

"สิริกร ลิ้มสุวรรณ : ไข่ขบถ ไข่ไก่วิถีอินทรีย์ วิสาหกิจสังคมบ้านรักษ์ดิน"

อย่างพอประมาณ

ในทุกวันนี้การดำเนินชีวิตของคุณกร จะยึดหลักเรื่องความพอประมาณ พอประมาณของแต่ละคนนี้ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะมองว่าคุณกรไม่เคยใส่เสื้อม่อฮ่อมเลย ไม่เห็นพอประมาณเลย คุณกรยังขับรถยนต์ ไม่เห็นพอประมาณเลย ทำไมไม่ขับมอเตอร์ไซค์อะไรแบบนี้ คุณกรบอกว่าความพอประมาณของทุกคนไม่เท่ากัน เหมือนกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงที่คุณกรนำมาปรับใช้ทุกวัน คือ ต้องทำทุกอย่างให้พอประมาณกับตัวเอง ไม่ทำให้มากเกินไปหรือน้อยเกินไป ซึ่งตรงนี้จะนำความสมดุลมาให้กับทุกชุมชน ชุมชนขนาดเล็กสุดก็คือครอบครัว ครอบครัวและหมู่บ้านของเรามีความพอประมาณเท่านี้พอกินแล้ว ก็จะไม่เหลือผักไปทิ้งทำลาย ถ้าปลูกผักน้อยเกินก็จะต้องปลูกผักเพิ่มให้พอดี ซึ่งความพอเพียงไม่ใช่เป็นแค่นิยามที่ใช้ในความหมายของเกษตรกรเท่านั้น ความพอเพียงใช้ในปรัชญาของนักเศรษฐศาสตร์ก็ได้เหมือนกัน การทำบริษัทขึ้นมานำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้ ความพอเพียงของบริษัทถือว่ากำไรต้นทุนทุก ๆ บริษัทต้องการกำไร แต่ถ้ายังต้องการกำไรสูงสุดเป็นที่ตั้ง ควบคุมต้นทุนให้ต่ำที่สุด กดราคาทุกอย่างวัตถุดิบทุกอย่างให้ต่ำที่สุด คุณภาพก็จะไม่ได้ คุณค่าก็จะไม่ได้ สุดท้ายลูกค้าก็จะไม่ซื้อ อันนี้ต้องดูว่าบริบทในองค์กร หรือว่าปัจเจกบุคคลของเกษตรกรหรือว่าบุคคลธรรมดานี้สามารถนำไปปรับใช้ได้อย่างไรบ้าง ซึ่งตรงนี้เหมือนกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงก็คือเหมือนกับศาสนาพุทธ ถ้าใครไม่ได้มาสัมผัสก็จะไม่มีทางเข้าใจ นอกจากนำตัวเองไปเรียนรู้
ความสุขที่ได้จากการทำเกษตรอินทรีย์วิถีไทยของคุณกรนี้ต่างจากการทำงานประจำในระบบอย่างสิ้นเชิง การทำงานแบบนี้ ความสุขแบบนี้อาจจะมีความเหนื่อยมากกว่าเดิม แต่ความสุขเพิ่มมากขึ้น ความสุขอย่างแรกก็คือ สามารถกำหนดวิถีชีวิตของตัวเองได้ ไม่ต้องมีใครมากดนาฬิกาปลุกว่าจะต้องทำงานกี่โมง ทำงานอะไรบ้าง เลิกงานกี่โมง การทำงานตรงนี้ไม่มีเวลาเลิกงาน ทุกเวลานาทีคือการทำงาน ทุกเวลานาทีคือการเรียนรู้ และบางครั้งความสุขก็มาในรูปแบบของความทุกข์ก็มี จะยึดถือคำหนึ่งก็คือแค่ไม่ทุกข์ก็สุขแล้ว ทุกวันนี้คุณกรไม่มีความทุกข์เลย นั่นคือความสุขแล้ว การทำเกษตรดึงให้ครอบครัวมาใช้เวลาร่วมกัน ทำให้มีปฏิสัมพันธ์ในครอบครัว ปัญหาในครอบครัวไม่มีก็หมดทุกข์ไปอย่างหนึ่งแล้วก็ทำให้เกิดความสุขขึ้นมา เรื่องการเงินคุณกรยึดถือเรื่องความพอประมาณ ความพอดี มีภูมิคุ้มกัน การทำการตลาดก็เช่นเดียวกัน การทำการตลาดกับห้างร้านต่าง ๆ ไม่ใช่ว่าจะต้องส่งให้ห้างอย่างเดียว จะต้องปลูกอยู่ปลูกกินไว้ก่อนแล้วค่อยบอกว่าเหลือแล้วค่อยไปขายห้างก็ไม่ใช่เสียทีเดียว เพราะคุณกรคัดของพวกนี้แบ่งไปจำหน่ายแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน พอเหมาะพอดีกับสถานที่ที่นำไปจำหน่ายโดยต้องไม่เดือดร้อนตนเอง ไม่ใช่ขายจะหมดแล้วต้องไปซื้อผักที่ตลาดมากิน
นอกจากนั้น ทุกวันนี้คุณกรมีความสุขในทุกวันที่เราได้เห็นต้นไม้กำลังเจริญเติบโต คุณกรอยากบอกว่า ใครกำลังวิตกกังวลหรือว่าเครียดยังหาทางออกในชีวิตไม่ได้ ลองปลูกต้นไม้สักต้นหนึ่ง แล้วรอดูเขาเติบโต ลองฟังเสียงต้นไม้โตดูแล้วจะรู้ว่าวิถีชีวิตของเราก็เหมือนต้นไม้นี้ วันนี้เราเครียดวันนี้เราเศร้า ต้นไม้ ใบไม้ ผลิใบใหม่ทุกวัน บางวันก็ใบไม้ร่วงธรรมดาของชีวิตก็เท่านี้ อันนี้ได้ให้ธรรมชาติบำบัดตนเอง ธรรมชาติจะสอนเรา ความสุขที่ได้จากทุกวันนี้ก็เกิดจากต้นไม้ด้วย
ทุกวันนี้เวลาประกาศหรือบอกเล่าให้ใคร ๆ ฟัง คุณกรจะบอกว่า “ผมเป็นนวัตกร” นวัตกร ก็คือเป็นผู้สร้างนวัตกรรมนั่นเอง ไม่ได้เท่ ๆ แต่เป็นนวัตกรรมทางความคิด นวัตกรรมทางการลงมือทำ เป็นผู้กระทำนั่นเอง ทำทุกอย่าง ทุกวันนี้มีความภูมิใจที่ได้มีความเป็นเกษตรกรอยู่เกือบจะ 100% ได้เป็นอาจารย์ ได้สอนหนังสือนักศึกษา ได้บอกต่อเรื่องราวหลักการการทำงาน ทุกวันนี้ภูมิใจในชุมชน ที่ชุมชนอยู่ได้โดยไม่หัวแตกอีกแล้ว ลูกได้อยู่กับแม่ แม่ได้อยู่กับลูก ทุกคนได้ยิ้มได้หัวเราะไปด้วยกัน คุณกรไม่ได้ภูมิใจในตัวเองคนเดียว แต่ภูมิใจที่ชุมชนพึ่งพาตัวเองได้ แล้วก็ภูมิใจว่างานที่พยายามจะสื่อมามันสำเร็จเป็นขั้นบันได เป็นสเต็ปทีละขั้นทีละตอน แต่จะภูมิใจมากกว่านี้ถ้างานจะสำเร็จไปได้เร็วกว่านี้ คือชุมชนให้ความร่วมมือมากขึ้น หน่วยงานภาครัฐและเอกชนให้ความร่วมมือมากขึ้น แต่มันก็เป็นหน้าที่ที่จะต้องสื่อความให้ทุกคนเห็นความสำคัญ คุณกรยังทำต่อ ยังภูมิใจ ยังมุ่งมั่นต่อไปเรื่อย ๆ
สำหรับคนรุ่นใหม่ที่ตอนนี้กำลังทำงานอยู่ในเมือง ไม่ว่าจะเจอกับปัญหาในการทำงาน หรือว่าประสบกับภัยโรคไวรัสโควิดนี่อยู่ในขณะนี้ แต่อยากกลับบ้านทำเกษตร คุณกรมองว่าไม่น่าจะมีช่วงเวลาไหนที่เหมาะสมไปกว่าช่วงเวลานี้อีกแล้ว ที่เราจะมีเวลาได้ work from home หรือว่า work from farm กัน เริ่มเรียนรู้เกี่ยวกับการทำเกษตรอินทรีย์ อาจจะยังไม่ต้องมองถึงเรื่องของการจำหน่ายส่งให้ห้าง แต่อาจจะกลับมามองก่อนว่าในช่วงวิกฤติแบบนี้ เรากินเราอยู่กันอย่างไร อาจจะเริ่มปลูกผักอย่างง่ายก่อน เช่นผักบุ้งหรือว่าถั่วงอก เพราะว่าถ้าหากปลูกพืชผักตามกระแสที่ปลูกได้ยาก อย่างเช่นมะเขือเทศ เมล่อน อาจจะพบกับความล้มเหลวได้ เพราะต้องลงทุนเยอะมาก
การที่แนะนำให้ปลูกผักอย่างง่ายเพราะว่า ผักบุ้งภายใน 20 วัน 25 วัน นี้ตัดทานได้เลย หรือว่าจะให้ปลูกผักที่ง่ายสุด ก็อาจจะเป็นต้นอ่อนทานตะวัน หรือว่าเป็นถั่วงอก 3 วัน ก็ได้ทานแล้ว ที่พูดนี้ไม่ได้บอกว่าจะต้องทานถั่วงอกอย่างเดียว แต่ความหมายก็คือว่า 3 วันเราจะมีรายได้ทันทีไม่ต้องรอ ปลูกผักคะน้า 45 วันเดือนครึ่งถึงจะได้รับเงิน ปลูกผักอย่างง่ายไม่เกิน3 วันได้เงินแน่นอน ถ้าเราเริ่มปลูกผักที่ปลูกยากตั้งแต่เริ่มแรก ถ้าหากว่าล้มเหลว ทุกคนจะกลับไปใช้ชีวิตแบบเดิม แล้วก็จะส่งต่อความล้มเหลวแบบผิด ๆ ต่อไปว่าปลูกผักสลัดเคยปลูกแล้วมันปลูกไม่ได้ ปลูกเมล่อนเคยปลูกแล้วล้มเหลว ซึ่งตรงนี้ปัจจัยแต่ละท่านอาจจะไม่เหมือนกัน
คุณกร - สิริกร ลิ้มสุวรรณ ปัจจุบันเป็นผู้ก่อตั้งเกษตรอินทรีย์วิถีไทย (earth safe) วิสาหกิจสังคมบ้านรักษ์ดิน แล้วก็เป็นสถาบันบ่มเพาะและส่งเสริมเกษตรอินทรีย์วิถีไทยและอาหารแห่งมหาวิทยาลัยรังสิต
แต่ก่อนที่จะมาทำบ้านรักษ์ดินนี้ คุณกรตัดสินใจเรียนที่คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต โดยความหวังที่ว่าจะนำความรู้ด้านกฎหมายมาใช้กับชุมชน มาช่วยเหลือชุมชนที่กาญจนบุรีบ้านเกิด แต่พอเรียนไปรู้สึกว่าไม่ชอบความรู้ด้านกฎหมาย ไม่ชอบงานด้านกฎหมาย ทั้ง ๆ ที่คุณแม่ก็ทำงานด้านกฎหมายที่กาญจนบุรีเหมือนกัน แต่กลับว่ารู้สึกว่าการใช้กฎหมายมันไม่เข้ากับตัวเอง ไม่อยากเป็นนักกฎหมาย ประกอบกับเมื่อก่อนนี้ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาเคยทำกิจกรรมเพื่อสังคม กิจกรรมจิตอาสา ได้ไปเรียนรู้ในแปลงเกษตรอินทรีย์ แปลงศูนย์เรียนรู้ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ที่มีอยู่ทั่วไป ๆ ในหลายจังหวัด ก็พาตัวเองไปเรียนรู้ ก็ได้เก็บประสบการณ์มาว่าสนใจการทำเกษตร สนใจการทำงานเชิงสังคมมากกว่าการทำงานเชิงกฎหมาย
พอเรียนจบเรียนปริญญาตรีที่มหาวิทยาลัยรังสิต ก็กลับมาที่บ้านกาญจนบุรี ตอนนั้นยังไม่รู้ว่าจะทำงานอะไร ก็เลยตั้งเป้าหมายว่าถ้าจะต้องทำงานประจำ ก็อยากจะปั่นจักรยานไปทำงานได้ และด้วยเหตุที่ตั้งไว้ด้วยการปั่นจักรยาน มันทำให้พื้นที่ระยะทางการเดินทางในการไปทำงานมันสั้นลง ทำให้ขีดวงพื้นที่ไปได้เลยว่า 5 นาทีปั่นจักรยานต้องถึงที่ทำงาน คุณกรก็เลยต้องหาเพื่อนที่ทำงานที่อยู่ในละแวกบ้าน ปรากฏว่าโชคดีได้ทำงานในธนาคารเอกชนแห่งหนึ่งที่สามารถตอบโจทย์ชีวิตในข้อนี้ได้ คือสามารถปั่นจักรยานจากบ้านไปทำงานได้ภายใน 5 นาที แต่พอทำไปได้ 1 ปี ก็รู้สึกว่าไม่ชอบการทำงานในระบบธนาคารเอกชน ก็เลยตัดสินใจลาออก แต่ก่อนที่จะตัดสินใจลาออกในช่วงที่ผ่านมาได้เจอคุณยายซึ่งเป็นเกษตรกร 100% ที่เมื่อก่อนสอนให้คุณกรทำนา ปลูกผัก ปลูกก่อนที่คำว่าเกษตรอินทรีย์จะโด่งดังในประเทศไทยด้วยซ้ำ ซึ่งคุณยายท่านสอนให้ปลูกผัก ทำนาด้วยวิธีธรรมชาติอย่างไรให้พอกินก่อน ตรงนี้ก็เลยทำให้คุณกรตัดสินใจลาออกจากงานประจำมาสู่แปลงเกษตรอินทรีย์ หรือว่าสะบัดชุดสูทออก สะบัดเนคไท ออกมาใส่ชุดม่อฮ่อมและดำนาเลยในวันรุ่งขึ้น อันนี้ถือเป็นจุดที่เปลี่ยนชีวิตแบบกะทันหันของคุณกรเลยทีเดียว ที่บ้านยังเห็นว่าเมื่อวานยังทำงานประจำที่มีเงินเดือนอยู่เลย ยังใส่สูท ผูกเนคไทอยู่เลย แต่วันรุ่งขึ้นคุณกรมาดำนาเลย
วันแรกที่เป็นเกษตรกรคุณกรดำนา 3 ไร่ ด้วยมือคนเดียวตั้งแต่ 7 โมงเช้ากว่าจน 2 ทุ่ม ระหว่างนั้นคุณแม่ยังทำงานประจำอยู่ ยังไม่เกษียณ ตอนกลางวันท่านแม่ก็แวะมาดูที่ทุ่งนา เพราะว่าพ่อบอกว่าลูกลาออกแล้ว แม่ก็ตกใจไปร้องไห้บนคันนา คุณกรดำนาอยู่ในทุ่งนาก็มองขึ้นไปเห็นคุณแม่ยืนร้องไห้อยู่ ตรงนี้มันบีบเขาหัวใจมากเลย เพิ่งมาทราบทีหลังว่าคุณแม่ต้องแบกรับแรงกดดันทางสังคม เพราะคนที่ทำงานในระบบประจำคงไม่มีใครอยากเห็นลูกตัวเองลาออกจากงานประจำ แล้วลาออกไปทำนาด้วยซ้ำ เพราะภาพจำของคนไทย การทำเกษตร การทำเกษตรพอเพียง เกษตรอินทรีย์ในสมัยก่อนมันร้อน จน เหนื่อย มันไม่มีรายได้ที่มั่นคง และไม่มีอนาคตเลย ภาพที่คุณแม่ร้องไห้ มันเป็นแรงกดดันที่ทำให้คุณกรต้องทำต่อ บางคนคิดว่าการทำให้คุณแม่ร้องไห้ ทำให้เสียใจ จะต้องล้มเลิกแล้วกลับไปง้อคุณแม่ แต่ด้วยส่วนตัวแล้วคุณกรเป็นคนมุ่งมั่นและหัวรั้นด้วย เขาคิดแล้วว่าการทำงานในวิถีทางนี้เป็นการตอบโจทย์ชีวิตของเขาอย่างยั่งยืน ไม่ใช่แค่วันนี้เท่านั้น มันตอบโจทย์ชีวิตในอนาคตอีกห้าปี สิบปี หรือทั้งชีวิตด้วยซ้ำผ่านการทำเกษตร การปลูกผัก ปลูกข้าว เพราะว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเคยบอกไว้ว่า “อีก 20 ปีคนไทยจะขาดแคลนข้าว” 20 ปีนั้นมาถึงแล้ว ในวันนี้ราคาข้าวตกต่ำ ราคาข้าวไม่ได้ราคา แต่ว่าเกษตรกรไทยก็ยังปลูกข้าวเพื่อขายโรงสีอยู่นั่นเอง แทบจะไม่มีใครที่จะปลูกข้าวไว้กินเองนอกจากกลุ่มเกษตรกรอินทรีย์ตัวเล็กๆ ตอนนั้นคุณกรตั้งใจทำเกษตรอินทรีย์ที่สามารถปลูกข้าวกินเองได้ แล้ววันนั้นเขาไม่ได้คิดแค่การปลูกข้าวกินเอง ก่อนที่จะลาออกเขาวางแผนไว้แล้วว่าข้าวหอมมะลิที่ปลูก 120 วันที่ จะไม่ขายข้าวให้โรงสี จะแบ่งครึ่งข้าวเอาไว้ 50% เก็บไว้ทานเองตลอดทั้งปี โดยที่ไม่ต้องซื้อข้าวทาน อีก 50% แบ่งเอาไว้แปรรูป แปรรูปเป็นผงพอกหน้า แปรรูปเป็นแชมพูข้าวหอมมะลิ แล้วก็เก็บเมล็ดพันธุ์เอาไว้ปลูกในฤดูกาลถัดไป พวกนี้ผ่านการวางแผนมาทั้งหมดทั้งสิ้น ทำให้คุณกรรู้สึกว่าถ้าทำตามแผนนี้ได้ มันต้องสำเร็จอย่างแน่นอน
การทำเกษตรอินทรีย์ของคุณกรนั้น ถึงแม้จะวางแผนมาแล้ว แต่ก็มีเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนอกแผนจนได้ เพราะเมื่อลงมือทำจริง ๆ ไม่มีทางรู้ได้เลยว่าอะไรจะเกิดขึ้นสำหรับมือใหม่ทำนาอินทรีย์อย่างคุณกร อย่างเช่น ก่อนหน้านั้นไม่มีทางรู้ได้เลยว่าโคลนมันร้อนมันหนืดมันเหนื่อยแค่ไหน หรือ วางแผนไว้ว่าจะดำนาแค่ 6 ชั่วโมงต่อวันเท่านั้น แต่ปรากฏว่ามันไม่ใช่ วันแรกที่ดำนา คุณกรดำตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปเสร็จตอนสองทุ่ม รวม 13 ชั่วโมง ไม่มีพักกลางวัน ถ้าทำงานประจำยังมีพักกลางวันบ้าง ยังได้พักผ่อนบ้าง แต่การทำเกษตรอินทรีย์ไม่มีการพักผ่อนแต่ว่ามันเป็นเรื่องที่เกิดนอกแผนที่วางไว้ นอกจากนั้น ยังมีปัญหานกปากห่างลงมากินข้าวในนา เนื่องจากคุณกรทำนาอินทรีย์ แต่เดิมชาวนาจะฉีดยาฆ่าแมลง ปุ๋ยเคมี และทำให้สิ่งมีชีวิตที่อยู่ในท้องนาไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ว่าเมื่อเป็นนาอินทรีย์พื้นดินมันอุดมสมบูรณ์ขึ้นมา มีหญ้า มีหอยเชอรี่ มีแมลง มีสิ่งมีชีวิตที่เข้ามากำจัดวงจรศัตรูพืชศัตรูข้าว ซึ่งเขามาเองโดยปริยายอยู่แล้ว ทำให้นาข้าวที่นกปากห่างแย่งลงมากินข้าวนี้อยู่นอกแผนเลย เพราะว่าไม่เคยมีความรู้เลยว่านกปากห่างหรือนกกระยางจะลงมากินข้าวตอนไหน ทำให้ข้าวเสียหายไปบ้างบางส่วนที่ ปัญหานี้คุณกรได้ทำการเก็บภาพเอาไว้เป็นการลงเรื่องราวผ่าน Facebook ในช่วงนั้น ทำให้ผู้บริโภค เพื่อน และกลุ่มลูกค้าได้เห็นว่าข้าวอินทรีย์เป็นแบบนี้ ข้าวที่ปลูกไว้ทานเองเป็นหลักมันเป็นแบบนี้ อันนี้ก็เป็นเรื่องราวที่ในการผลิตข้าว
นอกจากปัญหาจากในพื้นที่แล้ว ยังมีปัญหาจากสภาวะแวดล้อมอีก เพราะว่าการทำนาในภาคกลางหรือที่กาญจนบุรีที่คุณกรทำอยู่นี้ มีปัญหาการแย่งน้ำของชาวนาเกิดขึ้นตามแนวเขตชลประทาน บางทีคุณกรดึงน้ำเข้านาเสร็จแล้วแต่นาข้าง ๆ ยังไม่เข้า ตอนกลางคืนจะมีผู้ใจบุญมาพร้อมจอบ พร้อมเสียม มาขุดคันนาเราเพื่อเอาน้ำจากนาเราไปเข้านาเขา ด้วยอันนี้คือปัญหาที่คุณกรไม่เคยเจอและไม่คาดคิดว่าจะเจอ พอไปถึงทุ่งนาวันรุ่งขึ้นพื้นดินแห้งหมดเลย เพราะว่าน้ำไหลออกจากที่นาหมด นี่คือปัญหาที่เกิดขึ้น
หรือบางวันลงไปดูในคันนา ก็เจอข้าวดีดเข้าเด้ง ถ้าคนที่ไม่เคยทำนาอาจจะไม่เข้าใจว่ามันคืออะไรข้าวดีดเข้าเด้ง ก็คือข้าวที่ไม่ได้คุณภาพที่ต้นยืดขึ้นมาเป็นเหมือนหญ้าชนิดหนึ่งที่จะทำให้ข้าวแถว ๆ นั้นเสียหายไปด้วย เพราะว่ามันจะมีการแตกรากหญ้าออกไปไปแย่งอาหารข้าวที่เราเรียกว่าพืชประธาน แต่ว่าพืชรองมาแย่งอาหารไป ตรงนี้ก็เป็นความล้มเหลวที่เป็นองค์ความรู้ให้อีกที ถ้าไม่ล้มเหลวก็ไม่มีความรู้เรื่องนี้ นี่คือตัวอย่างสั้น ๆ ของการทำนาอินทรีย์
นอกจากนั้น การที่นารอบข้างไม่ได้ทำแบบอินทรีย์ด้วย ก็มีผลกระทบ จริง ๆ แล้วพื้นที่ ๆ จะทำนาอินทรีย์ต้องอยู่ตามมาตรฐาน ต้องมีการออกแบบแนวกันชน เกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์ต้องมีการปลูกต้นไม้สามระดับเพื่อป้องกันสารเคมีที่จะมาปนเปื้อนทางอากาศ ทางน้ำ และทางดิน ตรงนี้เกษตรกรต้องทำ แต่ว่าการทำนาทางภาคกลางของที่มีน้ำชลประทานทำได้ยากมาก แต่ที่ศูนย์การเรียนรู้ของคุณกรใช้มาตรฐานที่เรียกว่าอินทรีย์วิถีไทย ไม่ได้ทำแนวกันชน ไม่ได้ทำบ่อพักน้ำ ก็มีคำถามว่าแล้วป้องกันสารเคมีอย่างไร ในเชิงภาคใหญ่ไม่สามารถป้องกันได้ เพราะว่ายังใช้รถไถอยู่ การทำตามเกษตรอินทรีย์ตามมาตรฐานหลักแล้วการใช้รถไถวิ่งมีผลจะไม่ได้รับรองมาตรฐานด้วยในบางปี ส่วนการทำนาอินทรีย์ของคุณกรใช้มาตรฐานที่เรียกว่าอินทรีย์วิถีไทย ภาษาอังกฤษเราเรียก Earth safe standard เป็นการแกะมาจากทฤษฎีบันไดเก้าขั้นสู่ความพอเพียงร่วมกับมูลนิธิรักดินรักน้ำ Earth safe foundation ที่ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยหัวใจ ทำเกษตรอินทรีย์ด้วยปรัชญา ไม่ได้ทำเกษตรอินทรีย์ตามหลักมาตรฐานของใคร ทำตามมาตรฐานที่ลอกเลียนแบบครูคนหนึ่งของ คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทำอยู่ ทำกิน ที่ปลูกอยู่ ปลูกกิน ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อกินเองเป็นหลัก ไม่ได้ปลูกข้าวอินทรีย์เพื่อขอมาตรฐานของภาครัฐ ทางกลุ่มคุณกรสื่อความสำคัญในข้อนี้ให้ผู้บริโภคได้เห็น ถ้าคุณอยากได้ข้าวอินทรีย์ที่ได้รับการรับรองจากภาครัฐหรือภาคเอกชน เกษตรกรต้องแบกรับอะไรบ้างอย่างที่บอกคือ ต้องทำบ่อพักน้ำ ต้องมีเอกสารสิทธิ์ ต้องมีบัตรประชาชน แต่ของกลุ่มคุณกร บางพื้นที่ ๆ ทำนาเอกสารสิทธิ์ไม่มี บางที่เป็นใบ บภท. หรือใบภาษีบำรุงท้องที่เท่านั้น เกษตรกรในเครือข่ายบางคนไม่มีบัตรประชาชน บางคนมีบัตรประชาชนแต่ยังไม่ได้สัญชาติไทยก็มีเหมือนกัน ตรงนี้ทำให้เป็นข้อจำกัดของเกษตรกรรายย่อยที่ร่วมกับกลุ่มที่ยังไม่สามารถขอมาตรฐานหลักของชาติได้ ทั้ง ๆ ที่เขาทำเกษตรอินทรีย์อย่าง 100%
ตอนนี้คุณกรทำงานในกลุ่มวิสาหกิจสังคมบ้านรักษ์ดิน มีการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมตามกฎหมายของวิสาหกิจเพื่อสังคมของประเทศไทย ตั้งมาแล้ว 10 ปี เมื่อย้อนหลังกลับไปตั้งแต่คุณกรเริ่มเป็นเกษตรกร ระหว่างที่ทำนาอินทรีย์ 120 วัน คุณกรทำนาอยู่สองวัน คือวันที่ดำ กับวันที่เกี่ยวข้าวอีก 118 วัน คุณกรใช้วิธีการทำตลาดออนไลน์ ซึ่งทำให้เกษตรกรรุ่นใหม่หันมาสนใจการทำแปรรูปผงพอกหน้าข้าวหอมมะลิและการทำข้าวอินทรีย์ การทำแพ็คกิ้งบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ มากขึ้น ผลิตภัณฑ์ตัวแรก คือ ข้าวหอมมะลิ 105 อินทรีย์แพ็คบรรจุสุญญากาศ แล้วก็แบ่งมาทำผงพอกข้าวหอมมะลิด้วย หลังจาก 120 วัน ก็มีการปลูกพืชหลังนา คือ การปลูกถั่วเหลือง ถั่วเขียว งา ธัญพืช พวกนี้ปลูกเพื่อบำรุงดินเป็นหลัก
ในช่วงแรกของปีที่ปลูกเป็นพืชหลังนานี้ ปลูกจนออกดอกแล้วก็ไถพรวนให้เป็นปุ๋ยอินทรีย์ธรรมชาติ จะได้ถั่วเหลือง ถั่วเขียวอินทรีย์ด้วย เป็นพืชหลังนาที่นำมาไว้กิน ใช้ทานก็ได้หรือว่าเอามาแปรรูปก็ได้ แต่ทางกลุ่มคุณกรนำมาแปรรูปเป็นผงพอก ผงสครับผิวจากถั่วเขียวอินทรีย์ เป็นผลิตภัณฑ์ที่ทำจำหน่าย แล้วต่อมาก็เริ่มจากที่มีถั่ว มีนา มีข้าว แล้วก็เริ่มคิดว่าการที่จะบำรุงดินให้ดี ต้องทำต้องปรุงดินให้ดีก่อน เพราะพอดินดี ดินก็จะเลี้ยงพืช แล้วพืชก็จะมาเลี้ยงเรา ก็เลยคิดต่อยอดการทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลไส้เดือนเพื่อใช้เองเป็นหลักก่อน เพื่อทดลองใช้กับตัวเองก่อน พอทำได้แล้วก็เลยเริ่มคิดแบบนักการตลาดเพราะเคยทำงานธนาคาร เอาปุ๋ยอินทรีย์ไปเสนอให้เกษตรกรรายย่อยลองใช้แบบใช้ฟรีเลยโดยขอยืมแปลงคะน้าหนึ่งร่องที่กาญจนบุรี จะปลูกคะน้าเป็นร่อง ยกร่องขึ้นมา เลยขอหนึ่งร่องใช้มูลไส้เดือนของกลุ่ม ฯ อย่างเดียวโดยไม่ต้องใช้ปุ๋ยเคมี ไม่ต้องใช้ยาฆ่าแมลงใด ๆ เลย คะน้าปกติอายุเขาจะเก็บอยู่ที่ 45 วันหลังจากวันปลูก แต่คะน้าของที่ใช้ปุ๋ยไส้เดือนของกลุ่ม 20 วันผ่านไปยังไม่โต เกษตรกรก็โทรมาหาคุณแต้ว่าเกิดอะไรขึ้น ก็ไปดูที่แปลงนี้ ไม่ใช่ว่าไม่โต แต่ว่ามันโดนหนอนกิน ที่โดนหนอนกินเพราะว่าแปลงข้างเคียงฉีดยาฆ่าแมลงแต่แปลงของกลุ่ม ฯ มันปลอดสาร มันอินทรีย์ 100% ทำให้แมลงมารุ่มกินที่แปลงเรา จุดเริ่มต้นตรงนี้คือเริ่มต้นจากที่ต้องการไปเปลี่ยนแปลงคนอื่น อยากให้สังคมนี้เป็นอินทรีย์ 100% ตามความคิดของคุณแต้ แต่ปรากฏว่ามันเป็นความคิดที่ผิด พอมานั่งคิดทีหลัง รูปแบบการทำงานในการที่จะเปลี่ยนคนอื่นมันผิด เลยต้องมาเปลี่ยนที่ตัวเอง ก็เลยย้ายทุกสิ่งทุกอย่างที่เราไปสร้างเครือข่ายไว้มาทำศูนย์เรียนรู้อินทรีวิถีไทย earth save กิจกรรมเพื่อสังคมบ้านรักษ์ดินที่นี่ คือ ให้เกษตรกรหรือผู้ที่สนใจเข้ามาเรียนรู้แล้วไปต่อยอดเอง เพราะสังเกตว่าที่บ้านรักษ์ดินที่กาญจนบุรีแห่งนี้จะมีการเลี้ยงไก่ไข่อินทรีย์วิถีไทยที่เรียกว่าไข่ไก่ขบถ ไข่ไก่ขบถที่นี่จะเลี้ยงแบบโมเดล เป็นโมเดลเล็ก ๆ ให้เกษตรกรหรือผู้สนใจมาเรียนรู้ กลับบ้านไปที่ไร่ที่นาก็ไปออกแบบขยายพื้นที่การเลี้ยงเอาเองโดยหลักการของไข่ไก่ขบถ กลุ่มวิสาหกิจของคุณแต้ปฏิเสธการใช้หัวอาหารที่เป็นอาหารกระสอบอาหารของบริษัทอย่าง 100% ให้ไก่กินสมุนไพร ให้ไก่กินต้นกล้วย กินผักตบชวา แล้วก็ให้สมุนไพร เช่น ฟ้าทลายโจร รางจืด ในการป้องกันโรค ช่วงเปลี่ยนฤดูไก่จะป่วยมาก ในช่วงร้อนต่อฝนหรือฝนต่อหนาวหนาวต่อร้อนอะไรแบบนี้ ก็จะให้ไก่กินฟ้าทะลายโจร ให้ไก่กินต้นกล้วย ผักตบชวาที่หมักเอาไว้ ให้มีสูตรอาหารที่มีโปรตีนเทียบเท่าอาหารกระสอบหรืออาหารของบริษัทเลย ตรงนี้ทำให้กลุ่มขายไข่ไก่ได้ในราคาที่แพงมากขึ้น ต้องใช้คำว่าแพงมากขึ้นเมื่อเทียบกับระดับเดียวกันกับไข่ไก่อินทรีย์ ทางกลุ่ม ฯ ขายไข่ไก่อยู่ที่ฟองละ 12 บาท โดยส่งไปที่ภัตตาคาร ร้านอาหาร ที่ชื่อว่าชานา อยู่ที่สยามดิสคัฟเวอรี่ และเซ็นทรัลเวิลด์สองที่ มีอยู่สองสาขาที่รับซื้อไข่ไก่ในเครือข่ายของคุณแต้ อันนี้เป็นตัวอย่างของผลิตภัณฑ์บ้านรักษ์ดินที่ทำมาตั้งแต่แรกเริ่ม ยังไม่รวมถึงชาสมุนไพรที่ตั้งชื่อกันว่า craft of tea คือ งานทำมือเป็นชาสมุนไพรที่ปลูกใต้ร่มไม้ เพราะว่ามันเกิดจากความเชื่อมั่นว่าสมุนไพรมาจากคำว่าสมุนแล้วก็ไพร สมุนก็คือลูกน้อง ไพรก็คือป่า สมุนไพรนี้ก็คือจะต้องมาคู่กับป่า ดังนั้นจะให้คนอยู่คู่กับป่าได้ คุณจะต้องมีรายได้จากป่าด้วยจากการเก็บของป่า จากการปลูกสมุนไพร บ้านรักษ์ดินได้ไปสร้างโครงการเป็นศูนย์การเรียนรู้การผลิตชาอินทรีย์ใต้ร่มไม้ที่ตำบลลุ่มสุ่ม อำเภอไทรโยค จังหวัด กาญจนบุรี เหมือนกัน คือ ชาวบ้านจะเดินเข้าป่าชุมชนพร้อมกับไม้ยืนต้นหนึ่งต้น แล้วก็สมุนไพรเพื่อไปปลูกในราวป่า ปลูกใต้ร่มไม้ อย่างเช่น ดอกอัญชัน ตะไคร้ ใบเตย รางจืด มะตูม กระเจี๊ยบ พวกนี้สมุนไพรอย่างง่าย ปลูกในป่าชุมชนโดยคนที่ดูแลป่า ทำให้เกษตรกรของตอนนี้มีรายได้ผลิตชาสมุนไพร แล้วคนก็จะกลับไปอยู่กับป่าได้ คนที่เคยเข้าไปทำงานในเมืองแล้วแพ้เมืองกลับมา หรือเกิดเหตุอะไรที่จะต้องกลับบ้านก็จะมีงานให้ทำในชุมชน โดยที่ไม่ต้องไปดิ้นรนหางานที่อื่นทำ แล้วก็นำมาแปรรูปต่อที่บ้านรักษ์ดิน ที่กาญจนบุรีนี้ ก่อนที่จะบรรจุแพ็คในกระป๋องอะลูมิเนียมนำไปจำหน่าย ทำให้ผู้บริโภคที่ซื้อสินค้าของกลุ่ม ฯ ทุกผลิตภัณฑ์ ถือว่าได้ร่วมกันทำงานในเชิงอนุรักษ์ที่บ้านรักษ์ดินได้ตั้งอุดมการณ์ไว้ คือ จะต้องทำงานเพื่อชุมชน ซึ่งอันนี้ได้ทำเป็นขั้นเป็นตอน
ในช่วงเริ่มแรก บ้านรักษ์ดินวางแผนการตลาดไว้เป็นออนไลน์ 80% อีก 20% เป็นออฟไลน์ ออนไลน์จะมี Facebook ส่วนตัว แล้วก็มีแฟนเพจ Facebook แล้วก็ Instagram มีเว็บไซต์ 4 ช่องทาง ก็ประมาณ 80% ที่เราขายสินค้าออนไลน์ อีก 20% ออฟไลน์ จะมีฟาร์มชอปตั้งอยู่ที่ไร่ด้วย แล้วก็จะมีตามร้านอาหาร มีคาเฟ่ที่เราส่งวัตถุดิบให้แล้วก็มีการนำผลิตภัณฑ์ของทางกลุ่ม ฯ ไปวางจำหน่ายด้วย นี่คือในช่วงแรก
แต่พอระยะเวลาผ่านไป ก็สามารถนำสินค้า หรือผลผลิตของกลุ่ม ฯ ไปจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดต่าง ๆ ได้ ในเครือเซ็นทรัลก็จะมีที่ท็อปมาร์เก็ต ที่สาขากาญจนบุรี สุพรรณบุรี แล้วก็ปิ่นเกล้าที่นำไปจำหน่ายแบบฝากขาย คือ วันนี้มีคะน้า 10 กำ ก็ถือไปขายในห้างได้ 10 กำ ถ้าหมดก็ไปนำกลับมาขายใหม่ ไปตัดใหม่ และอีกรูปแบบหนึ่งก็คือ เป็นการขายขาดซื้อขาด คืออะไรที่เรามีผลผลิตเป็นอินทรีย์ 100% สามารถเสนอไปให้ฝ่ายจัดซื้อของห้างเพื่อให้ออกไป PO หรือใบสั่งซื้อมาในล็อตนั้น ๆ ได้เลย แล้วห้างก็จะนำไปบริหารจัดการการขายต่อเองพรุ่งนี้ เป็นการทำงานร่วมกัน เป็นพาร์ทเนอร์ร่วมกัน ซึ่งการขายขาด นี่เราไม่สามารถกำหนดราคาได้ แต่การฝากขายที่บอกไว้ตามข้างต้นนี้ ทางกลุ่ม ฯ สามารถกำหนดราคาขายได้เองว่าคะน้ากำนี้เราจะขายกำละเท่าไหร่ เรากำหนดราคาไปได้เลย อีกห้างหนึ่งก็คือในเครือของเดอะมอลล์กรุ๊ป ก็จะเป็นพวกเอ็มควอเทียร์ เดอะมอลล์ กูร์เมต์มาร์เก็ต ก็จะมีการจำหน่ายในรูปแบบเดียวกัน คือมีความยืดหยุ่นมาก เกษตรกรในยุคนี้หรือคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ เกษตรพอเพียงนี้สามารถผลิตเพื่อไปจำหน่ายในห้างโมเดิร์นเทรดได้ โดยที่ไม่ต้องเน้นปริมาณไม่ต้องเน้น Volume แต่ให้เน้นที่คุณภาพของสินค้า ของผลผลิตของเรา
และในตอนนี้ งานของวิสาหกิจสังคมบ้านรักษ์ดิน ไม่ใช่อยู่แค่กาญจนบุรี มีอยุ่ทั่วประเทศโดยที่มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นตัวกลางที่สถาบันบ่มเพาะส่งเสริมเกษตรอินทรีย์วิถีไทยและอาหารได้เชื่อมประสานระหว่างหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ที่พยายามจะสร้างมาตรฐานที่เรียกว่ามาตรฐานอินทรีย์วิถีไทยที่ใช้ศาสตร์พระราชาเพื่อที่จะส่งออกสินค้าเกษตรอินทรีย์ให้คนทั่วโลกได้รู้ว่า เศรษฐกิจพอเพียงของในหลวงรัชกาลที่ 9 ของเราได้แก้ปัญหาความหิวโหย ปัญหาความขาดแคลนทางอาหารได้ทุกมิติเลย เพราะว่าเศรษฐกิจพอเพียงไม่ใช่การผลิตอาหารเท่านั้น แต่คือการพัฒนาคน เป็นศาสตร์แห่งการพัฒนาคนหรือเป็นวิชาแห่งการสร้างคนนั่นเอง
ส่วนเรื่องรายของการทำเกษตรอินทรีย์ ในปีแรกคุณกรตั้งเป้าไว้ว่าจะได้รายได้แค่พอเลี้ยงตัวเองได้คนเดียว ตอนทำงานประจำก็เงินเดือนหลักหมื่น ก็หวังว่าเอาเท่านั้น ปรากฏว่าได้ข้าวสารมา 1 ตันหรือหนึ่งเกวียน หรือ 1000 กิโลกรัมนี้ จากที่เรามีการแบ่งปัน 50% นี้เราเก็บเอาไว้ทานเองก่อน แล้วอีก 50% ก็แบ่งไว้แปรรูป เป็นผงพอกหน้าเข้าหอมมะลินี้ 30% หรือว่า 300 กิโลกรัม และก็นำเข้าหอมมะลินี้เข้ากระบวนการโม่บดเป็นผงแป้ง แล้วก็จำหน่าย 1 กิโลกรัม / 199 บาท ก็เท่ากับว่าผมจำหน่ายข้าวได้ในกิโลกรัมละ 1999 บาทข้าว 300 กิโลกรัม ทำให้เรามีรายได้เข้ามาจากการแปรรูป ซึ่งเกษตรกรที่ทำเกษตรอินทรีย์นี้ถ้าหากว่าต้องการมีความมั่นคงทางการเงิน ต้องแปรรูป ถ้าหากว่ายังขายผลผลิตสดอยู่เราไม่สามารถกำหนดราคาหรือว่าไม่สามารถสร้างความมั่นคงทางด้านการเงินได้ เพราะว่าคนไทยยังทานผักที่รูปลักษณ์ภายนอกอยู่ แต่ถ้าหากว่ามีผักอินทรีย์วางอยู่กับผักเคมีวางอยู่ในราคาที่ต่างกัน แน่นอนว่าทุกคนเลือกที่ความสวยงามก่อน คุณค่าทางอาหารมาทีหลังตรงนี้จะเป็นจุดอ่อนของคนที่ทำเกษตรอินทรีย์ ดังนั้นหากมีการแปรรูปเมื่อไหร่ถ้าคุณทำการตลาดได้ มันจะมีช่องทาง มีอนาคตที่จะสร้างรายได้ที่มั่นคงและยั่งยืนได้
ในช่วงปีแรกคุณกรจำหน่ายผลผลิตที่เป็นข้าวอินทรีย์ในผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ที่แปรรูป ต่อมาก็มีมูลหมักไส้เดือนที่เลี้ยงไส้เดือนเอาไว้ผลิตปุ๋ยเพื่อใช้เอง จำหน่ายอยู่ที่กิโลกรัมละ 50 บาท ยังไม่รวมน้ำมูลหมักไส้เดือนที่จำหน่ายในราคาลิตรละ 90 บาท หนึ่งเดือนผลิตได้ประมาณ 100 ลิตรคูณ 90 บาทเข้าไปก็จะได้เป็นตัวเลขออกมา แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นอยู่ที่ความขยันของเกษตรกรหรือว่าความขยันของตัวเองด้วย ต้องตั้งเป้าว่าเดือนนี้เราต้องการรายได้เท่าไหร่ ทำเกษตรพอเพียงไม่ใช่ว่าจะต้องใส่เสื้อม่อฮ่อม จะต้องทำงานตากแดดเสมอไป ทำเกษตรพอเพียง ทำเกษตรอินทรีย์วิถีไทย ถ้าทำแบบมีปรัชญาแล้วสามารถมีรายได้ สามารถรวยได้ แล้วก็เป็นความรวยที่ยั่งยืนต่อสังคมด้วย
ด้วยการที่ทางกลุ่มวิสาหกิจสังคมบ้านรักษ์ดินผลิตอินทรีย์แปรรูปจำหน่ายในช่องทางทั้งออนไลน์ และทั้งออนกราวน์ แล้วก็ออฟไลน์ ต่อมาหลังจากเริ่มมีมูลไส้เดือนแล้ว ก็มีผลผลิตที่เป็นผักอินทรีย์ ผักผลไม้อินทรีย์ ผลิตภัณฑ์แปรรูปต่าง ๆ ชาสมุนไพร ก็ได้นำไปจำหน่ายในห้าง แล้วเราได้นำไปจำหน่ายเอง เกษตรกรได้ไปคุยกับผู้บริโภคเอง ไปคุยกับลูกค้าเอง ไม่น่าเชื่อมีเท่าไหร่ก็ขายหมด เพราะว่าพอลูกค้าเชื่อมั่นแล้ว เชื่อมั่นในแบรนด์แล้ว เชื่อมั่นในตัวคนแล้ว เขาจะไม่เปลี่ยนแล้ว เพราะว่าเขาเชื่อถือแล้ว และผลิตภัณฑ์ของกลุ่ม ผักของกลุ่มมีการติดสติ๊กเกอร์ มีการบ่งบอกชี้มาสแกนคิวอาร์โค้ดแล้วสามารถเห็นหน้าผู้ปลูกผักชนิดนั้นนั้นเลย ทำให้เกษตรกรสามารถเปิดฟาร์มให้ลูกค้าหรือผู้บริโภคเข้ามาตรวจเยี่ยมที่แปลงได้ทุกวัน ฟาร์มของเราทุกที่จะไม่มีการปิดรั้วล้อมล็อคประตูไว้ ผู้บริโภคสามารถเข้ามาตรวจสอบย้อนกลับมาเยี่ยมที่แปลงที่ฟาร์มได้ทุกวันทุกเวลา หรือสามารถมาตัดผักที่แปลงทานเองได้ฟรีเลย อันนี้ก็เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง เป็นการท่องเที่ยวเชิงเกษตรที่ทำอยู่ทุกวันนี้ ซึ่งรายได้จากการจำหน่ายผักอินทรีย์ในห้างต่างๆ ก็ไม่ธรรมดาทีเดียว เพราะว่าอย่างที่จังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี ก็มีการจำหน่ายได้ที่มีการตั้งเป้าเดือนหนึ่งก็ประมาณ 30,000 ถึง 40,000 บาท อันนี้เป็นการตั้งเป้าเอาไว้ รายได้ทุกบาททุกสตางค์จะถูกย้อนกลับไปที่เกษตรกร ทำให้เกษตรกรมีกำลังใจในการเพาะปลูกเพิ่มมากขึ้น มีการไปขยายแปลงเพิ่มมากขึ้น มีการไปซื้อที่เป็นเมล็ดพันธุ์อินทรีย์เพื่อไปปลูกต่อขยายไปสร้างศูนย์เรียนรู้ต่าง ๆ เพิ่มขึ้น ซึ่งรายได้ตรงนี้เมื่อคืนกลับไปที่ชุมชนแล้ว ก็สามารถที่จะสร้างงานต่อได้ ดึงคนที่อยู่ข้างนอกให้กลับมาได้ อันนี้เป็นการทำงานอีกมิติหนึ่งของบ้านรักษ์ดิน
เครือข่ายของบ้านรักษ์ดินอินทรีย์วิถีไทยในกาญจนบุรีมีประมาณ 50 ราย แบ่งเป็นกลุ่มเกษตรกรที่ผลิตข้าวอินทรีย์ ปศุสัตว์อินทรีย์ เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด เนื้อหมูหลุมอินทรีย์ ประมงอินทรีย์ แล้วก็มีกลุ่มที่ผลิตผักและผลไม้ ก็แยกกัน ยังไม่รวมถึงกลุ่มที่เป็นปัจจัยการผลิต เช่น ปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักชีวภาพมาจำหน่ายให้กับเกษตรกรที่ต้องการใช้ในราคากลุ่มที่จะแตกต่างจากการจำหน่ายขายปลีกทั่ว ๆ ไป ตอนนี้มีประมาณ 50 รายที่ทำงานร่วมกันอยู่เฉพาะที่กาญจนบุรี ยังไม่รวมจังหวัดอื่น ๆ ที่เราสร้างเครือข่ายเอาไว้ซึ่งในปีนี้ก็ตั้งเป้าไว้ว่าจะขยายไปให้ได้ซักประมาณ 50% หรือ 100% ของกาญจนบุรี
รายได้ปัจจุบันของวิสาหกิจเพื่อสังคมบ้านรักษ์ดินในปีนี้ ได้เดือนหนึ่งก็ประมาณ 300,000 บาท ก็จะกระจายไปให้เกษตรกรในเครือข่าย แต่ละบ้านก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นจากเดือนละ 9,000 บาท 10,000 ก็จะกลายเป็น 15,000 บาท 20,000 บาทบางบ้านจากการจำหน่ายผักอินทรีย์นี้ มีรายได้สามารถเลี้ยงคนได้ถึงสองคนคือ 30,000 บาทต่อเดือน
คุณกร - คุณสิริกร ลิ้มสุวรรณ ที่อยู่ 156/51 หมู่ 9 ต.ปากแพรก อ.เมือง จ.กาญจนบุรี 71000 FB.วิสาหกิจเพื่อสังคม บ้านรักษ์ดิน

