เกษตรกรต้นแบบ

"อัครชัย ยัสพันธุ์ : เรียนรู้เรื่องมะพร้าว กับสวนมะพร้าวอินทรีย์ Y.Farmily"

 30 ธันวาคม 2563 1,876
จ.ราชบุรี
เสน่ห์ของการทำเกษตร
คือการได้กลับมาใกล้ชิดกับธรรมชาติ

คุณเอกไม่มีคติใดคติหนึ่งในการดำเนินชีวิต รู้สึกว่ามันไม่ใช่สิ่งที่จำเป็นในชีวิตที่จะต้องมี ไม่ได้รู้สึกว่าเหมือนอากาศที่เราจะต้องหายใจ รู้สึกว่าอันนี้ใช่ อันนี้เกี่ยวกับตัวเขา อนาคตอาจจะมี แต่ ณ ตอนนี้ไม่มีจริง ๆ

ตอนที่คุณเอกทำอสังหาริมทรัพย์นี้คนที่ต้องเจอคือพาร์ทเนอร์ที่เกี่ยวกับการก่อสร้าง ผู้รับเหมาก่อสร้าง และลูกค้า การทำงานมันรู้สึกว่ามันกดดัน มันเครียดมาก แต่พอตอนนี้ที่มาทำสวนมะพร้าวอินทรีย์ มันไม่ใช่การทำงานที่แค่คุยอย่างเดียว มันมีลูกน้องที่จะต้องติดต่อสื่อสาร เสน่ห์ของมันคือได้กลับมาอยู่ใกล้ธรรมชาติ งานอสังหาริมทรัพย์มันมีแต่ปูน มีแต่สิ่งปลูกสร้าง สิ่งมีชีวิตอย่างเดียวที่เจอก็คือคน แต่การทำการเกษตรได้เจอสิ่งอื่นด้วย ได้เจอสัตว์ ได้เจอสิ่งแวดล้อมอื่น ๆ มันทำให้มีความสุขมากกว่า แต่ก็ต้องยอมรับเรื่องรายได้ว่ามันไม่ได้ดีเหมือนเมื่อก่อน

สำหรับคนที่อยากจะทำการเกษตร คุณเอกแบ่งเป็นสองส่วน คือ คนที่อยากทำเกษตรในฐานะอาชีพ และคนที่อยากทำเป็นงานอดิเรก ปลูกผักสวนครัวกินที่บ้าน

สำหรับคนที่ทำเป็นอาชีพ จะมีสองอย่างที่เป็นหลัก ๆ เลยก็คือ มันเป็นเหมือนธุรกิจส่วนตัว + เกษตร คือ มันยากทั้งสองอย่างเลย เพราะฉะนั้นต้องศึกษาดี ๆ ตัวคุณเอกอาจจะโชคดีว่าเคยทำธุรกิจส่วนตัวมาก่อน ก็เลยรู้ว่าการทำธุรกิจส่วนตัวมันไม่ใช่เรื่องง่าย มันมีเรื่องที่จะต้องดูแลหลายมิติมากในธุรกิจหนึ่ง ๆ สำหรับคนที่ทำงานประจำอยู่ ความรับผิดชอบในงานส่วนใหญ่เราก็มักจะรับผิดชอบในหน้าที่นั้น ๆ แต่พอมาทำธุรกิจส่วนตัว เราต้องรับผิดชอบทุกหน้าที่ ขอบเขตการทำงานมันกว้างขึ้น นอกจากนั้นต้องมีความรู้ในพืชนั้น ๆ ที่เราจะปลูก ถ้ามีเวลาควรหาความรู้ไว้ก่อน แล้วค่อย ๆ เฟดตัวออกมา ในระหว่างหาความรู้อาจจะพบว่าไม่ใช่ หรือเราอาจจะไม่ชอบทางนี้ก็ได้ แต่ถ้าจะกระโดดออกมาเลยก็ต้องยอมรับความเสี่ยงหน่อย จะมีค่าความรู้เยอะ เผื่อจะเจ็บตัวเยอะ

คุณอัครชัย ยัสพันธุ์ หรือคุณเอก อายุ 33 ปี เจ้าของสวนมะพร้าวอินทรีย์ มีผลิตภัณฑ์แปรรูปเล็ก ๆ น้อยจากมะพร้าว และมีกิจกรรมท่องเที่ยวภายในสวนมะพร้าว

ก่อนที่จะมาทำสวนมะพร้าวอินทรีย์ คุณเอกเรียนจบวิศวะยานยนต์มา แต่มาทำธุรกิจกับที่บ้านด้านอสังหาริมทรัพย์ สุดท้ายก็กลับมาทำสวนที่นี่ ซึ่งสวนมีอยู่แต่เดิม คุณเอกมาทำต่อจากที่บ้าน

จุดเริ่มต้นของการทำสวนมะพร้าวของคุณเอกคือ แต่เดิมสวนมีอยู่แล้ว แต่ไม่ใช่ธุรกิจหลักของครอบครัว เวลาทำงาน เมื่อเครียดจากการทำงาน คุณเอกก็เลยหาเวลาให้ตัวเองไปค้นหาตัวเองว่าอยากจะทำอะไร สุดท้ายก็มาเห็นว่าวิถีทางด้านเกษตรมันน่าสนใจ และโดยฐานเดิมครอบครัวมีสวนมะพร้าวอยู่แล้ว ก็เลยกลับมาทำต่อในรูปแบบใหม่ เพราะแต่ก่อนนั้นจะเป็นสวนเคมี คุณเอกก็มาทำเป็นเกษตรอินทรีย์ แล้วมีการแปรรูปจัดจำหน่ายขึ้น

ตอนเริ่มแรกคุณเอกก็เริ่มหาความรู้ก่อน เพราะว่าไม่เคยรู้ว่าสวนมะพร้าวอินทรีย์ต้องทำอย่างไร ไปอบรมเรื่องการทำนาอินทรีย์ ปลูกผักอินทรีย์ เพราะถ้าเป็นเรื่องสวนมะพร้าวมันไม่มีที่ให้อบรม แต่พอดีมีคนแนะนำให้รู้จักกับ คุณเก๋ - ศิริวรรณ ประวัติร้อย ก็ไปเรียนกับเขา ตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะต้องทำอย่างไร แต่พอไปเรียนรู้ก็ค่อยนำมาปรับใช้กับสวนของตนเอง

ตอนเริ่มทำตอนแรก ในส่วนบริหารจัดการจะทำคนเดียว มีคุณหนุ่มที่เป็นมือขวาคอยช่วยดูแล ตอนหลัง ๆ ก็ค่อย ๆ มีทีมเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ

พื้นที่สวนมะพร้าวของคุณเอกมีทั้งหมด 40 ไร่ เป็นของคุณเอกกับของป้ารวมกัน คุณเอกดูแลทั้งหมด แบ่งไว้ประมาณสองไร่เป็นพื้นที่ในการบริการ เป็นโรงเรือนในการแปรรูปเบื้องต้น ส่วนการแปรรูปหลัก ๆ ย้ายไปทำที่บ้าน นอกจากนั้นมีโซนเอาไว้ทำปุ๋ย และแบ่งเอาไว้ทำกิจกรรม

ห้องเรียนธรรมชาติที่สวนมะพร้าวอินทรีย์ของคุณเอกจัดให้มีขึ้น เกิดจากคุณเอกคิดว่าการเรียนรู้มันอาจจะไม่จำเป็นจะต้องอยู่แต่ในห้องที่เราเรียนมาตั้งแต่เด็ก มันอาจมาอยู่ในสวน มาเห็นแมลงเห็นโน่นเห็นนี่ เห็นสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ พอคุณเอกมาทำสวนเกษตรอินทรีย์ มันจะมีความหลากหลาย ก็คิดว่าสิ่งเรานี้แหละที่มันสามารถเกื้อหนุนให้เกิดการเรียนรู้ได้ กิจกรรมที่คุณเอกจัดจึงอยากให้คนได้กลับเข้ามาใกล้ชิดกับธรรมชาติ ได้เห็นที่มาของอาหาร แล้วกลับมาใกล้ชิดกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งกระบวนการนี้ได้เกิดการเรียนรู้ไปในตัว ก็เลยเรียกว่าห้องเรียนธรรมชาติ

ตอนนี้มะพร้าวอินทรีย์ที่คุณเอกทำถือเป็นวิสาหกิจชุมชนด้วย ตอนแรกที่คุณเอกไปเรียนรู้เรื่องการปลูกมะพร้าวอินทรีย์ ตอนนั้นไปเรียนกับ คุณเก๋ - ศิริวรรณ ประวัติร้อย ที่สมุทรสงคราม พอไปเรียนรู้กับคุณเก๋ถึงเพิ่งทราบว่า ตรงนั้นมีปัญหาเรื่องอาชีพน้ำตาลมะพร้าว มันไม่เหลือคนขึ้นตาลแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุทั้งหมด น้ำตาลมะพร้าวที่ทำเป็นน้ำตาลแท้ ๆ แล้วก็เป็น Organic ด้วย ไม่ใช้สารเคมี ไม่ใส่ตัวสารกันบูด ซึ่งต่อไปจะหายากมาก คุณเก๋เองก็อยากจะทำเรื่องน้ำตาลเป็นหลักอยู่แล้ว ก็เลยช่วยกันว่าจะทำอย่างไรกันดี สุดท้ายก็เลยจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนขึ้นมา ทำเรื่องเกี่ยวกับการท่องเที่ยวเพื่อที่จะสื่อสารให้คนรู้ที่มาของน้ำตาลมะพร้าว พอตอนหลังมีคนมาเที่ยวเยอะขึ้น เขาก็ต้องการพวกผลิตภัณฑ์ ก็เลยต้องมีการจำหน่ายน้ำตาลมะพร้าวด้วย เมื่อ 3 - 4 ปีก่อน ตอนนี้มีสมาชิก 15 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุทั้งหมด แต่ตอนนี้คุณเอกไม่ได้ทำแล้ว ขยับออกมาเป็นผู้ประสานงานชุมชนให้ แล้วก็ให้น้อง ๆ หาคนที่เขาจะมาทำต่อในระยะยาวในเชิงยั่งยืนเหมือนเป็นอาสาสมัครต่อไป

ปัญหาที่เจอในช่วงแรกที่ทำคือ เรื่องความรู้พื้นฐานเลย ตอนแรกคุณเอกไม่มีความรู้เกษตรอินทรีย์ แต่ที่บ้านมีสวนมะพร้าวอยู่แล้ว แต่ทำแบบใช้สารเคมี ซึ่งองค์ความรู้ในการจัดการดูแลมันจะแตกต่างกัน มันเป็นช่วงของการหาความรู้ การลองผิดลองถูก จนถึงปีนี้คุณเอกคิดว่าการดูแลสวนเริ่มนิ่งขึ้น ผลผลิตอะไรต่าง ๆ เริ่มได้ส่วน ความท้าทายต่อมาก็คือการทำให้ธุรกิจมันอยู่ได้จริง ๆ ก่อนหน้านั้นมันเป็นเรื่องของความรู้ แต่การที่เราจะทำเป็นธุรกิจทางด้านการเกษตร คือการที่ปลูกแล้วมีผลผลิตแล้ว ถึงการที่จะทำให้มันได้ราคาดี และควบคุมต้นทุนปัจจุบัน มันจึงเป็นความท้าทายอยู่

ช่วงโควิด – 19 ที่ผ่านมา เป็นช่วงที่ทำให้ยอดขายดีขึ้น แต่หลังจากนั้นก็ลดลงเพราะว่ามันไม่ใช่เป็นช่วงของเดือนที่คนต้องการ ช่วงแรกมันเป็นช่วงวิกฤติ ช่วงที่คนระแวงมาก ๆ ช่วงนั้นเป็นช่วงที่คนที่มีกำลังซื้อยังซื้อยังจับจ่ายบนพื้นฐานที่ต้องการช่วยเหลือเกษตรกร หรือคนมีสตางค์ช่วยซื้อนั่นนี่ ช่วงนั้นยอดขายจะพุ่งขึ้นมา แล้วก็มีมาร์เก็ตเพลสหลายที่เปิดตัวขึ้นมา มันก็เลยทำให้มีช่องทางจำหน่ายทางการออนไลน์เยอะมากขึ้น ก็เลยทำให้ช่วงนั้นขายดี แล้วก็จะมีอีกกลุ่มหนึ่งที่เขาทำงานประจำ เจอสถานการณ์ที่บริษัทต้องการเอาคนออก หรือว่าเริ่มมีความไม่มั่นคงอยากจะหาทำธุรกิจใหม่เอง เขาก็หาของ ช่วงนั้นจะมีลูกค้าที่เป็นภาคธุรกิจใหม่เข้ามาหลายราย ก็เลยทำให้คุณเอกเป็นต้นทางที่มีวัตถุดิบขายได้ดีขึ้น แต่พอสถานการณ์มันเริ่มกลับเข้ามาปกติ คนเริ่มจะตัดสินใจแล้วว่าจะเอาอย่างไรกับชีวิต ทางด้านผู้ประกอบการ คนที่เริ่มธุรกิจใหม่มันไม่ใช่เรื่องง่ายอีกแล้ว สุดท้ายแล้วกลุ่มคนที่เข้ามาในช่วงนี้จะเหลือแค่ไม่กี่คน ที่ยังอยู่ยอดจำหน่ายก็ลดลง แต่คราวนี้มันจะเป็นปัญหาเศรษฐกิจระยะยาวแล้ว เพราะว่ากำลังซื้อของคนลดลงแล้ว คนไม่สามารถที่จะซื้อเพราะอยากช่วยเหลือเกษตรกรได้ตลอด เพราะฉะนั้นยอดขายตอนนี้มันก็ลดลง แต่ที่มันลดลงเพราะว่าร้านอาหารที่เคยส่งเขาปิดตัว

อีกปัญหาหนึ่งคือ ส่วนหนึ่งเนื่องจากมะพร้าวมันไม่ได้ออกเท่ากันเหมือนกับของที่ปั๊มออกมาจากโรงงาน ถ้าเป็นลูกค้าที่บริโภคของสดเลยอย่างร้านที่ส่ง ลูกค้าที่เข้าใจเกษตรอินทรีย์จริง ๆ จะเข้าใจ ช่วงไหนที่ไม่มีลูกค้าพวกนี้จะเข้าใจเรา ก็จะแจ้งเขาล่วงหน้ากับร้านอาหารหรือผู้ประกอบการที่คุณเอกขายให้ เพื่อที่เขาจะได้ไปสื่อสารหรือว่าวางแผนธุรกิจของเขาต่อได้ด้วย คุณเอกจะไม่ไปดึงมะพร้าวที่อื่นมาใส่โลโก้ของตัวเอง และตอนนี้คุณเอกพยายามที่จะไปเน้นเรื่องของการแปรรูปเพื่อที่จะได้มีรายได้เลี้ยงสวนได้ในช่วงที่ผลผลิตมันน้อย นอกจากนั้นคือต้องหารายได้จากทางอื่น จากการจัดกิจกรรมที่จะได้เลี้ยงลูกน้องได้

ผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ตอนนี้คุณเอกมี ส่วนใหญ่จะเป็นผลผลิตสดอยู่แล้ว ก็จะมีเป็นฟรีซเนื้อแช่แข็ง ตัวเนื้อจะเก็บได้นานหน่อย ส่วนเรื่องแปรรูปก็อยู่ในช่วงทดลองทำกับพาร์ทเนอร์อีกคนหนึ่ง ก็จะเป็นพวกโยเกิร์ตอะไรแบบนี้

ส่วนน้ำตาลมะพร้าวเป็นของฟาร์ม ของสวนตัวเองเพิ่งเริ่มทำเพราะอยากให้กิจกรรมที่มาทำได้เห็นความหลากหลายของมะพร้าวว่ามะพร้าวนี้ทำอะไรได้บ้าง ก็เลยมีเพิ่มน้ำตาลเข้ามาด้วย ขึ้นให้ดูว่าส่วนนี้ทำน้ำตาล พันธุ์โน้นเอามาทำอะไรบ้าง แล้วก็มีจำหน่ายแค่น้ำตาลสด ส่วนน้ำตาลมะพร้าวยังไม่ได้ทำ

สวนมะพร้าวของคุณเอกหลัก ๆ จะมีมะพร้าวน้ำหอมทั้งหมด แล้วก็จะมีมะพร้าวแกงบ้าง มะพร้าวแกงกับน้ำหอมเหมาะที่จะปลูกคนละพื้นที่กัน มะพร้าวน้ำหอมปลูกได้ดีในชุดดิน เช่น จังหวัดสมุทรสงคราม จังหวัดสมุทรสาคร จังหวัดราชบุรี จังหวัดนครปฐม 4 จังหวัดนี้เป็นจังหวัดที่ปลูกได้ดี จะเป็นชุดดินที่เหมือนกับว่าอยู่ปากอ่าว เป็นรอยต่อระหว่างแม่น้ำกับทะเล แล้วได้รับอิทธิพลของน้ำเค็ม ดินจะดูเหมือนเหนียว ๆ เลน ๆ หน่อย โซนนี้จะปลูกมะพร้าวน้ำหอมได้ดี คำว่าได้ดีก็คือเติบโตได้ดี สายพันธุ์มะพร้าวน้ำหอมถ้าไปปลูกที่อื่นก็จะไม่ได้รสชาตินี้เหมือนกัน เพราะฉะนั้นพอคุณเอกมาทำเกษตรอินทรีย์ไม่ได้เน้นว่าต้องไปเปลี่ยนอะไรมาก แค่รู้สึกว่าทำให้มันสอดคล้องกับพื้นที่ที่มีอยู่แล้ว ในทรัพยากรที่มันเป็นแบบนี้อยู่แล้ว เพราะฉะนั้นสิ่งที่ทำก็คือไม่ทำร้ายมัน เช่น ไม่ใส่ยาฆ่าหญ้า ถ้ามันมีกาบมะพร้าวที่เหลือก็จะนำมาคลุมหน้าดินเพื่อรักษาความชื้น ส่วนปุ๋ยไม่ได้ใช้ปุ๋ยเคมี ปุ๋ยตอนนี้จะนำออกมาจากจอกแหนที่ขึ้นอยู่ตามร่องน้ำ แล้วก็ทางมะพร้าวที่ร่วงลงมาก็จะนำไปย่อยแล้วนำไปผสมกับขี้ไก่หรือขี้วัวทำให้เป็นปุ๋ยหมัก ส่วนเรื่องน้ำตรงนี้เป็นแม่น้ำแม่กลอง สูบขึ้นมาแล้วทิ้งไว้ในร่องสวนก่อน แล้วค่อย ๆ ปล่อยเข้ามา เหมือนกับว่าเป็นการบำบัดน้ำไปในตัว ส่วนหนึ่งน้ำที่มันมีจอกแหนก็จะปล่อยเอาไว้ ถ้ามันมีสารพิษอะไรมันก็จะช่วยดูดซับหรือว่าเป็นอาหารให้กับปลา แล้วมันก็ช่วยควบคุมอุณหภูมิน้ำ แต่จะต้องมีในระดับหนึ่งเพราะว่าถ้าเยอะมันจะกั้นออกซิเจน น้ำก็จะเสียแล้วก็ไม่สามารถขับเรือรดน้ำได้ ก็จะไปพันเรือ ก็จะควบคุมระดับหนึ่ง ถ้ามันเยอะเกินก็จะเคลียร์ตรงนี้นำไปทำปุ๋ย เพราะฉะนั้นมันก็จะไม่ได้มีปัญหาอะไร เราก็จะพยายามใช้ปัจจัยที่อยู่ในสวนเป็นหลักก่อน ก็จะวนเวียนอยู่ในนี้

การรดน้ำ อาทิตย์ละ 2 - 3 ครั้ง มะพร้าวโซนภาคกลางจะไม่ชอบหนาวจัด มะพร้าวเป็นพืชที่ออกผลออกดอกตลอดทั้งปี แต่ว่าจะเก็บเกี่ยวได้ทุกสามสัปดาห์ แต่ละช่วงอาจจะเก็บได้มากเก็บได้น้อยต่างกัน ช่วงปลายปีจะออกเยอะ แต่ต้นปีจะเริ่มออกน้อย ถ้าฝนเยอะจัดลูกมันก็จะร่วง ร้อนจัด ดอกจะผสมไม่ติด ช่วงเดือนเมษายน พฤษภาคม มิถุนายน 3 เดือนนี้มะพร้าวจะน้อย ราคาในตลาดจะขึ้นไปสูงสุดเลย จากปกติลูกละ 8 บาท ขึ้นไปถึง 30 กว่าบาทหน้าสวน หลาย ๆ คนจะเข้าใจว่าเกษตรกรรายได้ดี แต่จริง ๆ แล้วไม่ใช่ เพราะตอนเราไม่มีของ มันก็วิกฤตเหมือนกัน

ศัตรูพืชของมะพร้าวอินทรีย์ คือ ด้วงกับหนอนหัวดำ ตอนนี้หนอนหัวดำน่าจะเป็นที่หนึ่งแล้ว มีด้วงแรดที่สอง แล้วก็ด้วงไฟสามตัวหลัก ๆ ถ้าเจอหนอนหัวดำ จะปล่อยตัวเบียนเป็นแมลง มันจะบินไปต่อยหนอนเพื่อขยายพันธุ์ ก็ต้องใช้กลไกการขยายพันธุ์ของเขากำจัดหนอนหัวดำ สองก็คืออาจจะใช้พวกบีทีได้ บีทีเป็นพวกชีวพันธุ์ในเกษตรอินทรีย์ สามารถใช้ได้แต่ที่สวนคุณเอกส่วนใหญ่ใช้ปล่อยแมลงก่อน ถ้าปล่อยแมลงอยู่ก็จบไม่ต้องพ่น ถึงจะเป็นชีวพันธุ์ถ้าลดการใช้ได้คุณเอกก็ไม่อยากใช้ เพราะสารชีวพันธุ์มันก็ไปฆ่าตัวดีด้วยเหมือนกัน เพราะบางทีมันก็ไม่ได้เฉพาะเจาะจงที่ฆ่าเฉพาะตัวที่เราไม่ชอบมันฆ่าตัวที่เราชอบไปด้วย

มะพร้าวต้นหนึ่งต้นอยู่ได้นาน บางตำราก็บอกว่า 50 ปี บางตำราบอกว่าพันธุ์ใหญ่ก็ 70 ปี แต่ในเชิงการค้าขาย 15 ปี ก็เริ่มปลูกใหม่แล้ว เพราะต้นมันอยู่ได้ แต่ลักษณะผลผลิต ขนาดลูก จำนวนลูก ความสะดวกในการเก็บเกี่ยว ความเสียหายในการเก็บเกี่ยว เป็นตัวที่ทำให้หลาย ๆ ที่ไม่สามารถเก็บไว้ได้ตามอายุขัย

ที่สวนมะพร้าวอินทรีย์คุณเอกมีลูกน้องประจำอยู่ 3 คน แล้วก็อาจจะมีที่เป็นพาร์ทไทม์ก็แทบจะประจำ เพราะมาตลอดอีกประมาณสามถึงสี่คน จะแบ่งเป็นสองส่วน คือ ส่วนสามคนที่ทำงานประจำจะช่วยดูแล ส่วนคนที่เป็นพาร์ทไทม์จะดูในเรื่องของการแปรรูป มาปอกมะพร้าว มาเจียมะพร้าว มาแพ็ค ทำน้ำ ก็จะจ้างเป็นวัน ๆ ไป

เสน่ห์ของสวนมะพร้าวอินทรีย์เมื่อเทียบกับสวนเคมีแล้ว สวนที่เป็นอินทรีย์จะมีความหลากหลาย เมื่อก่อนตอนที่คุณเอกเริ่มทำสวนใหม่ ๆ ก็ไม่รู้เรื่องเคมีอินทรีย์ แต่รู้สึกว่าสวนที่สวยจะเป็นสวนที่เงียบ เรียบ ไม่มีหญ้า ทุกอย่างดูเป็นระเบียบ แต่พอมาทำสวนมะพร้าวอินทรีย์ คุณเอกมองความหลากหลายมากกว่า มองเห็นหญ้าเขียว ๆ เห็นสิ่งที่เป็นวัชพืช พอมองไปมันมีความหลากหลาย มีเสียงนก เสียงแมลง มีอะไรเยอะแยะ ก็เลยมองว่าอันนี้คือเสน่ห์ของมัน และถามจะถามถึงสวนของตัวเอง คุณเอกบอกว่า "สวนผมก็สวยดี" และอยากทำที่นี่ให้เป็นท่องเที่ยวเชิงเกษตร ให้เป็นที่เรียนรู้ ให้เป็นที่ทำกิจกรรมที่ไม่ได้วิชาการมากเกินไป ซึ่งตอนนี้เปิดให้เข้าชมทุกเสาร์ – อาทิตย์ โดยจะโพสท์ใน Facebook เปิดเป็นรอบ ๆ ไป ก็มีคนสมัครเข้ามา จะรับเป็นกลุ่มเล็ก ๆ ซะส่วนใหญ่ แต่ก็จะไม่เกิน 15 ท่าน แล้วก็มีรับเป็นกลุ่มส่วนตัว ถ้าไม่สะดวกมาเสาร์ - อาทิตย์ก็มาส่วนตัวก็ได้ แบบนี้ก็จะมีแพ็คเกจส่วนตัวด้วยอย่างเช่น 4,000 บาทได้ 10 ท่าน ซึ่งส่วนใหญ่จะมาส่วนตัวกันเยอะ

สำหรับผู้ที่เข้ามาเที่ยวชม จะแบ่งเป็นสองช่วงใหญ่ ๆ คือ กิจกรรมละประมาณ 3 ชั่วโมง ช่วงเช้าจะพาเข้าสวน ไปรู้จักมะพร้าวเบื้องต้น แล้วก็ไปเก็บวัตถุดิบจากมะพร้าวต่าง ๆ แล้วก็นำวัตถุดิบที่เก็บได้จากช่วงเช้ามาทำขนมบ้าบิ่นในช่วงชั่วโมงครึ่งหลัง เป็นต้น

ตอนแรกคุณเอกตั้งใจจะขายปลีกตามราคาที่คนกรุงเทพฯ กิน กับคนทั่วไปกิน มันน่าจะดี ก็ลองทำดู แต่สุดท้ายมันไม่ไหว มันจัดการผลผลิตไม่ได้ เพราะไม่รู้ยอดออเดอร์แต่ละยอดจะเท่าไร ทำให้ต้นทางเก็บมะพร้าวไม่ถูกว่าจะทยอยเก็บอย่างไร เพราะถ้าเก็บมานานจะเสีย แต่ถ้าไม่เก็บลูกค้าสั่งงานมาก็เก็บไม่ทันส่งลูกค้า สุดท้ายจุดเริ่มต้นก็เลยเบนเข็มหากลุ่มลูกค้าที่เป็นภาคธุรกิจแทน เช่น ร้านอาหารต่าง ๆ ก็ใช้วิธีการด้วยหาข้อมูลก่อนว่าลูกค้าแบบไหนที่จะสนใจเรา เป็นร้านอาหารสุขภาพไหมหรือเป็นร้านอาหาร Organic ก็เสิร์ชหาข้อมูลว่ามีเจ้าไหนบ้าง ก็ติดต่อเขาไปแล้วก็โทรไปหาแผนกจัดซื้อหรือเจ้าของกิจการเอง ก็โทรไปแนะนำตัว เอาของเข้าไปนำเสนอ

และปัจจุบันคุณเอกใช้ Facebook ตอนแรกจะไม่ขายออนไลน์ ตอนหลังกลับมาขายออนไลน์ด้วย แต่ฐานหลัก ๆ จะเป็นกลุ่มลูกค้าด้านธุรกิจ ราว ๆ 80% ส่วนฐานออนไลน์เป็นการทำให้คนรู้จัก ก็เลยมี Facebook Page ในการขายสินค้า พอมาเจอสถานการณ์โควิด - 19 ก็เลยต้องกลับมาดูเรื่องการขายปลีกแบบจริงจังขึ้น เพราะว่าร้านค้าเองเขาก็ประสบปัญหา ก็เลยต้องคิดว่าต้องไปหาลูกค้าโดยตรงด้วย

การขาย ขายเป็นลูก เป็นลูกเจียมะพร้าวสดปอกเปลือกเกลี้ยง ๆ อันนี้ราคาปลีกลูกละ 50 บาท น้ำมะพร้าวสดบรรจุขวด 180 ml ขวดละ 55 บาท น้ำตาลสดขวดละ 45 บาท แล้วก็มีน้ำมะพร้าวแพ็คเป็นถุง ถุงละ 15 ลิตร – 350 บาท / 30 ลิตร – 650 บาท

ผลิตภัณฑ์ที่สวนจะขายเป็นแพค เป็นเซ็ต มีไซต์เล็กกับไซต์กลาง อย่างมะพร้าวเจียจะขายเป็นเซ็ต 7 ลูก ไซต์กลาง 14 ลูก ถ้าเป็นของที่ซื้อขนาดกลางราคาถูกกว่า น้ำตาลสดขวดก็จะเท่ากับน้ำมะพร้าวคือ 180 ml เซ็ตละ 7 ขวด / 14 ขวด ปกติจะเปิดรับออร์เดอร์และจัดส่งทุกวันพฤหัสบดีในกรุงเทพฯ และปิดรับออเดอร์ประมาณวันอังคาร เพราะว่าผลิตภัณฑ์เป็นของสดส่วนใหญ่ เมื่อรับออเดอร์แล้วก็ส่งเลย เพื่อให้ไปถึงลูกค้าได้ทันเวลา จัดส่งด้วยการแช่เย็นตลอดเวลา

ตอนนี้รายได้เฉลี่ย 40,000 บาทต่อเดือน หลังจากหักค่าใช้จ่ายแล้ว เพราะว่ามีค่าใช้จ่ายค่อนข้างเยอะ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณเอก - อัครชัย ยัสพันธุ์
ที่อยู่ : 477 หมู่ 3 ตำบลโคกหม้อ อำเถอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี 70000
ฟาร์ม : สวนมะพร้าว Y.Farmily
Facebook : Y.Farmily

เรียนรู้เรื่องมะพร้าว กับสวนมะพร้าวอินทรีย์ Y.Family [ rbk | รักบ้านเกิด ]

เรื่อง/ภาพโดย: นนท์ ทีมงานรักบ้านเกิด