

"วุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ : ผักออร์แกนิค "ไทบ้านฟาร์มเมอร์""

ถ้าเราไม่ล้มเลิก

คำที่คุณต่าย – วุฒิพงศ์ พลอยวิเลิศ ใช้เป็นบทพิสูจน์เป็นการดำเนินชีวิตคือ “ไม่มีคำว่าล้มเหลว ถ้าเราไม่ล้มเลิก” เนื่องจากคุณต่ายทำทุกอย่างล้มเหลวมาตลอด แต่ทำสำเร็จแค่ครั้งเดียว คือการปลูกผักสลัด คุณต่ายสำเร็จเพียงแค่หนึ่งครั้งเท่านั้น แล้วก็สำเร็จเลย หลังจากนั้นคุณต่ายก็ยังล้มเหลวอยู่กับการทำสิ่งใหม่ ๆ แต่ไม่เคยล้มเลิก และวันที่มันสำเร็จก็เกิดขึ้นในที่สุด แต่ถ้าวันนั้นคุณต่ายถอยหลัง หันหลังกลับไป และเลิกที่จะทำมัน เขาก็คือคนที่ล้มเหลวเลยทีเดียว จึงอยากจะฝากคนรุ่นใหม่ว่า วันนี้คุณมาทำการเกษตรหรือมาทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าคุณลงทุนกับความรู้ ลงทุนกับศักยภาพของตัวเอง คุณต่ายเชื่อว่าคุณจะไปต่อได้ เพราะเครื่องมือทุกอย่างมีให้คุณพร้อม ไม่ว่าจะเป็นเรื่องโลกที่มันแคบลง การเปลี่ยนแปลงวิถีของคนที่เขาเรียกว่า New Normal ในวิกฤตนี้หลายคนอาจจะตกงาน หลายคนอาจจะมองว่างานตัวเองเจอทางตัน คุณต่ายอยากให้เชื่อว่ามันมีโอกาสในวิกฤตเสมอ
ทุกวันนี้คุณต่ายมีชีวิตที่ดีขึ้นเยอะ แต่ละวันตื่นขึ้นมากินอิ่มนอนหลับ สามารถที่จะมาหาอะไรกินในพื้นที่ของตนเองได้ เดินมาหลังบ้านก็เจอแล้ว มีชีวิตที่ไม่ต้องรีบร้อน อยากกินอะไรก็กินไป นอกจากนั้นมีชีวิตที่ไม่ต้องไปรับคำสั่งใคร เพียงแต่ว่าทำตามความฝันของตนเองที่อยากจะมีอิสระในการใช้ชีวิต มีชีวิตที่กำหนดได้เองว่าวันนี้จะไปที่ไหน วันนี้จะทำงานอย่างไร เป็นคนกำหนดชีวิตตัวเอง ไม่ได้ตกเป็นทาสของเงินทอง ไม่ได้ตกเป็นทาสของความรีบเร่งหรือความวุ่นวายใด ๆ มีแค่ตื่นขึ้นมาและได้ทำอะไรที่ตนเองต้องการก็มีความสุขแล้ว
นอกจากนั้น ยังได้ทำบุญ มีสังคม มีเพื่อน วันหนึ่งมีคนเข้ามาซื้อผักเป็นแม่ชีก็มี เป็นคนที่วัดก็มี เขาบอกว่าเขาจะไปทำบุญที่วัด เขาบอกว่าเขาจะไปทำโรงทานให้เด็ก ก็ร่วมทำบุญไปด้วย หรือไม่ก็แถมผักไปทำบุญกับเขาอีกหนึ่งกิโลกรัม นี่ก็คือความสุขทางใจอย่างหนึ่ง
ส่วนความสุขอีกด้าน คือได้เห็นเพื่อน เห็นพี่น้องที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง เห็นพ่อแม่ของหลายคนหลายท่าน ครูบาอาจารย์ที่ป่วยเป็นโรคมะเร็ง ท่านเหนื่อยกับการวิ่งไปรักษา ท่านเหนื่อยกับการที่ต้องหาอาหารที่มากินแบบปลอดสารแน่ ๆ มาให้ตัวเองทาน วันนี้คุณต่ายมีความสุขที่ท่านมาหาเรา แล้วท่านบอกว่าท่านเอาผักของเราไปกิน เอาผลผลิตในฟาร์มของเราไปกินแล้วท่านรู้สึกดีขึ้น รู้สึกอุ่นใจขึ้น รู้สึกสบายใจขึ้น แล้วท่านก็ไปมาหาสู่ ท่านมีอะไรท่านก็มาหา ท่านมีอะไรท่านก็เอามาฝาก ตรงนี้คือความสุขมากกว่า
สุดท้ายเลยคือความสุขในสังคมที่คุณต่ายพบเจอ คือสังคมคนเกษตรอินทรีย์ พอมาทำตรงนี้ คนที่อยากจะทำเหมือนเขา คนที่คิดเหมือนเขาก็วิ่งเข้ามาหา เข้ามาปรึกษา คุณต่ายก็ให้คำปรึกษาคำแนะนำ ไม่ได้หวงความรู้ เป็นความสุขอย่างหนึ่งที่ไม่ได้ใช้เงินทองเป็นตัวตั้ง ไม่ได้ใช้อำนาจเป็นตัวตั้งในการใช้ชีวิต ใช้พื้นฐานปัจจัยง่าย ๆ เลยคือตื่นเช้าขึ้นมาจะกินอะไร ชีวิตเหมือนวัยเด็กที่ตื่นขึ้นมาไม่ได้คิดอะไรมากมาย เดี๋ยวลงไปในทุ่งนาอยากจะเล่นอะไรก็เล่น อยากจะกินอะไรก็กิน มันคือสิ่งที่คุณต่ายไม่ได้อะไรมากมายแล้วในชีวิต นี่คือสิ่งที่เรียกว่าความสุขในวันนี้ของเขา
สำหรับคนที่อยากจะกลับมาทำเกษตร สิ่งแรกที่ต้องมีเลยคือ ความรู้ อยากให้ทุกคนอย่ามาเริ่มต้นใหญ่ อย่าลาออกจากงานแล้วมาลงมือทำเลย อันนั้นเป็นสิ่งที่คิดว่ามันไม่ถูกต้อง คุณต่ายเคยผ่านจุดนั้นมาแล้วมาทำโดยไม่มีความรู้ เวลาทำโดยไม่มีประสบการณ์จะทำให้ท้อหนักมากกับสิ่งที่ต้องทนฝันฝ่า จะต้องหาความรู้ให้ได้เยอะที่สุดก่อนที่จะลงมือทำ ในช่วง 3 เดือนแรก หาความรู้ให้เยอะที่สุด ต้องอดทนหน่อย ต้องให้เวลากับมันหน่อย ต้องหาความรู้ เมื่อได้ความรู้แล้ว ต้องมีทักษะหรือประสบการณ์เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นความรู้ในวิชาที่เราปลูก ความรู้จริงในสนามจริงที่เราลงมือทำ ในเมื่อเราได้ความรู้ 2 อย่างนี้ควบคู่กันไป ให้ทำในพื้นที่เล็ก ๆ ก่อน อย่าไปเริ่มทำใหญ่ คิดให้ใหญ่แต่เริ่มทำจากเล็ก ๆ พอทำได้แล้วค่อยขยายไปใหญ่ นี่คือสิ่งที่อยากจะฝากไว้
เรื่องที่สอง คือเรื่องต้นทุนชีวิต หลายคนบอกว่าจะมาเริ่มทำเกษตรอินทรีย์ สิ่งที่ต้องมีคือเงินซึ่งคุณต่ายเห็นต่าง ตอนที่เริ่มมาทำฟาร์มต้นทุนชีวิตของคุณต่ายคือความรู้กับเรื่องการบริหารและการวางแผนในชีวิต เขาบอกว่าเขาไม่มีความพร้อมอะไรสักอย่าง ครอบครัวก็ไม่ได้สนับสนุน เงินทุนก็มีไม่เยอะ แต่คุณต่ายมีความรู้ที่จะนำมาต่อยอด คือความรู้ที่เป็นต้นทุนของชีวิต ดังนั้น คนที่จะมาทำเกษตรอินทรีย์จริง ๆ มีเงินก็ไปไม่รอด คุณต่ายเห็นมาเยอะที่จะไปทำฟาร์มตามแบบที่คนอื่นทำและมีรายได้เดือนละแสน สองแสน แล้วบอกว่าต้องลงทุนสร้างโรงเรือน ซื้ออย่างนั้นซื้ออย่างนี้ แต่ไม่มีความเข้าใจ หรือศึกษาไม่ดีพอ ทำให้เกิดความเสียหายได้ สำหรับคุณต่ายแล้วการไม่มีต้นทุนในชีวิตเป็นเรื่องดีด้วยซ้ำ แต่หากเรามีศักยภาพเป็นต้นทุน สิ่งเหล่านี้ทำให้ก้าวเดินได้อย่างมั่นคงและมั่งคั่ง เนื่องจากเราเรียนรู้มาจากสิ่งที่ไม่มีเลย ถึงจุด ๆ หนึ่งถ้ามีอะไรเกิดขึ้น เราจะรู้สึกถึงคุณค่าและความหมายของมันทุกมิติ จึงอยากจะฝากคนรุ่นใหม่ว่า สิ่งแรกที่คุณต้องทำเลยในการมาทำเกษตรอินทรีย์คือทำตัวเองให้มีศักยภาพ สร้างคุณค่าให้เกิดขึ้นกับตัวเอง เพราะว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่คุณไม่ต้องไปลงทุนอะไรเลย คุณลงทุนวันนี้ คุณศึกษาหาความรู้ ทดลองลงมือทำ อย่ามัวนั่งคิดแล้วนั่งรอให้โอกาสเข้ามาหา ถ้าคุณเป็นอย่างนั้นคุณจะไม่มีการเปลี่ยนแปลงในชีวิตเกิดขึ้น

ในช่วงโควิดที่ผ่านมาสิ่งที่คุณต่ายเจอ คือ คนอยู่บ้านมากขึ้น คนไม่ออกมา ทางฟาร์มก็ต้องปรับเปลี่ยน โดยการ จากเดิมที่ตั้งรับอยู่ที่ฟาร์ม ก็มีไลน์กลุ่มเกิดขึ้น มีเฟสบุ๊คแฟนเพจเกิดขึ้น ก็วิ่งส่งในพื้นที่ แล้วก็ต่อยอดขึ้นไปอีก คือ การแปรรูป เพราะว่าผักมันไม่สามารถส่งทางไกลได้ ก็ต้องปรับเปลี่ยน อย่างเดิมที่มีกล้วยอยู่แล้ว เคยขายกล้วยสุก ก็เปลี่ยนใหม่มาแปรรูปเป็นกล้วยตากขาย เชื่อไหมว่า กล้วยสดแค่หวีละ 40 บาท หวีหนึ่ง 1.5 กิโลกรัม เปลี่ยนมาเป็นกล้วยตากหนึ่งกิโลกรัม 300 บาท สามารถขายให้คนทั้งประเทศได้ ออเดอร์ไม่เพียงพอ ซึ่งตรงนี้เป็นโอกาสที่ไม่ได้มองมันมาก่อน หรือกล้าที่จะออกไปทำมัน โดยที่เดิมอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยหรือ Comfort Zone ของตัวเอง ก็คิดว่าแค่นี้ก็ดีแล้ว แต่ไปถึงจุด ๆ หนึ่งที่ต้องปรับเปลี่ยน เนื่องจากสถานการณ์ตอนนั้น ถ้าเราอยู่อย่างนั้น จะไปไม่รอด ถ้าเราไม่ทำหรือไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ตรงนี้ อากาศไม่ค่อยดี หายใจไปยังไงก็ตาย ก็แค่ย้ายตัวเองออกมาจากตรงนั้น ไปยังจุดที่มันอากาศดี แล้วก็ไปหายใจเหมือนเดิม แล้วก็รอด การทำงานก็เหมือนกัน ถ้าทำเหมือนเดิมแล้วมันไปไม่รอด ก็แค่หาเส้นทางจากจุดที่เราอยู่ มันจะมีทางออกเสมอ ทุกวันนี้คุณต่ายก็ปรับเปลี่ยน คือจากเดิมที่ตั้งรับอยู่ที่ฟาร์ม ก็เปลี่ยนเป็นแปรรูปจัดส่งออกไป ทำแปลงผักน็อคดาวน์ส่งทั่วประเทศ มีปัจจัยการผลิตเกิดขึ้น มีสิ่งใหม่ใหม่เกิดขึ้น มีความรู้ มีวิธีการใหม่ ๆ ที่ไม่เคยเรียนเคยศึกษาเกิดขึ้นเพียงแต่ต้องไม่หยุดคิดหยุดพัฒนา แค่นี้ชีวิตของเราก็ก้าวหน้าไปได้แล้ว
หนุ่มไทบ้านคนนี้อายุยังไม่มากเลย คุณกระต่าย - วุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ อายุ 29 ปี ทำฟาร์มผักอินทรีย์ นามว่าไทบ้านฟาร์มเมอร์ อยู่ที่ อ.กุฉินารายณ์ จ.กาฬสินธุ์ ที่นี่ปลูกผักสลัดชนิดต่าง ๆ ทั้งปี และยังมีผักพื้นบ้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นพริก มะเขือ กะเพรา โหระพา แมงลัก กระเจี๊ยบเขียว ซึ่งทั้งหมดเป็นผักออร์แกนิคอย่างแท้จริง และเหตุที่ตั้งชื่อฟาร์มว่าไทบ้านฟาร์มเมอร์ เพราะสำหรับเขา คำว่าไทบ้านเป็นภาษาอีสาน แปลว่าชาวบ้านธรรมดา ๆ ความใฝ่ฝันตั้งแต่เด็กของคุณต่ายคือ อยากเป็นชาวบ้าน อยากเป็นเกษตรกร แล้วตัวเขาเองเป็นคนอีสาน เป็นคนบ้านนอก ก็เลยอยากสื่อให้ทุกคนเข้าถึงตรงนี้ว่า คำว่า “ไทบ้าน” มันสามารถที่จะเติบโตไปได้ แล้วก็เลี้ยงชีพได้อย่างสมาร์ท เพราะว่าในภาพลักษณ์ ถ้าในคนอีสานบอกว่าไทบ้าน จะหมายถึงชาวบ้านทั่วไปที่ไม่มีอะไรเลย แล้วมันก็รู้สึกต่ำต้อยในคำว่าไทบ้าน แต่ในขณะที่มันเป็นแก่น เป็นรากลึกของคนอีสาน ก็เลยอยากจะสื่อถึงตรงนี้ออกไปว่า “ฉันคือชาวบ้านคนหนึ่งที่มาทำการเกษตรแล้วก็เป็นลูกอีสานที่มาทำการเกษตรบนบ้านเกิดของตัวเอง ไม่ได้ทิ้งไปไหน”
คุณต่าย - วุฒิพงศ์ เรียนจบคณะวิทยาศาสตร์ ภาควิชาเคมี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ตอนเรียนจบ บริษัทที่เกี่ยวกับการเกษตรก็จองตัวมาทำงานเลย เพราะว่าตอนนั้นคุณวุฒิพงศ์เรียนจบสามปีครึ่ง พอจบมาบริษัทก็จองตัวไปทำงานในตำแหน่งหัวหน้าห้องทดลอง ทำงานได้อยู่ 2 ปี ตอนนั้นรู้สึกว่ามันขัดกับความฝันของตัวเองที่อยากเป็นเกษตรกรตั้งแต่เด็ก ๆ แต่ด้วยความที่ไม่มีต้นทุน ก็เลยศึกษาหาความรู้เพื่อที่จะเอามาต่อยอดในการดำรงชีวิต พอไปถึงจุดหนึ่งทำงานได้ 2 ปี ถึงจุดที่คิดว่าถึงเวลาที่ต้องรีบกลับมาทำฟาร์มเกษตรอินทรีย์ตามความตั้งใจแล้ว จึงลาออกมา แต่ก็ยังทำงานเป็นติวเตอร์ด้วย
ตอนกลับมาทำเริ่มแรกพ่อแม่ไม่เห็นด้วย เพราะมันเป็นค่านิยมของคนอีสานส่วนมากที่อยากให้ลูกหลานได้มีชีวิตที่ดีขึ้น เพราะว่าเขาทำเกษตรกรแบบเก่าที่มันไม่เกิดการเปลี่ยนแปลงเลย เขาก็เกิดค่านิยมว่าต้องให้ลูกหลานมีเงินเดือนประจำ เป็นข้าราชการ พ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วยกับการที่คุณต่ายต้องมาทำเกษตร เพราะภาพพจน์ของคนทำเกษตรในพื้นที่คือ หน้าดำคร่ำเครียด ลำบาก แต่คุณต่ายก็ขอเช่าที่ดินของพ่อแม่ทำการเกษตรก่อน 1 ปี
ตอนที่เช่าที่พ่อแม่ตัวเองอยู่นั้น คุณต่ายทำธุรกิจของตัวเองไปด้วย ตอนนั้นทำงานอยู่ที่ขอนแก่น คือ เปิดติวเตอร์ไปด้วย จึงทำให้ไม่มีเวลาศึกษาอย่างเต็มที่ ทำให้ในช่วงแรกตอนนั้นไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการผลิตที่ไม่สามารถที่จะปลูกผักออร์แกนิคให้มันสวยงามออกมาได้ ก็เลยไม่เกิดความชัดเจนอย่างมาก พอผ่านไปหนึ่งปีพ่อแม่ก็ไม่เห็นด้วย คุณต่ายเลยแยกออกมาทำของตัวเองโดยการเก็บเงินจากการทำธุรกิจมาซื้อที่ดิน 13 ไร่ตรงนี้ ทำเองตั้งแต่ครั้งแรก จากที่ดินรกร้างว่างเปล่าเป็นทุ่งนา เริ่มจากมาปรับที่ ขุดบ่อทำโคกหนองนาทั้งหมด
การมาทำบนพื้นที่ของตัวเองครั้งนี้ เจออุปสรรคใหญ่หลวงมากคือ เรื่องของที่ดิน ที่ดินตรงนี้เดิมทีเป็นดินลูกรัง เจ้าของเดิมเขามีการขุดลอกหน้าดินออกไปขาย คุณต่ายมาทำเกษตรอินทรีย์ที่ชาวบ้านบอกว่า ถ้าไม่ใช้สารเคมียังไงปลูกผักก็ไม่งาม แต่ด้วยความตั้งใจและอุดมการณ์ อีกทั้งยังเป็นนักเคมี คุณต่ายรู้อยู่แล้วว่าปัญหาในการทำเคมีมันเป็นอย่างไร ก็เลยมาทำ แต่โชคดีตรงที่ที่ดินตรงนี้มันอยู่ใกล้โรงงานการเกษตร ไม่ว่าจะเป็นโรงงานน้ำตาล โรงงานแป้งมัน ซึ่งเป็นข้อได้เปรียบอย่างมากของไทบ้านฟาร์มเมอร์ เพราะว่าวัตถุดิบในการทำปุ๋ยอินทรีย์มีค่อนข้างที่จะครบถ้วน แล้วราคาก็ถูกมาก ก็เลยสามารถที่จะพลิกฟื้นพื้นแผ่นดินตรงนี้กลับคืนมา สามารถที่จะปลูกผักออร์แกนิค ผักอินทรีย์ได้อย่างงดงาม นี่คือปัญหาแรกที่ไทบ้านฟาร์มเมอร์เจอ
ปัญหาที่สองที่เจอคือเรื่องของสภาวะแวดล้อม สังคมไทยในตอนนั้นภาพลักษณ์เดิมเราทำงานประจำเป็นหัวหน้าห้องแลปเงินเดือนก็สูง 30,000 กว่าบาท ใส่ชุดกาวน์เดินเข้าตลาดเวลาไปซื้อของคือตัวขาวเพราะทำงานอยู่ในห้องแอร์ไม่ได้ตากแดด ชาวบ้านแถวนี้เขาก็รู้สึกว่าดูดี สบาย แต่มันสบายกายไม่ได้สบายใจ เพราะเราต้องปวดหัวคร่ำเครียดกับการทำงานอย่างนั้นทุกวัน ซึ่งมันไม่มีความสุข พอผันตัวมาเป็นเกษตรกรซึ่งในตอนแรกคุณต่ายต้องทำเองทุกอย่าง เพราะว่าต้องมีความรู้ ต้องมีประสบการณ์เพื่อที่จะวางแผนแล้วก็เตรียมที่จะก่อสร้างขึ้นไปหรือต่อยอดขึ้นไปให้ได้ พอมาเป็นเกษตรกร เวลาเดินเข้าตลาด แม่ค้าที่ตลาดที่เคยเป็นคนรู้จักกันก็จะชอบถามว่าทำไมลาออกมาทำฟาร์ม ทำไมทำงานในห้องแอร์ดี ๆ ตัวขาว ๆ เงินเดือน 30,000 กว่าบาท แล้วมาทำเกษตรที่มันไม่เห็นอนาคตเลย คนแถวนี้เขามองว่ามันไม่มีอนาคตเลย ตัวดำคร่ำเครียดไม่ดูดีเหมือนแต่ก่อน เงินประจำก็ไม่มี คุณต่ายก็เลยตัดสินใจว่าไม่เข้าตลาดดีกว่า เพราะจะเจอคำพูดของคนอื่นที่มาบั่นทอนการใช้ชีวิตของตัวเอง จึงเลือกที่จะตัดตรงนั้นทิ้ง เพราะคนมาทำเกษตรส่วนมากถ้าเป็นคนรุ่นใหม่เลย สิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ต้องก้าวผ่านไปให้ได้ นั่นคือแรงกดดันจากสังคมรอบข้าง คุณต่ายจึงกลับมาอยู่ที่ฟาร์ม ทำทุกอย่างแบบค่อย ๆ ทำ ค่อย ๆ เรียนรู้ ไม่ย่อท้อ ไม่ถอยกับสิ่งที่ทำ จนวันนี้ผ่านมาปีหนึ่ง มีรายได้แล้ว ยืนได้แล้ว และยืนได้อย่างสมาร์ทด้วย สามารถซื้อรถได้เป็นคัน คุณต่ายซื้อรถฟอร์จูนเนอร์เลย แล้วก็มีคนงาน ตัวคุณต่ายเองบริหารฟาร์ม และวันนี้กลับเข้าไปเดินในตลาดได้แล้ว คำพูดที่ได้ยินมันกลับกันจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคำว่าทำไมมาทำสิ่งที่มันไม่เห็นอนาคต กลายเป็นว่าเขาจะถามเลยว่าวันนี้เสี่ยจะมาซื้ออะไร นี่คือสิ่งที่พิสูจน์ให้ทุกคนเห็นว่าทำเกษตรก็ประสบความสำเร็จได้
เมื่อเริ่มต้นทำบนพื้นที่ของตนเอง ไทบ้านฟาร์มเมอร์มีพื้นที่ทั้งหมด 13 ไร่ แบ่งเป็นโซนต่าง ๆ โซนแรกจะไล่จากข้างหลังไปยังข้างหน้า เพราะว่าเริ่มแรกเดิมทีพื้นที่ที่นี่จะเป็นขั้นบันไดลงมา ข้างหน้าจะสูงที่สุด ข้างหลังจะต่ำสุด แล้วเจ้าของเดิมลอกเอาหน้าดินไปขาย ก็จะมีพื้นที่หนึ่งที่เขาขุดเป็นบ่อที่ใช้งานไม่ได้เลย คุณต่ายก็เลยใช้หลักเกณฑ์ของโคกหนองนาโมเดลมาใช้ คือขุดจุดที่มันต่ำที่สุดให้เป็นแหล่งเก็บน้ำพื้นที่หนึ่งไร่ลึก 8 เมตร ขุดตรงนั้นขึ้นมาถมตรงที่มันสูงที่สุดข้างหน้าตั้งแต่เข้าฟาร์มมา พื้นที่หนึ่งไร่เป็นบ่อน้ำพื้นที่ต่อมาปลูกผักออร์แกนิคปลูกผักอินทรีย์อยู่ที่ประมาณสองไร่กว่า ๆ ในการปลูกผักอินทรีย์ที่จะมีทั้งปี พื้นที่ที่สามที่ถัดไปจากบ่อน้ำจะเป็นพื้นที่หนึ่งไร่กว่า ๆ จะเตรียมไว้สำหรับปลูกป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง เพื่อที่จะเป็นสิ่งที่รองรับในยามเกษียณ แล้วก็สามารถที่จะปลูกผลไม้มีพื้นที่ป่าให้เราได้อยู่อาศัยเก็บกินได้ในระยะยาว แล้วถัดไปข้างหลังแปลงผักจะเป็นพื้นที่ที่มันลุ่ม ที่เกิดภาวะน้ำท่วมขังทั้งปี เวลาเกิดฝนตกน้ำก็จะไปออที่ตรงนั้น คุณต่ายเลยขุดคลองขึ้นมาเป็นคลองไส้ไก่รอบไว้ อนาคตจะเลี้ยงเป็ดไข่ประมาณ 500 ตัว พื้นที่ตรงนี้หนึ่งไร่ แล้วในคลองจะเลี้ยงปลาไปด้วย เพราะว่าเวลาฝนตกหรือน้ำชะลงมา เศษตะกอนเศษดินวัตถุจากแปลงผักก็จะไหลไปรวมกันตรงนั้น ก็จะเกิดความอุดมสมบูรณ์ ตรงข้างหน้าฟาร์มประมาณหนึ่งไร่ก็จะเกิดร้านขายสินค้าขึ้น แล้วก็เกิดพื้นที่สำหรับที่จะจัดสรรเป็นกิจกรรมให้คนเข้ามาเรียนรู้ เป็นตลาด แล้วข้างหลังฟาร์มถัดมาอีกหน่อยหนึ่งประมาณสองไร่ ก็จะจัดไว้สำหรับทำเป็นร้านกาแฟ ทำเป็นงานนิทรรศการในอนาคต เพราะพื้นที่ตรงนี้มันอยู่ติดกับชานเมือง เวลาคนเข้าเมืองหลวง เวลาคนมาเที่ยวก็สามารถที่จะแวะตรงนี้ได้เป็นจุดท่องเที่ยวจุดหนึ่งได้

ในส่วนของผลผลิตในฟาร์ม ที่ไทบ้านฟาร์เมอร์จะทำตามฤดูกาลด้วย เนื่องจากว่าฤดูกาลก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อการปลูกพืช แต่ว่าก็ยังยืนอยู่ที่ออร์แกนิคเหมือนกัน คือไม่ใช้สารเคมี สิ่งที่มีเลยในไทบ้านฟาร์มเมอร์ก็คือ ผักสลัดไม่ว่าจะเป็นกรีนโอ๊ค เรดโอ๊ค กรีนเบบี้คอส เรดเบบี้คอส 4 อย่างนี้จะมีทั้งปี มีทุกวันที่ไทบ้านฟาร์มเมอร์ นอกจากนั้นก็จะเป็นผักพื้นบ้านที่ดูแลง่าย ๆ ไม่ว่าจะเป็นพริก กะเพรา โหระพา แมงลัก มะเขือ ก็จะเหมาะสำหรับชาวบ้านพื้นถิ่นสามารถที่จะเอาไปประกอบอาหารทานเองในครัวเรือนได้ แล้วที่พิเศษขึ้นมาตามฤดูกาลไม่ว่าจะเป็นบล็อกโครี กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก ฤดูหนาวที่นี่ก็จะมีให้
ตอนนี้ที่มีพิเศษในฟาร์มอีกอย่างหนึ่งก็คือ กะหล่ำปลีนอกฤดู เพราะตอนนี้ก็เป็นฤดูร้อนค่อนข้างที่จะทำยาก แต่ว่าในไทบ้านฟาร์มเมอร์ก็มีให้ ซึ่งก็เรียกว่าหลากหลายพอสมควรเรื่องผักของไทบ้านฟาร์มเมอร์ เพราะว่าที่นี่พยายามที่จะให้มันเกิดระบบนิเวศน์ในฟาร์ม เนื่องจากว่าปัญหาของคนทำผักออร์แกนิคหรือผักอินทรีย์ก็คือ เรื่องของโรคและแมลง เรื่องของโรคและแมลงถ้าเราทำเชิงเดี่ยว จะมีแมลงเข้ามารบกวนหรือทำลายอย่างเต็มที่ เนื่องจากว่าเหมือนกับเราถ้าเราชอบกินก๋วยเตี๋ยว เราเจอร้านก๋วยเตี๋ยวที่อร่อย เราก็ไปชวนเพื่อนที่ชอบกินก๋วยเตี๋ยวมาทาน แมลงก็เหมือนกัน ถ้าเราปลูกแต่กะหล่ำปลี แมลงที่ชอบกะหล่ำปลีก็จะชวนเพื่อนมันมากินกะหล่ำปลีทั้งหมด แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าเราปลูกผักหรือปลูกพืชแบบผสมผสาน จะสังเกตเห็นว่าในโค้ง คุณต่ายจะปลูกเป็นผักกินใบหรือผักที่ค่อนข้างจะดูแลยากแต่อายุสั้น เนื่องจากว่าพวกนี้เขาต้องการการดูแลเป็นพิเศษไม่ว่าจะเป็นสลัด คะน้า กวางตุ้ง กะหล่ำปลี ก็จะปลูกแต่ในข้างโค้ง พื้นที่โล่งแจ้งค่อนข้างที่จะดูแลง่าย ไม่ใช้ต้นทุนเยอะ จะปลูกพวกกะเพรา โหระพา แมงลัก พริก เนื่องจากเวลาแมลงจะเข้าทำลายบางทีแมลงบินมาเจอกะเพรา โหระพา แมงลัก แมลงเขาจะรู้สึกว่าไม่ชอบ เขาก็จะบินหนีไป หรือเข้าก็เข้าได้น้อยกว่า เขาจะผ่านตรงนั้นมา ก็เป็นเหมือนกำแพงกันชนให้ กันไม่ให้เราเสียตรงนี้ด้วย นอกจากนั้นไทบ้านฟาร์มเมอร์จะไม่มีการฉีดน้ำหมักไล่แมลงเลยฉีดแต่น้ำหมักปลาบำรุงอย่างเดียว นี่คือเรื่องที่หนึ่งที่จัดการได้ง่ายขึ้น เรื่องที่สองก็คือเรื่องของตลาด ไทบ้านฟาร์มเมอร์จะปลูกหลากหลายมาก ต้นหอม ผักชี ก็มี ตอนนี้คือคนที่เข้ามาในไทบ้านฟาร์มเมอร์จะถือตะกร้าและถือกรรไกรมาตัดผักเอง บางคนคุณต่ายเคยสังเกต ตั้งใจมาซื้อเบบี้คอสเพื่อที่จะไปกินกับปลาเผา แล้วพอมาซื้อเบบี้คอส มาเจอผักชี มาเจอต้นหอม มาเจอพริก ก็ต้องมีน้ำจิ้มที่จะกินกับปลาเผาอยู่แล้ว น้ำจิ้มซีฟู้ดตรงนั้น แทนที่เขาจะวิ่งไปตลาดเขาก็ได้ทั้งสลัดได้ทั้งเครื่องไปทำน้ำจิ้ม ที่นี่จะสามารถสนองตอบตรงนั้นได้ นี่คือเรื่องที่เกิดความหลากหลาย เรื่องที่สามคือเรื่องการเหวี่ยงของตลาด ของราคา ถ้าวิ่งส่งเยอะ ๆ ซึ่งไทบ้านฟาร์มเมอร์เคยส่งผักให้ท็อปอยู่ ก็ทำไม่ไหวเนื่องจากปริมาณเยอะ แล้วเวลาเกิดโรคระบาดหรือเกิดโรคแมลงความเสียหายมันเยอะ แต่ถ้าทำอย่างนี้ความเสียหายมันก็มีอยู่บ้างประมาณ 10% ถึง 20% ที่เกิดขึ้น เรื่องความเสี่ยงด้านการตลาดแทบที่จะไม่มีเลย เนื่องจากว่าช่วงที่ผักสลัดล้นตลาด ผักสลัดราคาสูง มันก็จะมีผักอย่างอื่นที่จะมาคอยทดแทนคอยจุนเจือในเรื่องของราคาตรงนั้น ทำให้สามารถที่จะปลูกผักได้ทั้งปี แล้วก็สามารถที่จะมีเงินมาเลี้ยงฟาร์มเลี้ยงชีพได้ทั้งปีเหมือนกัน
อย่างที่บอกในตอนแรกว่า คุณต่ายเป็นนักเคมีมาก่อน สิ่งที่คุณต่ายนำมาใช้จากการเป็นนักเคมีคือ การคิดเป็นกระบวนการ การเรียนวิทยาศาสตร์ ต้องตั้งสมมุติฐาน ออกแบบการทดลอง ทดลอง แล้วก็สรุปผล นั่นคือการคิดที่เป็นกระบวนการแบบนักวิทยาศาสตร์ แล้วใช้เหตุและผลในการตัดสินใจในการทำงาน ไม่ได้ใช้ความรู้สึกนั่นคือสิ่งที่มันเป็นทักษะติดตัวคุณต่ายมาตั้งแต่แรก นอกจากนั้น องค์ความรู้เกี่ยวกับด้านเคมี คุณต่ายมีความรู้เรื่องธาตุอาหารของพืช เรื่องของการทำปุ๋ย เรื่องของสิ่งต่าง ๆ ที่มันจะเป็นปัจจัยพื้นฐานที่จะทำให้พืชมันเจริญเติบโตสวยงาม แล้วนำความรู้เหล่านั้นมาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับสถานที่ ให้เข้ากับพื้นที่ที่จะนำมาทำเป็นปุ๋ยอินทรีย์ น้ำหมักอินทรีย์ องค์ความรู้ตรงนั้นพอเข้าใจแล้วทำให้มองไปลึกถึงระดับเชิงโมเลกุล ก็สามารถที่จะเข้าใจเกษตรอินทรีย์ได้ในเชิงลึกมากขึ้น ทำให้การปลูกพืชผักออร์แกนิค หรือพืชผักอินทรีย์มันค่อนข้างที่จะงามเท่าเทียมกับการใช้สารเคมี คุณต่ายเปลี่ยนแค่จากเคมีสังเคราะห์ที่ไม่ได้เกิดจากสิ่งมีชีวิตมาเป็นเคมีที่เกิดจากธรรมชาติที่เกิดจากสิ่งมีชีวิต ทำอย่างไรให้มันมีธาตุอาหารเหมือนกันไนโตรเจน ฟอสฟอรัสโพแทสเซียม ธาตุอาหารหลัก ธาตุอาหารรอง เพราะทุกอย่างในโลกถ้าในระดับเชิงโมเลกุลแล้วระดับอะตอมมันก็คือสิ่งเดียวกัน มันต่างกันแค่ที่ไปที่มา ก็ปรับตรงนั้นเข้ามาให้มันเข้ากัน แล้วเชื่อไหมครับว่าคนไทย วิถีไทย ๆ มันมีมาตั้งแต่รุ่นปู่รุ่นย่าของเราแล้ว แต่แค่ความรู้ตรงนั้นมันเริ่มเลือนรางหายไป แล้วองค์ความรู้ตรงนั้นมันไม่ได้พูดถึงเป็นเชิงวิชาการ มันก็เลยไม่มีการสื่อสารออกมาให้คนรุ่นใหม่ได้เข้าใจเป็นบทเรียนเป็นวิทยาศาสตร์ แต่พอเราเรียนวิทยาศาสตร์ในโลกสมัยใหม่ แล้วเรามาศึกษาพื้นฐาน ศึกษาวัฒนธรรม ศึกษาวิธีเดิม ๆ ของปู่ย่าตายาย มันสืบต่อกันมาอยู่แล้ว อย่างเช่น การปลูกพืชผสมผสานกัน ชาวบ้านคนอีสานก็ปลูก สมัยปู่ย่าตายายก็ปลูก บนจอมปลวก บนจาวปลวกที่มีพริก มะเขือ กะเพรา โหระพา แมงลัก ที่เวลาเขาไปทุ่งนาแล้วเขาก็เก็บพื้นที่ตรงนั้นกินแล้วไม่มีแมลงรบกวน ซึ่งคนรุ่นก่อน ๆ ทำกันมาอยู่แล้ว
น้ำหมักที่ไทบ้านฟาร์มเมอร์ใช้เป็นสูตรมาจากอาจารย์ธงชนะ พรหมมิ ที่รายการคนค้นฅนยกย่องให้เป็นปรมาจารย์ด้านการปลูกผัก หรือหลาย ๆ คนในวงการปลูกผักอินทรีย์จะรู้จักท่านเป็นอย่างดี คุณต่ายได้ไปเรียนกับท่านมาเหมือนกัน และนำมาปรับใช้เล็กน้อย เนื่องจากว่าในพื้นที่หรือในการใช้งานของคุณต่ายค่อนข้างที่จะแตกต่างกับของท่าน ที่ ท่านใช้คือ รำอ่อน แต่ปัญหาที่คุณต่ายเจอคือ รำอ่อนมันไม่สามารถย่อยสลายได้ในหนึ่งปี หรือมันไม่ย่อยในส่วนที่มันเป็นเปลือกข้าว แล้วมันมาอุดตันตรงหัวสปริงเกอร์เวลาไปใส่มากับระบบน้ำ ก็เปลี่ยน ท่านสอนว่ารำอ่อนให้ธาตุไนโตรเจนสูงเนื่องจากมันมาจากข้าว ดังนั้น เปลี่ยนความคิดในเมื่อมันมาจากกับข้าว ก็เลยกลับไปคิดว่าทำยังไงมันจะไม่ตัน สิ่งที่เจอคือข้าวมันย่อยสลายดีกว่ารำอ่อน ก็เลยเปลี่ยนจากรำอ่อนเป็นข้าวต้ม ในเมื่อข้าวต้มแล้วมันมีธาตุอาหารเยอะกว่ารำอ่อน และเมื่อใช้แล้วมันย่อยสลายได้ดี คือปัญหาการอุดตันในหัวสปริงเกอร์เวลาเอาน้ำหมักไปใช้ก็จะไม่เกิดขึ้น เนื่องจากใช้ข้าวต้มที่มันย่อยสลายหมด แต่สูตรทุกอย่างก็ค่อนข้างที่จะเหมือนกัน เปลี่ยนแค่ตัววัตถุดิบที่มันเข้ากับสถานการณ์การใช้งานที่ฟาร์มของคุณต่ายเอง
สูตรปกติของอาจารย์ธงก็คือเศษปลา หรือว่าแหล่งโปรตีนไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ รกหมู แต่สิ่งที่ท่านพูดคือให้คิดว่าสิ่งที่นำมาใช้ต้อง หนึ่งคือต้นทุนต่ำ การทำเกษตรอินทรีย์ต้องต้นทุนต่ำถึงจะไปรอด สองคือหาง่ายในพื้นที่ เมื่อเราเข้าใจหลักการสองหลักแล้วนี้ ก็ไปดูวัตถุดิบว่ามันใช้อะไร อย่างน้ำหมักปลาคือหนึ่งคือใช้แหล่งโปรตีน คุณต่ายขอใช้คำว่าใช้แหล่งโปรตีน เนื่องจากว่าแหล่งโปรตีนมันเกิดได้จากหลายส่วน ไม่ว่าจะเป็นเนื้อสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นถั่วเหลือง พวกนี้ใช้ได้หมด ดังนั้นเนื้อสัตว์ หรือแหล่งโปรตีนเรามีอะไร ที่อาจารย์ธงสอนใช้น้ำ ใช้หัวปลา เนื่องจากหัวปลามันเป็นของเสียในตลาด ก็เลยใช้หัวปลา แล้วบางทีไปเจอหมูที่เนื้อเศษที่เค้าเสีย หรือเค้าขายราคาถูก ๆ แล้วก็นำมาใช้
เนื้อสัตว์หรือแหล่งโปรตีนนี้ ใช้ 1 ส่วน ต่อมาก็คือกากน้ำตาล กากน้ำตาลก็คือโมลาสนี่แหละครับ 1 ส่วน แหล่งโปรตีน 1 ส่วน กากน้ำตาล 1 ส่วน มาผสมกัน แล้วก็ปรุงแต่งรสชาติ แล้วก็จะใส่สับปะรดเข้าไปช่วยย่อย ก็คือปลากับกากน้ำตาลที่ 3 ส่วน สับปะรด 1 ส่วน แล้วก็ไนโตรเจนคือรำอ่อนหรือข้าวอีก 1 ส่วน ใส่เข้าไป แล้วก็จะมีจุลินทรีย์เข้าไปช่วยย่อย ใครมีอะไรก็ใส่เข้าไปได้เลย ไม่ว่าจะเป็นจุลินทรีย์เหง้ากล้วย จุลินทรีย์จาวปลวก จุลินทรีย์อะไรต่าง ๆ หลักการง่าย ๆ คือ กระบวนการย่อยสลายต้องมีน้ำตาล แล้วก็มีแหล่งโปรตีนที่มีธาตุอาหาร แล้วก็มีจุลินทรีย์เข้ามาช่วยเติมเต็มเท่านั้นเอง
อัตราส่วนเวลานำไปใช้ ประมาณ 1 ต่อ 50 ถึง 1 ต่อ 100 อยู่ในช่วงนี้ ที่ไทบ้านฟาร์มเมอร์จะมีถัง 60 ลิตรอยู่ แล้วจะมีขวดน้ำพลาสติกที่ตัดไว้ประมาณ 1 ลิตร คนงานก็จะตักมาผสมกัน แล้วก็ฉีดพ่นทุกเย็นทุกวัน เนื่องจากว่าตรงนี้คุณต่ายต้องการให้ผักมีความแตกต่างเรื่องของรสชาติ มันเปรียบเสมือนว่าเราทำอาหารให้พืชกิน คนกินเนื้อ คนกินอาหารเสริมสวยความงาม ผักกินอาหารเสริมก็สวยงาม นี่ก็เลยเป็นเหตุผลว่าทำไมถึงฉีดน้ำหมักตรงนี้ให้ สองก็คือเรื่องของการเจริญเติบโตที่รวดเร็วกว่าปกติ เนื่องจากผักของที่ไทบ้านฟาร์เมอร์กินเนื้อ มันจะมีธาตุอาหารที่ครบถ้วนเลย จากเดิมที่ปลูก 30 วัน ต้องเก็บเกี่ยวกลายเป็นว่าปลูก 20 วันเก็บเกี่ยว ซึ่งทำให้เก็บเกี่ยวได้เร็วขึ้น เพราะผักเติบโตดีมากอายุแค่ 20 วัน น้ำหนัก 2 ขีดต่อต้นผักสลัด พอเก็บเกี่ยวเร็วขึ้นก็สามารถที่จะทำให้รายได้กลับเข้ามาเร็วขึ้น และอีกอย่างหนึ่งก็คือเรื่องของศัตรูพืช ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของโรคและแมลง เรื่องของหญ้าที่จะเข้ามา ถ้ารอบมันสั้น ศัตรูพืชก็เข้ามาทำลายไม่ทัน
นอกจากนั้น จุดเด่นของไทบ้านฟาร์มเมอร์ คือ ทำเกษตรอินทรีย์ที่ต้นทุนต่ำที่สุด เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะไทบ้านฟาร์มเมอร์จะแบ่งเป็นสองส่วน ส่วนแรกคือส่วนของโครงสร้าง ส่วนของโครงสร้างคือโรงเรือนอย่างง่าย หน้ากว้าง 3 เมตร ยาว 30 เมตร พลาสติกที่คลุมใช้พลาสติกใส ทำให้สามารถปลูกฤดูฝนได้ รวมระบบน้ำ รวมโครงสร้างทุกอย่างอยู่ที่ 10,000 บาท โดยประมาณ แต่ถ้าไปซื้อโรงเรือน จะไม่ต่ำกว่า 50,000 บาทขึ้นไป นี่คือเรื่องของโครงสร้าง ประหยัดเพราะทำเอง ใช้งานได้ ตรงนี้ถ้าเป็นโครงเหล็กใช้งานได้เป็น 10 ปี กับระบบน้ำ แต่ถ้าเป็นพลาสติกก็อยู่ที่สภาวะอากาศด้วย แต่ว่าจะอยู่ที่ประมาณ 3 - 5 ปี ถ้าเจอตรงนั้นก็แล้วแต่สภาพภูมิอากาศ
สองก็คือเรื่องของปัจจัยการผลิต ปัจจัยการผลิตคือไม่ว่าจะเป็นเรื่องของน้ำหมัก เรื่องของปุ๋ยหมักอินทรีย์ ที่ไทบ้านฟาร์มเมอร์มีต้นทุนต่ำ เนื่องจากคุณต่ายดูว่า เวลาผลิตสินค้าการเกษตรไปขาย สิ่งแรกที่ผู้บริโภคต้องการในค่านิยมแถวนี้ คือ เรื่องของราคา และเมื่อไปแข่งราคากับพืชผักที่เป็นเคมี สิ่งที่ต้องทำคือต้องลดต้นทุนลงมา เพราะจะไปขยับราคาขายขึ้นไม่ได้ ต้องขยับราคาการผลิตลง ทำให้มีส่วนต่างของกำไรเพิ่มขึ้น
ตอนนี้ไทบ้านฟาร์มเมอร์ผ่านมาหนึ่งปี บอกได้เลยว่าเพิ่งจะสำเร็จไปแค่ 20% ปีแรกคุณต่ายเจอปัญหามาทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของแรงกดดันทางสังคม เรื่องของพื้นที่ แต่การปลูกผักนี่มันสำเร็จไปแล้ว สิ่งที่อยากทำต่อไปคือการพัฒนาองค์ความรู้ ไม่ว่าจะเป็นการปลูกผักตามฤดูกาล อย่างเช่นตอนนี้ คุณต่ายทำเป็นเชิงเกษตรวิจัยไปด้วย เนื่องจากว่าคุณต่ายสำเร็จในเรื่องของผักไปแล้ว สามารถที่จะเลี้ยงตัวของเขาไปแล้ว แต่ชาวบ้านส่วนมาก เกษตรกรส่วนมากไม่มีต้นทุนในการไปซื้อโรงเรือนราคาเป็นหมื่นเป็นแสน แต่เขามีพื้นที่ปลูกผักอยู่แล้ว แล้วเจอปัญหาคือปลูกฤดูฝนไม่ได้ ก็เลยอยากวิจัยว่าการทำข้าวบนพื้นที่แปลงผักจะทำได้หรือไม่ ตั้งเป้าไว้ที่หนึ่งไร่ได้สามตัน คุณต่ายจะลองปลูกดูก่อน นั่นคือเป้าหมายระยะสั้น ๆ ในแปลงผัก ส่วนเป้าหมายอีกเป้าหมายหนึ่งในปีนี้ก็คือ การทำป่าสามอย่างประโยชน์สี่อย่าง เนื่องจากพื้นที่นี้มีการเตรียมดินเตรียมระบบน้ำให้มันเรียบร้อยแล้ว ในพื้นที่หนึ่งไร่ ปีนี้จะมีการลงพื้นที่ป่าแล้วก็ผลไม้ แต่ว่าผลไม้ที่จะทำคือผลไม้ตามฤดูกาล จะปลูกไม่เยอะปลูกแค่ประมาณ 30 - 40 ต้น แล้วมีการผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นทุเรียน ลิ้นจี่ มังคุด ละมุด ลำไย มะกรูด มะนาว ไปเรื่อย ๆ เพื่อที่จะให้มันเกิดความหลากหลาย แล้วก็ในแต่ละฤดูกาลคุณสามารถที่จะมีผลไม้เก็บทานได้ ตรงนั้นก็อีกเป้าหมายหนึ่ง ส่วนระยะยาวเลย คุณต่ายอยากทำตรงนี้เป็นที่ท่องเที่ยว 13 ไร่ ไม่ว่าจะเป็นพื้นที่ที่ทำโฮมสเตย์หรือฟาร์มสเตย์ ก็มีเตรียมพร้อมไว้แล้ว พื้นที่ด้านหน้าจะติดกับถนนหลัก ก็จะทำเป็นนิทรรศการหรือเทศกาลเฟสติวัลขึ้น เนื่องจากว่าพื้นที่นี้เป็นพื้นที่ทางผ่าน ไม่ว่าใครจะมาที่ตลาดอินโดจีน หรือมาจากกรุงเทพฯ มาจากภาคกลางต้องวิ่งผ่านไทบ้านฟาร์มเมอร์ ใครที่จะมาเที่ยวงานบั้งไฟ ที่บ้านกุดหว้าที่ดังระดับโลก ก็ต้องมาใกล้ไทบ้านฟาร์มเมอร์ เนื่องจากห่างกับที่นี่แค่ 5 - 10 กิโลเมตรเท่านั้นเอง คุณต่ายเลยคิดว่าที่นี่น่าจะเป็นศูนย์รวมคนรุ่นใหม่ที่ทำเกษตรอินทรีย์ แล้วก็เป็นเวทีหนึ่งที่ทำให้คนรุ่นใหม่ในพื้นที่ที่อยากจะกลับบ้าน อยากจะมาทำเกษตรบนที่บ้านของตัวเอง มีเพื่อน มีสถานที่ที่เขาสามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้กันได้ ก็เลยอยากทำตรงนั้นให้มันเกิดขึ้น
ช่องทางการติดตามออนไลน์ไทบ้านฟาร์มเมอร์ ตอนนี้มี เฟสบุ๊กแฟนเพจ ไทบ้านฟาร์มเมอร์ เขียนเป็นภาษาไทยเลยไทไม่มี “ย” แล้วก็ยูทูปแชนแนล ไทบ้านฟาร์มเมอร์ ที่ให้เคล็ดลับความรู้ในการปลูกผักแต่ละชนิด สามารถเข้าไปกดไลค์ได้เลย
ส่วนเรื่องรายได้ในฟาร์ม จะเกี่ยวเนื่องกับฤดูกาลด้วย เนื่องจากว่า เพิ่งทำฟาร์มมา 1 ปี ยังอยู่ในระหว่างการลองผิดลองถูก แล้วก็มีการลองตลาดไปด้วยเพื่อเป็นบทเรียน และเลือกที่จะเก็บเกี่ยวประสบการณ์ตรงนั้นแล้วก็เก็บตัวเลขเข้ามา ในช่วงที่ผ่านมาสิ่งที่สำเร็จในฤดูหนาวเลยก็คือเรื่องของผักที่ทำได้ง่าย แต่ว่าผักของไทบ้านฟาร์มเมอร์ช่วงฤดูหนาวจะเป็นผักที่พิเศษหน่อย ไม่ว่าจะเป็น เซเลอรี่ แรดิช ผักสลัด กะหล่ำปลี กะหล่ำดอก บล็อคโครี่ ที่ผ่านมาเฉลี่ยแล้วเดือนละ 80,000 - 100,000 บาท ยังไม่หักค่าคนงาน แต่หักแล้วก็จะอยู่ที่ประมาณ 50,000 - 60,000 บาท ในตอนนั้น เนื่องจากว่าจะมีการทำที่เยอะขึ้น กำลังผลิต อากาศเหมาะสมเยอะขึ้น
พอผ่านมาเป็นช่วงฤดูร้อน เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน คุณต่ายคิดว่าเตรียมข้อมูลไว้แน่นแล้ว แต่ก็ยังมีการพลาดอยู่ เนื่องจากว่าไม่เคยทำในฤดูร้อนเลย รายได้ลดลงประมาณ 40 - 50% เลยทีเดียว รายได้ที่ลดลงไม่ได้มาจากออร์เดอร์ลดลง แต่เป็นเพราะอากาศที่ไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตผัก ทำให้ผลผลิตลดลง ยอดขายก็เลยตกลง ในฤดูร้อนก็จะมีรายได้อยู่ที่ 50,000 บาทประมาณนี้ หักแล้วก็จะเหลือประมาณ 30,000 บาท แต่คุณต่ายก็ยังคิดหาสิ่งใหม่ ๆ คิดหาอะไรทำใหม่ ๆ ก็เกิดเป็นไอเดียเกิดขึ้น คือ เกิดแปลงผักน็อคดาวน์ขึ้น เนื่องจากว่ามีคนในเมืองหรือคนที่ต้องการปลูกผักบนพื้นที่เล็ก ๆ ปลูกผักออร์แกนิค แต่ไม่มีความรู้หรือไม่มีความพร้อมที่จะมาทำแปลงผัก คุณต่ายเลยคิดไอเดียทำแปลงผักน็อคดาวน์ขาย ก็ทำมาได้ประมาณเดือนกว่า ๆ ตอนนี้ออเดอร์ก็มีมา นอกจากนั้นยังรับจ้างทำแปลงผักที่สามารถเอาไปประกอบยกพื้นได้ ไม่ต้องก้ม มีหลังคา คนงานในฟาร์มก็มีงานเกิดขึ้น แล้วก็มีรายได้หล่อเลี้ยงและพัฒนาฟาร์มเรื่อย ๆ ตรงนี้ก็เป็นรายได้ช่องทางหนึ่ง ตอนนี้ออเดอร์มารายได้จะอยู่ที่ประมาณเดือนละ 10,000 - 20,000 บาท เป็นกำไรของตรงนั้น
พอมีแปลงผักเกิดขึ้น สิ่งที่ตามมาก็คือเมล็ดพันธุ์ ที่คุณต่ายเก็บเมล็ดพันธุ์อินทรีย์ไว้สำหรับ เมื่อคนได้แปลงก็ต้องปลูกก็ต้องมีเมล็ดพันธุ์ออร์แกนิคไปปลูก นอกจากนั้นก็ต้องมีปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของปุ๋ย เรื่องของน้ำหมักที่มีอยู่ในฟาร์ม ทุกคนเชื่อมั่นว่าปุ๋ยของไทบ้านฟาร์มเมอร์ หรือน้ำหมักปลา 1 ปีของไทบ้านฟาร์มเมอร์นั้นใช้ได้ดีได้ผล เขาก็ซื้อไปพร้อมกับแปลงปลูกผัก ดังนั้นกิจกรรมในฟาร์มก็เลยเกิดขึ้นจากการที่ไม่ได้มองมิติเดียว คือ ไม่ได้มองแค่ปลูกผัก ขายผัก แต่มองไปจนครบวงจรของการปลูกผักเลยทีเดียว
นอกจากนั้น ตอนนี้คุณต่ายกำลังทำพันธุ์อ้อยคั้นน้ำจัดจำหน่าย เนื่องจากทำแล้วมีคนสนใจ คุณต่ายเคยทำให้คนที่เข้ามาเยี่ยมชมฟาร์มได้ชิม คนที่ได้ชิมก็รู้สึกว่ารสชาติมันต่างจากที่อื่น เขาก็อยากเอาไปปลูกขาย ปลูกทำเป็นธุรกิจของเขา ก็ติดต่อเข้ามาว่าต้องการสายพันธุ์อ้อยคั้นน้ำสิงคโปร์ปากช่อง 50 สองสายพันธุ์ที่ฟาร์มทำอ้อยคั้นน้ำ ทำให้ตรงนี้ก็เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่งที่เกิดขึ้นที่ไทบ้านฟาร์มเมอร์
ส่วนปัญหาที่จะเจอในฤดูฝนก็คือ เรื่องของการปลูกผักไม่ได้ ตอนนี้ทางฟาร์มจึงกำลังจะทดลองปลูกข้าวอินทรีย์ อันนี้จะเป็นพันธุ์ข้าวเหนียว แต่รับรองได้ว่าบำรุงอย่างดี ใช้น้ำหมักปลา คุณต่ายตั้งเป้าไว้ว่าจะปลูกให้ได้ 1 ตัน นั่นคือเป้าหมายสูงสุดของฟาร์ม หากขายข้าวขาวหนึ่งตันกิโลละ 100 บาท ก็จะเป็นเงิน 100,000 บาท ในสามเดือนถ้าเกิดรายได้ตรงนี้ ก็จะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่สามารถที่มาช่วยเหลือหรือดูแลสมาชิกในฟาร์มได้
คุณวุฒิพงษ์ พลอยวิเลิศ ที่อยู่ 751 หมู่ที่ 14 ตำบลบัวขาว อำเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ 46110 FB ไทบ้านฟาร์มเมอร์

