เกษตรกรต้นแบบ

"ชานน นะศิลา : เลี้ยงบอนไซ ไม้กระถางขนาดจิ๋ว เป็นงานอดิเรก สร้างรายได้หลักแสน"

 27 ตุลาคม 2563 3,602
จ.กรุงเทพมหานคร
รักต่ออาชีพ รักต่อสิ่งที่ตนเองทำ

คติประจำใจที่คุณนิวยึดในการทำบอนไซในทุก ๆ วัน คือความรักต่ออาชีพ ความรักต่อสิ่งที่ตนเองทำ บางวันคุณนิวนอนไม่หลับตอนกลางคืนตีหนึ่ง ตีสอง ก็ยังยกต้นไม้ออกมาทำ เขามีความรู้สึกว่าอยากจะทำ อยากจะหยิบบอนไซของเขาขึ้นมาชื่นชม มันเป็นความเพลิดเพลินที่อธิบายยาก ต้องมีความรักในสิ่งที่ทำก่อน มีความรัก ก็มีความเพียร มีความไขว่คว้าอยากจะหาความรู้เพิ่มเติม อยากที่จะนำวิธีมาพัฒนา แล้วก็ต้องมีความอ่อนน้อมนอบน้อมถ่อมตน วิถีบอนไซหรือกลุ่มบอนไซก็เหมือนกับกลุ่มอื่น ๆ จะทำคนเดียวไม่ได้ จะต้องมีการแลกเปลี่ยน ยิ่งเปิดใจยิ่งได้ใจ ยิ่งได้วิธีแลกเปลี่ยนความรู้มากมาย สิ่งแรกที่ต้องทำเลยคือ ต่อให้อายุเท่ากันหรือมากกว่า ต้องมีความนอบน้อมต้องมีความถ่อมตน แล้วก็เปิดใจรับสิ่งใหม่ ๆ เข้ามา

ความสุขของคุณนิวคือการทำบอนไซ การที่ได้มองต้นไม้ใบหญ้าสีเขียว ได้เห็นใบเขาปลิวไหวตามสายลม การที่ได้เห็นต้นไม้ที่ตัวเองเลี้ยงออกดอกออกผลตามที่ได้บำรุงตามที่ได้ทำไป เป็นความสุขที่ได้อยู่กับธรรมชาติ เพราะว่ามนุษย์เราเป็นสิ่งมีชีวิตที่อยู่กับธรรมชาติ ไม่ว่าจะอยู่กลางเมืองแค่ไหน ก็โหยหาธรรมชาติ การได้อยู่กับธรรมชาติก็เหมือนกับการได้กลับบ้าน การที่เราได้กลับไปอยู่ในถิ่นที่เราจากมา ได้เห็นสีเขียว ได้เห็นธรรมชาติ ได้รู้สึกว่าเราเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่งของป่านั้น เป็นส่วนหนึ่งของสิ่งนั้น ทำให้รู้สึกอุ่นใจ ทำให้รู้สึกเหมือนมีที่ที่รอคอยเรากลับไป รอคอยเราอยู่

สำหรับพี่ ๆ เพื่อน ๆ ที่ริเริ่มอยากจะทำการเกษตร สิ่งแรกที่ควรจะมีเลยก็คือความรักต่ออาชีพ ความรักต่อการทำสวน ปลูกผัก ปลูกไม้หัว หรือปลูกบอนไซก็แล้วแต่ เราต้องมีความรักในสิ่งที่เราทำ ถ้าเราไม่รักในสิ่งที่เราทำ ก็จะทำได้ไม่นาน จะไม่มีความสุขกับสิ่งที่เราทำ พอเราเริ่มทำในสิ่งที่เรารัก ก็จะทำมันได้นาน มีความอยากรู้ที่จะเพิ่มเติม อยากที่จะมีการเรียนรู้ อยากที่จะมีการพูดคุยแลกเปลี่ยนค้นคว้าหาวิธีเพิ่มเพื่อมาพัฒนาสิ่งที่เราทำอยู่ให้มันยั่งยืนให้ก้าวไกลไปในอนาคตได้ สิ่งแรกถามตัวเองก่อนว่าเรารักสิ่งนี้จริง ๆ ไหม เรารักในสิ่งที่ทำไหม เราอยู่กับมันได้นานไหม

คุณชานน นะศิลา ชื่อเล่นคุณนิว ชายหนุ่มวัย 25 ปี ปัจจุบันเขาบอกว่าเขาทำงานศิลปะจากธรรมชาติ เรียกสั้น ๆ ว่าบอนไซ ก่อนที่จะมาทำบอนไซ คุณนิวจบการศึกษาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยมหิดลอินเตอร์ ก่อนหน้านี้เขาเป็นคนที่ชอบไม้ใบมาก ไม้มงคลที่มีใบใหญ่ ๆ แต่หลังจากที่ได้ไปเจอร้านบอนไซร้านแรกที่ตลาดสนามหลวง 2 ก็เอาใจออกจากบอนไซไม่ได้สักที ปัจจุบันได้ศึกษาวิธีการทำบอนไซมาจากอินเตอร์เน็ตบ้าง จากอาจารย์หลาย ๆ ท่านบ้าง ตอนนี้ทำมาได้ประมาณ 5 - 6 ปีแล้ว และหลงรักบอนไซมาก

หลังจากเรียนจบ คุณนิวก็มาทำต้นไม้เลย และคลุกคลีอยู่กับธรรมชาติมาตลอด บอนไซสำหรับเขามันเหมือนต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ ย่อกระถางลงมาเหลือต้นเล็กนิดเดียว เวลามองแล้วทำให้รู้สึกเหมือนไปต่างจังหวัด ได้เห็นต้นไม้ต้นใหญ่ ๆ ที่ อยู่ไกล ๆ แต่ว่าสามารถอยู่ใกล้มือหยิบจับได้ เห็นแล้วรู้สึกเหมือนได้เข้าไปอยู่ในป่า เข้าไปอยู่ในธรรมชาติ เวลาได้รดน้ำเขา เวลาได้ตัดแต่ง ทำให้เกิดความสุขจากธรรมชาติได้มาก

เหตุที่คุณนิวหลงรักบอนไซ เพราะการที่ได้มองเขาได้เห็นเขาในทุก ๆ เช้า ก่อนไปเรียนได้รดน้ำได้ตัดแต่ง ทำให้รู้สึกว่าเหมือนผมอยู่ต่างจังหวัด ได้อยู่ในป่า ได้อยู่บนเขา ได้เห็นว่าต้นไม้เขาต้นใหญ่ ๆ ได้มองลงมารู้สึกว่าเขาเป็นธรรมชาติ เป็นส่วนหนึ่ง ทำให้รู้สึกใกล้ธรรมชาติมากขึ้น ใกล้ป่ามากขึ้น ทั้งที่อยู่ในสวนตัวเองแท้ ๆ เป็นความรักที่อธิบายยากจริง ๆ

บอนไซแปลตรงตัวเลยก็คือต้นไม้ในกระถาง เป็นศิลปะ ตามประวัติแล้วมาจากประเทศจีน แล้วญี่ปุ่นนำไปดัดแปลงเข้ากิ่งเข้าลวดให้เข้ารูปทรง แปลตรงตัวเลยบอนไซคือต้นไม้ที่เป็นขนาดใหญ่ ๆ แต่ย่อขนาดลงมาในขนาดที่เราสามารถเลี้ยงได้ สามารถถือได้แต่ยังคงความคล้ายคลึงไม้ใหญ่นั่นเอง

คุณนิวเลี้ยงบอนไซอยู่ในกรุงเทพฯ อยู่ที่พุทธมณทลสาย 1 ห่างจากมหาวิทยาลัยมหิดลไม่ไกลมาก พื้นที่ประมาณ 150 ตร.ม. ได้ ตอนนี้มีบอนไซอยู่ประมาณ 2,000 - 3,000 กระถาง

การจำแนกบอนไซ อย่างแรกจำแนกเป็นไม้ใบ ไม้สน ไม้ดอก ไม้ผล ที่เห็นได้ชัดง่าย ๆ ไม้ที่ออกดอก ออกผลได้เก่ง ออกดอกได้ง่าย และไม้สนที่มีใบละเอียดยิบ ถ้าจำแนกอีกประเภทหนึ่งก็คือจำแนกจากขนาด มีขนาดตั้งแต่ญี่ปุ่น เรียกโชฮินคือไม่เกิน 15 ซม. และมาเมะไม่เกิน 20 ซม. โคโมโนะ ไม่เกิน 25 ซม. แบ่งกันได้ง่าย ๆ แล้วก็จะมีอีกประเภทหนึ่งก็คือแบ่งกันตามรูปทรง เป็นรูปทรงที่อ้างอิงต้นไม้ในป่าในเขานั่นเอง จะมีทั้งทรงต้น ซึ่งเป็นทรงต้นสามเหลี่ยมที่เห็นกันบ่อย ๆ ต้นไม้ที่เห็นกันตั้งแต่เด็ก แล้วก็จะมีทรงโคนคู่ที่ขึ้นคู่กันสองต้น แล้วก็มีสามต้น แล้วก็มีสวนป่า 5 ต้น 7 ต้น ขึ้นไป แล้วก็มีทรงตกกระถาง ซึ่งจำลองต้นที่อยู่บนยอดเขา เอนตัวตกลงมาจากภูเขานั่นเอง บอนไซนี้มีความมหัศจรรย์มาก ๆ เลย

ไม้บอนไซเป็นไม้ที่ย่อแบบ ย่อส่วนมาจากไม้จริง ถ้านำไปลงดินเขาก็จะสูงเหมือนต้นมะม่วงเลย เขาเป็นไม้ที่มีเปลือก เป็นไม้ที่มีอายุยืนถ้ามีแดดมีน้ำมีปุ๋ยให้เขา หมั่นเปลี่ยนดินทุก ๆ 3 - 4 ปี อยู่ได้นานหลายสิบปีเลย เพราะว่าตามสถิติแล้วต้นที่มีอายุมากที่สุดอยู่มาตั้งแต่ยุคแรก ๆ มีอายุมากกว่าพันปีเลย เป็นต้นไทรธรรมดานี่เอง

เสน่ห์ของเขา ถ้าถามถึงการที่ได้เห็นเขาได้ออกดอก ออกผล เหมือนต้นจริง ๆ อย่างมะขามที่ออกดอกต้นใหญ่เลย ออกผล ออกฝัก ได้เห็นแล้วรู้สึกมหัศจรรย์ เป็นความมหัศจรรย์ของธรรมชาติ บางต้นนี้รู้สึกเหมือนกับได้มองต้นใหญ่ ๆ อย่างเช่น ต้นสน ได้มีการจัดกิ่งโครงสร้างเหมือนไม้ใหญ่ เหมือนกับเราได้ไปมองไม้ใหญ่อยู่บนยอดเขา แต่มาอยู่ที่หลังสวนบ้านเรานี่เอง เป็นเสน่ห์จากธรรมชาติเลย

ลักษณะของคนที่ชอบเลี้ยงบอนไซจะต้องเป็นคนที่ชอบธรรมชาติ ชอบความเขียวของต้นไม้ และชอบในศิลปะในการดัดตัดแต่งต้นไม้ เรียกได้ว่าเติบโตมาจากธรรมชาติเลย ได้เห็นต้นไม้แล้วรู้สึกชอบ รู้สึกว่าถ้าข้างหลังบ้านเราได้เป็นป่าจะได้เป็นยอดเขาก็คงจะดี แต่ที่นิยมปลูกในประเทศไทยที่เห็นแล้วสวยตรึงตราตรึงใจเลย อาจจะเป็นไม้ที่หลาย ๆ ท่านคิดถึง ก็คือโมกนั่นเอง

โมกเป็นไม้ดอกที่อยู่กับคนไทยมานาน ออกดอกหอม มีดอกสีขาว แล้วออกดอกเก่งทั้งปี บางพันธุ์มีกิ่งที่เหนียว เช่น โมกหนู ย่อใบได้เล็กมาก ๆ ถ้ายิ่งทำยิ่งสวยยิ่งอมตะ อย่างเช่น ไม้มะขามซึ่งเป็นไม้มงคล ไม้บ้าน ๆ เลย ได้รับความนิยมมาก เรียกได้ว่าคนที่งบถึง มีทุนถึง ต้องหามาจับไว้สักต้น อีกชนิดหนึ่งที่นิยมมาก ๆ เลยในโลกของบอนไซ นั่นก็คือ เข็ม ถึงจะมองว่าเป็นไม้ริมรั้ว แต่ออกดอกสีสดสวยงาม ออกดอกทั้งปีมีหลากสีให้เลือก ทั้งยังมีลำต้นที่เก่าแก่ มีความสามารถที่ทนแล้งทนฝน แล้วก็ไม่ค่อยมีโรคภัย ถือว่าเป็นตัวเลือกที่หลาย ๆ ท่านที่ชอบบอนไซ ชอบไม้ดอกจะต้องมีในสวนเลยก็ว่าได้

สำหรับคนที่อยากจะฝึกหัด อยากจะเลี้ยงบอนไซ ต้องถามตัวเองสัก 2 - 3 คำถาม คือ หนึ่งเรามีแดดให้เขาแค่ไหน สองเรามีเวลาให้เขาแค่ไหน เวลาก็คือเวลารดน้ำบอนไซ เวลาย่อส่วนเขาต้องการน้ำ ต้องการแดดเหมือนไม้ใหญ่ เราต้องไม่อดน้ำอดอาหารเขา เราต้องดูแลเขาเหมือนไม้ใหญ่เลย มีน้ำ มีแดด มีการตัดแต่ง แล้วทุก ๆ หนึ่งถึงสองปี จะมีการเปลี่ยนดิน เปลี่ยนกระถาง เราต้องถามตัวเองว่าเรามีเวลามากน้อยแค่ไหน เรามีแดดที่เลี้ยงมากแค่ไหน จะเป็นตัวบ่งบอกว่าเราสามารถเลี้ยงอะไรได้บ้าง นอกจากนั้น เราจะต้องมีความชอบเรื่องต้นไม้ มีความรักในการที่เราได้เห็นเขามีความสุข อาจารย์ของผมได้บอกว่า ถ้าตื่นมาแล้วมองเขาไม่มีความสุข มองเขาแล้วรู้สึกเป็นภาระ อย่าเลี้ยง ยิ่งเลี้ยงยิ่งไม่มีความสุข บอนไซเป็นงานศิลปะ มองเขา เขาให้ความสุขแก่เรานั่นคือสิ่งที่สำคัญที่สุด

ข้อควรระวังเรื่องโรคภัย แมลง เป็นของคู่กันกับคนเลี้ยงต้นไม้อยู่แล้ว ก็ขึ้นอยู่กับชนิดไม้ ถ้าแดดน้อย ถ้าคนที่อยู่สวนที่มีความชื้นมากก็อาจจะมีเพลี้ย อาจจะมีแมลงมีหนอนมากิน บางชนิดอาจจะมีใบมันวาว เช่น โพทะเล โพเจ็ดสี หรือประเภทมะนาว คนที่เลี้ยงมะนาวเทศก็จะเคยได้ยินหนอนมะนาวที่มันกัดกินใบ ข้อควรระวัง ก็ควรจะหาทางป้องกันทางนี้ไว้ ก่อนที่คุณนิวจะมาทำบอนไซด้วยมือตัวเอง เมื่อก่อนเคยลองนำเข้าบอนไซ เคยเลี้ยงบอนไซต่างประเทศมา เคยเลี้ยงเมเปิ้ล เคยเลี้ยงไม้นำเข้ามาเพราะชอบความสวย พอนำเข้ามาแล้วเราไม่รู้จักเขาดี ไม่รู้นิสัย ไม่รู้พฤติกรรมเขา ประกอบกับบ้านโซนนี้เรียกได้ว่าแดดค่อนข้างแรง เพราะฉะนั้นไม้ที่นำเข้ามาจากต่างประเทศแล้วยังไม่ได้มีการปรับตัวก็มีความเสียหาย มีการจากไป ก็รู้สึกท้อมาก ๆ มีทั้งไม้ไทยบางชนิดที่ร่มเกินไป มีเพลี้ยมีอะไรมาเจาะทำลาย มีไม่น้อยเลยอย่างเช่น โพเจ็ดสี โพทะเล เป็นตัวเรียกเพลี้ยเลยก็ได้ ก็ต้องหาทางแก้ไขป้องกันกันไป

วิธีแก้ที่คุณนิวใช้หลัก ๆ เมื่อก่อน ก็คือการที่แดดไม่พอ น้ำไม่พอ กลัวเขาจะเน่า บอนไซเป็นไม้ที่สร้างจากต้นไม้ใหญ่ จากต้นไม้ที่มีเปลือกเป็นไม้ที่มีอายุ ควรให้เขาได้โดนแดดได้เต็มที่ตามที่เขาต้องการ ได้น้ำตามที่ต้องการ บางท่านอาจจะฉีดแค่ฟ็อกกี้จะเปียกแค่หน้าดินน้ำยังเข้าไม่ถึงรากเขา บางท่านอาจจะกลัวว่าถ้ารดน้ำเยอะไปกลัวจะเน่า แต่จริง ๆ แล้วบอนไซรดน้ำวันละ 1 - 2 ครั้งก็พอ รดให้เต็มที่เลย รดให้ชุ่ม ๆ ล้น ๆ จะทำให้ไม้อยู่กันได้นาน

เรื่องการตลาด แรก ๆ คุณนิวเริ่มจากหาความรู้ ได้มีการคุยแลกเปลี่ยนความรู้จากเพื่อน ๆ พี่ ๆ เริ่มจากที่ไปตลาดสนามหลวง 2 แล้วก็ได้แลกเปลี่ยนกับร้านบอนไซ เข้าไปร่วมกลุ่ม facebook มีหลายกลุ่มเลย คอยที่จะแชร์ความรู้คอยให้วิธีการทำ วิธีการเลี้ยง ต้องคอยแก้ปัญหา เลยทำให้เห็นโอกาส มองเห็นถึงสิ่งที่เรียกว่าช่องทางทางการตลาดว่าถ้าทำตรงนี้ก็มีคนจะนำไปสานต่อ นำไปเลี้ยงต่อได้ ทำให้เห็นโอกาสตรงนี้ ได้เริ่มต้นที่จะหัดทำบอนไซของตนเอง เริ่มต้นที่จะดัดต้นแรกของตนเอง เริ่มต้นที่จะหยิบลวดขึ้นมาทำ แล้วก็ค่อย ๆ ศึกษากันไป การเรียนรู้ไม่มีวันหยุด ถ้าเกิดเปิดใจที่รับฟังที่จะคุยกับเพื่อน ๆ พี่ ๆ เป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้รู้สึกว่าใน facebook ว่ามีคนสนใจในบอนไซไม่น้อยเลยทีเดียว ทำให้ริเริ่มที่จะเปิด page บอนไซใน facebook ชื่อ เพจบอนไซ คราฟเตอร์ แล้วก็ได้นำต้นไม้ที่ตัวเองทำ ต้นไม้ที่ตัวเองดัด มาแบ่งจำหน่ายเพื่อน ๆ จนทุกวันนี้

ตอนนี้คุณนิวมีจำหน่ายทั้งต้นที่พร้อมแมททีเรียลที่สำเร็จรูปพร้อม ถึงไม้ที่ไม่จบดีประมาณ 80 - 70 % แล้วก็มีไม้ไม่พร้อมจะตั้งโชว์เลยก็มีเหมือนกัน

ลูกค้าส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่มของวัยทำงาน วัยที่อยู่กลางเมืองมีความไขว่คว้าอยากหาธรรมชาติแต่มีพื้นที่น้อย มีพื้นที่จัดสรรน้อย ไม่ว่าคนที่อยู่คอนโดบ้าง อยู่อพาร์ทเม็นท์บ้าง อยู่ในตัวเมืองบ้าง ที่ไม่มีพื้นที่ปลูกต้นไม้เยอะมาก เขาก็จะมาอุดหนุนบอนไซตัวแทนธรรมชาติที่เป็นเหมือนไม้ใหญ่ที่ย่อขนาดลงมาเล็ก ๆ และเป็นพื้นที่ที่บริหารได้ง่าย นั่นเป็นกลุ่มหลัก ๆ

หลักช่วงเทศกาลที่พีค ๆ สุดคือ ช่วงปีใหม่ โอกาสดีของหลาย ๆ ท่าน ที่จะนำไม้ที่มีชื่อสุดพิเศษ ความหมายดี ๆ เช่น ต้นมั่งคั่ง ต้นมหารวย ต้นมะขาม ที่มีความน่าเกรงขามอย่างนี้ให้ของขวัญจากธรรมชาติสุดพิเศษให้กับคนนั้น ๆ ก็จะมีวันขึ้นปีใหม่ หลาย ๆ ท่านก็จะนำไปวันขึ้นบ้านใหม่ ก็จะมีตรุษจีนการซื้อต้นส้ม ซื้อส้ม ไปเป็นของขวัญให้กับคนพิเศษกัน

รายได้ของคุณนิวตอนนี้ เปรียบเหมือนกับผลส้ม บางฤดูก็จะมีผลผลิตน้อย บางฤดูก็ยังไม่ผลผลิตสำหรับเก็บเกี่ยว บางฤดูที่พร้อมเก็บเกี่ยวเลยมีลูกเต็มตระกร้าเลย เพราะฉะนั้นการขายบอนไซต้องใจเย็น ๆ เน้นความพร้อมของช่วงต้นไม้ ช่วงไหนต้นไม้มีความพร้อมเยอะ มีความสวยงาม ส่วนใหญ่จะเป็นช่วงต้นปี ฤดูใบไม้ผลิฤดูที่กำลังเข้าช่วงฤดูร้อน ช่วงหน้าหนาวช่วงปลาย ๆ ปี เป็นช่วงที่เขาเรียกว่าไม้เก็บตัว ซึ่งจะเป็นไม้ที่เก่า เป็นไม้ที่แก่ ใบร่วงบ้าง ต้นไม้จะไม่งาม รายได้ก็จะไม่เยอะเท่าไรถ้าเทียบกับกองอื่น ๆ แต่ก็พอให้ตั้งตัวได้พออยู่ได้ จำนวนประมาณ 20,000 - 40,000 บาท ขึ้นอยู่กับแต่ละเดือน

ราคาขายขึ้นอยู่กับขนาด วิธีการเลี้ยง ระยะเวลาที่เลี้ยงดูว่านานแค่ไหน มีตั้งแต่หลักร้อย 400 - 500 บาทขึ้นไปถึงหลักแสนบาทกันเลยทีเดียว

ทุกวันนี้คุณนิวมีสวนบอนไซอยู่รอบบ้าน แล้วก็แบ่งเป็นโซนหลาย ๆ โซน โซนไม้เล็ก โซนไม้ใหญ่ โซนไม้เพาะ โซนไม้ที่เพิ่งจะทำ เพิ่งจะชำ อนาคตก็จะมีแผนที่ขยายเปิดเป็นเปิดสวน เปิดหน้าร้านให้เพื่อน ๆ เข้ามานั่งชมได้ ก็มีแผนงานทำเป็นร้านกาแฟ เป็นมุมเล็ก ๆ น่ารัก ๆ ให้เพื่อนเข้ามาชมบอนไซได้เลย

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณนิว - ชานน นะศิลา (บอนไซ) ที่อยู่ : 13/2 หมู่ 13 แขวงบางพรม เขตตลิ่งชัน กรุงเทพมหานคร 10170 FB : Bonsai Crafter - บอนไซ คราฟเตอร์

เลี้ยงบอนไซ ไม้กระถางขนาดจิ๋ว เป็นงานอดิเรก สร้างรายได้หลักแสน [ rbk | รักบ้านเกิด ]

เรื่อง/ภาพโดย: นนท์ ทีมงานรักบ้านเกิด