เกษตรกรต้นแบบ

"พงษ์เทพ อริยเดช : View Share Farm ฟาร์มสเตย์ รวมพลังนักสู้"

 23 ธันวาคม 2563 3,733
จ.นครราชสีมา
ความอดทนไม่ใช่ภาระ
แต่เป็นพาหนะสู่ความสำเร็จ

"ความอดทนไม่ใช่ภาระ แต่เป็นพาหนะสู่ความสำเร็จ" หลายคนบอกว่าถ้าเราไม่อดทนมันก็จบตรงนั้น แต่ถ้าเราอดทนกับสิ่งที่เข้ามา ความสำเร็จจะแค่เอื้อม คุณพงษ์เทพ บอกว่า 5 ปี ที่อยู่ด้วยกันมาเป็นเหมือนการปรุงก๋วยเตี๋ยว ใส่รสชาติให้มันกินได้ ให้คนที่เข้ามากินรู้สึกว่าอร่อย หน้าตาดี เขาทำงานกันจริง ๆ ไม่เอาเงินเป็นที่ตั้ง เอางานเป็นที่ตั้ง แต่ถ้าเราทำงานเราจะรู้เลยว่าเงินจะเข้ามา จึงเอางานเป็นที่ตั้ง อย่างที่เห็นอาคารที่นั่งอยู่นี้สองสามปีค่อย ๆ ทยอยทำ สถานประกอบการเขาให้มาเพราะแต่ก่อนไม่มีอะไรเลย มีแต่ห้องน้ำ มีแต่ครัว แต่เรามีความสุขที่ได้ทำร่วมกันจนมีวันนี้

ห้าปีที่ทำฟาร์มร่วมกันมา ความสุขกว่าจะมี ก็มีความทุกข์เข้ามาก่อน แต่จะทำอย่างไรที่จะเปลี่ยนทุกข์ให้เป็นความสุข มองข้ามความทุกข์ให้เป็นความสุข อันนี้ขึ้นอยู่ที่แต่ละคนแต่ละมนุษย์ล้อ แต่สำหรับ คุณพงษ์เทพ มีความสุขตลอดเพราะว่าอยากทำงาน บางทีหยุดทำงานก็คิดถึง ไม่ได้เห็นหน้ากัน ความสุขของเขาคือได้ทำงาน ได้เห็นรอยยิ้มจากคนที่เข้ามา และได้รู้ว่าคนที่เข้ามาเขาก็เปลี่ยนพฤติกรรมเปลี่ยนความคิดเพราะพวกเขา บางคนบอกว่าพอมาเห็นพี่แล้วทำไมผมต้องท้อ ต้องไม่ท้อ อย่าไปท้อกับชีวิต เพราะว่าชีวิตมันยังมีอะไรอีกหลายอย่าง คุณพงษ์เทพ บอกว่าหากพวกเขาอยู่แต่ในบ้านคนพิการ เขาจะไม่ได้ทำอะไร แต่พอออกมาคนจะมองอีกแบบหนึ่ง ทำให้รู้สึกว่าเขามีค่าขึ้น คนรอบข้างมีการยอมรับว่าเขาทำได้ ตัวเขาเองก็รู้สึกภูมิใจ ได้มาช่วยงานไม่ว่าจะเป็นงานกองทุนหมู่บ้าน การพัฒนาหมู่บ้านเขาเลือกเข้าไปเป็นตัวแทนใน อบต. สมาชิกอื่น ๆ ก็ยอมรับเลือกให้เป็นรองประธานสภาในสมัยแรก เขาเห็นว่าทำงานจริง แล้วก็ใช้ใจในการทำงาน คนก็ยอมรับ ยิ่งเจอแรงกระแทกจากคนภายนอก เขาก็จะภูมิใจกับตัวเองมากขึ้น

สำหรับคนรุ่นใหม่ คุณพงษ์เทพ แนะนำว่าในโซเชียลมีเดียมันมีข้อมูลอยู่ในนั้นหมด อันดับแรกข้อมูลสำคัญ ในการวางแผนต้องมีข้อมูล แล้วต้องรู้ว่าตัวเราเองชอบอะไร ชอบอะไรก็ปลูกอันนั้นก่อน แล้วค่อย ๆ เรียนรู้กับมัน เพราะว่าพืชแต่ละตัวมันมีความพิเศษของมันอยู่ นอกจากนั้นต้องศึกษาเรื่องสภาพอากาศ เพราะว่าอากาศมันเป็นเรื่องของธรรมชาติ ถ้าเราฝืนธรรมชาติมันไม่ได้เท่าไหร่ ต้องยอมรับเรื่องของธรรมชาติ ดิน ฟ้า อากาศ มันเป็นอย่างไร เพราะว่าถ้าช่วงฤดูฝน เขาบอกว่าฝนชุก ยังไงดอกก็ร่วง เจอฝนดอกร่วงแน่ ๆ จะปลูกไม่ได้ เพราะฝนมันกระแทกพืชผลจะเสีย ก็ต้องฉีดฮอร์โมนไข่อาทิตย์ละครั้งเพื่อบำรุงมัน เป็นต้น

ก่อนที่จะมาเป็นโครงการเกษตรสีเขียวผักปลอดภัย ณ View Share Farm แห่งนี้ ทางชมรมเครือข่ายคนพิการปลูกข่าเหลืองกันมาก่อน คุณพงษ์เทพ อริยเดช ประธานชมรมเครือข่ายคนพิการ จังหวัดนครราชสีมา เล่าให้ฟังถึงเหตุผลที่เปลี่ยนแนวคิดจากการปลูกข่าเหลืองสู่เกษตรแบบผสมผสานว่า "ก่อนจะเป็นโครงการเกษตรสีเขียวผักปลอดภัย ณ View Share Farm เมื่อปี 2559 มีการรวมกลุ่มคนพิการที่อาศัยอยู่ในพื้นที่จังหวัดนครราชสีมาในรูปแบบสหกรณ์ จำนวน 18 คน ร่วมกันปลูกข่าเหลืองซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจ ปลูกง่ายและทำเงินได้ แต่สักพักข่าล้มตายเกือบหมด จึงเปลี่ยนมาทำเกษตรแบบผสมผสานทั้ง พืชใบ พืชโรงเรือน และพืชสวน อาทิ เงาะ ลำใย กล้วย มะยงชิด เมล่อน ข่า ผักสลัด มะนาว มะเขือ ฯลฯ โดยใช้ระบบน้ำหยดพลังงานแสงอาทิตย์เข้ามาช่วย" เมื่อปลูกข่าไม่สำเร็จ คุณพงษ์เทพ ก็เลยคุยกับสมาชิกว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงไปขอคำปรึกษาจากสมาคมพัฒนาประชากรและชุมชนก็ได้แนวคิดทำเกษตรแบบผสมผสานและใช้ระบบน้ำหยด โดยเริ่มต้นจากการสร้างโรงเรือนเพื่อปลูกเมล่อนก่อน ปัจจุบันสมาชิกที่เป็นคนพิการในกลุ่มจาก 18 คน เพิ่มขึ้นเป็น 70 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรม นอกจากนั้นพวกเขายังต่อยอดขยายงานคนพิการและบริการท้องถิ่นจากเกษตรกรรมธรรมดา ๆ จนกลายเป็น "การเกษตรเชิงท่องเที่ยว"

บริษัท เฮชจีเอสที (ประเทศไทย) จำกัด สนับสนุนการจ้างงานเห็นถึงสิ่งที่ชมรมเครือข่ายคนพิการทำ จึงได้สนับสนุนและสร้างอาคารที่พักเพื่อเปิดให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมและพักผ่อนหย่อนใจ เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง รวมทั้งให้ผู้ที่อยากมาเรียนรู้วิถีการทำเกษตรแบบคนพิการด้วย นี่จึงเป็นที่มาของโครงการเกษตรสีเขียวผักปลอดภัยที่ทำหน้าที่ในการสร้างอาชีพที่ยั่งยืน และดึงศักยภาพของคนพิการให้มาทำงานได้จริง ๆ

ชมรมเครือข่ายคนพิการก่อตั้งโดยหน่วยงานสาธารณสุขจังหวัดได้เริ่มจัดตั้งแต่ละอำเภอขึ้นมา ประธานแต่ละอำเภอก็คัดประธานระดับจังหวัดขึ้นมา ก็มานั่งคุยกันประมาณปี 2551 ที่เริ่มต้น และหน่วยงานของสำนักงานพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จังหวัดมีงบประมาณให้ทำโครงการ ไปบอกให้เขารู้เรื่องสิทธิต่าง ๆ ที่จะได้รับ เช่น การเบิกค่ารถวีลแชร์ การเบิกค่าไม้ค้ำยัน ค่าขาเทียม

เมื่อรวมกลุ่มกันได้ ก็รวมกันทำเกษตรเพราะเป็นพื้นฐานของทุกคนอยู่แล้ว เริ่มทำเกษตรอินทรีย์ เพื่อจะได้ทานอาหารอย่างปลอดภัย แต่การปลูกต้นไม้ ต้องรอวันเติบโต ต้องมีระยะเวลา ต้องเอาใจใส่ ก็เลยพากันไปดูงานที่ อาจารย์ทอง ธรรมดา สวนเพชรพิมาย ไปรับคำแนะนำจากอาจารย์เพื่อนำมาปรับใช้

การทำฟาร์มช่วงแรก ๆ ทำงานแบบสหกรณ์ มีสมาชิกจาก 18 คน การทำฟาร์มมีอุปสรรคเยอะมากเพราะพื้นที่ตรงนี้คือพื้นที่ลาดเชิงเขา ต้องมาปรับให้มันเสมอกัน อีกเรื่องคือในการทำงานช่วงแรกพวกเขายังต้องการคนดูแลอยู่ เนื่องจากสภาพร่างกายที่ไม่ได้พร้อม 100% การปลูกพืชจะแบ่งเป็นโซน โซนบนจะเป็นไม้ผล อาทิ กล้วยน้ำว้า กล้วยหอม กล้วยไข่ เงาะ ลำไย มะยงชิด กระท้อน ผักหวานป่า ด้านล่างจะเป็นผัก ตรงโน้นจะเป็นพืชไร่ แล้วก็โรงเรือน

เมื่อเริ่มทำฟาร์มก็เจอปัญหาทั้งศัตรูพืช สภาพอากาศ ช่วงแรก ๆ แดดไม่มีหนึ่งเดือน น้ำซึมยังไม่แห้ง สระที่ขุดไว้เพื่อไว้เลี้ยงปลากระชังพัง ก็ต้องมาดูว่าจะอยู่กับมันอย่างไร วิธีแก้ปัญหาที่กลุ่มทำคือ อากาศร้อนก็ให้ทำเลย 4 เวลา เช้า สาย บ่าย เย็น ตั้งเวลาเปิดไว้เลย แต่เมื่อทำได้สักระยะก็เก็บพืชผักขายได้ทุกวัน พืชผักแต่ละชนิดจะมีรอบของมัน

การแบ่งสัดส่วนของฟาร์ม พืชผล พืชไร่ พืชใบ พืชโรงเรือน จะอยู่โซนบน จะเป็นงานไม้ผล งานที่พักมีพื้นที่ประมาณ 5 ไร่ ซีกโน้นเป็นพืชไร่ ที่มีพืชไร่เข้ามาด้วยเพราะมันมีการดูแลน้อย แล้วอีกอย่างหนึ่งอยากให้คนในชุมชนเห็นว่าเขาทำพืชไร่กันแบบไหน พืชไร่ปกติปลูกแล้วปล่อยเลย แต่ของกลุ่มการดูแลใช้ระบบน้ำเข้ามา ปุ๋ยใช้เป็นฮอร์โมนทำเอง ก่อนลงพืช หว่านขี้หมูก่อน พอเสียบต้นเสร็จ ไลน์ระบบน้ำ 3 เดือน ฉีดน้ำหมักขี้หมู ปีที่แล้วเราทำแค่ 5 ไร่ ได้ผลผลิต 8 ตันต่อไร่ คนถอนหญ้ายังงง บังเอิญช่วงนั้นมันมีฝนก็เลยมีเน่าไปบ้าง ถ้าไม่มีฝนมาพืชจะไม่เน่า น่าจะได้เป็น 10 ตัน แล้วปกติคนถอนหญ้าเขาทำงานหลายที่ เขาก็ไปพูดให้คนอื่นฟัง ก็มีคนเข้ามาขอดูกันมาก

หลังจากนั้น 1 ปีผ่านมา ก็ทำเป็นฟาร์มสเตย์ มีทั้งหมด 4 ห้อง ด้านล่างจะเป็นเตียง 3 เตียง สำหรับผู้สูงอายุ มนุษย์ล้อ แต่ถ้ามนุษย์ล้อที่ลงรถเองได้จะนอนด้านบน ห้องน้ำทุกห้องจะมีบาร์หมดเพื่อรองรับมนุษย์ล้อทั้งหลาย บางครั้งคนทั่วไปมาถามว่าเข้าได้ไหม บอกไว้เลยว่าไม่มีป้ายห้าม เข้าได้หมดเลยทั้งคนปกติและคนพิการ การออกแบบทุกอย่างจะคิดเผื่อมนุษย์ล้อด้วยว่าหมุนได้ไหม ทำได้ไหม ประโยชนใช้สอยได้ไหม ห้องน้ำต้องกว้างพอที่วีลแชร์คันใหญ่ที่สุดจะเข้าไปได้ คนที่มาถนัดซ้ายหรือถนัดขวาจะขึ้นได้ไหม จะต้องมีตัวบาร์คอยพยุง ทุกอย่างต้องกำกับช่างเองเลยว่าต้องมีพุกเจาะ ต้องใช้น็อตอย่างไร การยึดทุกอย่างต้องแข็งแรง รายละเอียดต้องสำคัญ ช่างก็บอกว่าทำไมต้องเยอะแบบนี้ ก็ต้องบอกเขาว่าลองมาพิการดูสิ แล้วจะรู้ว่ารายละเอียดมันจะต้องขนาดไหน แล้วใช้ได้จริงมันต้องทำอย่างไร ตรงนี้ที่ต้องให้ความสำคัญ

หลังจากที่เปิดฟาร์มสเตย์ผลตอบรับดีมาก มาเป็นครอบครัว พอมาลูกเขามาเห็นเราทำอะไรโน่นนี่นั่น ก็อยากจะทำด้วย อย่างมากันเป็นหมู่คณะ 30 คน ช่วงนั้นมีผัก เขาถามตัดขายไหม ก็บอกให้ตัดเอาเองเลย นำมาทำอาหารเองได้เลย คนที่มาพักก็ประทับใจแล้วบอกต่อ แล้วบ้านที่นี่มีความเป็นส่วนตัว ไม่ได้เหมือนไปเที่ยวรีสอร์ทหรือไปเที่ยวในสถานที่ท่องเที่ยว บางคนมาก็เหมือนกับว่าได้มาชาร์ทแบต หลายคนเห็นว่าที่นี่เป็นคนพิการทำ เขามีเรื่องท้อ ๆ อยู่ เขาก็มีแรงกลับไปสู้ต่อ นอกจากนักท่องเที่ยวคนไทย ต่างชาติก็เข้ามาเยอะ ทั้งไต้หวัน ตัวอาคารจะมีห้องแปรรูปอีกห้องหนึ่ง ก็จะเป็นห้องจำหน่ายสินค้า ตอนนี้ยังไม่มีร้านขาย ถ้าตัวแปรรูปนอกจากพืชผลของกลุ่ม ปีหน้าจะกรองเป็นน้ำอาโอ จะทำเป็นน้ำแร่ จะไม่ขาย ถ้าใครอยากกินให้มาที่นี่จะได้มาคุยมานั่งแลกเปลี่ยนกัน

เหตุที่ตั้งชื่อว่า View Share Farm ตอนนั้นนั่งคุยกัน บังเอิญ คุณพงษ์เทพ เหลือบไปเห็นวิว คำว่าวิวก็เลยเกิดขึ้น เพราะมันใกล้กับคำว่า วีล (Wheel ที่แปลว่า ล้อ) คล้าย ๆ เป็น วีลแชร์ฟาร์ม วิวทิวทัศแชร์ ก็คือ แชร์วิว ก็เลยเป็น "วิวแชร์ ฟาร์ม" มันพ้องเสียงแต่มันไม่ได้พ้องรูป

สิ่งสำคัญที่ทำให้คนรู้จักที่นี่ คือ ปากต่อปาก รองลงมาคือโซเชียลมีเดีย จะมี คุณพงษ์เทพ และ คุณวิทยา ที่มีโทรศัพท์ ก็จะโพสใน Facebook ส่วนด้านการขายมีที่หน้าฟาร์ม ตลาด แล้วก็ชุมชน จะมีคนเข้ามารับหรือสมาชิกบอกว่าจะรับไปขายก็เอาไป อย่างของ คุณวิทยา จะนำไปเปิดแถวนวนคร แล้วก็มีพวกพนักงาน อบต. นำไปขาย อำเภอขายของก็เอาไป และตอนนี้กำลังเริ่มสมาร์ทฟาร์มกับการแปรรูป กาแฟจะเริ่มปีหน้า

รายได้เฉลี่ยของฟาร์มอยู่ที่ประมาณ 300,000 - 400,000 บาทต่อปี ในระยะเวลาห้าปีที่ผ่านมา แต่ว่าจะต้องดูแลสมาชิก 59 คน มีการปันผลให้ตามรูปแบบสหกรณ์ จะทำเป็นหุ้น ใครจะมีกี่หุ้นก็ได้ แล้วก็ปันผลตามหุ้น

การทำงานไม่มีเงินเดือน แต่วันไหนใครเข้ามาทำก็จะได้เงินเป็นค่าตอบแทน จะมีบันทึกทำงานของแต่ละคน ใครมาทำงานคนนั้นได้ค่าแรง

ในปี 2564 จะเริ่มของเรื่องพลังงานสะอาด โซล่ารูฟ ค่าไฟที่เดือนหนึ่งประมาณ 5,000 บาท ก็อยากจะลดตรงนี้ลง เพราะที่นี่มี 3 ฤดู ร้อน ฝน หนาว แต่ได้แดดหมด ฝนจะมีอยู่แค่สามถึงสี่เดือนที่มันแดดจะจาง ๆ นอกนั้นเจ็ดถึงแปดเดือนนี่แดดแจ่ม ๆ ทั้งนั้น ก็จะเริ่มเอาแดดมาจัดการ เริ่มจากงานโซล่าเซลล์ที่นำมาทำเรื่องของสูบน้ำ สูบจากข้างล่างขึ้นมาเก็บไว้ ไม่ต้องใช้ปั๊ม แล้วจะเริ่มทำแปรรูปด้วย

ส่วนที่พัก จะมีเป็นงานกลางเต็นท์ จะมีเต็นท์ให้ 500 บาท ที่นอน หมอน ผ้าห่ม มีให้หมด

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณโต้ง - พงษ์เทพ อริยเดช
คุณสำเภา จงเยือกกลาง
ที่อยู่ : หมู่ที่ 4 บ้านยุบอีปูน ตำบลวังหมี อำเภอวังน้ำเขียว จังหวัดนครราชสีมา 30370
Facebook : @View Share Farm

View Share Farm ฟาร์มสเตย์ รวมพลังนักสู้ [ rbk | รักบ้านเกิด ]

เรื่อง/ภาพโดย: นนท์ ทีมงานรักบ้านเกิด