

"อรรถพล ไชยจักร : ไร่หลังฉาง ต้นแบบเกษตรอินทรีย์...มีสไตล์"

ชอบเรียนรู้
แต่เรียนรู้ให้มันมีความสุข
มีความท้าทาย
แต่เรียนรู้ให้มันมีความสุข
มีความท้าทาย

หลักในการทำงานดำเนินชีวิตเลยของคุณอรรถ คือ ชอบเรียนรู้ แต่เรียนรู้ให้มันมีความสุข มีความท้าทาย ถ้าไม่มีความสุขในสิ่งที่ทำ มันอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ชอบก็ได้ คุณอรรถค้นพบว่าการได้อยู่บ้าน ปลูกต้นไม้ มีสิ่งดี ๆ กิน มีบรรยากาศดี ๆ อยู่ อันนี้คือความสุข ก็เลยเลือกที่จะทำแบบนี้
การได้อยู่บ้าน ได้ลงมือปลูกพืช ได้จับดิน ปลูกป่า มันคือการที่ตัวเราได้สัมผัสกับธรรมชาติโดยตรง และเหมือนกับธรรมชาติมันจะค่อยหล่อหลอมเขาเอง ในจังหวะนั้นแหละว่ามันคือความสุข ความสุขที่ได้ได้อยู่กับตัวเอง ได้เห็นต้นไม้เติบโต ได้อยู่กับขณะจิตที่ผูกอยู่กับมัน ได้ใช้ชีวิตอยู่กับธรรมชาติ เหล่านี้คือความสุขจริง ๆ
คุณอรรถอยากให้คำแนะนำว่า ถ้าอยากทำเกษตร ทำงานอยู่อย่างนี้ ลองมาทำก่อนว่ามันเหมาะไหม คำว่าเกษตรมันกว้างมาก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ เลี้ยงวัว ปลูกผัก ปลูกผลไม้ ปลูกป่า ปลูกป่าไว้เผาถ่านก็ยังเป็นเกษตร คำว่าเกษตรมันกว้างมาก ตัวคุณเองอาจจะยังไม่รู้ว่าคุณจะชอบอะไร แต่ถ้าทำงานอยู่แนะนำให้ทำระบบพวกพื้นฐาน เช่น น้ำ ไฟ บ้าน แล้วก็เริ่มปลูกพืชระยะยาว ๆ ไว้ มันจะง่าย มันไม่ต้องดูแลเยอะ แล้วปีหนึ่ง 2 ปี 3 ปีเวลาผ่านมา พอมันโตขึ้น เราจะเริ่มได้ผลผลิตมันเอง ปลูกผลไม้ ปลูกป่า สร้างระบบพื้นฐานไว้ก่อน แล้วคุณก็จะได้ลองว่าแบบไหนที่คุณชอบใช้เวลาตรงนั้น จนตรงนั้นนั่นแหละเป็นต้นทุนของชีวิตเรา อย่างน้อยเราอยู่ได้สบายแล้ว ก็ยังทำงานก่อน พอรู้พอมีพื้นฐานแล้ว วันนั้นจะออกมาทำนี้ก็ไม่สาย
คุณอรรถ - อรรถพล ไชยจักร เกษตรกรแบบผสมผสาน ซึ่งเขาบอกว่าเขาต้องการสร้างนิเวศน์ที่เหมาะสมกับการอยู่อาศัยมากกว่า
คุณอรรถเรียนจบวิศวกรรมศาสตร์ เอกไฟฟ้าสื่อสาร ทำงานอยู่ที่กรุงเทพฯ จนพอเห็นพ่อแม่เริ่มแก่ ก็เลยคิดว่าตนเองก็พอมีที่ดินอยู่บ้าง ไม่ได้ใหญ่มากแต่ก็คิดว่าน่าจะทำอะไรที่มันได้กลับมาอยู่บ้านกับพ่อแม่ได้ ก็เลยกลับมาเป็นเกษตรกร
ตอนแรกเริ่มที่คุณอรรถทำคือ เมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ตอนนั้นยังไม่ได้ลาออกมาทำเกษตรเลย ทำงานประจำไปด้วยแล้วก็ใช้เวลาว่างเสาร์-อาทิตย์กลับมาทำที่บ้าน พอเริ่มทำก็เริ่มติดใจ ประมาณ 3-4 ปีที่แล้วก็เลยลาออก แล้วกลับมาทำฟาร์ม มาอยู่กับธรรมชาติอย่างเต็มที่ ตอนที่เริ่มทำ มันเหมือนมีเสน่ห์ในตัว มันก็ดึงดูดให้เขาอยากทำมากขึ้น ๆ จนกลายเป็นเกษตรกรเต็มตัวอย่างแท้จริง
เมื่อเริ่มต้นทำการเกษตร คุณอรรถตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์ ด้วยความเป็นคนค่อนข้างจะศึกษาก่อนทำ จึงทั้งอ่านจากอินเทอร์เน็ตและไปดูจากพื้นที่จริง แล้วก็ได้รู้ว่าเกษตรอินทรีย์คืออะไร แบบไหน เกษตรธรรมชาติแบบไหน ก็เลยรู้สึกว่ามันดีเพราะว่ามันปลอดภัยกว่า ผลการวิจัยหลาย ๆ ตัวก็บอกว่าการใช้สารเคมีหลาย ๆ ตัวเป็นสารก่อมะเร็งหรือว่าทำให้เกิดโรคภัย และพอคุณอรรถมาจับจริง ๆ แล้ว นอกจากการไม่ใช้สารเคมี เขาอยากสร้างนิเวศน์หรือสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการดำรงชีวิตของตัวเอง ของพืช ของสัตว์ ไม่ใช่เพียงแค่ไม่ใช้สารเคมี แต่คุณอรรถมองเพิ่มขึ้นทีละลำดับว่าอยู่แบบไหนแล้วจะมีความสุข จะสบาย
ตอนที่กลับมาทำจริง ๆ จัง ก็เจอคำถามมากเหมือนกับทุก ๆ คน เขาก็บอกว่าทำงานอยู่กรุงเทพฯ ดีกว่าหรือเปล่าเพราะว่ากลับมาทำไม่รู้ว่าจะทำได้แค่ไหน ยิ่งคุณอรรถเลือกว่าจะทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรธรรมชาติยิ่งเป็นสิ่งใหม่ เมื่อหลายปีที่แล้วเขามองว่าเราทำอะไรที่มันค่อนข้างจะแปลกแตกต่าง ยังไม่ยอมรับ แต่คุณอรรถตั้งใจทำ อยากได้อาหารที่มันปลอดภัยจริง ๆ ก็เลยไม่ได้สนใจใคร เขาค่อย ๆ ทำให้เห็นมากกว่า ก่อนหน้านี้พ่อแม่เขาก็ไม่ยอมรับเรื่องทำเกษตรอินทรีย์ว่าจะทำได้จริงเหรอ เพราะเมื่อ 7-8 ปีที่แล้ว ชุดความรู้พวกนี้มันน้อย แต่พอทำไปสัก 2-3 ปี คุณอรรถเอาความรู้ แล้วเอาอินเทอร์เน็ตเข้ามาให้ความรู้เขาไปทีละนิด ๆ จนซึมซับ พ่อกับแม่เริ่มเข้าใจว่าแบบนี้มันดีกว่า มันปลอดภัยกว่า
ฟาร์มของคุณอรรถชื่อว่า "ไร่หลังฉาง" หรือว่า Farm Behide the Barn เพราะว่าพื้นที่ 6 ไร่ที่คุณอรรถทำการเกษตรมันอยู่หลังฉาง หรือยุ้งฉาง ฉางนี้มันจะมีความกว้างค่อนข้างเยอะ จะเอาไว้เก็บผลผลิตทางการเกษตร เช่น ข้าว ข้าวโพด มันสำปะหลัง เพราะว่าสมัยก่อนที่คุณอรรถรับซื้อมันสำปะหลังเอามาแปรรูป ก็เลยได้เป็นชื่อ Farm Behide the Barn มาหรือว่าไร่หลังฉางมา
พื้นที่ของไร่หลังฉางหรือ Farm Behide the Barn แยกออกมาจากพื้นที่ของพ่อแม่คุณอรรถอีกทีหนึ่ง พื้นที่ของพ่อแม่ประมาณ 20 ไร่ คุณอรรถแบ่งมา 6 ไร่ ประมาณ 3 ไร่ ปลูกป่าไปเรียบร้อยแล้วประมาณ 3 ปีที่แล้ว นอกจากนั้นยังมีแบ่งเป็นที่พัก 2 หลัง พักเอง 1 หลัง อีกหลังเอาไว้ทำเป็นที่พักสำหรับเพื่อนหรือว่าเป็นฟาร์มสเตย์สำหรับคนอยากมาหาประสบการณ์หรือเรียนรู้ แล้วก็มีแปลงของผักระยะสั้นประมาณ 2-3 งาน มีบ่อน้ำ คุณอรรถตั้งใจสร้างอาหารกับสร้างสภาพแวดล้อมทางนิเวศน์ที่มันเหมาะกับการอยู่อาศัย
พื้นที่ในฟาร์ม จะทำผักสลัด เลี้ยงไส้เดือนก็จะได้มูลไส้เดือน น้ำหมักมูลไส้เดือน ได้ตัวไส้เดือน แล้วก็ปลูกผักพื้นบ้านเอาไว้กินเอง แล้วก็เริ่มเลี้ยงปลา แล้วก็มีอีกตัวหนึ่งที่เป็น product เลย ก็มีตัวมัลเบอร์รี่ จะกลายเป็นมัลเบอร์รี่สด มัลเบอร์รี่ฟรีซ แล้วก็เป็นตัวแยมมัลเบอร์รี่
ในการทำฟาร์ม ด้วยความที่คุณอรรถสนใจด้านเทคโนโลยีอยู่แล้ว เรียนจบมาเป็นวิศวกรอยู่แล้ว จึงนำเอาเทคโนโลยีมาใช้เพื่อทำงานได้สะดวกขึ้น ง่ายขึ้น ประหยัดเวลาหรือประหยัดเงินขึ้น แล้วก็เอาพวกไอโอที เอา Timer เอาระบบพลังงานทดแทนโซล่าเซลล์มาใช้ ยกตัวอย่าง ตัวเรือนเพาะชำ ก็ทำระบบพ่นหมอกไว้ เพราะว่ามันต้องรดน้ำทุกวันอยู่แล้ว ก็ให้มันพ่นหมอกไปเลยตอนเช้าประมาณครึ่งชั่วโมง ไม่ต้องมาเสียเวลาครึ่งชั่วโมงเพื่อลดน้ำเอง หรือการเลี้ยงไส้เดือน ต้องให้น้ำมันเกือบทุกวัน ในช่วงแรกก็ติดระบบน้ำ แล้วก็ใช้ระบบไอโอที อยากตั้งเวลาเท่าไหร่ก็ได้ ประหยัดเวลาได้อีกวันละชั่วโมง แล้วก็ตอนนี้ก็เริ่มใช้โซล่าเซลล์ด้วย เพราะว่าพอมาคำนวณแล้วตัวปั๊มน้ำที่ใช้ในการเกษตรใช้พลังงานค่อนข้างเยอะ มันก็คือค่าไฟที่ต้องเสีย คุณอรรถก็เลยติดโซล่าเซลล์เพื่อประหยัดค่าไฟในระยะยาว นอกจากนั้นตัวโซล่าเซลล์นี้ก็ทำให้มีน้ำลงบ่อเพื่อที่จะเลี้ยงปลา ประหยัดค่าอาหาร แล้วก็มีปลาได้กินได้ขายเพิ่มขึ้นอีกต่างหาก การใช้เทคโนโลยีพวกนี้ก็เป็นเหมือนกับข้อดีหรือข้อได้เปรียบที่อยากจะบอกว่าเทคโนโลยีที่เหมาะสม ราคาเหมาะสมด้วย ก็จะเอื้อต่อการทำงานได้ดี
รายได้ของฟาร์มมาจากหลาย ๆ ส่วน อย่างละนิด อย่างละหน่อย อาจจะมีมัลเบอร์รี่บ้าง ผักสลัดบ้าง มูลไส้เดือนบ้าง และอีกอย่างหนึ่งคุณอรรถก็ทำงานฝีมือไปด้วย พวกงานคราฟท์ ชื่อแบรนด์ว่า made in Farm เป็นงานคราฟท์ที่ทำในฟาร์ม เหมือนกับว่างานฟาร์มมันใช้แรง ก็อยากมีงานที่มันใช้สมาธิ ก็เลยทำแบรนด์ที่เกี่ยวกับพวกงานคราฟท์ ตอนนี้จะเน้นไปที่ผ้าย้อมมะเกลือ มีเสื้อ มีผ้าผืน มีอะไรที่เป็นย้อมมะเกลือ เพราะมันมี product หรือมีผลิตภัณฑ์หลาย ๆ ตัว มันเลยเหมือนรายได้มาจากผลิตภัณฑ์ละนิดละหน่อยเข้ามารวมกัน
การทำการตลาดของคุณอรรถนั้น ตอนเริ่มทำคุณอรรถออกอีเว้นท์ค่อนข้างเยอะในกรุงเทพฯ แล้วก็ใช้สื่อผ่านทาง Social ค่อนข้างเยอะ การออกอีเว้นท์ถี่ ๆ อัดข้อมูลที่เป็น educate หรือว่าการให้ความรู้เข้าไปเยอะ ๆ คนก็เริ่มจดจำฟาร์มไร่หลังฉางได้ เริ่มมาฟอลโล่มากขึ้น กลุ่มลูกค้าก็เลยเป็นกลุ่มที่รู้จักจากการออกอีเว้นท์ แล้วก็เป็นกลุ่มออนไลน์ แต่ว่าหลัง ๆ นี้คุณอรรถไม่ค่อยได้ออกอีเว้นท์เท่าไหร่ ก็เลยกลายเป็นว่าจะยังได้กลุ่มออนไลน์อยู่ เพราะการออกอีเว้นท์คุณอรรถรู้สึกว่ามันใช้พลังงานเยอะ ก็เลยคิดว่าปีนี้จะเริ่มขายละแวกใกล้ ๆ มากขึ้น อย่างเช่น ขายในหมู่บ้าน ขายในตัวจังหวัดที่อยู่ใกล้ ๆ จะเปลี่ยนแนวทางการทำการตลาดไป ความยากอยู่ที่พื้นที่ฟาร์มมันอยู่ตรงกลางระหว่างนครราชสีมากับบุรีรัมย์ ห่างจากนครราชสีมาประมาณ 70 - 80 กิโลเมตร แล้วก็ยังห่างจากตัวเมืองบุรีรัมย์ประมาณเกือบ 100 กิโล การจะไปส่งแต่ละที่มันยาก ก็จะเพิ่ม section งานขาย คือจะพยายามขายใกล้ขึ้น ขายในหมู่บ้าน ขายในอำเภอ ก็จะเป็นแผนของปีนี้
รายได้ตอนนี้ยังแกว่ง ๆ อยู่ ในช่วงที่ปลูกมัลเบอร์รี่แทบจะเป็นคนแรก ๆ ของเขตพื้นของจังหวัดนี้ ตอนนั้นขายกล้าทีหนึ่ง ได้ปีหนึ่งประมาณเกือบแสนบาท ยังไม่นับรวมที่แปรรูปเป็นแยม เป็นน้ำมัลเบอร์รี่อีก แต่ว่าพอตลาดตัวนี้มันโตไปจนถึงทุกคนเริ่มมี เพราะว่ามันเป็นเทรนด์มาก มันก็ดาวน์ลง
แผนในอนาคตของไร่หลังฉางก็คือ อยากทำเหมือนเป็นคาเฟ่ เป็นฟาร์มสเตย์ เพราะว่าส่วนตัวแล้วเคยเปิดร้านกาแฟ เคยชอบทำพวกมิกโซโลจิสต์ ชอบทำเป็นเหมือนบาร์เทนเดอร์ ก็เลยตั้งใจว่าจะทำส่วนของคาเฟ่เพิ่มเติม แล้วอาจจะเปิดกึ่งฟาร์มสเตย์กึ่งเอ็กซ์พีเรียนซ์ ก็คือให้คนมาดูว่าเลี้ยงไส้เดือนอย่างไร ให้มาเรียนรู้ปลูกผักอย่างไร ให้เข้ามาเรียนรู้เรื่อง Cafe & Farm Stay ไปด้วยกัน แล้วถ้าแผนภายในฟาร์มเลยก็คือคงทำให้มันดีขึ้น เช่น ตัวไก่เองมันยังอยู่ในพื้นที่ใหญ่ ๆ อยู่ แต่คราวนี้จะย้ายพวกไก่พวกเป็ดเข้ามาอยู่ในป่าที่ปลูกไว้ประมาณ 3 ปี พอมันเริ่มโตแล้ว มันจะได้ธรรมชาติมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ
แหล่งอ้างอิงข้อมูล
คุณอรรถ - อรรถพล ไชยจักร
ฟาร์ม : ไร่หลังฉาง (Farm behind the Barn)
ที่อยู่ : 176 หมู่ 10 ตำบลดอนอะราง อำเภอหนองกี่ จังหวัดบุรีรัมย์ 31210
Facebook : Farm Behind the Barn
ไร่หลังฉาง ต้นแบบเกษตรอินทรีย์...มีสไตล์ [ rbk | รักบ้านเกิด ]
เรื่อง/ภาพโดย: นนท์ ทีมงานรักบ้านเกิด

