เกษตรกรต้นแบบ

"กัลยารัตน์ หมุนเวียน : ปลูกกะหล่ำปลีที่ตรัง พืชเมืองหนาวก็ปลูกภาคใต้ได้"

 11 กุมภาพันธ์ 2563 4,239
จ.ตรัง
ขยันทำในสิ่งที่มี ไม่กู้หนี้
ชีวิตจะมีสุข

ในขณะที่เกษตรกรท่านอื่นในพื้นที่นิยมปลูกผักที่เหมาะกับสภาพภูมิอากาศของจังหวัดตรัง แต่คุณกัลยารัตน์ เจ้าของ สวนผักสุขรัก กลับตัดสินใจปลูกผักเมืองหนาวอย่างกะหล่ำปลี และผักเมืองหนาวอื่นๆ ตามฤดูกาลสลับหมุนเวียนกันไป จนสามารถสร้างรายได้ปีละหลายแสนบาท ทุกวันนี้คุณกัลยารัตน์จึงมีความสุขกับการได้ประกอบอาชีพเกษตรกรรมนี้มาก นอกจากเรื่องรายได้แล้ว อย่างแรกเลยคือได้กลับมาอยู่กับครอบครัวที่อบอุ่น ได้อยู่กับธรรมชาติ เป็นนายของตัวเอง ไม่มีความกดดันจากเพื่อนร่วมงาน ในแต่ละวันจึงไม่ต้องเจอความวุ่นวายมากนัก ที่สำคัญได้กินผักสดๆ ที่ปลูกเองกับมือ ซึ่งเป็นผักสดที่ปลอดสารพิษ อันเป็นความตั้งใจมั่นของคุณกัลยารัตน์ตั้งแต่แรกที่อยากปลูกผักแบบอินทรีย์ เนื่องจากเห็นว่าชาวบ้านป่วยไข้กันเยอะ จึงอยากให้ทุกคนได้ทานผักที่ปลอดภัย ไม่ป่วยไม่ไข้ และมีอายุยืนยาว

ทุกวันนี้คุณกัลยารัตน์เปิดสวนให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจอยากปลูกผักเมืองหนาว ซึ่งก็มีผู้ที่เดินทางมาขอความรู้เป็นจำนวนมาก นำความปลาบปลื้มมาสู่คุณกัลยารัตน์ยิ่งนัก เพราะนั่นหมายความว่า คนหันมาสนใจเรื่องการเกษตรรวมถึงเรื่องของสุขภาพกันมากขึ้นนั่นเอง

คุณกัลยารัตน์เริ่มต้นปลูกกะหล่ำปลีแบบไม่มีความรู้ ไม่เคยมีประสบการณ์ เนื่องจากกะหล่ำปลีเป็นผักเมืองหนาว ไม่เคยมีใครปลูกในพื้นที่ทางภาคใต้มาก่อน ดังนั้น การปลูกในครั้งแรกจึงล้มเหลว กะหล่ำปลีไม่ห่อตัว พอปีที่สองเริ่มสังเกตเห็นว่ามีหนอนขึ้นมาจากหัวกะหล่ำ มันไปกัดจนทำให้หัวไม่ห่อ หนอนที่ว่านั้นมีสองชนิดคือหนอนใยผักกับหนอนกระทู้ ซึ่งเป็นศัตรูตัวฉกาจของกะหล่ำปลี มันจะเข้าทำลายในหัวปลีตามจุดที่ผีเสื้อวางไข่ จึงศึกษาหาความรู้และหาวิธีกำจัดมันด้วยวิธีธรรมชาติ ไม่พึ่งพาสารเคมีแม้แต่น้อย ปีต่อๆ มา ผลผลิตของ ‘สวนผักสุขรัก’ ก็เริ่มประสบความสำเร็จ กะหล่ำปลีห่อตัวสวย เมื่อนำออกขายก็ได้ราคาดี ปีต่อมาคุณกัลยารัตน์จึงตัดสินใจขยายพื้นที่ปลูก

จากวันแรกที่เริ่มปลูกผักเมืองหนาวโดยเริ่มที่กะหล่ำปลี มาตอนนี้คุณกัลยารัตน์ใช้วิธีการปลูกผักสลับไปตามฤดูกาล ซึ่งทั้งหมดนั้นได้เรียนรู้และศึกษาเองทั้งหมดว่าผักชนิดไหนควรปลูกตั้งแต่เดือนไหน จะเก็บเกี่ยวได้ช่วงใด จึงทำให้มีรายได้เข้ามาทุกเดือนๆ อย่างต่อเนื่อง โดยผักทุกชนิดใน ‘สวนผักสุขรัก’ ล้วนปลอดสารพิษ มีรสชาติหวานกรอบ ซึ่งถือเป็นจุดเด่นจุดแข็งของที่นี่ที่ทำให้มีลูกค้าติดใจ สั่งซื้อผักจากสวนแห่งนี้อยู่เสมอ

หลังจากเรียนจบด้านสาขาการบัญชีคณะบริหารธุรกิจ คุณกัลยารัตน์ (อายุปัจจุบัน36 ปี) ไปทำงานเป็นเสมียนอยู่สองปี โดยช่วงที่เป็นเสมียนนั้นก็ได้ปลูกผักทานเอง เนื่องจากแพ้สารพิษที่อยู่ในผักที่ซื้อจากตลาด ซึ่งก็เป็นผักทั่วไปอย่างผักบุ้ง ผักกาดขาว กวางตุ้ง เป็นต้น ปรากฏว่าปลูกได้ผลผลิตเยอะจนสามารถแบ่งขายได้ ดังนั้นเอง เมื่อตัดสินใจลาออกจากงานประจำเพราะความอึดอัดบางอย่าง คุณกัลยารัตน์จึงคิดถึงการปลูกผักขาย โดยตอนแรกก็ปลูกผักใบทั่วไปเหมือนเพื่อนบ้านและชาวสวนคนอื่นๆ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาเมื่อมีการปลูกผักชนิดเดียวกันเยอะๆ ในหลายๆ พื้นที่ คือผักล้นตลาด ขายไม่ได้ราคา ชาวสวนขาดทุนกันเป็นแถว

คุณกัลยารัตน์จึงคิดในมุมที่แตกต่างด้วยการนำพืชเมืองหนาวอย่างกะหล่ำปลีมาปลูก โดยให้เพื่อนที่อยู่ทางภาคเหนือส่งเมล็ดพันธุ์มาให้ จากนั้นก็ลงมือปลูกแบบไม่มีความรู้เท่าที่ควร ผลก็คือกะหล่ำปลีไม่ห่อตัว สาเหตุเพราะมีหนอนชอนไชเข้าไปกัดหัวปลีนั่นเอง แต่คุณกัลยารัตน์ก็ไม่ท้อ ปีต่อมาก็ปลูกกะหล่ำปลีอีก พร้อมกับศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม จนรู้วิธีกำจัดหนอนเหล่านั้น ซึ่งก็ใช้สามวิธีนั่นคือ หนึ่ง ใช้กาวจับดักแม่พันธุ์ สองฉีดพ่นด้วยน้ำหมักชีวภาพ และสาม การปล่อยให้หญ้าเติบโตจนออกดอก หนอนจะไปกินดอกหญ้าและจะไม่สนใจกะหล่ำปลีอีกเลย ดังนั้นเอง พอเข้าปีที่สามกะหล่ำปลีของคุณกัลยารัตน์ก็ห่อตัวสวย ส่งขายได้ราคาดี เนื่องจากไม่มีใครเคยปลูกมาก่อน ส่วนมากพ่อค้าแม่ค้ารับจากที่อื่นมาขาย ผักจึงไม่สด ไม่หวานกรอบอย่างของคุณกัลยารัตน์ ต่อมา คุณกัลยารัตน์จึงขยายพื้นที่ปลูก เริ่มทำเกษตรแบบผสมผสาน นั่นคือด้านบนปลูกทุเรียน ปลูกสะตอ ปลูกฝรั่ง ส่วนพื้นที่ด้านล่างก็เป็นกะหล่ำปลี จนได้ชื่อว่าเป็นเกษตรกรที่จัดสรรพื้นที่ได้อย่างดีเยี่ยมคนหนึ่ง

คุณกัลยารัตน์ปลูกกะหล่ำปลีอย่างเดียวเป็นเวลายาวนานถึงเจ็ดปี จึงเริ่มปลูกผักเมืองหนาวชนิดใหม่ นั่นคือกะหล่ำดอกและบล็อกโครี่ โดยปลูกสลับหมุนเวียนกันไปตามฤดูกาล ทำให้มีรายได้เข้ามาทุกเดือน เดือนละหลายหมื่นบาท ปีหนึ่งก็ได้หลายแสน

สำหรับผู้ที่สนใจอยากประกอบอาชีพเกษตรกรรม คุณกัลยารัตน์บอกว่า ต้องมีใจรัก รักอย่างจริงใจ ทำอย่างจริงจัง มุ่งมั่น แล้วศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมอยู่เสมอ เพราะโลกเปลี่ยนไปทุกวัน อาจมีวิทยาการใหม่ๆ ที่สามารถนำมาปรับใช้กับการดูแลผักของเราก็ได้ และถ้าถามว่าความสุขของการเป็นเกษตรกรปลูกผักอยู่ตรงไหน คำตอบแรกเลยคือเรื่องของสุขภาพ ได้ทานอาหารปลอดสาร หวาน กรอบ ทุกวัน สอง เป็นเรื่องของรายได้ ถ้าเราขยัน มุ่งมั่น อดทน ไม่ย่อท้อ รายได้ก็จะเยอะเยอะกว่าทำงานประจำเสียอีก แถมยังได้เป็นนายของตัวเองอีกด้วย

คุณกัลยารัตน์บอกว่า หัวใจหลักของการทำสวนผัก โดยเฉพาะผักตระกูลกะหล่ำ สิ่งแรกที่ต้องให้ความสำคัญก็คือการเตรียมดิน ในการเตรียมดินนั้น ต้องมีการไถตากดินไว้ก่อนประมาณ 1 สัปดาห์ และใส่ปุ๋ยคอกปุ๋ยหมักให้มาก เพื่อเพิ่มความสมบูรณ์ของดิน เพื่อปรับสภาพดินก่อนการปลูก

หลังเตรียมแปลงเสร็จ ให้หว่านเมล็ดกะหล่ำปลีให้กระจายทั่วแปลง หรืออาจจะทำร่องลึกประมาณ 1 เซนติเมตร ห่างกันแถวละ 15 เซนติเมตร โรยเมล็ดลงในร่องแล้วหว่านกลบเมล็ดด้วยปุ๋ยหมักหรือดินละเอียด หนาประมาณ 0.5-1. 0 เซนติเมตร จากนั้นรดน้ำให้ชุ่มแล้วคลุมด้วยฟางแห้งหรือหญ้าแห้งบางๆ หลังจากต้นกล้างอกได้ 15-20 วัน ให้เลือกถอนต้นที่ไม่สมบูรณ์ออก และให้ทิ้งระยะห่างต้น 10 เซนติเมตร จนกระทั่งอายุประมาณ 25-30 วัน จึงย้ายไปปลูก โดยให้มีระยะปลูก 30-40 x 30-40 เซนติเมตร การปลูกอาจปลูกเป็นแบบแถวเดียว หรือแถวคู่ก็ได้ ขึ้นอยู่กับขนาดของสวน ส่วนการให้น้ำนั้น สามารถใช้เครื่องยนต์สูบจากบ่อธรรมชาติไปตามร่องระหว่างแปลง ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ วันละ 1-2 ครั้ง ในระยะแรกให้รดน้ำด้วยการฉีดเป็นฝอยในช่วงเช้าและเย็นทุกวัน จนกระทั่งหัวเริ่มเข้าปลีให้ลดปริมาณการรดน้ำลงเพื่อป้องกันไม่ให้หัวปลีแตกง่าย

จากวันที่เริ่มปลูกจนถึงวันเก็บเกี่ยวใช้เวลาประมาณ 50-60 วัน กะหล่ำปลี 1 หัวที่ห่อหัวแน่นจะมีน้ำหนักประมาณ 2-3 กิโลกรัม หากปล่อยไว้นานหัวจะหลวมลงทำให้คุณภาพของหัวกะหลํ่าปลีลดลง

การเก็บ ควรใช้มีดตัดให้ใบนอกที่หุ้มหัวติดมาจะทำให้สามารถเก็บรักษาได้ตลอดวัน เมื่อตัดและขนออกนอกแปลงแล้วให้ตัดแต่งใบนอกออกเหลือเพียง 2-3 ใบ เพื่อป้องกันความเสียหาย

โรคและแมลงศัตรูที่สำคัญของกะหล่ำปลีได้แก่

- โรคเน่าเละของกะหล่ำปลี เกิดจากเชื้อรา พบได้เกือบทุกระยะการเจริญเติบโต แต่พบมากในระยะที่กะหล่ำปลีห่อหัว โดยในระยะแรกจะเป็นจุดหรือมีลักษณะฉ่ำน้ำคล้ายรอยช้ำ ต่อมาแผลจะขยายลุกลามออกไป ทำให้เกิดการเน่าเละเป็นเมือกเยิ้มมีกลิ่นเหม็นจัด เมื่ออาการรุนแรงจะทำให้กะหล่ำปลีเน่าเละทั้งหัว และหักพับลง สามารถป้องกันได้โดย ระมัดระวังอย่าให้เกิดแผลหรือรอยช้ำทั้งขณะเก็บเกี่ยวและขนส่ง/ฉีดพ่นสารกำจัดแมลง/กำจัดเศษวัชพืชออกจากแปลง อย่าไถกลบ/ในแปลงปลูกควรมีการระบายน้ำที่ดี

- โรคเน่าดำ เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งจะเข้าทำลายทางรูใบที่อยู่ตามขอบใบ ใบจะแห้งจากด้านขอบใบเข้าไปเป็นรูปสามเหลี่ยมที่มีปลายแหลมชี้ไปที่เส้นกลางใบ บนเนื้อเยื่อที่แห้งจะมีเส้นใยสีดำเห็นชัดเจน อาการใบแห้งจะลุกลามไปจนถึงเส้นกลางใบและลุกลามลงไปถึงก้านใบทำให้เกิดอาการใบเหลืองเหี่ยวและแห้งตาย กะหล่ำปลีจะชักงักการเจริญเติบโตและอาจตายได้ โดยเชื้อที่เป็นสาเหตุของโรคนี้จะอาศัยอยู่ในดิน ป้องกันได้โดย

- ก่อนนำเมล็ดพันธุ์ผักไปปลูกควรแช่เม็ดพันธุ์ผักในน้ำอุ่นที่ อุณหภูมิประมาณ 50-55 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 20-30 นาที เพื่อฆ่า เชื้อโรคที่ติดอยู่ในเมล็ด

- ไม่ปลูกพืชตระกูลกะหล่ำติดต่อกันเกิน 3 ปี เพราะจะทำให้เป็นแหล่งสะสมโรค

แมลงศัตรูที่สำคัญของกะหล่ำ

1.หนอนใยผัก จะกัดกินผักอ่อน ดอกหรือใบที่หุ้มอยู่ทำให้ใบเป็นรูพรุน หนอนใยผักมีความสามารถในการทนต่อสารเคมี และปรับตัวต้านทานต่อสารเคมีได้ดี การใช้สารเคมีจึงไม่ได้ผล
2. หนอนกระทู้ผัก จะกัดกินใบ ก้าน หรือเข้าทำลายในหัวปลี มักจะเข้าทำลายเป็นหย่อมๆ ตามจุดที่ผีเสื้อวางไข่
การป้องกันและกำจัดหนอนทั้งสองชนิดนี้ คุณกัลยารัตน์ใช้วิธีวางกาวดักแม่พันธุ์หนอน เมื่อจับได้แล้วก็ทำลายทิ้งเสีย ใช้วิธีฉีดพ่นด้วยปุ๋ยหมักชีวภาพ และสุดท้ายใช้วิธีปล่อยหญ้าให้ออกดอก หนอนจะกินดอกหญ้าและจะไม่สนใจกะหล่ำปลีอีก

3.แมลงศัตรูอื่น ๆ ได้แก่
- ด้วงหมัดผัก จะพบการทำลายได้ตลอดปี
- มด จะทำลายช่วงก่อนกล้างอก สังเกตได้จากทางเดินของมด
จะเห็นว่าการปลูกและการดูแลกะหล่ำจะมีสองขั้นตอนที่สำคัญนั่นคือการเตรียมดินและการกำจัดศัตรูพืช ซึ่งคุณกัลยารัตน์ก็มีเทคนิคการเตรียมดินและเทคนิคการทำยาฆ่าแมลงแบบชีวภาพสำหรับสวนผักของตนเช่นกัน

ช่องทางการตลาด : ตอนแรกคุณกัลยารัตน์นำกะหล่ำปลีที่ออกวางขายตามตลาดนัดในละแวกบ้าน ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ขายดีมาก เพราะไม่เคยมีเกษตรกรคนไหนปลูกมาก่อน ที่พ่อค้าแม่ค้ารายอื่นนำมาวางจำหน่ายบางทีก็ไม่สดแล้ว แต่ผักของคุณกัลยารัตน์ทั้งสดทั้งหวานกรอบ ตอนหลังมีเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลวังวิเศษได้ซื้อกะหล่ำปลีของคุณกัลยารัตน์ไปทานแล้วติดใจ พอทราบว่าเป็นผักปลอดสาร ก็นำไปทดสอบเพื่อความแน่ใจว่ามีสารพิษตกค้างหรือไม่ ผลปรากฏว่า ปลอดสารพิษแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ จนกรมวิชาการเกษตรออกใบรับรองให้ว่าผ่านมาตรฐาน GAPทำให้ คนในจังหวัดเริ่มรู้ว่าสวนแห่งนี้มีผักปลอดสารพิษ จึงมีนักศึกษา มีเกษตรกรท่านอื่นเข้ามาศึกษาดูงาน พวกเขาเหล่านั้นมีการโพสต์ลงยูทูปบ้าง โพสต์ลงเฟซบุ๊คส์บ้าง คนเริ่มมาดูงานเยอะขึ้นและมีสื่อ มีรายการต่างๆ มาขอสัมภาษณ์ ทำให้สวนผักสุขรักเป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อยๆ

ทุกวันนี้ตลาดหลักของผักจากสวนผักสุขรักคือโรงพยาบาลตรังและศูนย์พัฒนาเด็กเล็กลูกรัก นอกนั้นก็เป็นลูกค้าทั่วไปซึ่งส่วนมากอาศัยอยู่ในตัวเมือง


ได้รับหนังสือรับรองมาตรฐาน GAP จากกรมวิชาการเกษตร

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณกัลยาณี หมุนเวียน อาศัยอยู่ที่ตำบลกะลาเส อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง 92150

ปลูกกะหล่ำปลีที่ตรัง พืชเมืองหนาวก็ปลูกภาคใต้ได้ l รักบ้านเกิด



ปุ๋ยหมักอินทรีย์ช่วยปรับสภาพดินและบำรุงผักให้เจริญงอกงาม l รักบ้านเกิด



ทำสารไล่หนอนและแมลงจากสมุนไพรหนอนตายหยาก l รักบ้านเกิด

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด