เกษตรกรต้นแบบ

"ดารารัตน์ นิยมรัตนา : กระถางรักษ์โลก แปลงร่างขยะให้เป็นเงิน"

 10 มีนาคม 2563 2,773
จ.ตราด
นำปุ๋ยมูลไส้เดือนมาผสมกับก้อนเชื้อเห็ดเก่า เพื่อเพิ่มสารอาหารให้กับส่วนผสม จากนั้นนำไปขึ้นรูปด้วยการบีบอัดให้เป็นทรงกระถางเพื่อนำไปเพาะกล้าปลูกต้นไม้

ดารารัตน์ นิยมรัตนา พลิกวิกฤตให้เป็นโอกาสด้วยการหาวิธีกำจัดขยะจากก้อนเห็ดเก่า แปลงร่างเป็นกระถางเพาะต้นกล้า สร้างมูลค่า และรักษาสิ่งแวดล้อม

“ดารารัตน์ นิยมรัตนา” หรือ “โบว์” เกษตรกรสำนึกรักบ้านเกิด ประจำปี พ.ศ.2562 อายุ 36 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาโท จากมหาวิทยาลัยบูรพา คณะวิทยาศาสตร์ สาขาวิทยาศาสตร์และโทคโนโลยีการอาหาร หลังจบการศึกษาโบว์เข้าทำงานที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และพบว่าคนไทยป่วยด้วยโรคมะเร็งเป็นจำนวนมาก สาเหตุหลักมาจากการรับประทานอาหารที่ไม่ปลอดภัย มีสารเคมีตกค้าง จึงเป็นเหตุผลหลักที่ทำให้เธอหันมาใส่ใจเรื่องการผลิตอาหารปลอดภัย

เมื่อมีโอกาสเธอจึงหันมาศึกษาข้อมูลเรื่องการทำเกษตรอินทรีย์เพื่อผลิตอาหารปลอดภัยอย่างจริงจัง บนที่ดินของเธอจำนวน 23 ไร่ ในอำเภอเขาสมิง จังหวัดตราด โดยแบ่งพื้นที่เป็นสวนผลไม้ 10 ไร่ ประกอบด้วย ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง ซึ่งเป็นผลผลิตหลัก ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานออร์แกนิคไทยแลนด์ พื้นที่ฟาร์มเลี้ยงสุกร 10 ไร่ อีก 3 ไร่ ปลูกพืชผักสวนครัว

ผลผลิตรอง ได้แก่ หน่อไม้ เห็ดนางฟ้า โดยเฉพาะเห็ดนางฟ้าได้รับการรับรองมาตรฐาน GAP นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์ผักสวนครัว ใบเตย ส่วนผลิตภัณฑ์แปรรูป อาทิ หน่อไม้ต้ม สบู่สมุนไพรที่ผลิตจากเปลือกมังคุด ไอศกรีมทุเรียน

“ในปีแรกๆ ที่ลงมือทำต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคมากมาย ผลผลิตที่ได้ไม่ดีเท่าที่ควร ทำให้เกิดการเปรียบเทียบจากคนรอบข้าง ว่าพื้นที่เท่ากัน ทำเกษตรแบบเคมีได้ผลผลิตและมีรายได้มากกว่าเราที่ทำเกษตรแบบอินทรีย์เท่าตัว ทำให้เป็นความท้าทายที่เราตั้งใจว่าจะพยายามทำพื้นที่ตรงนี้ให้เป็นแปลงเกษตรอินทรีย์ ที่สามารถเลี้ยงตัวเองและครอบครัวให้ได้”

จากการผลิตเห็ดนางฟ้า ทำให้มีก้อนเชื้อเห็ดเก่าจำนวนมากและกลายเป็นขยะจำนวนมหาศาลในแต่ละเดือน ระยะแรกเธอใช้วิธีนำไปผสมกับเศษใบไม้ มูลสัตว์ เพื่อทำปุ๋ยหมักไว้ใช้ในสวนผลไม้ แต่ก็ลดปริมาณขยะได้เพียงระดับหนึ่ง เพราะก้อนเชื้อเห็ดมีจำนวนเพิ่มขึ้นตลอดเวลา

ดารารัตน์พยายามค้นคว้าหาวิธีกำจัดขยะจากก้อนเชื้อเห็ดเก่ากระทั่งเธอพบวิธีนำไปต่อยอดสร้างประโยชน์ และเพิ่มมูลค่าจากก้อนเห็ดเก่า ด้วยการนำไปเติมสารอาหาร แล้วอัดขึ้นรูปเป็นกระถางเพาะชำต้นกล้า ก่อนนำลงหลุมปลูกต่อไป กระถางจากก้อนเห็ดเก่าสามารถย่อยสลายในดินและเป็นอาหารให้ต้นไม้ได้ทันที

“โบว์นำปุ๋ยมูลไส้เดือนมาผสมกับก้อนเชื้อเห็ดเก่า เพื่อเพิ่มสารอาหารให้กับส่วนผสม จากนั้นนำไปขึ้นรูปด้วยการบีบอัดให้เป็นทรงกระถางเพื่อนำไปเพาะกล้าปลูกต้นไม้ เมื่อต้นกล้าแข็งแรงก็สามารถนำไปลงหลุมปลูกทั้งกระถางได้เลย ไม่ต้องถอดออกจากกระถาง เพราะกระถางเมื่อโดนน้ำและความชื้นจากดินจะย่อยสลายเป็นสารอาหารให้กับต้นไม้ในที่สุด” ดารารัตน์ กล่าว

ปัจจุบันดารารัตน์ สามารถผลิตกระถางจากก้อนเชื้อเห็ดเก่าได้วันละประมาณ 30 ใบ เพราะเธอผลิตด้วยมือเพียงลำพัง สำหรับผู้ที่สนใจ สามารถแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 2-3 วัน

ด้วยความพยายามในการคิดค้นวิธีกำจัดขยะที่เกิดขึ้นจากการเพาะเห็ดนางฟ้าในวันนั้น ทำให้วันนี้เธอมีผลผลิต ”กระถางรักษ์โลก” ที่กำลังได้รับความสนใจจากกลุ่มคนอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากจะเป็นการลดถุงพลาสติกที่ใช้เพาะต้นกล้าแล้ว ยังเป็นการเพิ่มสารอาหารให้ต้นไม้ไปในตัวด้วย

"จากเดิมที่เคยขายต้นกล้าใส่ถุงพลาสติกขายได้ราคาเพียงไม่กี่บาท โบว์สามารถเพิ่มมูลค่าจากการนำกระถางจากก้อนเห็ดเก่าไปใส่ เพราะนอกจากจะขายในราคาที่สูงขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยลดปริมาณขยะทั้งถุงพลาสติก ทั้งก้อนเห็ดเก่า และยังช่วยเพิ่มสารอาหารให้ต้นไม้ด้วย" ดารารัตน์ กล่าว

“กระถางรักษ์โลก” ที่ผลิตอยู่ในปัจจุบันมีเพียงขนาดเดียว คือ ขนาด 4 นิ้ว เป็นขนาดที่เหมาะกับการเพาะต้นกล้าก่อนนำไปปลูก ในอนาคตอันใกล้นี้ดารารัตน์กำลังจะเพิ่มขนาดอื่นๆ เพื่อให้สามารถนำไปปลูกกับต้นไม้ขนาดใหญ่ได้ด้วย
สำหรับผู้ที่สนใจสามารถสั่งจองล่วงหน้าได้ที่ โทร 086 464 2214

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

รักบ้านเกิด

เรื่อง/ภาพโดย: อัญชลี กลิ่นเกษร ทีมงานรักบ้านเกิด