

"ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ : พาไปดู "ฟาร์มฮอปส์" ที่แรกในเมืองไทย"

จะนำมาซึ่งความสำเร็จ

คติของคุณอ็อบ คือ วิริยะ อุตสาหะ จะนำมาซึ่งความสำเร็จ
ตอนที่ทำบริษัทซอฟต์แวร์คุณอ็อบก็มีความสุขอยู่ที่มีคนเอาแอพพลิเคชั่นที่ตนเองทำไปใช้ มีความสุขที่เราผลิตและได้เห็นคนใช้แล้วเราสามารถแก้ปัญหาให้เขาได้ แต่ว่าตอนทำตอนนั้นมันก็มีปัญหา คือ พอทำออกไปแล้วเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตลอด ส่วนตัวคนทำก็เหนื่อย แต่ตอนนั้นอายุยังไม่เยอะมาก ก็สนุกกับการเรียนรู้สิ่งใหม่ เทคโนโลยีใหม่ ๆ พอมีเทคโนโลยีใหม่ ๆ เข้ามาคนก็ตื่นเต้นที่จะได้ลอง
พออายุมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ต้องเรียนรู้อะไรใหม่ ๆ ตลอดเวลา เริ่มที่จะไม่ค่อยสนุกกับมันแล้ว ตอนหลังก็กลับมาสนใจเรื่องการทำฟาร์ม มันให้ความสุขอย่างหนึ่งคือว่าตอนทำผลิตภัณฑ์ไปใส่ในตัวเบียร์ คนชอบกิน พอเห็นคนมีความสุขกับมัน คุณอ็อบก็มีความสุขด้วย อีกอย่างก็คือสนุกกับการทำฟาร์มของตัวเอง เมื่อสนุกกับมัน ก็สนุกที่จะศึกษาหาความรู้ เรียนรู้ไปเรื่อย ๆ ก็ได้รับเพิ่มขึ้นมาตลอดเวลา ทั้งเรื่องการทำคราฟเบียร์ การทำเกษตร ปลูกฮอปส์ การใช้จุลินทรีย์ การหมัก สภาพอากาศ สภาพแวดล้อม แทบจะเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันทั้งหมด พอสนุกกับการเรียนรู้ การได้ความรู้ใหม่ ๆ มันไม่น่าเบื่อ อีกอย่างก็คือเรื่องสุขภาพ ตอนทำซอฟต์แวร์อยู่ในห้องแอร์ นั่งอยู่หน้าคอมพิวเตอร์ 12 ชั่วโมง ไม่ค่อยได้เดินเลย พอมาทำฟาร์มฮอปส์ เดินตลอดวันละ 5 - 6 กิโลเมตรเป็นอย่างต่ำ วันหนึ่งเป็นหมื่นก้าวเพื่อดูแลต้นไม้ของเรา ก็มีความสุขคนละแบบ
การจะทำอะไร การหาข้อมูลเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งปัจจุบันข้อมูลหาได้ค่อนข้างเยอะจากต่างประเทศทั้งจากอินเตอร์เน็ตและจากหนังสือที่เป็นภาษาต่างประเทศ เราสามารถหาข้อมูลเกี่ยวกับพืชทุกชนิด แต่ก็ต้องกลับมาประยุกต์ใช้กับของไทย กับสภาพอากาศและสภาพดินของเรา เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกัน
คุณณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ หรือคุณอ๊อบ ทำฟาร์มฮอปส์ ซึ่งนำมาทำเบียร์ ชื่อว่าเทพพนมฟาร์ม (Devanom Farm)
คุณอ๊อบจบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาคอมพิวเตอร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ก่อนที่จะมาทำฟาร์ม เคยทำเป็นคนพัฒนาซอฟต์แวร์ พัฒนาแอพพลิเคชั่นบนมือถืออยู่ประมาณ 14 ปี หลังจากทำบริษัทมา 14 ปี ก็ถึงจุดอิ่มตัว แอพพลิเคชั่นมือถือของต่างประเทศเขาก็มีแจกฟรีเยอะ เข้ามาทำตลาดในเมืองไทยเยอะ ทำให้สภาพการแข่งขันของเราสู้เขาไม่ได้ ก็เลยตัดสินใจว่าหยุดบริษัทดีกว่า เป็นบริษัทของตัวเอง แล้วส่วนตัวคุณอ็อบสนใจเกี่ยวกับเรื่องของฟาร์ม เรื่องของการเกษตร ก็เลยตัดสินใจมาทำฟาร์มฮอปส์
จุดเริ่มต้นของฟาร์มฮอปส์ เริ่มจากตอนที่ทำบริษัทอยู่ช่วงปีท้าย ๆ ภรรยามีลูก ก็เลยอยากจะปลูกผักทานเอง ก็เลยเริ่มศึกษาเรื่องการปลูกผักไฮโดรโปนิกส์ และเริ่มปลูกผักทานเอง อีกอย่างหนึ่งช่วงปลายปี 2514 คุณอ็อบได้ไปเรียนเรื่องการทำคราฟท์เบียร์ มีอาจารย์สอนทำเบียร์อยู่ พอไปเรียนก็รู้ว่ามันมีวัตถุดิบที่มาจากทางการเกษตรที่ชื่อว่าฮอปส์ ที่ปลูกแล้วใช้ในเบียร์ ประกอบกับที่นอกจากคุณอ๊อบจะปลูกผักสลัดแล้ว ก็ยังปลูกมะเขือเทศ ปลูกแตงกวา ก็เลยลองมาเริ่มปลูกฮอปส์ดู
ต้นฮอปส์นี้เป็นไม้ที่ปลูกในเมืองหนาว จุดที่เขาปลูกก็คือ ยุโรป อเมริกา นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย และเป็นพื้นที่ที่อากาศเย็นต่ำกว่า 0 องศา ส่วนใหญ่พื้นที่ที่ปลูกจะมีหิมะตก ซึ่งช่วงแรกที่นำมาปลูก คุณอ๊อบนำมาปลูกในห้องที่อุณหภูมิเปิดแอร์อยู่ที่ 25 องศาเซลเซียส ก็ลองปลูกในห้องดู ใช้ไฟคุมในห้อง ตอนแรกยังไม่ได้ทำฟาร์มจริงจัง อยากจะลองปลูกดูก่อนว่ามันจะเป็นอย่างไร ปรากฏว่ามันก็ออกดอกได้ดี ก็เลยลองนำมาปลูกข้างนอกดู โดยที่ไม่ต้องควบคุมอุณหภูมิมาก ไม่ต้องปลูกในห้องแอร์ ก็ยังได้ผล แต่ก็ต้องบอกว่าได้ในช่วงแรก ๆ เมื่อห้าปีที่แล้วคุณภาพหรือปริมาณก็ยังไม่เยอะมาก ก็ใช้เวลาศึกษา ใช้เวลาหาข้อมูลอยู่เยอะ ช่วงที่ทดลองปลูกในห้องควบคุมอุณหภูมิ คุณอ๊อบลองปลูกอยู่ประมาณครึ่งปีจนมั่นใจ ก็เลยลองมาปลูกข้างนอกดู ทั้งหมดใช้เวลาประมาณ 10 เดือน ก็เริ่มตัดสินใจทำฟาร์มฮอปส์อย่างจริงจัง ก็คิดว่าน่าจะปลูกได้ ก็ตัดสินใจที่จะปลูกโดยการสร้างโรงเรือนขึ้นมา ลองทำสเกลที่มันใหญ่ขึ้นดู ตอนนี้ก็ยังเป็นอยู่ในช่วงกึ่ง ๆ ทดลองอยู่ คือยังไม่ได้ทำโปรดักชั่น 100% ยังเรียนรู้กับมันอยู่ ตอนนี้คุณอ๊อบเพิ่งทำมาแค่ห้าปี ถือว่ายังใหม่มากสำหรับพืชต่างถิ่นที่นำมาปลูก เพราะอย่างองุ่นยังใช้เวลาเป็น 10 ปี 20 ปี การทดลอง 5 ปี สำหรับต้นไม้สายพันธุ์ใหม่ถือว่าค่อนข้างสั้น
จากการทดลองทำ คุณอ๊อบเจออุปสรรคและความล้มเหลวค่อนข้างเยอะ อย่างแรกที่บอกว่ามันเป็นพืชต่างถิ่นที่ต่างประเทศเขาปลูกกัน เขาปลูกเป็น 100 - 1,000 ไร่ แต่คุณอ๊อบนำมาปลูกในโรงเรือนแค่ 100 - 200 ต้นเท่านั้นเอง มันก็จะมีการหาข้อมูลค่อนข้างยาก เพราะว่าอย่างที่บอกว่าฮอปส์เขาปลูกลงดินทั่ว ๆ ไป 100 ไร่ เขามีการปลูกที่ไม่เหมือนกัน สภาพดินไม่เหมือนกัน สภาพภูมิอากาศก็แตกต่างกัน เขามีพื้นที่ที่เหมาะสมมากกว่าทางนี้ การนำมาปลูกที่นี่จะมีปัญหาเยอะ ทั้งเรื่องจะให้ปุ๋ยอย่างไร มันต้องการสภาพอากาศแบบไหน ต้องคุมมากน้อยแค่ไหน และสุดท้ายคุณภาพดอกของวันที่ออกมาใช้ได้อย่างไร คุณอ๊อบใช้เวลาในการลองผิดลองถูกแต่ละเรื่องนาน เพราะว่าการปลูกต้นไม้ไม่ใช่ว่าเริ่มปลูกแล้วได้เลย ใช้เวลาอย่างน้อย 4 - 5 เดือน พอมันออกดอกแล้วถึงจะรู้ว่าได้หรือไม่ได้ ถ้ามันมีปัญหา มันตายไป ก็เริ่มใหม่ ทำอย่างนี้ทดลองอยู่ ปัญหาก็คือเรื่องการลองผิดลองถูกใช้เวลานาน และข้อมูลจะไม่มีข้อมูลเกี่ยวกับฮอปส์โดยตรง ส่วนใหญ่ข้อมูลที่หาได้จะเป็นพืชข้างเคียง เพราะว่าต่างประเทศเขาไม่ได้ปลูกแบบนี้เลย ประเทศแถบนี้ก็ไม่มีใครปลูกเลย
สิ่งที่คุณอ็อบตั้งใจคือ วัตถุดิบทั้งหมดที่ใช้ในการทำเบียร์ทำในไทย อยากจะใช้ของที่เป็นโลโก้ของไทย และผลิตในไทย ก็เลยอยากจะปลูกให้มีคุณภาพทัดเทียมของนอก ลดการนำเข้า สามารถมาใช้ผลิตภัณฑ์ของเราเอง และแสดงให้เห็นว่ามันเป็นของไทยจริง ๆ
พื้นที่ในการทำฟาร์มของคุณอ๊อบมีประมาณ 4 ไร่ ตอนเริ่มแรกมีโรงเรือน 6 โรงเรือน แต่ตอนนี้มี 7 โรงเรือนแล้ว จะมีโรงเรือนที่เป็นเรือนผลิตประมาณสองโรงที่ใช้สำหรับการผลิตผลิตภัณฑ์ออกมา ที่เหลือจะเป็นโรงสำหรับการรีเสิร์ชทั้งหมด การรีเสิร์ชก็คือการพัฒนาสายพันธุ์ โรงพื้นที่ โรงเพาะกล้า เพื่อที่จะได้ต้นที่มีคุณภาพดีขึ้นเรื่อย ๆ
ผลผลิตที่ออกมาตอนนี้ของคุณอ๊อบยังไม่พอกับการใช้ ออกมาทีหนึ่งก็เก็บใช้แทบจะทั้งหมด เพราะว่ายังไม่เยอะมาก ตอนนี้เป้าหมายของฟาร์มไม่ได้เน้นที่จะทำผลผลิตอย่างเดียว เน้นเรื่องการพัฒนาสายพันธุ์เพื่อที่จะให้มันจะได้ปริมาณผลผลิตเยอะ ๆ ฮอปส์ก็เหมือนต้นไม้ทั่วไปที่สายพันธุ์ที่จะพัฒนาเป็นสายพันธุ์อเมริกาทั้งหมด ซึ่งเวลาพัฒนาเขา ก็จะมีมหาวิทยาลัยที่ต่างประเทศเขาทำรีเสิร์ชและพัฒนาสายพันธุ์มา เช่นที่รัฐวอชิงตัน เขาก็จะทำให้มันโตดีที่อากาศของวอชิงตัน สมมุติว่าเขานำพันธุ์นี้ไปปลูกที่รัฐอื่นของอเมริกา มันก็จะโตดีไม่เท่า ยิ่งถ้าเรานำมาปลูก ในเมืองไทย ผลผลิตก็จะคนละเรื่องกันเลย ผลผลิตก็จะดีใช้ได้ แต่ถ้าเทียบปริมาณกับต้นฉบับ มันก็จะไม่ได้อย่างที่บอก คุณอ็อบจึงเน้นพัฒนาสายพันธุ์ให้ตรงกับสภาพเมืองไทย อากาศเป็นอย่างนี้ ดินฟ้าเป็นอย่างนี้ ให้มันโตได้ให้ผลผลิตได้เทียบเท่ากับเขา ให้สามารถนำไปใช้ได้ในหลาย ๆ อุตสาหกรรม คุณอ็อบตั้งใจว่าภายในสามถึงห้าปี ถ้าได้ต้นพันธุ์ที่มันให้ผลผลิตได้เยอะ ที่เพียงพอ จากนั้นจะขยายโรงเรือนเพิ่มไปเรื่อย ๆ ตั้งใจจะขยายไป 20 - 30 โรงเรือน
ตัวผลิตภัณฑ์ของดอกฮอปส์ใช้เวลาปลูกประมาณ 4 - 5 เดือน นับจากเริ่มต้นปลูกถึงเก็บเกี่ยว สิ่งเรานำไปใช้คือตัวดอกของมัน ในดอกจะมีน้ำมันหอมระเหย มีน้ำมันกลิ่นต่าง ๆ รวมถึงมีสารที่ทำให้มีรสขม ซึ่งอันนี้คือวัตถุดิบหลักของเบียร์ที่เราทานกันแล้วมีรสขม พอเก็บเราใช้ดอกสดก็เก็บทั้งต้นได้เลย ถ้าใช้ในการทำเบียร์ให้ใช้ภายใน 24 ชั่วโมง หรือต้องทำให้มันแห้งก่อนด้วยการเป่าลม การนำไปใช้ก็คือเก็บดอกที่สดหรือแห้ง นำไปต้มประมาณ 10 นาที การต้มนี้สารที่มีอยู่ในดอกจะทำให้มันขม แล้วก็ทำให้มีรสชาติต่าง ๆ ออกมา จะใช้เป็นตัวรสชาติ เป็นกลิ่นหลัก ๆ ที่ใช้ในการนำไปทำ
ในเรื่องการดูแลรักษาต้นฮอปส์นั้น นอกจากเรื่องควบคุมอุณหภูมิแล้ว เรื่องโรคเรื่องแมลงเป็นปัญหาสำคัญ ตอนนี้ที่คุณอ็อบปลูกในโรงเรือน ไม่ได้ใช้สารเคมีเลย ที่สำคัญไม่ใช้ยาฆ่าแมลง ไม่ใส่อะไรเลย เพราะว่าการเริ่มต้นของการปลูกผักของคุณอ๊อบ คือการปลูกผักทานเอง ไม่มีสารเคมี ไม่มียาฆ่าแมลง แล้วพอมาปลูกฮอปส์ ก็ไม่ใส่ยาฆ่าแมลง 100 เปอร์เซ็นต์ เมื่อไม่ใช้ก็จะมีปัญหาเรื่องแมลงเยอะมากถึงจะมีโรงเรือนแล้วก็ตาม ด้วงตัวใหญ่ ๆ หนอนผีเสื้อ พวกเพลี้ยไฟ เพลี้ยอ่อน ไรแดงที่ตัวมันเล็กมาก ที่มันติดเสื้อติดรองเท้าเราหลุดเข้าไปตัวสองตัวมันก็ระบาดได้ แล้วพอมันเป็นโรงเรือน พอมันระบาด มันก็จะไม่มีศัตรูตามธรรมชาติที่คอยช่วยดูแล ตรงนี้จะต้องดูแลเยอะมาก ซึ่งการดูแลเราก็มีตั้งแต่การพ่นสารชีวพันธุ์ พวกตัวยูเรีย พวกตัวแคลเซี่ยม อะไรพวกนี้พ่นไป ต้องบอกว่าฮอปส์เขาไม่เหมือนต้นไม้อื่น ๆ ถ้าเทียบกับเมล่อน กับสตรอเบอรี่ เมล่อนใบไม่เยอะมากจะมีสัก 30 ใบ เป็นใบใหญ่ถ้าพ่นสารชีวพันธุ์ไปมันก็จะหลบใต้ใบง่าย ๆ แต่ฮอปส์ใบมันจะเป็นพัน ๆ ใบแล้วมันก็จะเล็ก ๆ มากแล้วก็ซ้อน ๆ กันอยู่ ถ้าพ่นสารชีวภาพเพื่อให้โดนตัวแมลงให้มันตายไปเอง ค่อนข้างยากมาก ๆ ต้องใช้สารชีวพันธุ์ด้วย แล้วก็ต้องใช้ตัวแมลง พวกตัวฮั่ง ตัวเบียนต่าง ๆ ที่ใช้ จะเป็นพวกแมลงช้างปีกใสที่ไปขอมาจากกรมวิชาการเกษตรของมหาลัยเกษตรศาสตร์ ก็จะเอามาปล่อยเรื่อย ๆ ทุกอาทิตย์ เขาจะควบคุมพวกเพลี้ยอ่อน เพลี้ยแป้ง รวมถึงพวกไรแดง ก็ต้องปล่อยพวกตัวฮั่งเพื่อใช้ในการควบคุม ซึ่งตัวแมลงพวกตัวฮั่งจะได้ผลมากกว่าพ่นสารชีวพันธุ์ แต่ว่ายังไงก็ตามถ้าให้มันปลอดแมลง 100 % เป็นไปไม่ได้ เพราะคุณอ็อบไม่ได้ใช้ยาฆ่าแมลง โอกาสที่เป็นศูนย์มันน้อยมาก
การประชาสัมพันธ์เทพพนมฟาร์ม (Devanom Farm) ของคุณอ็อบ ใช้หลัก ๆ เลยก็คือ Social Media ทาง Facebook บ้าง ทาง LINE บ้าง และมีการเดินสายไปออกงาน ไปออกบูธ ไปออกงานขายผลิตภัณฑ์ รวมถึงเวลามีงานเกี่ยวกับเบียร์ที่ต่างจังหวัดก็เดินสายไปแนะนำเรื่องการปลูกฮอปส์ แนะนำเรื่องฮอปส์ แนะนำการทำฟาร์ม ถือเป็นการประชาสัมพันธ์ตัวฟาร์มไปในตัวด้วย ทำให้คนรู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ ในฐานะที่เป็นที่แรกที่เป็นฟาร์มต้นฮอปส์
ผลผลิตที่นี่มีเก็บดอกสด ๆ ภายใน 24 - 48 ชั่วโมง จะมีหลากหลายสายพันธุ์ ราคาก็แล้วแต่สายพันธุ์ประมาณ 2,000 - 3,000 บาทต่อกิโลกรัมของดอกสด ลูกค้าจะมีหลายกลุ่ม ถ้าทำเป็นเครื่องดื่มคอมบูฉะ เครื่องดื่มชนิดอื่น ๆ ก็จะเป็นสายที่ค่อนข้างรักสุขภาพนิดหน่อย แล้วก็มีที่เป็นสายเบียร์ไปตั้งแต่อายุ 20 ปีต้น ๆ ถึง 50 ถึง 60 ปีก็ยังทานกันได้อยู่
รายได้ของฟาร์มตอนนี้ยังไม่เยอะ รายได้อยู่บนหลักไม่ถึง 100,000 บาทต่อเดือน ปีหนึ่งก็ประมาณ 1,000,000 กว่าบาท
คุณอ๊อบ - ณัฐชัย อึ๊งศรีวงศ์ ฟาร์ม : Devanom Farm ที่อยู่ : 85/4 ซอยติวานนท์ ปากเกร็ด 21 ถนนติวานนท์ ตำบลบางพูด อำเภอปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี Facebook : Devanom Farm & Cafe

