

"นคร ลิมปคุปตถาวร : เจ้าชายผัก กับอาณาจักรสีเขียว"

รับรู้อย่างที่มันควรจะเป็น

คำสำคัญในชีวิตของคุณนคร คือ “ชีวิตคือการเรียนรู้” หลายคนอาจจะบอกว่าเรียนรู้ตลอดชีวิต แต่สำหรับคุณนครแล้ว เขาก็ไม่รู้ว่าตัวเขาเองจะมีชีวิตไปจนถึงเมื่อไหร่ แต่เขาเชื่อว่าทุกวินาทีคือการเรียนรู้ เรียนรู้ที่จะกิน เรียนรู้ที่จะหายใจ ที่จะอยู่ ที่จะคิด ที่จะลงมือทำอะไรต่าง ๆ เรียนรู้ที่จะมีเพื่อน มีครอบครัว มีสังคมต่าง ๆ ตรงนี้เขาคิดว่าแต่ละคนก็มีการเรียนรู้ตามแนวทางของแต่ละคน ไม่เหมือนกัน และไม่สามารถมีใครทำแทนกันได้ แต่สิ่งที่แต่ละคนทำนั้น สามารถทำร้อยเรียงเชื่อมโยงให้เป็นสังคมที่ดีต่อกัน หรือสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อตัวเรา ต่อผู้อื่น ต่อสังคม ต่อโลกได้ อันนี้เป็นสิ่งที่ควรทำ และทำผ่านกระบวนการมีชีวิตต่อไปนี่เอง
ความสุขของคุณปรินซ์ คือ ความปกติ คือการไม่ป่วย คือการมีสุขภาพที่ดีนั่นเอง คุณปรินซ์ให้แง่คิดว่า เวลาเราป่วย เราไม่มีความสุขเลย เมื่อมองถอยมาอีกหน่อย ก่อนป่วย เรามีความสุขดี นั่นแปลว่า ความสุขของเรา คือความเป็นปกติ ทั้งร่างกายและจิตใจ และนั่นแหละ คือ ความสุขของคุณปรินซ์
คุณนครใช้หลักการ “ทำไปเรียนรู้ไป” เขาเชื่อว่าทุกอย่างไม่มีอะไรสมบูรณ์แบบ ดังนั้นทำไปเรียนรู้ไปไม่ต้องรอให้พร้อม เพราะว่าจะไม่มีวันพร้อมถ้ารอ แต่ถ้าลงมือทำไปแล้วเรียนรู้ไป สิ่งไหนที่เป็นบทเรียนก็นำมาเป็นครู สิ่งไหนที่ทำให้เติบโตก้าวหน้าได้ก็เป็นอาจารย์ ให้ประสบการณ์แก่ชีวิต ได้เรียนรู้จากประสบการณ์จริง จากประสบการณ์ของตัวเราเอง จากต้นไม้ จากผืนดินต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นครูที่ดีที่สุด ดังนั้นการทำไปเรื่อย ๆ จะทำให้เห็นตัวเองมากขึ้น การเห็นตัวเองมากขึ้นแตกต่างจากการเห็นแก่ตัว การเห็นตัวเองมากขึ้นทำให้เข้าใจตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวเองได้อย่างถ่องแท้ จะทำให้ค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตนเอง เมื่อค้นพบตัวตนที่แท้จริงของตนเอง จะพบได้ถึงความง่ายงาม ความสงบ ความสุขที่เกิดขึ้นในใจเราเอง โดยที่ไม่ต้องพึ่งพาสิ่งใดสิ่งหนึ่ง
คุณนคร ลิมปคุปตถาวร มีชื่อเล่นว่า ปริ๊นซ์ ซึ่งแปลว่าเจ้าชาย และเมื่อหลายสิบปีก่อนเขาเคยเขียนบล็อกเล็ก ๆ สั้น ๆ และสมัยนั้นมีละครเกาหลีชื่อเรื่อง คอฟฟี่ปริ๊นซ์ เขาก็เลยใช้นามปากกาว่า Veget Prince – เวเกตปริ๊นซ์ แต่เพื่อน ๆ บอกจดจำยาก ก็เลยเรียก “เจ้าชายผัก” แทน เพราะตอนนั้นเขาปลูกผักแล้วด้วย แต่ปัจจุบัน คุณปริ๊นซ์ไม่ได้แค่ปลูก แต่กลายร่างมาเป็นเจ้าของศูนย์การเรียนรู้เกษตรในเมืองบ้านเจ้าชายผักอีกด้วย
ก่อนที่จะมาปลูกผัก คุณปริ๊นซ์เคยทำงานพัฒนาชนบท เป็นผู้ช่วยนักวิจัยอยู่ที่ศูนย์เรียนรู้ปราชญ์ชาวบ้าน ที่จังหวัดปราจีนบุรี ชื่อว่าธรรมะเกษตร แล้วก็เป็นนักวิจัยอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สมัยเรียนปริญญาโทด้านการเกษตรยั่งยืน
คุณปริ๊นซ์จบปริญญาตรีจากคณะวิทยาศาสตร์ สาขาเทคโนโลยีการเกษตร สาเหตุที่เลือกคณะนี้ เพราะสมัยเรียนมัธยมปลาย ไม่ได้คิดว่าจะต้องเลือกเรียนอะไรเป็นพิเศษ แต่อยากเลือกเรียนสิ่งที่สนใจ ตัวเขาเองสนใจเรื่องธรรมชาติ ศิลปะ ความงาม สุขภาพ ก็เลยลองดูว่ามีคณะอะไรจะนำเขาไปสู่สิ่งเหล่านั้นได้บ้าง หรือสาขาอะไรที่นำไปสู่สิ่งเหล่านั้นได้บ้าง ก็เลยคิดว่าเรื่องคณะเกษตรศาสตร์ หรือ สาขาที่เกี่ยวกับเกษตร หรือ อาหาร จะนำเขาไปสู่สิ่งที่เขาชอบและสนใจได้
จุดเริ่มต้นในการปลูกผักของคุณปริ๊นซ์ ก็เพียงแค่คิดว่าอยากปลูกผัก ก็เลยหาพื้นที่ปลูกในบ้าน ซึ่งสมัยก่อนปลูกในบ้านที่อยู่กันเป็นครอบครัวใหญ่ จะมีมุมข้างโรงรถนิดหน่อย ก็เอามาปลูกผักประมาณ 3-4 ตารางเมตร อยากกินอะไรก็ปลูก กินได้ กินไม่ได้ก็ลองปลูกดู ประมาณว่าอยากกินอะไรก็ปลูกสิ่งนั้น บางอย่างอาจจะไม่เหมาะกับสภาพแวดล้อม ก็ทดลองว่าทำได้ไหม ส่วนใหญ่ปลูกในสิ่งที่กิน กินในสิ่งที่ปลูก ก็เริ่มตั้งแต่ตรงนั้น มาบังเอิญโชคดีได้ที่ดินเพิ่มขึ้น ก็เลยมาพัฒนาพื้นที่ดิน จากเมื่อก่อนเป็นพื้นทราย แล้วก็พื้นปูนล้วน ๆ เลย ก็ค่อย ๆ เอามันออกไป แล้วก็ปรับปรุงที่ดินมาเรื่อย ๆ เป็นสวนอย่างที่เห็นตอนนี้ โดยเรียนรู้จากทั้งครูอาจารย์ แล้วก็เรียนรู้ด้วยตนเอง เรียนรู้จากการไปเห็น ได้ยิน จากการไปฝึกงาน ทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งส่วนสำคัญที่ทำให้ทำมาตลอด คือ การปลูกผักเหล่านี้ คือการปลูกความสุขของเขาไปด้วย ความสุขของคุณปริ๊นซ์สามารถงอกเงยได้จากที่ดิน และยังได้ความสุขเรื่องสุขภาพ ทั้งร่างกายและจิตใจ ได้ทำงานกับธรรมชาติ ได้ดูแลรักษาฟื้นฟูสิ่งแวดล้อมต่าง ๆ ขึ้นมา
เนื่องจากคุณปรินซ์ทำงานด้านการเกษตรมาก่อน และจนถึงปัจจุบันก็ร่วม20 ปี การปลูกผัก หรือเรื่องโรคพืช แมลงต่าง ๆ จึงไม่ใช่ปัญหาของคุณปรินซ์ เพราะคุณปรินซ์มีวิธีที่จะทำงานกับธรรมชาติได้ เขาทำงานจนมีวัชพืชเป็นครู วัชพืชที่เจอมาสอนให้เขารู้ว่าต้องปรับปรุงดินอย่างไร ปลูกพืชอย่างไรให้หลากหลาย ไม่ให้เกิดโรคเกิดแมลง ความรู้แบบนี้ไม่มีในตำรา แต่เขาได้จากการทำไปเรื่อย ๆ จนได้เห็นว่า จริง ๆ แล้วดินที่ร่วนซุยจะอยู่รอบรากวัชพืช วัชพืชจะช่วยพรวนดินให้ และได้พบว่าวัชพืชหลายอย่างแมลงชอบกินมากกว่าผัก หรือว่าหากเราตัดหรือว่าสับวัชพืชลงไปในดิน จะทำให้ดินร่วนนุ่มฟู ดินที่ดีที่อ่อนนุ่มรากพืชก็จะเดินทางไปได้ไกล เขาจะชอนไชไปได้ไกล หากินอาหารไปได้ไกลขึ้น แข็งแรงมากขึ้นสุขภาพเขาก็ดีขึ้น เขาก็ไม่มีโรคไม่มีแมลงเอง แดดที่ร้อนแรง ถ้าเรารดน้ำในแปลงที่วัชพืชเติบโตไปพร้อมกับผัก ก็จะทำให้แปลงผักชุ่มชื้นมากกว่า เพราะว่าแปลงผักถูกคลุมดินด้วยวัชพืชอยู่แล้ว ในทางกลับกันหอยทากที่เคยมีก็ไม่มี เพราะเขาไม่มีที่หลบซ่อน ศัตรูพืชอะไรต่าง ๆ ก็ไม่มี สวนอาจจะดูขัดใจรกตานิดหน่อย เพราะว่ามีวัชพืช แต่ว่าผักแข็งแรงดี
แต่การปลูกผักร่วมกับวัชพืชของคุณปรินซ์นั้นมีวิธี ต้องรู้ที่จะปลูกให้มันรวมอยู่กันได้โดยที่วัชพืชต้องไม่โตไปมากกว่าผัก ต้องเข้าใจว่าต้นไม้เขากินอาหารร่วมกัน กินจากพื้นดินร่วมกัน จากแสงแดด จากน้ำเดียวกัน ถ้าอยู่ชิดกันมากก็ดึงออกไปบ้าง ไม่จำเป็นที่จะต้องถอน เมื่อเราเด็ดยอดข้างบน รากข้างใต้มีความยาวเท่ากับยอดที่เราเด็ดไปเขาก็จะตาย ก็จะกลายเป็นอาหารให้ดิน ดินจะมีอินทรีย์วัตถุเพิ่มมากขึ้น จะฟูมากขึ้น โดยที่ไม่ต้องใส่ปุ๋ย การทำแบบนี้ทำให้ผักอยู่ร่วมกับวัชพืชได้ สวนรกก็แค่มาตัดแต่งหญ้าบ้าง
ตอนนี้พื้นที่ปลูกผักของคุณปรินซ์ในกรุงเทพ ฯ มีประมาณ 100 กว่าตารางวา เป็นพื้นที่ปลูกผักซัก 100 ตารางวา ถ้ารวมตึกก็ประมาณ 140 กว่าตารางวา แต่เขาปลูกข้าวกินเองด้วย มีที่อยู่ที่เพชรบูรณ์ อันนั้นเป็นที่ไกล้ ๆ บ้านภรรยา ทำมาได้สักสองสามปีแล้ว ส่วนในกรุงเทพ ฯ ทำมา 10 ปี ระหว่างนั้นมีคนขายที่ดินทางโน้นให้ ก็เลยปรับที่ดินฝั่งโน้นให้เป็นนาผสมผสานเป็นนาส่วนหนึ่ง แล้วมีปลูกไม้ผล ผักต่าง ๆ ส่วนหนึ่ง แล้วก็มีบ่อน้ำส่วนหนึ่ง ตอนนี้มีการปลูกข้าวสดร่วมกับวัชพืช แล้วก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ยอะไร ปีแรกหนึ่งไร่ครึ่งได้ 50 ถัง ปีที่ 2 หนึ่งไร่ครึ่งได้ 70 - 80 ถัง โดยที่ไม่ต้องไปใส่ปุ๋ยอะไรเพิ่ม ใช้ปุ๋ยพืชสดและวัชพืชอย่างเดียว
นอกจากนี้มีปลูกผักตามฤดูกาลและเท่าที่จะกิน แต่ไป ๆ มา ๆ บางอย่างไม่ได้ปลูกก็ได้กิน เพราะว่าวัชพืชหลายอย่างก็กินได้ เมื่อดินดีขึ้นวัชพืชก็จะเปลี่ยนไปไม่ใช่พวกตระกูลหญ้าที่เรากินไม่ได้ แต่จริง ๆ แล้วหญ้าบางอย่างก็กินได้เหมือนกัน และจะมีพืชหลายอย่างที่ขึ้นเองเพื่อพวกผักโขม ส้มกบ กะเพรา หรือแม้กระทั่งพวกผักเซียนผี หรือบางอย่างเป็นพวกสมุนไพรมีหญ้าลิ้นงูเขียว ลูกใต้ใบ น้ำนมราชสีห์ มีหลายหลายอย่าง วัชพืชเป็นสมุนไพรเกือบทั้งนั้น แต่ว่าเราจะรู้วิธีใช้หรือเปล่าเท่านั้นเอง ถ้าอยากทำสวนให้มีความหลากหลาย ก็ปลูกผักรวมกับวัชพืชไปเลย อาจจะมีดอกไม้แซมบ้างอะไรบ้างเพราะจะทำให้เกิดระบบนิเวศน์ ระบบนิเวศน์เหล่านี้จะทำให้ไม่ต้องไปฆ่าแมลง แล้วอีกอย่างถ้าพืชผักแข็งแรงแมลงก็ไปกินวัชพืชที่ไม่แข็งแรงดีกว่า
แนวคิดที่อยู่ร่วมกันในธรรมชาติของเขานั้น ได้มาจากการที่เขาไปดูงานที่ต่างประเทศด้วย เมื่อ 17 ปีที่แล้ว คุณปรินซ์ได้ไปฝึกงานที่ประเทศออสเตรเลีย ซึ่งปัจจุบันประเทศออสเตรเลียมีสัดส่วนเกษตรอินทรีย์มากที่สุดในโลก ประมาณ 25% ของทั้งประเทศ คุณปรินซ์จึงไปซึมซับการเกษตรอินทรีย์จากที่โน่น นอกจากนั้น คนออสเตรเลียให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม เขาให้ความสำคัญกับความคิดที่ว่าถ้าสิ่งแวดล้อมดี สุขภาพก็จะดี เพราะฉะนั้นความใส่ใจในสิ่งต่าง ๆ ของคนออสเตรเลียสามารถเจอได้ในชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องธรรมดาสามัญ เช่น เดิน ๆ ไปคนก็ชี้นกชมไม้เป็นความสุขของเขา วันเสาร์ อาทิตย์ แทนที่จะไปเที่ยวห้าง ส่วนใหญ่คนจะไปปั่นจักรยาน ไปปีนเขา ไปเดินดูนก ไปอาบแดด ไปนั่งบนสนามหญ้าปิกนิกกันหรือว่ากินชา กินอะไรกัน ทำอาหารไปกินด้วยกัน ซึ่งการดำเนินชีวิตแบบนี้ช่วยให้ประเทศของเขาสงบสุขและงดงาม เพราะคนใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อม สุขภาพก็จะตามมา
ส่วนทางด้านการเกษตร ประเทศออสเตรเลียเป็นการเกษตรสองกระแส เกษตรกระแสหนึ่งเป็นเกษตรที่พยายามบังคับธรรมชาติหรือว่าควบคุมธรรมชาติเพื่อให้ได้สิ่งที่เขาต้องการ แต่อีกแบบหนึ่งคือพยายามที่จะอยู่ร่วมกันกับธรรมชาติ ซึ่งแบบหลังมีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่แบบแรกกำลังหายไปเรื่อย ๆ เช่นกัน คนที่คิดอย่างแบบแรกส่วนใหญ่จะอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ จะพึ่งตัวเองไม่ได้ ต้องอาศัยวิธีการให้คนอื่นทำภายใต้กิจการของตัวเอง ซึ่งก็อาจจะทำให้คนเล็กคนน้อยต้องเป็นแรงงานในบริษัท แต่แบบหลังทุกคนมีเสรีภาพ มีความเสมอภาค มีความเป็นพี่เป็นน้องในการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน แบบนี้ไม่ว่าที่ไหนบนโลกเท่าที่คุณปรินซ์เห็น ไม่ว่าจะในยุโรปในเอเชีย หรือเพื่อน ๆ ที่มาจากซีกโลกอื่น เช่น แอฟริกา อเมริกาใต้ พวกนี้เติบโตแบบนี้มากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งแบบหลังถามว่ารายได้เยอะไหม ตอบได้เลยว่า มีรายได้ไม่เยอะแต่รายเหลือเยอะ รายเหลือเยอะคือรายจ่ายในชีวิตต่ำ เพราะว่าคุณภาพชีวิตดีกว่า ไม่เจ็บไม่ป่วย มีบำนาญจากบำนาญ จากต้นไม้บำนาญ จากสุขภาพต่าง ๆ ที่สำคัญคือ คุณปรินซ์รู้สึกว่าคนที่ทำแบบหลังนี้ จะเป็นคนที่ช่วยเหลือผู้อื่น มีความรู้ มีปัญญา มีประสบการณ์ต่าง ๆ มาแบ่งปันให้ผู้อื่นเสมอ แต่แบบแรกทุกอย่างเขาเป็นเจ้าของอยู่ฝ่ายเดียว ทำอะไรมาก็จดสิทธิบัตร ทำอะไรมาก็เป็นลิขสิทธิ์ต่าง ๆ ของตัวเอง ซึ่งเรื่องแบบนี้เป็นสังคมอยู่ยาก ยิ่งทำยิ่งเหลือคนน้อย ยิ่งเหลือความสุขน้อยลง
จากที่คุณปรินซ์เคยไปดูงานจากต่างประเทศไม่ว่าจะเป็นที่ออสเตรเลีย ที่ญี่ปุ่น หรือประเทศอื่น ๆ ในยุโรป เขาบอกว่า สิ่งที่เขาได้มาคือประสบการณ์ ได้เข้าใจดิน เข้าใจน้ำ เข้าใจต้นไม้ เข้าใจการอยู่รวมกัน รวมทั้งเรื่องระบบนิเวศน์หรือว่าแนวคิดต่าง ๆ มากขึ้น ซึ่งสิ่งที่เขาทำขึ้นในปัจจุบันก็จะคล้ายคลึงกัน ปัจจุบันคุณปรินซ์พยายามปลูกพืชร่วมกับวัชพืช ปลูกพืชร่วมกับพืชที่เขาไม่ได้ปลูก ในต่างประเทศจะมีความรู้แบบนี้ คือ สุดท้ายแล้ว ทุกสิ่งทุกอย่างมันเชื่อมโยงกัน มีเป้าหมายเดียวกัน ไปสู่วิถีชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม วิถีชีวิตที่ดูแลโลก ดูแลเราไปพร้อมกัน
จากการทำไปรู้ไป จนมาถึงการมอบความรู้ให้ผู้อื่น คุณปรินซ์ได้จัดให้มีศูนย์เรียนรู้บ้านเจ้าชายผักขึ้น มีห้องเรียนให้คนมาเรียนรู้ปลูกผักกินเอง เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมาความรู้ของคุณปรินซ์พัฒนาขึ้นมาเรื่อย ๆ จากที่ต้องใช้ปัจจัยการผลิตจนมาถึงไม่ต้องใช้ และแทบจะไม่ใช้เลย เป็นห้องเรียนที่เขาจัดอยู่เป็นประจำอย่างน้อยเดือนละหนึ่งครั้ง บางเดือนก็สองหรือสามครั้ง ขึ้นอยู่กับว่ามีคนสนใจมากแค่ไหน แล้วก็มีไปสอนข้างนอก ที่องค์กร ห้างร้านต่าง ๆ บริษัทต่าง ๆ โรงเรียน มหาวิทยาลัยก็มาชวนไปแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะมีในส่วนที่เป็นเวิร์คช็อปและบรรยาย หรือว่าเป็นการแบ่งปันประสบการณ์เสวนา สัมมนาวิชาการอะไรต่าง ๆ แบบนี้ ก็จัดอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมเรื่องสุขภาพ หมายถึงข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่กินอยู่ ทางคุณปรินซ์ทำเองและก็แบ่งปันประสบการณ์ความรู้นี้ ที่ทำก็ใช้จากประสบการณ์การใช้ชีวิตของตนเองเป็นห้องเรียนการดูแลสุขภาพ แล้วได้รับความรู้มาจากทางครูอาจารย์ที่ญี่ปุ่น แล้วผสมกับการแพทย์พื้นบ้านของไทย แพทย์แผนไทยกับแพทย์แบบตะวันตกที่หลอมรวมตะวันออกตะวันตกไปด้วยกัน การแพทย์แบบนี้เรียกว่าการดูแลสุขภาพแบบสบายสบายบำบัด ห้องเรียนก็มีห้องเรียนสบายสบายบำบัดอยู่ตรงนี้
ปัจจุบันคุณปรินซ์กับภรรยาและลูกๆ ไม่ได้กินยาแผนปัจจุบันมา 12 ปีแล้ว เจ็บป่วยอะไรที่ไม่ถึงกับคอขาดบาดตายก็สามารถที่จะดูแลตัวเองได้ ซึ่งบางอย่างอาจจะไม่ต้องทำอะไรเลย ใช้แค่น้ำอุ่นหรือใช้การสัมผัสเบาๆก็หายแล้ว ความรู้ต่าง ๆ เหล่านี้จะเป็นความรู้ที่ทำห้องเรียนขึ้นมาประมาณหกถึงเจ็ดปีได้
กลุ่มคนที่มาเรียนส่วนใหญ่จะมีครบทุกเพศทุกวัยทุกชาติทุกภาษา มีตั้งแต่อนุบาลไปจนถึงผู้สูงอายุ วัยนักเรียน คนวัยทำงาน มีครบทุกวัยทุกชาติทุกภาษานี้ มีคนต่างประเทศที่สามารถพอจะสื่อสารกันได้ อาจจะเป็นผ่านภาษาอังกฤษ ถ้าเขาเป็นชาติอื่นก็อาจจะมีล่ามมา ที่นี่เชื่อว่าองค์ความรู้และประสบการณ์ต่าง ๆ ของเรานี้เป็นสิ่งที่สามารถแบ่งปันกันได้ เป็นสิ่งที่เป็นสากลไม่ว่าเขาจะอยู่ตรงที่ไหนของโลกก็สามารถเอาสิ่งเหล่านี้ไปปรับใช้ได้
นอกจากนั้น ที่ผ่านมาคุณปรินซ์จัดให้มีกิจกรรมชุมชนร่วมกับเพื่อน ๆ ที่สนใจเรื่องเดียวกันมาประมาณ 5-6 ปีได้ และช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมานี้ จะจัดงานในทุก ๆ เดือน ที่บ้านเพื่อนอยู่ตรงซอยนาคนิวาท 30 เป็นงาน “วันผู้บริโภคนัดพบผู้ผลิต” หมายถึงเราเป็นผู้บริโภคในเมือง เพื่อน ๆ ที่เป็นผู้ผลิต หรือว่าเป็นเกษตรกร แปรรูปอาหารต่าง ๆ ที่ทำอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ต่อธรรมชาติ ต่อสิ่งแวดล้อม จะนัดหมายเจอกันเดือนละครั้ง ถือเป็นวันแห่งการแบ่งปัน เรียกว่าวันแห่งการปันอยู่ปันกิน
วันปันอยู่ ปันกิน นี้จะให้ผู้บริโภคใช้วิธีการสั่งจองอาหารต่าง ๆ ผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ล่วงหน้าผ่านเพจ แล้วก็มารับในวันงาน ส่วนคนที่ไม่ได้จองล่วงหน้าก็อาจจะมีอาหารพร้อมทาน หรือว่าอาจจะมีสินค้าบางอย่างเหลือมาจำหน่ายในหน้างาน การที่ทำแบบนี้ก็เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถที่จะมีส่วนร่วมสร้างการเปลี่ยนแปลงให้กับการเกษตร เพราะว่าการเกษตรในปัจจุบันนี้ ถ้าเรามองเห็นปัญหานี้เราจะเห็นว่าผู้ผลิตส่วนใหญ่ผลิตออกมาแล้วไม่คุ้มทุนต่อการเพาะปลูก เพราะว่าไม่สามารถกำหนดราคาเองได้และไม่สามารถเข้าถึงตลาดเองได้ ดังนั้นการที่จะสร้างตลาดวิธีง่ายที่สุดก็คือทำให้ผู้ผลิตกับผู้บริโภคพบกันและเห็นถึงคุณค่าในสิ่งเดียวกัน เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริโภครู้ว่าวันหนึ่งจะกินอะไรหรือเดือน ๆ หนึ่งจะกินอะไร เราก็สามารถที่จะรู้ถึงแหล่งที่มาของอาหารได้ รู้ถึงกระบวนการผลิตได้ จนกระทั่งถึงรู้หน้ารู้ใจแล้วก็ไว้ใจพึ่งพาอาศัยกันได้ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมและเศรษฐกิจอีกแบบหนึ่งที่มีจิตสำนึก
เหตุที่มีคนรู้จักสวนผักกลางเมือง ก็เพราะคุณนครมีโอกาสไปบรรยายในที่ต่าง ๆ หลากหลายงาน คนก็เลยรู้จัก และทำให้รู้จักสวนผักกลางเมืองนี้ด้วย จึงมีกลุ่มลูกค้าหลากหลาย ตั้งแต่เด็ก ถึงผู้ใหญ่ รวมถึงต่างชาติด้วยและผลตอบรับจากกลุ่มลูกค้าทั้งไทยและเทศบอกว่า เขาได้มาเปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ที่ไม่เคยทำ และได้มาทำที่นี่ ยิ่งปัจจุบันนี้มีการปลูกผักร่วมกับวัชพืชซึ่งยังไม่มีใครทำมาก่อน เขาก็ได้มาทำมาเห็นได้มาเรียนรู้ที่ทำกันอยู่จริง ๆ ถึงแม้จะไม่ใช่ความรู้ใหม่ เป็นความรู้จากครูอาจารย์ต่าง ๆ ที่คุณนครได้เรียนรู้มา คนที่เคยทำ คนที่เคยมีประสบการณ์เดียวกันก็จะเข้าใจได้ คนที่ไม่เคยทำก็จะไม่เข้าใจ
ส่วนรายได้ของที่นี่มาจากหลักการทำงานเพื่อทำงาน ให้กิจการงานหล่อเลี้ยงตัวเอง รายได้ของคุณนครมาจากการฝึกอบรม การให้ความรู้คน ส่วนภรรยาก็จะมีผลิตภัณฑ์เล็ก ๆ น้อย ๆ พวกเมล็ดพันธุ์พวกอะไรต่าง ๆ ที่เชื่อมโยงเครือข่าย เข้ามา หรือผลิตภัณฑ์การดูแลสุขภาพต่าง ๆ พวกนี้ เช่น พวกสบู่ แชมพู ซึ่งต่อไปในอนาคตก็อาจจะมีผลิตภัณฑ์พืชผักหรืออาหารอะไรต่าง ๆ มากขึ้น อย่างปัจจุบันปลูกข้าวกินเอง มันก็มีเหลือขายอยู่บ้าง มีพืชหลังนาก็ได้ขายอยู่บ้าง พวกกระเทียมข้าวโพด แตง ที่ปลูกแล้วเหลือกิน ก็สามารถมีขายได้ ซึ่งถามว่ารายได้เยอะไหม ก็ถือว่าพอกินพอใช้ แต่ว่ารายจ่ายต่ำเท่านั้นเอง
นคร ลิมปคุปตถาวร (สวนผักกลางเมือง) 9/711 สตรีวิทยา 2 ซอย 3 ลาดพร้าว 71 จังหวัดกรุงเทพมหานคร


