

"สิตา หิมารัตน์ : ปลูกพลูไทยส่งขาย รายได้หลักล้าน"

เพื่อวันข้างหน้าที่สวยงาม


" สู้และอดทน " เพื่อวันข้างหน้าที่สวยงาม เพราะช่วงเวลาที่ผ่านมาของคุณสิตาตั้งแต่วัยเด็กจนถึงวันนี้ ต้องผ่านคำว่าสู้ คำว่าอดทนมาตลอด และมันก็ทำให้เธอสำเร็จในวันนี้ ด้วยคำสองคำประจำใจของเธอนั่นเอง
ความสุขของคุณสิตาในวันนี้ คือ การได้ทำงานที่ตนรักอยู่ในพื้นที่ของตนเอง ไม่ต้องเดินทางไปไหนให้เหนื่อย ไม่ต้องไปเป็นลูกจ้างใคร เป็นนายตัวเองดีที่สุด"เป็นนายตัวเองดีที่สุด เป้าหมายในชีวิตตอนนี้ที่มี คุณสิตามุ่งหวังแค่ได้อยู่กับธรรมชาติ อยู่กับบ้าน รอเวลาคลอดลูก และจะเลี้ยงเขาให้ดีที่สุดก่อน โดยมุ่งหวังที่จะเลี้ยงให้แบบที่ตัวเองเติบโตมา คือให้เขาดำเนินทุกสิ่งทุกอย่างด้วยตัวเอง ช่วยเหลือตัวเอง จะไม่ทำร้ายเขาด้วยการที่ลูกไม่ต้องเดี๋ยวแม่ทำให้ จะให้เขาศึกษาจากตัวเธอเอง เพราะเธอเองก็โดนเลี้ยงดูมาแบบนี้ ในอดีตหากเธออยากได้อะไรคุณพ่อก็ให้ทำเอาเอง

มีแนวคิดทำเกษตรยังไง...
การทำการเกษตรต้องอดทน เอาจริงเอาจังกับงาน หากมีปัญหาให้สู้กับมัน แล้วมันจะไปถึงเป้าหมายที่วางไว้เอง
ช่วงที่ทำการเกษตรแรกๆ คุณสิตาเจอปัญหาใบพลูล้นตลาด ขายไม่ได้ ก็ต้องค่อย ๆ วางแผนว่าจะทำอย่างไร ติดต่อตลาดที่ไหนได้บ้าง จนกระทั่งขับรถไปเองเพื่อติดต่อตามตลาดต่าง ๆ ก็ได้ทั้งตลาดสี่มุมเมือง ปากคลองตลาด และมีผลิตภัณฑ์ส่งให้เขาเรื่อย ๆ ให้เขามั่นใจว่าจะมีสินค้าส่งให้เขาตลอด จะไม่ทิ้งกัน จะมีของมากหรือของน้อย ก็ยังมีของขายให้เขาตลอด
ส่วนเรื่องใบพลูส่งออกก็มีปัญหาเช่นกัน คุณสิตาเล่าว่า เมื่อส่งสินค้าไปแล้ว ลูกค้าใช้กล้องจุลทรรศน์ดู หากเจอแมลง หรือเศษขยะ เศษใยแมงมุมนิดหน่อย ลูกค้าไม่จ่ายเงินเลย ก็ต้องรับผิดชอบตรงนั้นไป ตอนนี้จึงพยายามล้างให้ดีที่สุด ทำให้สะอาดที่สุด ไม่ให้เขาเจอแมลงหรือเชื้อโรค และต้องพัฒนาคุณภาพไปเรื่อยๆ คุณภาพต้องดีที่สุด ไม่เช่นนั้นทำส่งออกไม่ได้
ส่วนท่านใดที่อยากทำเกษตรโดยการปลูกพลู ก็ต้องเริ่มจากหาตลาดก่อน ช่องทางที่แนะนำได้คือเจาะกลุ่มชาวพม่า ส่วนมากเขาจะเคี้ยวใบพลูกัน หรือไม่เช่นนั้น ก็โทรมาปรึกษาคุณสิตาได้ แล้วมาดูว่าจะขนส่งกันยังไง

คุณเจี๊ยบ หรือ คุณสิตา หิมารัตน์ ทำอาชีพปลูกใบพลูขายทั้งในประเทศและส่งออก โดยเริ่มจากครอบครัวปลูกพลูมาตั้งแต่สมัยคุณย่า แล้วส่งต่อมาที่คุณพ่อคุณแม่ ตัวคุณสิตาก็ช่วยพ่อแม่มาตั้งแต่เด็กควบคู่ไปกับการเรียน จนกระทั่งอยู่ชั้น ม.3 คุณแม่ของคุณสิตาคลอดน้อง คุณสิตาเลยออกมาช่วยพ่อกับแม่ทำใบพลูตั้งแต่ตแนนััน เพราะว่าแม่ต้องดูแลน้อง ไม่สามารถทำต่อได้
และช่วงนั้น คุณสิตาขายของอยู่ที่ตลาดสี่มุมเมืองในตอนกลางวัน ตอนเย็นกลับจากตลาด ก็จะเก็บพลู หลังจากนั้นก็จะไปขายผลไม้ แล้วก็มีพม่าถามว่า “เจ๊มือไปทำอะไรมาทำไมดำ” ก็เลยบอกเขาว่า เก็บพลูมา เขาก็เลยบอกว่างั้นเอามาส่งผมหน่อยสิผมจะกินพลู ผมไม่มีใบพลูกินเลย หลังจากนั้นก็เก็บใบพลูไปให้เขาประมาณ 15 กิโลกรัม แล้วตอนกลางคืนเราก็ไปส่งผลไม้เหมือนเดิม ก็ไปหาพม่าคนนี้ ไม่เจอ แต่คุณสิตาเตรียมใบพลูมาแล้ว ก็เลยปั่นจักรยานไปตามตลาดดอกไม้ในตลาดสี่มุมเมือง ถามเขาว่ามีใบพลูมาขาย จะรับไหม เขาก็เริ่มรับตั้งแต่ตอนนั้นเรื่อยมา จนปัจจุบันก็ขยายไปเรื่อยๆ จาก 1 ร้าน เป็น 2 ร้าน 3 ร้าน จนกระทั่งทั้งตลาดสี่มุมเมืองเป็นของคุณสิตา จากนั้นก็ขยับไปที่ตลาดไท ปากคลองตลาด เมื่อตลาดมากขึ้นก็ต้องหาใบพลูเพิ่มขึ้น จากตอนแรกที่ปลูกเองปริมาณไม่พอส่งแล้ว จึงต้องหารับซื้อจากชาวสวน จนตอนนี้มีทั้งหมด 40 กว่าสวน ที่ทำส่งให้คุณสิตา จำนวนกว่า 70-80 ไร่ และส่งออกไปอีก 5 ประเทศ คือ ไต้หวัน อินเดีย ปากีสถาน อเมริกา อินเดีย
การปลูกพลู...
คุณสิตาปลูกพลูอยู่ 4 สายพันธุ์ คือ ใบพลูเขียวพันธุ์ไทย พันธุ์ภาคใต้ ใบพลูเหลือง แล้วก็ใบพลูไต้หวัน มีพื้นที่ในการปลูกพลูเฉพาะของคุณสิตาเอง ในตอนนี้ประมาณ 15 ไร่ จะสลับหมุนเวียนกันไป ปลูกพลูครั้งหนึ่งเต็มที่เลยจะอยู่ประมาณ 5 ปี จากนั้นต้นมันจะแก่ แก่แล้วการแตกใบช้า ก็จะเอาต้นที่มันใช้ระยะเวลานาน ๆ ตัดออกแล้วทำดินใหม่ ตอนนี้มีทั้งหมด 3 แปลงที่ทำอยู่ แปลงหนึ่ง 10 ไร่ 3 ไร่ แล้วก็ 2 ไร่ ก็จะสลับไปเหมือนปลูกหมุนเวียน พอต้นแก่ก็ตัดออก เพื่อที่จะทำดินใหม่ แล้วก็มีตัวน้องเลี้ยงตัวพี่อยู่ ก็คือจะหมุนเวียนกันไป ทำให้มีใบพลูไม่ขาดเลย เพราะว่าจะตัดสลับกันไปเรื่อย ๆ

การปลูกต้นพลูนั้น ตอนแรกลงหลุมก็จะรดเช้าเย็นประมาณสัก 5-7 วัน พอต้นเขาเริ่มตั้งใบแข็ง ก็จะเปลี่ยนเป็นรถเช้าอย่างเดียวทุกวันประมาณ 7 วันเหมือนกัน พอเขาเริ่มแตกยอดอ่อนเล็ก ๆ ก็จะรดวันเว้นวัน ระยะห่างระหว่างต้น ประมาณ 1.20-1.30 เมตร ถ้าปลูกชิดกันมาก ใบพลูเขาจะแน่นเกินไป ใบจะไม่สวย ลักษณะของใบพลูที่ดีจะมีลักษณะเขียวเข้ม สำหรับใบพลูเขียว ใบก็จะเขียวเข้ม ใบไม่แตก ไม่มีตำหนิ ใบพลูไต้หวันก็จะเป็นใบเขียวเข้ม ใบไม่นิ่มไม่แก่เกินไป เพราะว่าใบที่แก่เกินไปเวลาเอาไปพันหมากมันจะแตก
ส่วนความสูงของเสา เกษตรกรกำหนดเองได้ เพราะว่าบางที่เกษตรกรบางท่านจะไม่กล้าขึ้นบันไดเก็บ ก็จะให้เสาสูงแค่มือเอื้อมถึง แต่ว่าบางท่านที่เขาต้องการปริมาณเยอะ ขึ้นบันไดไหว เขาก็จะปีนบันไดขึ้นไป ก็จะสูงประมาณ 4 เมตร หรือตามที่เขาสะดวก เมื่อปลูกไปได้ประมาณ 3 เดือน ก็เริ่มเก็บได้ และเว้นไปประมาณ 20-30 วัน ก็จะเก็บได้อีกรอบ
เรื่องโรคที่ต้องระวังนั้น ใบพลูจะมีอยู่โรคหนึ่งคือโรคเชื้อรา ใบจะเป็นจุด ๆ จะเป็นหางใบไหม้ๆ ที่ร้ายแรงที่สุดเลยก็คือโรคตายต้น โคนจะเน่า รากจะเน่า แล้วเขาก็จะยืนต้นตายไปเลย ส่วนแมลงก็มีพวกเพลี้ย จะสังเกตดูจากใบพลู จะมีตัวแมลงเล็ก ๆ เกาะเพื่อที่จะดูดกินใบ กินน้ำเลี้ยง หรือไม่บางทีเขาจะฉี่ลงมาที่ใบพลู จะเห็นเป็นสีดำเลย อันนี้จะต้องฉีดยาฆ่าแมลง
พลูชอบอากาศร้อนชื้น ถ้าอากาศเย็นเขาจะไม่ค่อยแตกใบ ฝนตกมากก็ไม่ดี แห้งเกินไปก็ไม่ดี การขยายพันธุ์จะใช้ยอดพันธุ์ที่อยู่ข้างบน จะตัด แล้วนำมาตัดแต่ง แล้วก็ชำ มันจะมีรากออกมาตรงยอดเลย ต้นพลูขยายพันธุ์ได้อย่างเดียวโดยการใช้ยอดปักชำ
นอกจากขายในไทย คุณสิตายังส่งใบพลูขายต่างประเทศด้วย โดยประเทศแรกที่ส่งไปคือ ไต้หวัน ที่ประเทศไต้หวันเขาจะเอาใบพลูไปเคี้ยวกับหมากอ่อน วันหนึ่งบางคนอาจจะเคี้ยวหมากเป็นร้อยคำ เขาจึงใช้พลูเยอะมากทั้ง ๆ ที่ ประเทศไต้หวันเขาก็ปลูกพลูพันธุ์ไต้หวันอยู่ที่ประเทศของเขาเองอยู่แล้ว แต่ก็ไม่พอ จึงต้องมาเอาของประเทศไทย ส่วนทางยุโรป กลุ่มเป้าหมายจะเป็นแรงงานต่างด้าว ก็คือเป็นชาวเมียนมาที่ไปทำงานอยู่ที่นั่น
วิธีการส่งออกต่างประเทศต้องแช่เย็น จะมีห้องเย็นเพื่อที่จะแช่รักษาอุณหภูมิอยู่ในห้องเย็นประมาณ 3 วัน ถ้าเกินจากนี้ใบพลูจะเริ่มเหี่ยว จะดูไม่ค่อยสด อุณหภูมิของห้องเย็นจะอยู่ที่ประมาณ 16-20 องศาเซลเซียส ไม่เกินจากนี้ ถ้าไม่เก็บในห้องเย็นใบพลูจะตายนึ่ง เพราะว่าพลูมีอุณหภูมิความร้อนอยู่ในนั้น จะทำให้ใบพลูสุกและจะเหม็น แล้วตอนแพ็ค ก็จะใส่ขวดน้ำแข็งลงกลางกล่องโฟมเพื่อรักษาความเย็นอีกด้วย
สำหรับราคาพลูนั้น แล้วแต่สภาพอากาศของแต่ละประเทศ ถ้าร้อนมากใบพลูเสียเยอะก็จะราคาสูง อากาศเย็นมากใบพลูไม่แตกยอดราคาก็จะสูงเช่นกัน แต่ช่วงหน้าฝนอากาศจะดีในระดับหนึ่งราคาก็จะถูกลงหน่อย แต่ราคาที่ถูกอยู่ที่ประมาณ 100 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าแพงก็อยู่ที่ 170-180 บาทต่อกิโลกรัม อันนี้ราคาส่งต่างประเทศ ถ้าในประเทศราคาถูกที่สุดอยู่ที่ 60 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าราคาแพงสุดประมาณ 170-180 บาทต่อกิโลกรัม รายได้เฉลี่ยต่อเดือนประมาณ 100,000 บาท จากผลผลิตทั้งส่งในประเทศและต่างประเทศเดือนหนึ่งประมาณหมื่นกว่ากิโลกรัม ปีละร้อยกว่าตัน
นอกจากใบพลูสดแล้ว ใบที่เสียก็จะนำไปทำพลูแห้ง ถือเป็นอีกหนึ่งผลิตภัณฑ์ พลูแห้งขายอยู่ที่ 15-20 บาท แล้วแต่ช่วงราคาของพลูด้วย
นอกจากใบพลูสดและแห้งแล้ว กิ่งพันธุ์ก็เป็นรายได้อีกทางหนึ่งที่เสริมเข้ามา หากเกษตรกรต้องการ ต้องสั่งเข้ามาล่วงหน้าก่อน ไม่ได้ทำเตรียมไว้
ในอนาคต คุณสิตาอยากจะทำน้ำดื่มให้มีกลิ่นของใบพลู เพราะว่าสังเกตดูชาวพม่าชอบให้มีกลิ่นใบพลูในน้ำดื่ม แต่คงยังไม่เริ่มตอนนี้ เพราะขณะนี้คุณสิตาตั้งครรภ์(กุมภาพันธ์ 2563) เวลาถัดจากนี้จะขอเลี้ยงลูกให้เต็มที่ก่อนที่จะขยายกิจการ แต่สิ่งที่ทำไปแล้วคือการจดทะเบียนบริษัท เพื่อให้การทำงานน่าเชื่อถือมากยิ่งขึ้น
การตลาดทำอย่างไร...
ช่องทางการตลาดของคุณสิตา คือ Facebook และเป็น admin เอง เริ่มแรกที่เปิด page ก็มีลูกค้าติดต่อมาหลายท่านเพื่อที่จะทำใบพลูส่งออกไปไต้หวัน แล้วพอดีมีพี่สาวขายใบพลูอยู่ที่ไต้หวันอยู่แล้ว แล้วของของเขาก็ไม่พอเหมือนกัน ก็เลยเริ่มจับจากของพี่สาวเพื่อที่จะทำส่งออกไปที่ประเทศไต้หวัน ตอนแรกทำอะไรไม่เป็นเลย ก็ศึกษาทั้งส่งออก shipping ศึกษาเอง ทำเองทุกอย่าง รวมทั้งขับรถไปส่งที่สนามบินสุวรรณภูมิ นอกจากไต้หวันก็มีลูกค้าจากประเทศอื่น ๆ เข้ามา ซึ่งรู้จักภูสิตาผ่านเพจในเฟสบุ๊คเล่นกัน รวมทั้งลูกค้าในไทยด้วย
คุณสิตา หิมารัตน์ ต.คลองใหม่ อ.สามพราน จ.นครปฐม 73110 FB : พลูสิตา ขายส่งใบพลูในและต่างประเทศ


