เกษตรกรต้นแบบ

"อดุลย์ วิเชียรชัย : คืนชีวิตให้ผืนดิน กับโคกหนองนา โมเดล"

 26 มีนาคม 2563 5,136
จ.ปทุมธานี
พื้นที่ของผมไม่ใช่แค่อาชีพเกษตรกรแต่มันคือชีวิต และผมต้องการจะคืนชีวิตให้แก่ดิน ผมเลยออกแบบที่ดินจำนวน 8 ไร่ เป็นรูปอวัยวะภายในของคน ในการสร้างโคกหนองนาโมเดล

“เอามื้อสามัคคี โคกหนองนา โมเดล” คือกิจกรรมที่ “อดุลย์ วิเชียรชัย” เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2561 จังหวัดปทุมธานี ต่อยอดจากการเพาะเห็ด และการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้มีพื้นที่รองรับจำนวนผู้คนที่หลั่งไหลเข้ามาศึกษาดูงานที่ “ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี

เมื่อชีวิตหนุ่มวิศวะในเมืองหลวง ไม่ตอบโจทย์การดำเนินชีวิต “อดุลย์ วิเชียรชัย” เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2561 จังหวัดปทุมธานี จึงหันหลังให้เมืองหลวง มุ่งหน้ากลับบ้านเกิดเพื่อไปพลิกฟื้นผืนดินที่ไร้ชีวิตชีวา ให้กลับมาสดใสอีกครั้ง

เงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ “อดุลย” เปลี่ยนแผนการดำเนินชีวิตในหน้าที่การงานคือพ่อแม่เริ่มล้มป่วย ขณะที่ตัวเองไม่มีโอกาสได้ดูแล จึงตัดสินใจถือหนังสือหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาหนึ่งเล่ม ถือมาทั้งๆ ที่ไม่รู้ว่าปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงคืออะไร? จะสามารถนำไปใช้ในชีวิตจริงได้อย่างไร คิดง่ายๆ แค่ว่าทำการเกษตรอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องเหนื่อย แต่ได้เงิน

“ผมเริ่มต้นด้วยความไม่รู้ด้วยซ้ำว่าเกษตรทฤษฎีใหม่คืออะไร การแบ่งพื้นที่ 30:30:30:10 คืออะไร ด้วยความไม่รู้จึงเริ่มลงมือศึกษา นำสิ่งที่ตัวเองมีมาพัฒนาต่อยอด สร้างต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ให้สมบูรณ์มากที่สุด ตอนออกจากงานใหม่ๆ คิดอยากทำเกษตรที่ไม่ต้องเหนื่อยมากก็เลยตัดสินใจเพาะเห็ด เพราะคิดว่าง่ายสุด และทำงานในที่ร่ม เลยคิดว่าดอกเห็ดจะโตทันดอกเบี้ยที่พ่อแม่ไปกู้เงินนอกระบบมาทำนา จึงเริ่มจากการทำฟาร์มเห็ด และขยายแหล่งน้ำ เลี้ยงปลา ปลูกบัว ไม้ 5 ระดับ สูง กลาง เตี้ย เลี่ยดิน กินยันหัว แต่ก็ยังทำนาไปด้วย แล้วค่อยๆ เปลี่ยน ลด ละ เลิกสารเคมี เป็นอินทรีย์ร้อยเปอร์เซ็นต์”

แต่หนทางแห่งเกษตรกรรมเส้นนี้ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบเสมอไป “อดุลย์” ต้องพบกับความล้มเหลว ครั้งแล้วครั้งเล่า แต่เขาไม่ยอมแพ้ต่ออุปสรรคและปัญหา นำบทเรียนครั้งที่หนึ่งมาพัฒนาในครั้งที่สอง นำบทเรียนในครั้งที่สองมาพัฒนาในครั้งสาม ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปี กว่าจะมาเป็น “ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก” พร้อมที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้ให้นักเรียน นักศึกษา ประชาชนทั่วไปที่สนใจ

“เราเป็นลูกหลานเกษตรกร แต่ไม่เคยลงมือทำ ก็จะถามพ่อแม่ ถามคนเถ้าคนแก่ แล้วลงมือทำ ทำให้เรามีประสบการณ์ ทั้งประสบการณ์ด้านความล้มเหลว และประสบการณ์ด้านความสำเร็จ มันจะมาควบคู่กัน ผมอาจจะประสบความล้มเหลวเยอะหน่อย แค่ประสบความสำเร็จในสิ่งที่เราทำครั้งเดียวก็เพียงพอแล้ว เอาความผิดพลาดครั้งที่หนึ่งมาเป็นครูครั้งที่สอง เอาความผิดพลาดครั้งที่สองมาเป็นครูครั้งที่สาม มันก็เริ่มพัฒนาต่อยอดไปเรื่อยๆ ทำให้เราเข้มแข็งและสามารถมีเครือข่าย ผมดีใจที่คนรุ่นพ่อรุ่นแม่เขาศรัทธาในสิ่งที่เราทำ และอยากจะทำตามเรา

จุดเริ่มต้นของ “อดุลย์ฟาร์มเห็ด” ที่เพาะเห็ดเพื่อเก็บดอกขาย ให้ทันดอกเบี้ยในวันนั้น ก้าวสู่การเป็นศูนย์เรียนรู้ ที่ผู้คนหลั่งไหลมาขอวิชา “เพาะเห็ดเงินล้าน” (สื่อหลายสำนักเรียกขานเขาแบบนี้) อดุลย์ชี้แจงว่าที่มีเงินล้านไม่ได้มาจากการเพาะเห็ดเพียงอย่างเดียว แต่มาจากรายได้ทั้งหมดที่เกิดขึ้นในฟาร์ม ซึ่งมีทั้ง ขายก้อนเห็ด เห็ดแปรรูปในรูปแบบผลิตภัณฑ์ต่างๆ รวมไปถึงรายได้จากผลผลิตอื่นๆ ในฟาร์มด้วย

ไม่เพียงตัวคนเดียว “อดุลย์” ยังดึงชุมชน ผู้เฒ่าผู้แก่ เข้ามามีบทบาทต่อการเติบโตของ “ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก” แห่งนี้ด้วยการส่งเสริมอาชีพจักสานข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ การผลิตตุ๊กตาจากกะลามะพร้าว ส่งเสริมให้ชุมชนเข้ามามีส่วนร่วมในการทำอาหารรับรองผู้เข้ามาศึกษาดูงาน ทำขนม จัดเบรก มีรายได้กันทั่วถึง

“เศรษฐกิจพอเพียงแก่นแท้คือการพัฒนาคน พัฒนาชีวิต พัฒนามนุษย์ พัฒนาอาชีพของตนเองให้ดีขึ้น ก็เลยเป็นที่มาของการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ในรูปแบบโคกหนองนาโมเดล ผมเปลี่ยนแปลงพื้นที่ 8 ไร่เป็นโคกหนองนาโมเดล โดยใช้หลักภูมิสังคม ภูมิศาสตร์ ให้สามารถใช้งานได้จริง”

กิจกรรม “เอามื้อสามัคคี โคกหนองหนา โมเดล” จึงถูกจัดขึ้น ด้วยความร่วมมือร่วมใจของคนในชุมชน ตลอดจนภาครัฐ ภาคเอกชน รวมไปถึงประชาชนทั่วไปที่เคยผ่านการอบรมที่ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหกแห่งนี้ก็มาร่วมด้วยช่วยกัน

“พื้นที่ของผมไม่ใช่แค่อาชีพเกษตรกรแต่มันคือชีวิต และผมต้องการจะคืนชีวิตให้แก่ดิน ผมเลยออกแบบที่ดินจำนวน 8 ไร่ เป็นรูปอวัยวะภายในของคน ในการสร้างโคกหนองนาโมเดล สังเกตุได้ว่าลมหายใจที่เข้ามาเปรียบเสมือนเป็นเส้นทางในการหล่อเลี้ยงเกษตรกร หล่อเลี้ยงพืชพรรณต่างๆ แหล่งน้ำที่อยู่ในปอดทั้งสองข้างจะช่วยเติมเต็มเรื่องของภัยแล้ง ภัยธรรมชาติ หนองตัวนี้จะช่วยเรื่องการระบายน้ำจากตะวันออกไปสู่ตะวันตก จากทิศเหนือสู่ทิศใต้ และนำดินจากการขุดหนองมาทำคันปลูกป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4 อย่าง ผมมั่นใจว่าใน 1 ปี จะมีน้ำพอเพียงในการทำเกษตร สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ยามหน้าแล้งได้อย่างสมบูรณ์ โดยไม่ต้องพึ่งพาคลองชลประทาน เหมือนที่ในหลวงร.9 บอกให้ช่วยกันทำบ้านของเราให้เป็นเหมือนหลุมขนมครก เวลาน้ำมาก็จะได้ช่วยกัน”

กิจกรรมโคกหนองนา โมเดลที่ทุกคนร่วมแรงร่วมใจกันทำในวันนี้ หลายกิจกรรม ทั้ง “ขุดคลองไส้ไก่” เป็นคลองขนาดเล็กที่ใช้แรงงานคนขุดเพื่อรับน้ำจากบนฟ้า ต้นน้ำต่างๆ มากระจายความชุ่มชื้นให้ป่า 3 อย่าง ประโยชน์ 4อย่าง พืชผลทางการเกษตรต่างๆ

มี “การห่มดิน” คือช่วยเรื่องการซับความชื้นให้มากที่สุด เพื่อเป็นแหล่งอาหาร เป็นธาตุอาหารให้ดิน คือการเลี้ยงดินให้ดินเลี้ยงพืช มี “การปลูกไม้ 5 ระดับ” สูง กลาง เตี้ย เลี่ยดิน กินยันหัว ตั้งแต่ไม้เศรษฐกิจไปจนถึง ไม้กินหัว

มีการปรับระบบภูมิสังคม ดูว่าพื้นที่ตรงไหนเหมาะกับการปลูกอะไร ลมหนาว ลมร้อนที่พัดเข้ามาควรจะปลูกอะไร จะขุดแหล่งน้ำตรงไหน เวลาลมพัดมาจะได้หอบเอาไอน้ำเข้ามา ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ซึ่งเป็นลมจากทะเล ควรที่จะปลูกต้นไม้อะไรบังไว้ บ้านจะต้องอยู่ทิศไหนเพื่อไม่ให้โดนลมพายุ ทุกอย่างเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่คนเถ้าคนแก่ เขาทำไว้ให้เราแล้ว

ผมจะไม่ใช้ทุนสูง เพราะผมรู้ว่าบริบทของชุมชนไม่มีเงินเป็นต้นทุนชีวิต แต่มีเรี่ยวแรง มีหัวใจเป็นต้นทุนชีวิต จึงต้องทำให้เขาใจ เข้าถึง พัฒนา จับต้องได้ และสามารถสร้างรายได้ไปพร้อมๆ กับเรา”

ในอีก 2-3 เดือนข้างหน้า โคกหนองนา โมเดล ของอดุลย์จะเสร็จสมบูรณ์แบบ อวัยวะร่างกายในพื้นที่ 8 ไร่ แห่งนี้จะเป็นอย่างไร ตามไปดูกันได้ที่ “ศูนย์เรียนรู้สัมมาชีพชุมชนตำบลคลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี"

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

อดุลย์ วิเชียรชัย 107 หมู่ 14 ต.คลองหก อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120

เรื่อง/ภาพโดย: อัญชลี กลิ่นเกษร ทีมงานรักบ้านเกิด