เกษตรกรต้นแบบ

"บุญพา รอชัยกุล : ทำเกษตรวันหยุด สร้างรายได้เสริมได้ดี"

 21 ตุลาคม 2563 1,910
จ.สุพรรณบุรี
ความไม่มี
ทำให้เราต้องเป็นทุกอย่าง

คุณบุญพาเกิดมาจากในบ้านที่เป็นเกษตรกร ทำให้มีคติประจำใจว่า "ความไม่มีทำให้เราต้องเป็นทุกอย่าง" และความไม่มีผลักดันให้คุณบุญพามีทุกสิ่งในวันนี้ นอกจากนั้น แรงบันดาลใจหลักที่คุณบุญพามาทำเกษตรก็คือจากทฤษฎีของในหลวงรัชกาลที่ 9 เวลาทำงานประจำใครบอกว่ามั่นคง แต่คุณบุญพาอยู่ในโรงงานอุตสาหกรรม เห็นวงจรที่ไม่มั่นคง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงมอง 30 ปีล่วงหน้าว่าบ้านเราเป็นเมืองเกษตร คุณบุญพาก็เลยกลับมาทำเกษตร แต่ใช้โนว์ฮาวที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมที่เราไปเรียนรู้เทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาประยุกต์

ส่วนของคุณแหววคือ "ความมุ่งมั่น" ไม่ว่าจะทำอะไรถ้ามุ่งมั่นในสิ่งที่เรารักและเราอยากจะทำ มันจะต้องทำได้แน่นอน เพราะในการทำงานจริง ๆ จบมาก็ไม่ได้ทำงานตรงกับที่เรียน แต่เพราะรักและใส่ใจ แล้วเราขยัน เราแค่ตอบโจทย์ให้ตรงกับลูกค้าต้องการพอแล้ว มีความมุ่งมั่นแต่ไม่จำเป็นจะต้อง 1 - 2 - 3 - 4 อาจจะ Skip ไปอันหนึ่งหรือข้ามไปอันหนึ่งแต่ผลลัพธ์มันออกมามันได้แค่นั้นพอแล้ว

ความสุขของคุณบุญพาในวันนี้ คือ การได้เดินดูต้นไม้ทุกต้นว่าเป็นอย่างไร ใบเป็นอย่างไร หนอนกินไหม ทุกครั้งที่มาที่ไร่จะไม่อยากกลับบ้าน เดินได้ตั้งแต่เช้ายันเย็นยันค่ำ

ส่วนของคุณแหวว คือการได้อยู่ในไร่ ได้ทำกิจกรรมร่วมกับสามี คุยสัพเพเหระกัน มีเพื่อน ๆ มีลุงป้าข้าง ๆ ไร่เข้ามาคุยกัน แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

สำหรับคนที่อยากกลับไปทำการเกษตร คุณบุญพาแนะนำว่าให้ค่อย ๆ ทำไป ลองแบ่งเค้กแต่พอคำ หากมีพื้นที่ ลองทำสักงานหนึ่งก่อน อย่าปลูกที 2 - 3 ไร่ ให้ปลูกสักครึ่งงานหรืองานหนึ่งก่อน ปลูกแล้วจะขายใครศึกษาก่อน แล้วลองปลูกพืชอะไรสักตัวหนึ่ง อย่างเช่น ปลูกมะนาว มะนาวมีศัตรูพืชอะไรบ้าง ให้น้ำอย่างไร ให้ปุ๋ยอย่างไร พอเราได้พืชตัวใดตัวหนึ่งแล้วก็จะสามารถกระจายไปตัวอื่น ๆ ได้

นอกจากนั้น ในช่วงแรก ๆ สามารถทำควบคู่ไปกับงานประจำได้ อย่าเพิ่งลาออกมา อันดับสำคัญก็คือต้องเก็บเงิน ที่จะต้องมาลงทุนตรงนี้ การหาข้อมูลหาทางโซเชียลก็ได้ ไปลงอบรมวันเสาร์อาทิตย์ก็ได้ ต้องมุ่งมั่นแล้วก็เติมความฝัน ไม่ว่าจะมีอุปสรรคอย่างไร ทำผิดทำถูกทำไปอย่างไรเดี๋ยวมันก็ต้องได้ คิดว่าไม่ยากสำหรับคนเมืองที่คิดอยากจะกลับมาทำ

เกษตรกรวันหยุดในตอนนี้คือ คุณบุญพา รอชัยกุล เป็นเกษตรกรอยู่ที่อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี

คุณบุญพาเรียนจบปริญญาตรีที่สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สาขาวิศวกรรมไฟฟ้า ปริญญาโท บริหารธุรกิจ สาขาประกอบการ ทำงานอยู่ในวงการบริษัทชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ทั่วไป ปัจจุบันทำงานเป็นฝ่ายมาร์เก็ตติ้งที่บริษัทอิเล็กทรอนิกส์แห่งหนึ่งในประเทศสิงคโปร์ ในตอนแรกคุณบุญพาจะเรียนต่อปริญญาโทการวิศวะ ปรึกษากับหัวหน้าที่ทำอยู่ที่ WD หัวหน้าก็แนะนำว่าให้เรียนบริหารจะดีกว่าเพราะว่าสิ่งที่เรียนไปก็คือสิ่งที่ทำงานในปัจจุบันอยู่แล้วทำไมจะต้องไปเรียนอีก ก็เลยให้เรียนด้านการจัดการหรือด้านการบริหารจะดีกว่า ณ ตอนนั้นคุณบุญพาอยากออกมาทำกิจการ ก็เลยเลือกเรียนสาขาผู้ประกอบการ

ถึงตอนนี้ คุณบุญพาทำงานที่ต่างประเทศได้ 5 ปีแล้ว ทำงานที่โน่นส่วนใหญ่จะไปประชุม งานส่วนใหญ่จะอยู่ในประเทศก็คือประเทศไทย อาจจะมีไปมาเลเซียบ้าง เวียดนามบ้าง คุณบุญพาต้องเดินทางบ่อย แต่จุดหักเหอยู่ที่ตอนทำงานอยู่ที่บริษัท WD มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ อยากจะมาทำเกษตร เรื่องเศรษฐกิจพอเพียง ก็เลยได้มาดูที่กัน คุณบุญพาก็เลยได้ที่ดินแปลงปัจจุบันนี้มา และด้วยความที่ปู่ย่าตายายทำสวนอยู่แล้ว และตนเองก็อยากทำอยู่แล้ว ก็เลยเริ่มต้นปลูกพืชหลาย ๆ อย่าง จนวิวัฒนาการมาเป็นข้าวโพด น้อยหน่า สับปะรด ในปัจจุบัน โดยที่ตอนนั้นยังอยู่กรุงเทพ ฯ แต่ก็ไป ๆ มา ๆ หลังจากนั้นก็หาคนงานมาดูแทน มาทำแทน

ช่วงที่วิ่งไปมา กรุงเทพฯ – สุพรรณบุรีนั้น คุณบุญพาไม่รู้สึกเหนื่อย รู้สึกเหมือนไปเที่ยวมากกว่า ก่อนที่จะทำเกษตรคุณบุญพาชอบไปเที่ยวตามรีสอร์ท ตามที่พัก ตามสวนต่าง ๆ ก็คิดว่าทำไมตนเองไม่ทำที่ท่องเที่ยวของตัวเองบ้าง ก็เลยเริ่มมาปลูกต้นไม้ พอเห็นต้นไม้เขาโต ก็เริ่มมีความสุขไปด้วย ส่วนงานในออฟฟิศ คุณบุญพาเห็นวงจรของมัน พอเริ่มอายุมากขึ้นเริ่มไม่มั่นคง เห็นตัวอย่างจากที่มีการจ้างออก มีการปิดออฟฟิศ และสถานการณ์ปัจจุบันบ้านเรา อุตสาหกรรมย้ายไปเวียดนาม ย้ายไปอินโดนิเซียเกือบหมด คุณบุญพาเห็นมาประมาณเกือบห้าปี ก็เลยคิดว่าน่าจะมีอะไรที่เป็นแบคอัพได้บ้าง ก็คิดว่าถ้ามีที่ดินแล้วยังไม่มีกินนี่ก็คือความผิดของตนเองแล้ว

นอกจากการเกษตร คุณบุญพาเป็นคนชอบออกแบบตกแต่งภายใน ก็ไปซื้อบ้านมารีโนเวทให้เช่าบ้าง ขายบ้าง เป็นการลงทุนที่มีความเครียดอยู่เหมือนกัน อันนี้ก็เป็นอีก Job หนึ่ง แต่ที่ชอบมากกว่าก็คือเกษตร ทำแล้วสบาย ๆ หนอนจะกินก็ช่างมันเดี๋ยวค่อยจัดการ ให้ต้นไม้มันโตพอสักพักมันจะเลี้ยงเรากลับคืน

เมื่อลงมือทำ ปัญหาหนึ่งของคุณบุญพา คือ ความรู้เรื่องปุ๋ย เรื่องยา เรื่องโรคแมลง คุณบุญพาแก้ปัญหาการไม่รู้ด้วยการไปเรียนที่มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน เขามีคอร์สอบรมต่าง ๆ คุณบุญพาเรียนทุกคอร์สที่มีในนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นการตัดแต่งทรงพุ่ม เรื่องผลไม้ต่าง ๆ ที่มีปลูกในประเทศ นอกจากความรู้ สิ่งที่ได้มาก็คือกลุ่มเพื่อน ๆ เครือข่ายคอนเน็คชั่นส์ คอยปรึกษาเรื่องต่าง ๆ ได้

พื้นที่เพาะปลูกของคุณบุญพาจะมีพื้นที่ของน้อยหน่าและสับปะรด 4 ไร่ ฝรั่งก็ 5 ไร่ แล้วก็มีทดลองปลูกเสาวรสเพื่อที่จะขยายเสาวรส แล้วก็เตรียมแปลงปลูกอาโวคาโดไว้เพราะว่าพื้นที่ภาคกลางยังไม่มีใครปลูกอาโวคาโดเลย แล้วก็มองเรื่องทับทิมไว้อีกชนิดหนึ่ง

ตอนนี้พระเอกของคุณบุญพา คือ ข้าวโพดหวานแดง ส่วนใหญ่จะเป็นข้าวโพดทานสด ข้าวโพดนี้จะออกทุกอาทิตย์ วางแผนปลูกทุกอาทิตย์มันก็จะออกทุกอาทิตย์ ข้าวโพดเป็นพืชระยะสั้น ปลูกแค่สองเดือนก็เก็บผลผลิตได้ ข้าวโพดตัวนี้จะเป็นข้าวโพดหวานทานสดโดยท่านอาจารย์ทวีศักดิ์ ภู่หลำ เป็นคนปรับปรุงพันธุ์นี้ขึ้นมา เป็นข้าวโพดหวานที่มีสีแดงเป็นพันธุ์แรกของโลกชื่อพันธุ์ Siam Ruby Queen หรือ ราชินีทับทิมสยาม ข้าวโพดนี้ใช้เวลาประมาณ 60 วันอาจจะ บวก ลบ อยู่ที่สองวัน ขึ้นอยู่กับอุณหภูมิ ถ้าอากาศร้อนข้าวโพดเขาจะสะสมความร้อน พอสะสมความร้อนข้าวโพดจะแก่ประมาณแค่ 57 - 58 วัน แต่ถ้าอากาศเย็นเขาจะหยุดการเจริญเติบโต

ผลิตภัณฑ์ของในสวนจะมีตัวข้าวโพด ข้าวโพดนี้จะขายส่ง โดยหนึ่ง มารับที่หน้าไร่ กับสอง ที่ปั๊ม ปตท.เลี่ยงเมืองสุพรรณบุรี นอกจากนั้นมีฝรั่ง ฝรั่งนี้ขายทางออนไลน์ เป็นพรีออเดอร์เสียมากกว่า ก็คือมีเมื่อไหร่ก็จะโพสต์ขายเช่นเดียวกับน้อยหน่า สับปะรด นอกจากนั้นก็จะมีต้นพันธุ์ที่ปลูก ปลูกอะไรก็จะมีต้นพันธุ์ประเภทนั้นขาย แต่ต้นพันธุ์อื่น ๆ ที่เราทดลอง บางตัวที่อาจจะยังไม่แน่ใจ ก็ยังไม่ขาย ต้องให้มีผลผลิตก่อน แล้วรสชาติเป็นไปอย่างที่ต้องการ

ข้าวโพดที่ไร่เป็นพันธุ์หวานทานสด ชื่อสยามรูบี้ควีน หรือเรียกชื่อไทยว่าราชินีทับทิมสยาม ลักษณะเด่นของเขาก็คือเป็นข้าวโพดหวานทานสด แล้วก็มีคุณประโยชน์ แล้วคือมีสารเอ็นโซไซยานิน การปลูกก็คือเตรียมดิน พอเตรียมดินเสร็จก็ชักร่องวางระบบน้ำ เสร็จแล้วก็หยอดเม็ดข้าวโพดให้ลึกประมาณ 1 นิ้ว หลังจากนั้น 3 วัน เขาจะงอกขึ้นมา พอข้าวโพดแทงขึ้นมา เขาต้องการอาหาร โดยปรกติจะใส่ปุ๋ยลงไป แล้วต้องเดินระบบน้ำ แล้วก็ระวังเรื่องแมลงจิ้งหรีดที่จะตัดยอด ให้น้ำวันละหนึ่งครั้งแล้วดูดิน ถ้าดินชุ่มชื่นแบบฝนตก แบบนี้ก็ไม่ต้องให้น้ำ

ข้าวโพดนี้ใช้เวลาเก็บเกี่ยวประมาณ 60 วันหลังจากวันที่เราหยอดเมล็ดลงดิน อาจจะมีบวก ลบ 2 วันขึ้นอยู่กับอากาศ ถ้าอากาศร้อนข้าวโพดจะแก่เร็วประมาณ 57 ถึง 58 วัน แต่ถ้าอากาศเย็นก็อาจจะประมาณ 63 - 64 วัน บางทีถ้าหนาวจัดถึง 70 วันเลย แบ่งการปลูกออกเป็นทุกอาทิตย์ เพราะว่ามีการขายทุกวัน ข้าวโพดนี้ถ้าอยู่ในอุณหภูมิปกติจะเก็บได้แค่ 3 วัน แต่ถ้าแช่ในน้ำแข็ง จะเก็บได้ประมาณ 7 - 10 วัน ถ้าเป็นเจ็ดวันมันก็จะครบรอบในการที่จะนำเข้าข้าวโพดไปขาย

ข้าวโพดที่ปลูก 1 แปลงประมาณหนึ่งงานต่อรอบต่อหนึ่งรุ่นหนึ่งไร่ จะปลูกได้ประมาณสี่รุ่น คือ 1 เดือน ระยะการหยอดหลุมใช้ที่ 25 x 75 ต้องการให้ฝักมันโตแล้วจะใช้ระยะที่ 30 x 80 ปัจจุบันใช้ 30 x 80 ระยะปลูก

เหตุที่ตั้งชื่อฟาร์มว่าพีดีฟาร์ม เพราะเป็นชื่อของคุณบุญพาและภรรยา D มาจากดลฤดี P มาจาก บุญพา รวมกันเป็นดีพีฟาร์ม แล้วมันก็มีกิมมิกเล็ก ๆ ที่เป็นแรงบันดาลใจว่า ซีพีคือความยิ่งใหญ่ของทางด้านการเกษตร งั้นเราก็เป็นดีพีต่อจากตัวซีก็คือตัวดีมันก็เลยเป็นเหมือนกิมมิกเล็ก ๆ พอมีคนถามก็เลยบอกว่าเรามีทั้งชื่อที่เป็นความหมายที่ต่อจากบริษัทที่ยิ่งใหญ่ของทางด้านการเกษตรด้วย

เมื่อ PD Farm เกิดขึ้น ฟาร์มมีผลผลิต ก็เอาผลผลิตของในไร่เลี้ยงไร่ คือเอาผลผลิตที่ขายนำมาสร้างคนงาน สร้างรายได้ให้เขา กับคนรอบข้าง จากนั้นก็กระจายไปให้เกษตรกรรอบ ๆ การทำให้คนรู้จัก อย่างแรก คือใช้โซเชียลมีเดีย Facebook เป็นตัวหลัก แล้วก็ดีไซน์มาสคอตแต่ละชนิดของพืช ตัวที่ทำจะมีโลโก้เป็นตัวการ์ตูน เป็นตัวแนะนำ จะสังเกตว่าถ้าเป็นตัวข้าวโพดจะเป็นตัวข้าวโพดสองตัวก็มีดีไซน์มาลักษณะคล้าย ๆ กับพวกบีหนึ่งบีสอง ส่วนน้อยหน่ากับสับปะรดก็ได้ทรงผลมาแล้วก็ดีไซน์เป็นตัวการ์ตูน มีฝรั่ง มีเสาวรส มีอาโวคาโด

การจำหน่าย จริง ๆ แล้วต้องบอกว่า พีดีฟารม์เป็นเกษตรวันหยุด พ่อค้าคนกลางอาจจะต้องตัดไปจากวงจรของเขา เพราะว่าอาจจะไม่มีเวลาไปขาย เพราะว่าคุณบุญพาไม่ได้ทำเป็นจำนวนมาก จริง ๆ แล้วโซเชียลเป็นตลาดสำคัญที่คุณบุญพาใช้อยู่ ตอนแรก ๆ ไม่ได้อยู่ในวงการนี้ ต้องไปเข้ากลุ่มคนรักต้นไม้ก่อน เพราะว่ากลุ่มรักต้นไม้เป็นกลุ่มใหญ่ ก็จะมีกลุ่มย่อย ๆ เข้าไปอีกก็คือกลุ่มน้อยหน่า กลุ่มอาโวคาโด กลุ่มข้าวโพด การเข้าไปตรงนี้จะมีความต้องการของกลุ่มคนที่ต้องการในนี้ใหม่อยู่แล้ว แล้วก็มีคนขายไม่อยู่แล้วแต่ว่ามันจะยังมีความต้องการอยู่ ไม่ว่าตรงตลาดไหนเวลาเข้าไปบางทีพ่อค้าเดิมบางเจ้าอาจจะไม่มีในเดือนนั้น แล้วมามีที่คุณบุญพาพอดี มันเป็นจังหวะ แล้วหลังจากนั้นด้วยความใส่ใจและมีคุณภาพ ลูกค้าจะมาเอง จะเริ่มมีลูกค้าประจำที่จองไว้ การให้ข้อมูลเขาบ่อย ๆ ไม่ว่าเรื่องอะไรก็ตามเป็นการสร้างเครือข่าย และความต้องการในผลิตภัณฑ์จะมาเอง การให้ข้อมูล ก็คือบอกให้รู้เรื่อย ๆ ว่าแต่ละวันทำอะไรไปบ้าง ถ่ายรูปผลิตภัณฑ์ลงบ้าง จนตอนนี้รายได้ของฟาร์มเลี้ยงตัวฟาร์มได้แล้ว เอามาจัดการในสวนเอง ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของระบบน้ำ ระบบไฟฟ้า ปุ๋ย ยาทุกอย่างเป็นรายได้จากสวน รายได้เกือบเท่างานประจำแล้ว

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณบุญพา - บุญพา รอชัยกุล , คุณแหวว - ดลฤดี สมัยมงคล ฟาร์ม : เกษตรวันหยุด DP Farm ที่อยู่ : หมู่ที่ 6 ตำบลอู่ทอง อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี 72160 FB : DP Farm Apnoob , DP.Farm

ทำเกษตรวันหยุด สร้างรายได้เสริมได้ดี [ rbk | รักบ้านเกิด ]

เรื่อง/ภาพโดย: นนท์ ทีมงานรักบ้านเกิด