นที่เกษตรกรต้องมีเมล็ดข้าวไร่พันธุ์ดีไว้ใช้เองโดยไม่ต้องหันไปพึ่งพาเมล็ดพันธุ์จากแหล่งอื่น และมีแนวคิดที่จะอนุรักษ์พันธุ์ข้าวไร่ไว้ให้ลูกหลานได้นำไปใช้ประโยชน์อย่างไม่ขาดแคลนเหมือนเช่นในอดีต จึงใช้ความรู้ที่มีอยู่มาช่วยส่งเสริมสนับสนุนและพัฒนากลุ่มผู้ผลิตและกระจายเมล็ดพันธุ์ข้าว โดยรวบรวมเอาสมาชิกเกษตรกรผู้ปลูกข้าวไร่ภายในชุมชนมาร่วมกันผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่คุณภาพเสริมรายได้จากการปลูกพืชชนิดอื่นๆ โดยก่อตั้งเป็นศูนย์ข้าวชุมชนและจดทะเบียนในนามวิสาหกิจชุมชนศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวังหว้า โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่ให้ตรงตามความต้องการของสมาชิกและเกษตรกรผู้ที่สนใจทั่วไป ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น จำนวน 21 ราย มีพื้นที่การเพาะปลูกรวมกันกว่า 1,000 ไร่ ทำการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่และเมล็ดพันธุ์ข้าวอื่นๆภายใต้การรับรองมาตรฐาน การผลิตจากกรมการข้าว ดังนี้
• เมล็ดพันธุ์ข้าวสกลนคร ปริมาณการผลิต 100 ตัน/ปี
• เมล็ดพันธุ์ข้าวซิวแม่จัน ปริมาณการผลิต 5 ตัน/ปี
• เมล็ดพันธุ์ข้าว กข.33(หอมอุบล) ปริมาณการผลิต 5 ตัน/ปี
• เมล็ดพันธุ์ข้าวลืมผัว ปริมาณการผลิต 10 ตัน/ปี

นอกจากนี้ คุณดวงเด่น ยังมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการรวมตัวกันของกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรสมาชิกศูนย์ข้าวชุมชนเพื่อทำการแปรรูปผลิตภัณฑ์การเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า เพื่อรองรับปัญหาความต้องการของเมล็ดพันธุ์ข้าวที่เกินความต้องการของตลาด โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ผลิต ได้แก่ ข้าวแต๋น ข้าวกล้อง กล้วยฉาบ เป็นต้น

จากปัญหาภัยแล้งที่สะสมมานานในช่วงระยะหลายปีที่ผ่านมาจนส่งผลให้ผลผลิตข้าวไร่ตกต่ำอย่างเห็นได้ชัด เนื่องจากการปลูกข้าวไร่จะอาศัยน้ำฝนตามธรรมชาติเป็นหลัก คุณดวงเด่น จึงหาแนวทางในการแก้ปัญหาโดยนำเอากระบวนการเกษตรอินทรีย์ชีวภาพเข้ามาใช้ประโยชน์ อาทิ การใช้ปุ๋ยคอกจากมูลสัตว์ ปุ๋ยหมักอินทรีย์ ปูนขาวโดโลไมท์ และการปลูกพืชตระกูลถั่ว เพื่อปรับปรุงโครงสร้างของดินให้ร่วนซุยและช่วยให้ดินมีขีดความสามารถในการอุ้มน้ำได้ดีขึ้น รวมถึงการใช้น้ำหมักชีวภาพฉีดพ่นทางใบเพื่อให้ต้นข้าวและใบข้าวมีความชุ่มชื้นในยามที่ข้าวกระทบแล้งและภาวะฝนทิ้งช่วง อีกทั้งตอซังข้าวที่เหลือภายหลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้วเกษตรกรสามารถไถกลบเพื่อให้ย่อยสลายกลายเป็นปุ๋ยหรือมันสำปะหลังได้ดีในช่วงต่อไป

การปลูกข้าวไร่ให้ได้ผลผลิตสูงในพื้นที่ที่ไม่เหมาะสมต่อการทำนา รวมถึงปัญหาภัยแล้งและสภาพอากาศที่แปรปรวน และสารเคมีตกค้างจากการทำไร่อ้อย การนำความรู้ในกระบวนการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์มาประยุกต์ใช้ในพื้นที่การทำนาไร่ ที่มีส่วนช่วยตอบโจทย์การปลูกข้าวไร่ได้หลายประการและเป็นแนวทางที่คุณดวงเด่นได้นำมาใช้ในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเพื่อเสริมรายได้จากการปลูกพืชไร่ชนิดอื่น

การปลูกข้าวไร่ของชาวอำเภอบ้านแฮด

เกียรติประวัติและผลงาน

- ครูบัญชีอาสา
- ประธานศูนย์ข้าวชุมชนบ้านวังหว้า (ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่แห่งแรกของไทย)
- รองประธานเครือข่ายศูนย์ข้าวชุมชนจังหวัดขอนแก่น
- เลขานุการเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ร้อยแก่นสารสินธุ์
- เกษตรกรต้นแบบการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวไร่จังหวัดขอนแก่น

การปลูกข้าวไร่แบบนาหยอด ภูมิปัญญาการปลูกข้าวไร่แบบท้องถิ่นดั้งเดิม

เรื่อง/ภาพโดย: อภัย นามเพ็ง จนท.ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.ขอนแก่น