เกษตรกรต้นแบบ

"ธนกัญพัชร ทิ้งโคตร : เลี้ยงยังไงให้เป็ดอารมณ์ดี... น้องจูน มีวิธีมาบอก"

 14 กรกฏาคม 2563 3,488
จ.เลย
สูงสุดคืนสู่สามัญ
ความธรรมดาของชีวิต
จะอยู่กับเราไปตลอด

คติประจำใจหลัก ๆ ของคุณจูนคือ “สูงสุดคืนสู่สามัญ” หมายถึงสุดท้ายแล้วของคนเราไม่มีอะไรเกินกว่าคำว่าธรรมดาที่เป็นธรรมชาติ คิดว่าทุก ๆ อย่างมันคือธรรมชาติหมดเลย ต่อให้เจอวิกฤตอะไร มีแค่ปัจจัยสี่เท่านั้นที่สำคัญที่สุดสำหรับชีวิต ถ้าเราสามารถทำให้พรุ่งนี้เป็น เรื่องธรรมดาของชีวิตได้ ก็สามารถอยู่กับมันได้หมดไม่ว่าจะเจอปัญหาอะไรก็ตาม

การได้อยู่กับคนในครอบครัว ได้ทำอาหารที่ปลอดภัยอย่างที่มุ่งหวังไว้ การได้ทำให้คนในจังหวัดเลยและจังหวัดอื่น ๆ ที่ไร่ธารธรรมได้ส่งสินค้าให้ได้ทานอาหารที่ปลอดภัย ได้ทานอาหารที่เป็นยา มีความมั่นคงทางอาหาร รวมทั้งทำให้คนที่มาเที่ยวที่ไร่ได้สัมผัสอากาศที่บริสุทธิ์ แค่นี้ก็มีความสุขมากแล้ว ไม่เพียงแค่คุณจูนมีความสุข แมลงต่าง ๆ หรือว่าพวกผีเสื้อต่าง ๆ ที่อยู่ในไร่ เขาก็มีความสุข และเป็นการรักษาระบบนิเวศน์ให้ลูกให้หลานได้อยู่นานยิ่งขึ้นด้วย

สำหรับคนที่สนใจทำการเกษตร คุณจูนแนะนำว่า อย่างแรกเลยก็คือมีใจไม่พอ ต้องมีภูมิคุ้มกันด้วย ภูมิคุ้มกันหมายถึงองค์ความรู้ ถ้าเราศึกษาองค์ความรู้มากขึ้น มีการเข้าเครือข่ายมากขึ้น อย่างแรกเลยคือเราจะไม่เจอปัญหา ถ้าเจอเราจะไม่ได้พบกับปัญหาคนเดียว จะมีที่ปรึกษา จะมีคนบอกว่าแบบไหนที่ดี ไม่ต้องมาล้มเอง มีพี่ ๆ น้อง ๆ กลุ่มเกษตรกรที่มาช่วย อันนี้เป็นสิ่งที่อยากจะแนะนำทุกคนว่ามีใจแล้วต้องมีองค์ความรู้ พัฒนาตัวเองก่อน แล้วค่อย ๆ เริ่มทำ เดินทีละก้าว แล้วค่อย ๆ ทำ ถ้ามั่นใจแล้ว ค่อยพัฒนาอย่างอื่นต่อไปเรื่อย ๆ

คุณจูน - ธนกัญพัชร ทิ้งโคตร อายุ 25 ปี เกษตรกรแห่งไร่ธารธรรมแหล่งท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงเกษตร ผู้จบนิติศาสตร์บัณฑิต จากมหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ แต่หลังจากเรียนจบ ก็มุ่งตรงกลับมาเป็นเกษตรกรที่บ้านเกิดเลย

คุณจูนเป็นคนเลย เติบโตที่ จ.เลย แต่ไปเรียนระดับปริญญาตรีที่กรุงเทพฯ แต่ขณะที่เรียนอยู่ ปี 3 นั้น มีการสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของแผ่นดินเกิดขึ้น คือ ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ทำให้คุณจูนได้เห็นสื่อต่าง ๆ มากมาย ก็เลยคิดว่าตนเองเป็นลูกคนเดียว อยากกลับมาทำให้ที่ดินของคุณพ่อมีชีวิตอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งที่ดินนั้น คุณจูนเติบโตมากับที่นั่นแต่เล็กแต่น้อย ตอนเป็นเด็ก คุณพ่อของคุณจูนจะเป็นคนปลูกลำไยเอง จะแขวนเปลให้คุณจูนนอนขณะที่ท่านทำสวน ได้เห็นคุณพ่อปลูกต้นไม้ทุกต้นเองมาตั้งแต่ตอนนั้น ก็เลยเกิดการซึมซับ ทำให้เห็นคุณค่าอยากจะกลับมาพัฒนาไร่ช่วยคุณพ่อ และเมื่อบอกท่านว่าจะกลับมาทำไร่ที่บ้าน ท่านก็ยินดี ไม่ได้คัดค้านอะไรเลย จะได้กลับมาอยู่ด้วยกัน

เมื่อกลับมาที่ไร่ สิ่งแรกที่อยากจะทำคือ ปศุสัตว์เลี้ยงเป็ดไข่ เพราะว่าก่อนหน้านั้นเคยทำสำรวจพบว่า ที่เมืองเลย ยังไม่มีไข่เป็ดที่เลี้ยงเอง มีแต่รับมาจากที่อื่น ก็เลยคิดว่าถ้าคนเมืองเลยได้ทานอาหารที่ปลอดภัย ไข่เป็ดอารมณ์ดี มันน่าจะเป็นอะไรที่ช่วยเหลือคนได้ด้วย และเหตุที่เลือกทำไข่เป็ดอารมณ์ดี ไม่ทำไข่ไก่เพราะว่า ถ้าเจอราคาไข่เป็ดตกต่ำ สามารถนำผลิตภัณฑ์นั้นมาแปรรูปเพิ่มมูลค่าสินค้าทางการเกษตรได้

คุณจูนจะใช้การตลาดนำการผลิต มีการคิดข้อดีข้อเสียก่อนที่จะทำอะไรทุกอย่าง แต่พอลงมือทำจริงก็ถือว่าหนักพอสมควร เพราะตอนศึกษา ศึกษาจาก YouTube ว่าการเลี้ยงเป็ดดูง่าย แต่พอมาลงมือทำจริง อย่างแรกเลยคือเป็ดไม่ออกไข่ตามจำนวนที่หวังไว้ ต้องคุมปัจจัยเสี่ยงพื้นที่ติดภูเขา ปัจจัยเสี่ยงทั้งสัตว์เลื้อยคลาน สุนัขต่าง ๆ ต้องเพิ่มองค์ความรู้ให้ตัวเอง เพราะตอนที่มาทำตอนแรก มีเพียงแค่ใจรัก แต่พอทำไป มันเกิดการพัฒนาองค์ความรู้ตัวเอง มีภูมิคุ้มกันที่ดีขึ้น จนทุกวันนี้สามารถทำไข่เป็ดอารมณ์ดีเป็นระบบมากขึ้น กลายเป็นว่าทุกคนสามารถมาดูงานแล้วนำไปต่อยอดได้

เมื่อคุณจูนกลับมาทำไร่ มีการตั้งชื่อใหม่ว่า ไร่ธารธรรม เหตุผลที่ตั้งชื่อนี้เพราะ คำแรกเลย คือ ธาร แปลว่า แม่น้ำ ลำธาร ตามตัวเลย และพื้นที่ตรงนี้ติดวัด มีการแปลนัยยะก็คือว่า ธรรมทาน คือ ทำมาให้ทุกท่านได้รับประทาน ถ้าเหลือก็แบ่งปัน ธรรมก็จะเป็นธรรมะ ธรรมดา ธรรมชาติของไร่

ไร่ธารธรรมมีพื้นที่ทั้งหมด 26 ไร่ โดยเป็นพื้นที่บ่อน้ำประมาณ 5 - 6 ไร่ เป็นโซนถนน ที่จอดรถประมาณ 2 - 3 ไร่ มีผัก ผลไม้ สำหรับปลูกในคาเฟ่ประมาณ 2 - 3 ไร่ แล้วก็มีที่อยู่อาศัย พื้นที่ปศุสัตว์อีกประมาณ 3 - 4 ไร่ ที่เหลือจะเป็นผลไม้ คือเป็นลำไยทั้งหมด 200 ต้น เกือบ 10 ไร่ โดยประมาณ

เริ่มแรก คุณจูนเลี้ยงเป็ดประมาณ 1,200 ตัว สายพันธุ์ที่เลี้ยงเป็นเป็ดไข่ พันธุ์กากีแคมป์เบลล์ เป็นพันธุ์ที่มีการขยายพันธุ์ที่เมืองไทย แต่ว่าเขามีการพัฒนาสายพันธุ์มาจากประเทศอังกฤษ พันธ์กากีแคมป์เบลล์มีข้อดี คือ ไข่ดก ไข่สวย อยู่ในสภาพอากาศหนาวได้ เพราะจังหวัดเลยอากาศหนาว สายพันธุ์นี้จะเหมาะมาก ถ้าเป็นเป็ดสายพันธุ์อื่น เขาจะทนได้ แต่ไข่เขาอาจจะไม่ตก อาจจะไม่สวยเหมือนพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ ตอนนี้ที่เลี้ยงเป็นรุ่นสองแล้ว มีประมาณ 900 – 1,000 ตัว รุ่นหนึ่งจะมีอายุประมาณ 2 - 3 ปี

การให้ผลผลิตของเป็ดนั้น ถ้าเป็นเป็ดสาวพร้อมไข่ ตามหลักแล้วจากวันเริ่มเลี้ยงก็ประมาณ 1 เดือนให้ผลผลิต แต่ของที่ไร่ประมาณ 3 สัปดาห์เขาก็เริ่มไข่แล้ว แต่ก็ขึ้นอยู่ที่สภาพอากาศด้วย และจะออกไข่ไปได้อีกประมาณ 1 - 2 ปี โดยทฤษฎีแต่ว่าที่ไร่ไม่ได้ให้สารเร่งเขา เป็ดก็จะออกไข่ได้เพิ่มขึ้นประมาณ 1 - 2 ปีก่อนจะปลดระวาง

การให้อาหารเป็ดของที่ไร่ก็คือ เป็ดหนึ่งตัว เขาจะกินวันละ 1.5 ขีด จะมีการให้อาหารเป็นสองช่วงเวลา ช่วงเช้า 8 – 9 โมง ช่วงเย็นก็จะประมาณ 5 - 6 โมง โดยประมาณ และจะมีการผสมอาหารเอง จะมีแหนแดง ปลาป่น แล้วก็มีรำ ทั้งรำอ่อน รำแก่ มีอาหารเสริมให้ด้วย อย่างเช่นช่วงหน้าร้อนเป็ดเขาต้องบำรุงเป็นพิเศษ ก็จะมีให้แหนแดง หยวกกล้วย เป็นการทำใส่น้ำหมักให้เขาด้วย แล้วเคล็ดลับก็คือจะใส่จุลินทรีย์ท้องถิ่นที่ทำให้โรงเรือนน้องเป็ดไม่มีกลิ่น เป็นเคล็ดลับของที่ไร่

การทำอาหารของไร่ธารธรรมใช้องค์ความรู้จากที่คุณจูนเข้ากลุ่มเครือข่ายเกษตรกร เป็นยังสมาร์ทฟาร์มเมอร์ แล้วก็ทายาทเกษตรกร เมื่อมีเครือข่าย รุ่นพี่ที่เขามีองค์ความรู้ ก็มีการแลกเปลี่ยนความรู้กัน ได้พัฒนาสูตรอาหารของที่ไร่ไปเรื่อย ๆ และทำให้ผลผลิตไข่เป็ดของที่ไร่ธารธรรมต่างจากที่อื่นอย่างชัดเจน อย่างที่ไร่แต่ก่อนไม่ได้ผสมอาหารเองเลยทั้งหมด เพราะไม่รู้ว่าไข่เป็ดอารมณ์ดีคืออะไร พอมาทำไข่เป็ดอารมณ์ดี ตอนนี้ไข่เป็ดที่ไร่ 70% คือขนาดจัมโบ้ ถึงขนาดใหญ่ ไข่ที่ไร่ฟองเล็กวันหนึ่งมีไม่ถึงแผง ได้ความรู้เพิ่มเติมว่าขนาดของไข่เป็ดขึ้นอยู่กับการให้อาหารและการเลี้ยงดูด้วย

คุณภาพไข่ของที่ไร่ จะมีการแบ่งโซนเป็น ห้องนอน ห้องน้ำ ห้องนั่งเล่นให้เป็ด ก็เท่ากับว่าไข่จะไม่โดนน้ำ พอไม่โดนน้ำ คนที่ซื้อไปก็เก็บรักษาได้นาน 1 - 2 เดือน และที่ไร่จะไม่ให้เป็ดกินอะไรที่สกปรก น้ำที่ให้ก็จะเป็นน้ำประปา มีการกรองมาแล้ว ให้เป็ดทานปลอดภัย ไข่เป็ดออกมาดี คนก็จะได้ทานไข่ที่ดี

การสร้างห้องนอนห้องนั่งเล่นให้เป็ดนั้น มาจากการสังเกตพฤติกรรมของเป็ด เมื่อก่อนพอเก็บไข่เป็ดเสร็จ ล้างไข่เป็ดเสร็จ คุณจูนจะได้นั่งดูพฤติกรรมเป็ด และพบว่าเขาจะต้องได้เดินกลางวัน เขาจะต้องเดินออกมาเล่นน้ำ ก็เลยมาคิดว่าพอเขาขึ้นไปจากเล่นน้ำ ถ้ามีที่ให้เขาสะบัดขนหรือแต่งตัว ก็เท่ากับว่าไม่ต้องไปเสียเวลาทำความสะอาดโรงเรือนบ่อย ๆ เพราะว่าเขาจะไม่แฉะ เขาจะทำตัวให้แห้งก่อนที่เขาจะเข้ามา จึงทำให้มีห้องน้ำ ห้องนั่งเล่น ห้องนอนเกิดขึ้น เพราะว่าเมื่อก่อนวันหนึ่งต้องเสียเวลาล้างไข่ประมาณวันละ 3 ชั่วโมง ก็คิดว่าถ้าไข่สะอาดโดยที่ไม่ต้องล้าง ก็จะมีเวลาไปทำไข่เค็มเพิ่มอีก 3 ชั่วโมง คุณจูนจึงวางระบบ เพราะว่าถ้าวางระบบดี ก็ไม่ต้องเสียเวลาไปล้างไข่เหมือนแต่ก่อน

การวางระบบนั้นใช้เวลา ประมาณ 2 - 3 เดือนในการทดลอง ถึงจะมีการแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ มีการเอาข้อดีของระบบฟาร์มและระบบไล่ทุ่งมาผสมกัน

ข้อดีของระบบฟาร์มคือ ไข่เขาจะสะอาด ไข่จะไม่โดนน้ำ ข้อดีของระบบไล่ทุ่งคือ เป็ดเขาจะอารมณ์ดี เขาจะได้เล่นน้ำตลอด ไม่ได้กักบริเวณเขา คุณจูนจึงนำมาผสมกัน

นอกจากนั้น มีการเปิดเพลงให้เป็ดฟังตลอดทั้งวัน แล้วจะให้เขาเล่นน้ำ เปิดให้เขาเล่นน้ำตลอดวัน มีการเปิดไฟให้ตลอดคืน เพื่อให้เขาไม่เครียด เพราะเป็ดถ้าเจอสภาพอากาศที่แปรปรวน จำนวนไข่จะลดลง ถ้าตกใจบางทีจะไม่ออกไข่เลย เพลงที่เปิดให้เป็ดฟังควรจะเป็นเพลงตามหลักทฤษฎีคือเพลงคลาสสิค แต่คุณจูนอยากให้คนเลี้ยงมีความสุขด้วย จึงเปิดเป็นเพลงลูกทุ่ง หมอลำ ด้วย ถือว่าพบกันครึ่งทาง คนเลี้ยงอารมณ์ดีด้วย เป็ดอารมณ์ดีด้วย ด้วยวิธีการเลี้ยงแบบนี้ ทำให้ เปอร์เซ็นต์การออกไข่ของที่ไร่ประมาณ 70 - 80 % ของจำนวนเป็ด แต่ถ้าเป็นช่วงหน้าร้อนเข้าหน้าฝน ไข่ก็จะลดลงประมาณ 10% ตามสภาพอากาศ แต่เป็ดก็ออกไข่ตลอด ธรรมชาติของเป็ด เขาชอบฤดูหนาว โดยเฉพาะเป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ถ้าหน้าหนาวจะไข่ดกมาก

แต่ข้อควรระวังในการเลี้ยงเป็ดก็มี ถ้าจะเริ่มเลี้ยงเป็ดพันธุ์กากีแคมป์เบลล์ อย่างแรกเลยปัจจัยเสี่ยง คือ สุนัขกับสัตว์เลื้อยคลาน นอกจากนั้น ในการเลี้ยงสัตว์ปีก ที่ไร่จะฉีดวัคซีนให้ครบทั้งหมดก่อนทั้ง 4 เข็ม เพื่อที่ว่าสัตว์ปีกที่มีอยู่ก่อนจะได้ไม่มีความเสี่ยง มีการไปลงทะเบียนกับปศุสัตว์อำเภอ และปศุสัตว์จังหวัด และปศุสัตว์อำเภอจะเข้ามาที่ไร่ทุก ๆ 3 เดือน มาตรวจว่าคุณภาพของเป็ดเป็นอย่างไรบ้าง ถ้าเกิดมีการบาดเจ็บ มีการฝังกลบหรือการทำลายที่ถูกต้องตามเกณฑ์ของปศุสัตว์หรือเปล่า เพราะว่าสัตว์ปีก คนเลี้ยงต้องให้ความสำคัญเรื่องโรค และจะมีการสแกนคนก่อนเข้าโรงเรือนด้วย

จากไร่ธารธรรมที่ปลูกพืชเลี้ยงสัตว์เพื่อจำหน่ายกลายเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพราะมีคนเห็นว่าไข่เป็ดของที่ไร่เป็นที่รู้จัก และเมื่อถึงราคาไข่เป็ดตกต่ำ แต่ไร่ธารธรรมยังรับมือกับวิกฤตนั้นได้ อีกทั้งเรื่องไข่เป็ดแตกง่ายแต่ทำไมสามารถส่งทั่วประเทศได้ ก็มีชาวบ้านในชุมชนท้องถิ่นขอมาศึกษาดูงาน ตอนแรกก็ยังไม่มีการสร้างอาคารรองรับ พอมีการขอเข้ามาเรื่อย ๆ ก็อยากให้คนที่เข้ามาได้ความรู้เต็มที่ ก็เลยมีการขยายพื้นที่อาคารรองรับ ให้รับได้ถึง 200 คนในวันนี้

สำหรับที่ไร่จะมีการแบ่งฐานกิจกรรมเป็นฐานต่าง ๆ ฐานแรกเลยจะเป็นไข่เป็ดอารมณ์ดี ตอนเช้าจะพาผู้ที่สนใจกิจกรรมมาเก็บไข่เป็ดและพามาทำไข่เค็ม พาล้างไข่ พาทำไข่เค็มสมุนไพรจากดินจอมปลวก พอพอกเสร็จก็จะพามาเก็บรักษา หลังจากนั้นเป็นฐานแปรรูป นำไข่เป็ดสดมาทำขนมไทย เช่น ขนมหม้อแกงกะทิสดไข่เค็ม บัวลอย จะพาผู้เข้าร่วมกิจกรรมซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นเด็ก ๆ มาปั้นบัวลอย ให้เขาได้รู้ว่าบัวลอยมาจากแป้งอินทรีย์ เป็นแป้งข้าวอินทรีย์อัญชัน ฟักทอง อะไรต่าง ๆ มาปั้นเป็นกิจกรรมของเด็ก ๆ

ต่อไปก็จะเป็นฐานพิซซ่าเตาดิน ให้น้อง ๆ ได้เห็นว่าเตาดินที่นำมาอบพิซซ่านั้น เชื้อเพลิงก็คือมาจากกิ่งลำไย ทั้งลดต้นทุน และยังทำให้หอม วัตถุดิบที่นำมาทำพิซซ่าก็จะเป็นแป้งข้าวอินทรีย์ และซอสมะเขือเทศ ซึ่งเป็นมะเขือเทศที่ไร่ปลูกเอง ชีสก็ทำเอง เพราะว่าที่เมืองเลยมีวัวนม คุณจูนได้ความรู้มาจากปศุสัตว์ที่เชียงใหม่สอนให้ทำชีส เด็ก ๆ ก็จะมีกิจกรรมทำชีสเองด้วย

จากนั้น ก็เป็นฐานเพาะเมล็ดพันธุ์ จะให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมได้รู้ว่าหน้าที่ของต้นไม้แต่ละอย่างตั้งแต่ราก ลำต้น ใบ ว่ามีหน้าที่อย่างไรบ้าง กว่าที่จะได้ต้นไม้ต้นหนึ่ง จะต้องเจอความลำบากหรือว่าจะต้องทำอะไรบ้าง เด็ก ๆ จะได้รู้คุณค่าของต้นไม้ เขาจะได้อนุรักษ์ด้วย

ฐานต่อไปเป็นฐานศิลปะและสิ่งแวดล้อม โดยที่จะเอาของที่เป็นรีไซเคิลหรือของเหลือใช้ในไร่ เช่น เปลือกไข่ที่ทำไข่แดงเค็มเสร็จ จะนำมาเพ้นท์บนเปลือกไข่ แล้วก็พวกเปลือกไม้แดง กิ่งไม้แดงจะนำมาให้น้อง ๆ ระบายสีลงบนนั้น มีฐานผ้ามัดย้อม ฐานที่ให้เขาทำอาหารเอง ก่อฟืนตั้งแต่เริ่มทำเลย กิจกรรมหลักของที่ไร่ก็จะประมาณนี้ และทางไร่มีการทำ MOU กับทางมหาวิทยาลัย ชุมชนท้องถิ่น และทางจังหวัดด้วย เพื่อเป็นการเพิ่มองค์ความรู้ให้ตัวเอง เอานักศึกษามาฝึกงาน แล้วให้คนในชุมชนเข้ามาช่วย เพื่อจะได้รองรับคนที่เข้ามาดูงานได้อย่างทั่วถึง

ในอนาคตคุณจูนอยากจะทำเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เพราะว่าอยากจะทำให้อาหารเป็นยา คือการทานอาหารเพื่อป้องกันและรักษาภูมิคุ้มกันให้กับร่างกาย แล้วก็ทำเป็นฟาร์มสเตย์ โดยที่คนที่มาไม่ได้สัมผัสแค่ธรรมชาติ แต่สามารถรู้ว่าผักที่เรากินไปจะมีประโยชน์กับร่างกายอย่างไร กินแล้วดีกว่าเดิมอย่างไร แล้วก็นำสมุนไพรพื้นบ้านท้องถิ่นมาประกอบอาหารให้มากขึ้น เพราะอยากให้คนทุกกลุ่ม ทุกช่วงวัย มีโอกาสมาสัมผัสธรรมชาติได้ง่ายมากขึ้น

ผลิตภัณฑ์ของไร่ธารธรรมตอนนี้ มีไข่เค็มสมุนไพร 2 รสชาติ คือ ใบเตยกับต้มยำ จะมีสามระดับความสุก คือ แบบต้มสุกส่งร้านอาหาร แบบลาวาจะเป็นกลุ่มวัยรุ่น และแบบดาว ก็คือเอาไปตอกดาวได้สำหรับกลุ่มสาว ๆ ที่ไม่อยากให้มือเลอะ แกะแล้วไปตอกได้เลย แล้วก็มีน้ำพริกไข่เค็มสมุนไพร ที่เป็นน้ำพริกเพราะว่าเวลาต้มไข่เค็มแล้วเปลือกร้าว ก็เลยเอามาแปรรูปเพิ่มมูลค่า ไข่ที่ข้างในยังดีอยู่นำมาทำน้ำพริกไข่เค็ม แล้วก็สมุนไพรจากในชุมชน ไข่แดงเค็มก็มาจากที่เวลาไปเก็บไข่ตอนเช้าแล้วไข่สดเป็ดเขาออกไข่แล้วเล็บเขาเข้าไปจิ้ม ทีนี้ไข่แดงข้างในยังดีอยู่ ก็เอามาแยกไข่ขาวกับไข่แดง ไข่แดงก็ทำไข่แดงเค็ม ไข่ขาวก็บรรจุขวดไว้ส่งร้านรักสุขภาพ แล้วก็ส่งที่ผู้ป่วยโรคไต

ไข่เป็ดของที่ไร่ธารธรรม จะแบ่ง 30 / 70 คือ 30% จะเอามาขายสด 70% จะเอามาแปรรูป คือว่า 30% ที่ขายสดจะส่งร้านอาหารในจังหวัดเลย กลุ่มลูกค้าที่วอล์คอิน แล้วก็ช่องทางออนไลน์ ขายผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ อีก 70% จะเอามาแปรรูปเป็นไข่แดงเค็ม ไข่เค็มสมุนไพร แล้วก็น้ำพริกไข่เค็มสมุนไพร ไข่เป็ดสดของที่ไร่จะมีการแบ่งเป็นขนาดกลาง และขนาดจัมโบ้ ขนาดกลางตอนนี้ 120 บาท/แผง จัมโบ้ 130 บาท/แผง และปีนี้จะมีบุฟเฟ่ต์ลำไย เพราะว่าอยากจะให้คนมีกิจกรรม คนเข้ามาหาธรรมชาติ โดยจะคิดค่าเข้ามาทานไม่อั้นคนละ 99 บาท แล้วก็ได้กลับไปทานที่บ้านด้วยประมาณ 3 - 5 กิโลกรัม ประมาณนี้โดยไม่จำกัดเวลา

ปัจจุบันรายได้ของที่ฟาร์มจะมี รายได้รายวัน รายสัปดาห์ รายเดือน แล้วก็รายปี

รายวันก็คือไข่เป็ดตกวันหนึ่งก็ 20 - 25 แผง แผงละประมาณ 120 - 130 บาท รายสัปดาห์ได้จากคาเฟ่ จะมีอาหารต่าง ๆ ถ้าเป็นช่วงเทศกาลก็ประมาณ 10,000 - 20,000 บาทต่อวัน แต่ถ้าเป็นช่วงวันธรรมดาที่เป็นช่วงโลว์ซีซั่น จะได้วันละประมาณ 8,000 - 10,000 บาทโดยประมาณ รายเดือนจะเป็นจากพวกศึกษาดูงาน แล้วก็พวกพืชรายเดือน เช่น พวกฟักทอง กล้วย อะไรต่าง ๆ พวกนี้ จะประมาณ 5,000 - 10,000 บาท อันนี้โดยประมาณแล้วแต่ฤดูกาล ส่วนลำไยจะได้ผลผลิตปีหนึ่งประมาณ 5 - 10 ตัน กิโลกรัมละ 30 บาท โดยประมาณอันนี้ก็เป็นรายรับของที่ไร่

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณธนกัญพัชร ทิ้งโคตร (คุณจูน) ที่อยู่ 209 หมู่ 7 ต.ศรีสองรัก อ.เมืองเลย จ.เลย 42000 FB : ไร่ธารธรรม แหล่งเรียนรู้เชิงเกษตร จังหวัดเลย - ThanTham Farmade

เลี้ยงยังไงให้เป็ดอารมณ์ดี... น้องจูน มีวิธีมาบอก [ rbk | รักบ้านเกิด ]

เรื่อง/ภาพโดย: นนท์ ทีมงานรักบ้านเกิด