

"บุญยง สาระ : ปราชญ์ชาวนาผู้ปลูกข้าวให้เป็นยา"

คือต้นทุนของคนทำข้าวอินทรีย์


"บุญยง สาระ" ต้นแบบคนทำข้าวอินทรีย์ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพอะตอมมิคนาโน
"ครูบุญยง" หรือ “คุณพ่อบุญยง” เป็นชื่อที่ชาวบ้านเรียกนายบุญยง สาระ ชาวนาวัย 71 ปี แห่งบ้านปลาค้าว ม.1 ต.ปลาค้าว อ.เมือง จ.อำนาจเจริญ ซึ่งเดิมทีพื้นที่ตำบลปลาค้าวเป็นดินทรายจัด ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก เป็นนาน้ำฝนที่ต้องอาศัยน้ำตามฤดูกาลและน้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติ การทำนาได้ผลผลิตไม่ดี เกษตรกรจึงมีความจำเป็นต้องใช้สารเคมีเพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตที่สูง จนส่งผลทำให้ต้นทุนในการทำนาเพิ่มสูงขึ้นตามไปด้วย อีกทั้งยังทำให้ดินแข็งกระด้าง ผลผลิตข้าวที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน อีกทั้งการใช้สารเคมีจะส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ส่งผลเสียต่อสุขภาพของชาวนา สารเคมีสะสมในร่างกายจนเป็นสาเหตุทำให้เกิดโรคภัยเบียดเบียนได้ง่าย คำว่า “จะปลูกข้าวให้เป็นยา จะทำนาให้คนห่างโรค” จึงเป็นอีกหนึ่งแนวคิดในการทำนาของคุณพ่อบุญยงซึ่งอาจจะช่วยให้พี่น้องชาวนาหลุดพ้นจากภัยดังกล่าวได้ การเติมความชอบธรรมใส่ลงไปในข้าวที่ปลูกและการทำนาให้เป็นเนื้อนาบุญ จึงเปรียบเสมือนการทำนาให้ได้บุญในคราเดียวกัน ซึ่งข้าวที่ผลิตได้จะกลายมาเป็นยาที่ช่วยให้ผู้ผลิตและผู้บริโภคมีสุขภาพดีอย่างยั่งยืนต่อไป
คุณพ่อบุญยง เป็นเกษตรกลุ่มแรกๆของจังหวัดอำนาจเจริญที่เริ่มเข้าสู่กระบวนการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ ซึ่งในอดีตเคยประกอบอาชีพรับราชการครู และผันตัวเองเข้าสู่อาชีพเกษตรกรอย่างเต็มตัวเมื่อปี พ.ศ.2543 และได้ศึกษาเรียนรู้การทำเกษตรหลากหลายแขนงจากทั้งในตำราและจากแหล่งเรียนรู้ต่างๆที่มีอยู่ใกล้ตัว โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันและด้านการเกษตร โดยเฉพาะในเรื่องของการทำนารูปแบบใหม่ซึ่งนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพที่เรียกว่า “อะตอมมิคนาโน” มาประยุกต์ใช้ในนาข้าว ผนวกกับความเป็นหมอดินอาสา เป็นตัวแทนของกรมพัฒนาที่ดินซึ่งมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมให้เกษตรกรในท้องถิ่นได้มีความรู้ด้านการพัฒนาที่ดินให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ และเป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรในด้านการใช้สารอินทรีย์ทดแทนสารเคมีทางการเกษตร ภายใต้แนวคิด “จะทำข้าวให้เป็นยา จะทำนาให้เป็นเนื้อนาบุญ” โดยเปลี่ยนจากนาข้าวที่เคยใช้สารเคมี มาเป็นนาข้าวแบบเกษตรอินทรีย์ด้วยกรรมวิธีสมัยใหม่ โดยเฉพาะการปลูกข้าวด้วยนำหมักชีวภาพอะตอมมิคนาโน ซึ่งสามารถลดต้นทุน เพิ่มผลผลิตข้าวได้ดีอย่างน่าพอใจ และได้มีโอกาสรวมกลุ่มกับเกษตรกรรายอื่นๆในจังหวัด จัดตั้งเป็นเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ของจังหวัดอำนาจเจริญขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2548 ครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูกข้าวอินทรีย์หลายหมื่นไร่ ผลผลิตข้าวมีคุณภาพดี เป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศ ปัจจุบันกลายเป็นแหล่งเรียนรู้ฯและศูนย์ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน จ.อำนาจเจริญ ซึ่งมีเกษตรกรเข้ามาศึกษาดูงานและให้ความสนใจกันเป็นจำนวนมาก
“ข้าวเป็นยา” ที่คุณพ่อบุญยงพูดถึงก็คือ “ข้าวกล้อง” ที่หลายๆคนรู้จักกันดี เป็นข้าวที่กะเทาะเอาเฉพาะเปลือกออกในขณะที่ยังมีจมูกข้าวและเยื่อหุ้มเมล็ดข้าวหรือรำข้าวอยู่ติดกับเมล็ด เป็นข้าวที่หากินได้ง่ายในท้องถิ่น แต่คนส่วนใหญ่ไม่นิยมนำมาบริโภคกัน เพราะเข้าใจว่าเคี้ยวยาก กินยาก กินแล้วไม่ถูกปาก ไม่เหมือนกับข้าวที่ขัดสีแบบขาวสะอาดเหมือนกับข้าวที่มีขายตามตลาดโดยทั่วไป แต่หารู้ไม่ว่า “ข้าวกล้อง” มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกาย มีวิตามินและสารอาหารหลากชนิดที่ร่างกายต้องการโดยไม่ต้องหันไปพึ่งยาและอาหารเสริมซึ่งมีราคาแพงมารับประทาน หากจะพูดถึงสรรพคุณของข้าวที่เรียกว่า “ยา” แล้วล่ะก็ อาจจะมีคนไทยเพียงไม่กี่คนที่รู้ว่าข้าวมีประโยชน์ต่อร่างกายเพียงใด และหากจะเปรียบเทียบโภชนาการอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายจากการรับประทานข้าวแล้ว “ข้าวกล้อง” อาจจะเปรียบเสมือนยาสามัญประจำบ้านดีๆที่คนไทยหลายคนอาจจะหลงลืมไปบ้างแล้วนั่นเองครับ
คุณพ่อบุญยงปลูกข้าวสายพันธุ์พื้นบ้านไว้หลายสายพันธุ์ โดยข้าวแต่ละสายพันธุ์ก็มีคุณค่าทางโภชนาการอาหารที่ดีต่อสุขภาพแตกต่างกันออกไป อาทิ ข้าวมะลิแดง ข้าวเหนียวดำ ข้าวหอมนิล ข้าวสังข์หยด ข้าวไรซ์เบอรี่ ฯลฯ ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ทั้งหมดและนำข้าวที่ผลิตได้มาแปรรูปเป็นข้าวกล้อง ข้าวกล้องงอก น้ำนมข้าว และน้ำนมข้าวกล้องงอก เพื่อเพิ่มมูลค่า จนเป็นที่รู้จักกันในนาม “ข้าวเป็นยา” ข้าวเพื่อสุขภาพจากคนทำนาอินทรีย์

ข้าวพันธุ์พื้นบ้าน ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์
คุณพ่อบุญยง กล่าวว่า เทคโนโลยีชีวภาพอะตอมมิคนาโน หรือที่ภาษาชาวบ้านเรียกกันว่า “เทคโนโลยีชีวภาพพลังง้วนดิน” หมายถึง การนำเอาจุลินทรีย์ตระกูลที่มีประสิทธิภาพสูงที่สามารถสังเคราะห์แสงได้เองตามธรรมชาติ โดยนำมาเลี้ยงไว้ในดินรูปแบบของปุ๋ยหมักและน้ำหมักชีวภาพ เมื่อจุลินทรีย์ดังกล่าวเจริญเติบโตได้ดีแล้วจะมีส่วนช่วยคืนความสมดุลให้กับดิน โครงสร้างของดินมีความร่วนซุยมากขึ้น การสังเคราะห์แสงของจุลินทรีย์จะช่วยให้อนุภาคของดินมีส่วนประกอบของกรดอะมิโนที่สำคัญ ซึ่งจะก่อให้เกิดโปรตีนที่มีความสำคัญต่อการเจริญเติบโตของสิ่งมีชีวิตอันได้แก่ พืช และสัตว์ นั่นเอง ซึ่งการนำเทคโนโลยีชีวภาพอะตอมมิคนาโนมาประยุกต์ใช้ในการทำนาแบบเกษตรกรอินทรีย์ในช่วงระยะเวลากว่า 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากจะสามารถผลิตข้าวอินทรีย์ให้มีคุณภาพดีและเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในและต่างประเทศแล้ว จะสามารถตอบโจทย์การทำนาโดยสรุปได้ ดังนี้
1. ลดต้นทุนค่าปุ๋ย : โดยการนำเอาเทคโนโลยีชีวภาพที่เรียกกันว่า “อะตอมมิคนาโน”มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการทำนาแบบเกษตรอินทรีย์โดยการใช้ปุ๋ยหมักจุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่มีประสิทธิภาพในการย่อยสลายสูงและสามารถสังเคราะห์แสงได้ด้วยตัวเอง เมื่อนำจุลินทรีย์ลงไปใส่ไว้ในดินในรูปแบบของปุ๋ยหมักรองพื้นจะทำให้จุลินทรีย์ดึงเอาออกซิเจนและตรึงไนโตรเจนในอากาศลงมาไว้ในดินคล้ายๆกับการทำงานของพืชตระกูลถั่ว และสังเคราะห์แสงจนเกิดเป็นอนุพันธุ์ของโปรตีนในรูปของคลอโรฟินล์ ซึ่งอุดมไปด้วยธาตุอาหารที่ข้าวต้องการตามธรรมชาติ ต้นข้าวจะสามารถดูดซึมเอาธาตุอาหารไปใช้ได้ทันทีโดยไม่ ต้องใช้ปุ๋ยเคมีแต่อย่างใด
2. ลดต้นทุนค่าเมล็ดพันธุ์ข้าว : โดยนำนวัตกรรมใหม่มาใช้ในการทำนาจนกลายเป็นต้นแบบของการทำนาเพื่อการลดต้นทุนเรื่องของเมล็ดพันธ์ข้าว คือการทำนาแบบโยนกล้า ซึ่งเดิมทีการทำนาแบบหว่านโดยทั่วไปจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวมากถึง 25-40 กิโลกรัมต่อไร่ หรือนาดำจะใช้เมล็ดพันธุ์ข้าว ประมาณ 10-15 กิโลกรัมต่อไร่ แต่เมื่อได้นำนวัตกรรมการทำนาแบบโยนกล้ามาใช้ สามารถลดปริมาณการใช้เมล็ดพันธุ์ข้าวลงเหลือเพียง 3-5 กิโลกรัมต่อไร่ เท่านั้น
3. ลดต้นทุนการใช้สารเคมี : เมื่อสมาชิกหันมาทำนาแบบเกษตรอินทรีย์ จะช่วยให้ต้นข้าวมีความแข็งแรง มีภูมิต้านทานโรค การเสริมขนให้กับต้นข้าวจะช่วยป้องกันแมลงศัตรูข้าวได้ดี การใช้สารสกัดจากสะเดาผสมกับตะไคร้หอมและน้ำส้มควันไม้ฉีดพ่นป้องกันแมลงแทนการใช้สารเคมีกำจัดแมลง ส่วนหญ้าวัชพืชจะใช้วิธีการถอนเพื่อนำไปหมักเป็นปุ๋ยพืชสดร่วมกับการหมักหอยเชอรี่ซึ่งเป็นศัตรูข้าวที่สำคัญ ทั้งนี้ เกษตรกรจึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้สารเคมีกำจัดโรคและแมลงศัตรูข้าวอีกต่อไป
“ เมื่อทุกๆสรรพสิ่งเกื้อกูลกัน จะก่อเกิดเป็นความสมดุลทางธรรมชาติ ดินอุดมสมบูรณ์ดี เกิดมีไส้เดือนให้ช่วยพรวนดินอยู่ตลอดเวลา เมื่อถ่ายมูลออกมาจะกลายเป็นปุ๋ยชั้นยอดให้กับต้นข้าว ข้าวจะแตกกอได้ดี โดยไม่จำเป็นต้องใช้ปุ๋ยเคมีอีกเลย”
•หมอดินอาสาประจำหมู่บ้าน
•ประธานเครือข่ายอาสาสมัครประชาสัมพันธ์ฯ
•ประธานเครือข่ายสมัชชาสุขภาพจังหวัดอำนาจเจริญ
•เครือข่ายข้าวสัจธรรมจังหวัดอำนาจเจริญ
•รางวัลปราชญ์เกษตรแผ่นดิน สาขาปราชญ์เกษตรผู้ทรงภูมิปัญญาและมีคุณูปการต่อภาคการเกษตรจังหวัดอำนาจเจริญ
ศูนย์เรียนรู้การทำนาอินทรีย์และศูนย์ปราชญ์เกษตรแผ่นดิน จ.อำนาจเจริญ




