เกษตรกรต้นแบบ

"ภานุพงศ์ สะและหมัด : ปลูกมะพร้าวแบบเพิ่มมูลค่าไปอีกขั้น ทำง่าย รายได้งาม"

 26 พฤษภาคม 2563 4,749
จ.ฉะเชิงเทรา
คนที่มีความรู้
หน้าที่คือเผยแพร่ความรู้และปฏิบัติ
ส่วนคนที่ไม่รู้
หน้าที่คือเรียนรู้ ขยัน และทำให้เกิดผล

คติประจำใจของครูพี่นุ คือคำสอนจากท่านอาจารย์ประวัติ ศักดิ์คีรี ซึ่งเป็นเจ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่งในย่านหนองจอก ท่านสอนเอาไว้ว่า “คนรู้ต้องสอนแล้วปฏิบัติ คือหน้าที่ ผู้ไม่รู้ต้องเรียนและศึกษาเพื่อปฏิบัติ” ความหมายก็คือ คนที่มีความรู้ หน้าที่ของเขาก็คือการเผยแพร่ความรู้ ถ่ายทอดความรู้ไปให้เกิดประโยชน์กับผู้คน และความรู้นั้นมันจะเกิดประโยชน์ก็ต่อเมื่อเราจะต้องปฏิบัติให้ประจักษ์ด้วย ในทางกลับกันคนที่ไม่รู้ หน้าที่ของเขาก็คือจะต้องศึกษาหาความรู้ หมั่นทดลองเพื่อให้เกิดองค์ความรู้ขึ้นมา และความรู้นั้นจะเกิดผลก็ต่อเมื่อเขานำเอาไปปฏิบัตินั่นเอง

ครูพี่นุมีความสุขในการเป็นเกษตรกร และมีความสุขที่สามารถใช้เวลาอยู่กับครอบครัวได้อย่างเต็มเวลา ตั้งแต่คุณตาจากไปครูพี่นุรู้สึกว่า ชีวิตคนเรามันสั้น การที่ได้อยู่กับครอบครัว แค่พอมีพอกินพอใช้แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว

สำหรับบุคคลที่อยากจะทำอาชีพเกษตรกร ครูพี่นุบอกได้เลยว่าอาชีพนี้ไม่ได้ง่ายกว่าอาชีพอื่น ๆ สิ่งแรกเลยที่ต้องมีคือความรู้ ต้องหมั่นศึกษาความรู้ในสิ่งที่อยากจะทำ พืชที่อยากจะปลูก เอาความรู้นั้นมาทดลองทำดูให้เกิดผล ให้มันเป็นประสบการณ์กับตัวเราก่อน หลังจากนั้นเมื่อเรามีประสบการณ์ค่อยลงมือทำจริง ทำจากน้อย ๆ ก่อน แล้วค่อยขยายไปให้มันใหญ่ขึ้น ทำให้เกิดเป็นความเชี่ยวชาญ และความเชี่ยวชาญนี่แหละที่จะนำพาเราไปสู่ความสำเร็จ

คุณภาณุพงศ์ สะและหมัด หรือครูพี่นุ ปัจจุบันเป็นปราชญ์ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงและเป็นเจ้าของสวนโคโค่นัท ไทยแลนด์ จังหวัดฉะเชิงเทรา

คุณภาณุพงศ์ หรือ ครูพี่นุเรียนจบครุศาสตร์ สาขาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ แต่ชอบทำการเกษตรมาตั้งแต่เด็ก ๆ เริ่มทำจริงจังตั้งแต่อายุ 16 ปี ตอนนั้นยังเรียนชั้น ม. ปลายอยู่ แต่ก็เริ่มเข้ามาช่วยคุณพ่อคุณแม่ทำสวนมะพร้าว โคโค่นัท ไทยแลนด์ เพราะเป็นสวนของคุณพ่อคุณแม่ แล้วครูพี่นุก็มาต่อยอดในเรื่องของต้นพันธุ์ แล้วมาสร้างผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้นในภายหลัง

ครูพี่นุเรียนรู้การทำสวนมะพร้าวจากคุณพ่อคุณแม่ คุณตาคุณยาย และศึกษาเพิ่มเติมเองจากอินเตอร์เน็ต หนังสือและนำคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 มาปรับใช้ เพื่อให้เกิดความยั่งยืนในการทำเกษตร

ที่สวนโคโค่นัท ไทยแลนด์ มีมะพร้าวแบ่งออกเป็นหลักๆ 2 อย่างด้วยกัน คือ มะพร้าวน้ำหอม และ มะพร้าวแกง ซึ่งมะพร้าวน้ำหอมจะเน้นทานลูกสด สวนมะพร้าวแกงจะใช้สำหรับทำน้ำกะทิ ซึ่งเป็นที่นิยมทั้งสองแบบ ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปลูก คือถ้าต้องการให้ได้ผลผลิตเร็วหรือว่าเน้นขายลูกสด จะแนะนำให้เป็นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม เพราะว่าปลูกแค่ประมาณ 2-3 ปี ก็จะเริ่มให้ผลผลิตแล้ว แต่ ต้นเตี้ยกว่า แล้วให้ลูกเยอะ แต่ว่าการเก็บผลผลิตนี้จะต้องตรงตามเวลาที่กำหนดก็คือ 20 วัน ถ้าเก็บก่อนหน้านี้มันจะอ่อนเกินไปทำให้น้ำมะพร้าวไม่หวาน จะออกเปรี้ยว แต่ถ้าเก็บช้าไป เนื้อจะแข็งเกินไป น้ำจะไม่หวาน เพราะฉะนั้นจะต้องเก็บตรงตามเวลา ส่วนมะพร้าวแกงมีหลากหลายสายพันธุ์ ถ้าอยากจะไปขายให้กับพ่อค้าคนกลาง แนะนำให้เป็นพันธุ์พื้นเมือง เพราะขนาดจะกลางหรือว่าจัมโบ้ลูกใหญ่มาก เวลาขายพ่อค้าส่วนใหญ่จะคิดตามขนาดลูก จะได้ราคาดี แต่ว่าถ้าปลูกทำกะทิขายเอง แนะนำให้เป็นพันธุ์สวี เพราะเป็นพันธุ์ที่ให้น้ำกะทิอร่อยที่สุด มีเปอร์เซ็นต์น้ำสูงและมีความหอมมากกว่ามะพร้าวสายพันธุ์อื่น ๆ แต่ข้อด้อยของพันธุ์สวีคือ ลูกมันจะเล็กกว่าพันธุ์อื่น ๆ

เนื่องจากสวนของคุณพ่อคุณแม่เป็นสวนมะพร้าวอยู่แล้ว ครูพี่นุจึงตั้งชื่อขึ้นต้นว่าโคโค่นัท และเดิมใช้ต่อท้ายว่ามะพร้าวไทยเนื่องจากเป็นสวนมะพร้าวที่ขายอยู่ในประเทศไทย และอยากจะส่งออกไปต่างประเทศก็เลยเปลี่ยนมาเป็นโคโค่นัท ไทยแลนด์ หมายถึงสวนมะพร้าวที่อยู่ในประเทศไทยนั่นเอง แต่จริง ๆแล้วเพิ่งมาทราบในภายหลังว่า ต้นพันธุ์มะพร้าวไม่สามารถส่งออกไปต่างประเทศได้ เพราะว่าเป็นพืชสงวน ถึงแม้จะมีลูกค้าในต่างชาติติดต่อเข้ามาค่อนข้างเยอะ ครูพี่นุก็ปฏิเสธ เพราะอยากทำให้ถูกต้องตามกฎหมาย แค่ขายในประเทศอย่างเดียวก็มีลูกค้าทั่วประเทศอยู่แล้ว ส่วนคนที่อยู่ในต่างประเทศจะมีสินค้าเป็นตัวอื่นที่ตอนนี้กำลังพัฒนาอยู่

ตอนนี้ที่สวนโคโค่นัท ไทยแลนด์ ปลูกมะพร้าวน้ำหอมอยู่ 5 ไร่ และมะพร้าวแกง 2 ไร่ ทั้งในพื้นที่ใกล้เคียง บ้านญาติ และบ้านคุณยาย หลายพื้นที่มารวมกัน

สำหรับมะพร้าวเป็นพืชที่ปลูกและดูแลง่าย ถ้ามะพร้าวที่โตแล้ว รดน้ำแค่เดือนละหนึ่งครั้งก็ได้ ไม่จำเป็นต้องรดเยอะ เพราะว่าสวนมะพร้าวจะออกแบบเป็นพื้นที่ทำเป็นร่องน้ำอยู่แล้ว หรืออาจจะทำเป็นระบบน้ำอย่างอื่นเพิ่มเติม ส่วนเรื่องของการใส่ปุ๋ย ก็จะเน้นเป็นปุ๋ยคอกใส่ 3-4 เดือน / 1 ครั้ง แล้วก็ใส่เกลือแกงปีละ 1 กิโลกรัมต่อต้น ซึ่งหลัก ๆ ก็จะมีอยู่แค่นี้ ถ้าใครอยากจะเสริมปุ๋ยเคมีก็จะใส่แค่ปีละประมาณ 2 กิโลกรัมก็โอเคแล้ว

ส่วนเรื่องของโรคแมลงส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องของด้วงที่มากินยอดมะพร้าว มีวิธีการป้องกันหลากหลายวิธี แต่ละวิธีจะไม่สามารถป้องกันได้ 100% ต้องใช้วิธีการที่หลากหลายผสมผสานกันเข้ามา เช่น ทำถังดักด้วง ล่อให้ด้วงเข้ามาติดในกับดัก หรือว่าจะใส่ลูกเหม็นตามกาบใบ กลิ่นจะป้องกันด้วงไม่ให้ด้วงเข้ามาใกล้ หรือว่าการใส่ทรายที่กาบลำต้นเพื่อป้องกันไม่ให้ด้วงเข้ามาถึงลำต้นได้ แต่ในระยะยาวก็ควรมีการปลูกพืชในการคลุมต้นมะพร้าวไปเลย เพราะว่าแมลงจะมาตามกลิ่นของต้นไม้อยู่แล้ว ถ้านำพืชชนิดอื่น ๆ อย่างเช่น พริกไทยหรือว่าต้นพลูเอาไปปลูกร่วมกัน ก็สามารถช่วยป้องกันแมลงได้ตามธรรมชาติด้วย สิ่งที่จะต้องมีก็คือ ความรู้ในเรื่องของการจัดการพืชชนิดที่ปลูก และวิธีการที่จะทำให้ปลูกอยู่ได้อย่างยั่งยืน และลดผลกระทบในเรื่องของศัตรูพืช คือการทำแบบผสมผสาน เพราะว่าแมลงส่วนใหญ่จะมาตามกลิ่นของต้นไม้ เมื่อมีการปลูกแบบผสมผสาน นอกจากจะมีรายได้หลากหลายช่องทางแล้ว เวลาที่มันเกิดโรคระบาด ก็จะไม่รุนแรง เป็นการเกื้อกูลตามธรรมชาติ ช่วยเหลือกันเองตามธรรมชาติ

ทางด้านการให้น้ำ ตอนนี้มีการพัฒนาควบคุมระบบการรดน้ำผ่านสมาร์ทโฟน ซึ่งถ้าจะใช้การรดน้ำแบบนี้จะต้องเป็นพื้นที่ที่มีสัญญาณ Wi-Fi แล้วก็ควบคุมผ่านแอพในสมาร์ทโฟน สามารถที่จะตั้งเวลาได้ว่าจะให้รดน้ำตอนไหนบ้าง รดกี่นาที หรือว่าถ้าต้องการจะรดแบบ Manual ก็สามารถกดปุ่มรดน้ำได้เลย ตรงนี้ก็เป็นเทคโนโลยีอันหนึ่งที่ครูพี่นุพัฒนาขึ้นมาเพื่อใช้ในการทำเกษตร แล้วก็ลดปัญหาสำหรับคนที่อาจจะไม่ค่อยได้อยู่ที่สวน แต่ที่เอาไปใช้จริง ๆ ส่วนใหญ่จะเป็นสวนผักในเมือง เพราะว่าไม่ค่อยมีเวลาและสามารถควบคุมผ่านสมาร์ทโฟนได้

การดีไซน์และการออกแบบสวนมะพร้าว ครูพี่นุจะใช้แบบผสมผสาน คือออกแบบให้มะพร้าวเป็นพืชอันดับบนสุดเลยคือได้รับแสงเต็ม นอกจากนั้นก็จะหาพืชที่ปลูกร่วมกับมะพร้าวได้ตลอด เช่น ต้นกล้วย ต่ำลงมาอีกก็หาพืชที่ต่ำกว่าต้นกล้วยมาปลูกร่วมกันได้เช่น มะนาว ฝรั่ง ตะลิงปิง หรือว่าพืชที่ใช้ในการป้องกันแมลงเช่น พริกไทย ต้นพลู ก็มาผสมผสานปลูกรวมกันได้ในพื้นที่เดียวกัน

สำหรับต้นพันธุ์มะพร้าวจะใช้เวลาเพาะประมาณ 4 เดือน ถึงจะลงปลูกได้ จะมีบางสายพันธุ์ เช่น พันธุ์สวี จะใช้เวลานานกว่านั้น ประมาณ 4-6 เดือนในการลงปลูก ต้นพันธุ์ที่จะนำไปปลูก จะปลูกได้ตั้งแต่ความสูงประมาณ 50 เซนติเมตรขึ้นไปจนถึง 1 เมตร ขึ้นอยู่กับว่าเกษตรกรนี้จะปลูกเป็นต้นเล็กหรือเป็นต้นใหญ่ แต่ถ้าสูงจากนี้ไปแล้ว ถ้าสูงมาก 1 เมตรครึ่งถึง 2 เมตร จะไม่ค่อยแนะนำ เพราะว่ามันอาจจะโตได้ไม่ดีพอ เพราะว่าสารอาหารที่อยู่ในลูกจะลดน้อยลงไป น้ำและอาหารมันจะถูกใช้ไปจนกว่ามันจะโตขึ้นมา และถ้าเป็นต้นใหญ่จริง ๆ ต้นนั้นจะต้องถูกชำอยู่ในถุงดำก่อนก็สามารถที่จะปลูกเป็นต้นใหญ่ได้

การกลายพันธุ์ของต้นมะพร้าวจะมีบ้างอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นจะต้องมีความรู้ในการคัดเลือกสายพันธุ์ เช่น มะพร้าวแกงพันธุ์สวี เดิมมันเป็นแม่พันธุ์มาลายูสีเหลืองต้นเตี้ยผสมกับเวสท์แอฟริกันต้นสูงก็ได้มาออกเป็นพันธุ์สวี เวลาเอาลูกพันธุ์มาเพาะ บางครั้งมันก็เปลี่ยนกลับไปเป็นแม่พันธุ์เดิมของมัน ก็ต้องเลือกว่าลักษณะของสวีจริงๆ ลักษณะมันเป็นอย่างไรสีต้นต้องเป็นสีส้ม สีเขียว ลักษณะของลูกจะต้องทรงรี ทรงป้อม อย่างไรบ้าง จะต้องมีเทคนิคในการเลือก ต้นไหนที่เป็นลักษณะพันธุ์ที่ไม่ดีก็จะคัดออก แล้วนำไปทำมะพร้าวในรูปแบบอื่นๆ เป็นการจัดสวนแทน หรือว่าเป็นมะพร้าวสำหรับทำบอนไซแทน

มะพร้าวแต่ละสายพันธุ์ราคาจะแตกต่างกันไป แต่ละช่วงก็จะไม่เหมือนกัน ถ้าเป็นมะพร้าวแกงก็จะขายตามขนาดของลูก มะพร้าวสวีก็จะถูกกว่า ถ้าเป็นราคาตอนนี้มะพร้าวแกงสวีจะเป็นลูกขนาดเล็กกว่า ก็จะเป็นราคา 55 บาท มะพร้าวแกงลูกขนาดกลางก็จะเป็น 65 บาท แล้วก็จัมโบ้ 75 บาท ส่วนมะพร้าวน้ำหอม 65 บาท ความสูงก็จะเป็นขนาด 1 ฟุต หรือว่า 50 เซนติเมตร ขึ้นอยู่กับความต้องการของลูกค้า

สวนโคโค่นัท ไทยแลนด์ ไม่ได้ทำเพียงแค่มะพร้าวอย่างเดียว ยังมีการทำเกษตรแบบผสมผสาน มีการสอนทำปุ๋ยหมักใช้เอง การเลี้ยงไก่อินทรีย์ รวมถึงการทำสวนผักแบบรูปแบบคนเมือง โดยมีแรงบันดาลใจในการทำเกษตรผสมผสานจากหลักคำสอนของในหลวงรัชกาลที่ 9 ซึ่งเป็นวิธีการที่จะทำให้เราเกิดความยั่งยืนในการทำอาชีพเกษตรกรได้นั่นเอง

กลุ่มเป้าหมายของสวนโคโค่นัท ไทยแลนด์ คือ เกษตรกรผู้มีความสนใจในเรื่องการทำสวนมะพร้าวที่เข้ามาศึกษาเรียนรู้ที่สวนโคโค่นัท ไทยแลนด์ ครูพี่นุเองจะให้คำแนะนำ การวางแผนการทำสวน การเริ่มต้นว่าจะต้องทำอย่างไรบ้าง นอกจากนั้นก็จะเป็นเรื่องอื่น ๆ เช่น เรื่องการเลี้ยงไก่อินทรีย์ การปลูกผักในพื้นที่จำกัด การปลูกผักในตัวเมือง

ส่วนผลิตภัณฑ์ของสวนโคโค่นัท ไทยแลนด์ จะมีผลผลิตจากมะพร้าวที่นำไปทำน้ำกะทิ มีต้นพันธุ์มะพร้าวน้ำหอม มะพร้าวแกง มะพร้าวจัดสวน มะพร้าวสำหรับทำบอนไซ แล้วก็ลูกมะพร้าวสำหรับงานโฆษณา นอกจากนี้ยังมีวัสดุสำหรับการปลูกผักในรูปแบบของคนเมือง ในเข่ง ในกระถาง ซึ่งขายผ่านทางมาร์เก็ตเพลส ช่องทางออนไลน์ และอนาคตจะมีการพัฒนาไปยังตลาดในต่างชาติด้วย

รายได้ของสวนโคโค่นัท ไทยแลนด์ ถือว่าพอกินพอใช้แล้ว และมีสินค้าจำหน่ายหลากหลายไม่ว่าจะเป็นต้นพันธุ์หรือว่าจะเป็นวัสดุในการปลูกต้นไม้ ปลูกผัก แล้วก็ยังมีรายได้จากการสอนด้วย สอนผ่านทาง YouTube หรือว่าเขียนเว็บไซต์ก็จะเป็นรายได้เสริม ถือว่ามีรายได้หลากหลายช่องทาง และยังใช้การสอนเป็นการทำการตลาดอีกด้วย เรียกว่าทำการตลาดผ่านการสอน

สำหรับช่อง YouTube โคโค่นัท ไทยแลนด์เริ่มทำมาตั้งแต่ปี 2016 ตอนนั้นพี่น้องเกษตรกรหลายคนที่ติดตามขอให้สอนวิธีการทำ วาล์ว เวนจูรี่ ก็คือ วาล์ว ที่อาศัยแรงดันการดูดปุ๋ยผสมไปกับน้ำ ปล่อยไปยังแปลงสวนมะพร้าวหรือว่าแปลงผักผ่านการผสมน้ำผสมปุ๋ย แล้วก็ไปรดยังต้นไม้ได้เลย เนื่องจากมีเกษตรกรหลายท่านถามเข้ามา ก็เลยคิดว่าทำเป็นคลิปวิดีโอขึ้นมาแนะนำว่าจะมีวิธีการต่อการวางท่ออย่างไร วางแปลนอย่างไรเพื่อใช้วาล์วตัวนี้ในการดูดน้ำ อันนั้นเป็นคลิปแรกที่ทำขึ้นมาสอน จากนั้นก็มีคำถามจากพี่น้องเกษตรกรหลายหลายคนเข้ามา ครูพี่นุก็ทำคลิปลงไปเรื่อย ๆ ตอนนี้จะไม่ได้มีแค่การทำ สวนมะพร้าวอย่างเดียว จะมีการแนะนำการทำเกษตรแบบผสมผสานในเรื่องของการปลูกผักและการทำปุ๋ยหมักไว้ใช้เองด้วย นอกจากนั้นมีเว็บไซต์ที่เขียนเป็นบทความเรื่องของการทำเกษตรด้วย ตั้งขึ้นมาเพื่อให้เป็นชุมชน มีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องราวของการทำเกษตรอย่างยั่งยืน

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณภานุพงศ์ สะและหมัด 11 หมู่ 6 ตำบลหมอนทอง อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา 24150

ปลูกมะพร้าวแบบเพิ่มมูลค่าไปอีกขั้น ทำง่าย รายได้งาม [ rbk | รักบ้านเกิด ]

เรื่อง/ภาพโดย: นนท์ ทีมงานรักบ้านเกิด