เกษตรกรต้นแบบ

"วีระ สุทธิสาร : ทายาทเกษตร ด้วยสำนึก ด้วยศรัทธา และรักบ้านเกิด"

 11 พฤษภาคม 2559 4,302
จ.บุรีรัมย์
หลักการพึ่งพาตนเอง นี่แหละดีสุด
อัตตาหิอัตตโน นาโถ ตนเป็นที่พึ่งแห่งตน
ขนาดกินข้าวยังต้องกินเอง หายใจยังหายใจเอง ทำไมเรายืนด้วยตัวเองไม่ได้...

เกษตรกรหนุ่มทายาทพ่อผาย ปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน

จากมนุษย์เงินเดือนธรรมดาๆ คนหนึ่ง ที่อยากจะเปลี่ยนแปลงชีวิตตัวเอง โดยทิ้งคำว่า นาย และ ลูกจ้าง หันหลังให้กับเมืองกรุง กลับบ้านเกิดบุรีรัมย์ ผันตัวเองเข้าสู่วงการเกษตร ด้วยคำว่า โอกาส ทำให้หนุ่มใหญ่อย่างคุณวีระ เข้ามาอยู่ในแวดวงปราชญ์เกษตร จนได้หล่อหลอมประสิทธิ์ประสาทวิชาความรู้การเกษตร และเดินตามรอย จนได้ชื่อว่าเป็นปราชญ์เกษตรอีกหนึ่งคนที่พร้อมจะมอบและเผยแพร่ความรู้เกษตรให้แก่ประชาชนทั่วไป

หลักคิดในการใช้ชีวิต

หลังจากหันหลังให้ชีวิตพนักงงานกินเงินเดือน ได้กลับมาอยู่บ้านที่บุรีรัมย์เมื่อปี พ.ศ. 2547 เริ่มมีความคิดที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่อยากเป็นลูกจ้างแล้ว จากนั้นได้มีโอกาสรู้จักกับ ครูบาสุทธินันท์ (ปราชญ์เกษตร) คนแรกที่จุดประกายความคิดให้กับคุณวีระ และนี่คือจุดเริ่มต้นที่ทำให้คุณวีระได้เปลี่ยนความคิดของตนเองจากคำสอนของครูบาสุทธินันท์ ที่บอกว่า “เรียนรู้ตลอดชีวิต” การเรียนนั้นไม่จำเป็นต้องเรียนแค่ในห้องเรียน ที่ไหนก็เรียนได้ จึงทำให้คุณวีระอยากเป็นนักเรียนอีกครั้ง มีความใฝ่รู้ ใฝ่เรียน ที่อยากศึกษาด้านการเกษตรมากยิ่งขึ้น

ในปี พ.ศ. 2548 ได้มีโอกาสเข้ามาทำงานในเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้าน คอยช่วยเหลือติดต่อประสานงาน ต้องบอกเลยว่าความรู้ด้านการเกษตร คุณวีระ ไม่ได้มีความรู้มาก่อนเลย แค่ตอนเด็กได้ทำนา กับแม่ เท่านั้นเอง คือ ความรู้ที่ติดตัวในเรื่องการเกษตร ทำให้ได้เรียนรู้กับครูบาสุทธินันท์และแลกเปลี่ยนความรู้กับเกษตรกรท่านอื่นๆ ความรู้ด้านการเกษตรที่ได้สั่งสมมา พี่วีระได้นำมาปรับใช้ให้เข้ากับตนเอง และสภาพแวดล้อมในปัจจุบันที่เป็นอยู่ ฝึกฝน ใผ่รู้อยู่ตลอดเวลา จนทำให้ได้รับหน้าที่เป็นวิทยากร "บทบาทของวิทยากร ไม่ใช่แค่รู้หลักวิชาการ รู้แค่ทฤษฎี เท่านั้น รู้แล้วต้องนำมาปฏิบัติ จึงจะเป็นวิทยากรที่สมบรูณ์"

ปี 2550 พี่วีระแต่งงานมีครอบครัวใช้ชีวิตคู่กับคุณคำปน ร้อยศรี จู่ๆ ความรักก็นำพาความโชคดีมาให้ คู่ชีวิต คือหลานสาวของปราชญ์เกษตรของแผ่นดิน แห่งเมืองบุรีรัมย์

และ“พ่อผาย สร้อยสระกลาง” คือผู้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย อ. ลำปลายมาศ จ.บุรีรัมย์ และได้มีส่วนร่วมในการช่วยพัฒนาหมู่บ้าน ตลอดการช่วยโครงการต่างๆภายในหมู่บ้าน และด้วยความที่ยังมีไฟในตัวอยากทำการเกษตร จึงได้เริ่มจากการทำเกษตรแบบผสมผสาน ด้วยการปลูกกล้วย ไผ่ ผักหวานป่า ต้นไม้ยืนต้น เลี้ยงเป็ด เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมูขุน รวมถึงขุดบ่อเลี้ยงปลา

การเลี้ยงหมูขุน หนึ่งในการทำเกษตรผสมผสาน

ประวัติและความเป็นมาเกี่ยวกับตัวเกษตรกร

จากการที่ได้รับการถ่ายทอดความรู้ของพ่อผาย ในการทำเกษตรผสมผสานและภูมิปัญญาต่างๆที่พ่อผายได้สอน ทำให้พี่วีระมีความรู้ความเชี่ยวชาญในการปลูกพืชมากยิ่งขึ้น โดยที่ผ่านมาได้ลงมือปลูกพืชหลากหลายชนิดด้วยกัน ไม่ว่าจะเป็นกล้วย ผักหวาน เห็ด ไผ่ เป็นต้น และนำความรู้ ภูมิปัญญาที่พ่อผายสอนมาประยุกต์ใช้ แต่การปลูกพืชที่พี่วีระเชี่ยวชาญและสนใจที่สุด คือ ไผ่ พี่วีระได้ให้เหตุผลที่เลือกไผ่เพราะ “ไผ่เป็นพืชอีกทางเลือกหนึ่ง ที่ปลูกง่าย และสร้างรายได้ หากรู้จักทำ ”

“ไผ่” จึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้พี่วีระ เป็นเกษตรกรอย่างเต็มตัว ซึ่งไผ่ที่พี่วีระปลูกเป็นไผ่เลี้ยง โดยเริ่มจากกการนำพันธุ์ไผ่ 100 ต้น มาปลูกในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้อีโต้น้อย จากนั้นก็เริ่มขยายพันธุ์ต้นไผ่ให้เพิ่มมากขึ้น ซึ่งขณะนี้พื้นที่ที่ใช้ในการปลูกไผ่ทั้งหมดจำนวน 2 ไร่กว่า และจากการขยายพันธุ์ก็สามารถสร้างรายได้โดยนำไปจำหน่าย รวมถึงวิธีการดูแลเอาใจใส่ต้นไผ่ พี่วีระบอกว่าพืชทุกอย่างก็ต้องการการดูแล การเอาใจใส่ด้วยกันทั้งนั้น ก่อนจะปลูกพืชเราจึงต้องศึกษาข้อมูลในสิ่งที่เราปลูกก่อนว่า พืชชนิดนี้เป็นอย่างไรเหมาะกับแบบไหน ชอบอะไร ไม่ชอบอะไร ต้นพืชก็เหมือนกับจิตใจของคนเช่นกัน อย่างไผ่ที่ปลูก โดยส่วนตัวไผ่จะชอบน้ำ น้ำเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการปลูกไผ่ และระยะเวลาที่เหมาะสมจะได้ผลดีที่สุดในการปลูกไผ่ ก็คือ ในช่วงกลางเดือนพฤษภาคม-ปลายเดือนมิถุนายน เพราะเป็นช่วงฤดูฝน สามารถอาศัยน้ำฝนช่วยได้ และเป็นระยะที่ไผ่เจริญเติบโตได้ดี แต่ด้วยความใฝ่รู้ของพี่วีระ จึงทำให้คิดค้นหาวิธีในการทำให้ไผ่ออกนอกฤดู

โดยการตัดแต่งกิ่งไผ่และการกระตุ้นให้ต้นไผ่ออกรากเร็วขึ้น รวมไปถึงการบำรุงต้นไผ่โดยการใส่ปุ๋ย ซึ่งปุ๋ยที่นำมาใช้ก็เป็นสูตรที่พี่วีระได้คิดค้นเอง คือสูตรปุ๋ยหมักใบไผ่ โดยการนำเอาใบไผ่ที่ร่วงจากต้น มาทำการหมักรวมกับปุ๋ยคอก เพื่อให้ใบไผ่ย่อยสลายได้ดี เนื่องจากใบไผ่นั้นย่อยสลายยาก ซึ่งปุ๋ยสูตรนี้สามารถช่วยให้ลดต้นทุนได้เป็นอย่างดี

ดูแลเอาใจใส่ ต้นไผ่พื่อให้ได้ผลผลิตที่ดี

เกียรติประวัติและผลงาน

เกียรติประวัติและผลงาน
ช่วงชีวิตที่ผ่านมา จากการเปลี่ยนแปลงตนเองจากมนุษย์เงินเดือน แต่พอได้เดินเข้ามาในแวดวงการเกษตร ทำให้พี่วีระได้พบเจอกับความสุขที่แท้จริง ซึ่งเป็นความสุขที่สร้างขึ้นจากตนเอง คือการเป็นผู้ให้ ผู้ให้ที่คอยถ่ายทอดและเผยแพร่ความรู้ในการทำการเกษตร ที่สานต่อจากพ่อพาย คือศูนย์เรียนรู้เกษตรแบบผสมผสานซึ่งเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงของการพัฒนาชุมชน ที่พ่อผายร่วมเป็นแกนนำในการวางหลักสูตรวิทยากรกระบวนการ เพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งพากันเอง หรือ วิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง (วปอ.ภาคประชาชน) ซึ่งมีเนื้อหาและองค์ความรู้ให้ศึกษาหลายอย่าง เช่น 1.การทำเกษตรผสมผสาน ขุดสระ เลี้ยงปลา ทำนา ปลูกพืชผักสวนครัวและผลไม้ 2.การจัดทำบุญประทายข้าวเปลือกสู่การเป็นธนาคารข้าว 3.การฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมชุมชน 4.กลุ่มหม่อนไหม 5.การรักษาพื้นบ้าน นวดแผนโบราณ 6.การเพาะพันธุ์ปลา 7.กองทุนข้าว 8.กองทุนหมุนเวียนในหมู่บ้าน 9.กลุ่มผู้เลี้ยงปลา
และพี่วีระยังบอกอีกว่า “ แต่ผมก็ยังคิดว่าตนเองยังเป็นหนี้อยู่ หนี้ที่ไม่ได้หมายถึง ตัวเงิน แต่เป็นหนี้ทางใจ หนี้ที่ต้องทดแทนบุญคุณ พ่อแม่ และที่สำคัญคือการทดแทนคุณแผ่นดิน”

เกียรติประวัติและผลงานด้านอื่นๆ
- วิทยากรกระบวนการเพื่อการเปลี่ยนแปลงสู่การพึ่งตนเองและพึ่งพากันเอง (วปอ.ภาคประชาชน)
- คณะกรรมการเครือข่ายปราชญ์ชาวบ้านจังหวัดบุรีรัมย์
- เลขาศูนย์การเรียนรู้ชุมชนกลุ่มอีโต้น้อย

พันธุ์ไผ่เลี้ยงที่พร้อมปลูก

เรื่อง/ภาพโดย: อังศุมาลิน รัตนจิตร จนท.ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.นครราชสีมา