เกษตรกรต้นแบบ

"จิรวุฒิ วงศ์เทพวณิชย์ : เป็นนายตัวเองดีกว่า กลับบ้านเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในกระชัง"

 07 กุมภาพันธ์ 2563 2,820
จ.ตรัง
จงอย่ายอมแพ้
และมองหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ

คุณจิรวุฒิเป็นเกษตรกรที่ไม่เคยหยุดนิ่ง ไม่เคยหยุดคิดและพัฒนาตนเอง จากที่เคยล้มเหลวจากการประกอบอาชีพอื่น ก็สามารถพลิกฟื้นด้วยการเพาะสาหร่ายพวงองุ่นขายจนประสบความสำเร็จ มีลูกค้าสั่งซื้อไม่ขาดสาย ซึ่งไม่เพียงเพาะขายสดๆ เท่านั้น คุณจิรวุฒิยังได้นำสาหร่ายมาแปรรูปเป็นอย่างอื่น เช่น ข้าวเกรียบสาหร่าย ตัวน้ำสาหร่ายพวงองุ่น และเกลือสปาสาหร่าย เป็นต้น สร้างรายได้ให้ครอบครัว สามารถดูแลครอบครัวได้เป็นอย่างดี คุณจิรวุฒิบอกว่า มีความสุขทุกวันที่ได้ทำอาชีพนี้ เพราะเป็นการทำงานที่ไม่ต้องเร่งรัดในเรื่องของเวลา นึกอยากจะทำสิ่งไหนก็ทำได้ ไม่ต้องมีใครมาบีบบังคับ ได้เป็นนายของตัวเอง ที่สำคัญได้ดูแลพ่อแม่ อยู่กับครอบครัว สามารถที่จะไปรับลูกได้ตรงเวลาหรือว่ามีกิจกรรมต่างๆ ร่วมกับครอบครัว ไม่ต้องคอยไปลางานหรือว่ารอวันหยุด แต่พื้นฐานก็คือจะต้องมีความขยันเพราะการเกษตรจะต้องมีความขยันเป็นหลัก

ก่อนจะเพาะสาหร่ายพวงองุ่นขาย คุณจิรวุฒิมีอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง แต่ประสบปัญหาจนต้องหยุด จึงตัดสินใจเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น โดยศึกษาด้วยตนเองก่อน ทั้งดู YouTube ทั้งอ่านตำราต่างๆ ปิดท้ายด้วยการไปศึกษาดูงานที่ฟาร์มที่จังหวัดเพชรบุรี ศึกษาเสร็จ ซื้อสาหร่ายกลับมา 10 กิโลกรัม เอามาเริ่มเพาะ โดยช่วงแรกนำไปเลี้ยงในบ่อ ระหว่างนั้นก็โทรไปถามเจ้าของฟาร์มที่เพชรบุรีทุกวันว่าเขาใส่ปุ๋ยอะไร ยังไง แต่ขนาดปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญทุกวัน ก็ยังประสบปัญหา นั่นคือ สาหร่ายตายเกือบหมด เนื่องจากสาหร่ายเป็นพืชที่ทุกอย่างต้องกลางๆ ร้อนไปก็ไม่ได้ เย็นไปก็ไม่ได้ ความเค็มเยอะไปก็ไม่ได้ ความเค็มน้อยไปก็ตาย โชคดีที่ตอนนั้นมีสาหร่ายเหลืออยู่นิดหน่อย คุณจิรวุฒิจึงนำส่วนที่เหลือนั้นมาเพาะใหม่ คราวนี้ สาหร่ายเจริญเติบโตดี จึงขยายจากเลี้ยงในบ่อเป็นมาเลี้ยงในกระชัง เพราะมีกระชังเหลือจากการเลี้ยงปลาอยู่แล้ว ในที่สุดก็ประสบความสำเร็จ สามารถนำสาหร่ายไปขายได้

แต่ปัญหาระลอกสองก็ตามมา เมื่อจู่ๆ ยอดสั่งก็ลดลงจนไม่เหลือแม้แต่ยอดเดียว ปัญหาคือ สาหร่ายเก็บไว้ได้ไม่นานก็เสีย คุณจิรวุฒิจึงต้องเร่งหาทางออกในเรื่องนี้ ด้วยการก่อนบรรจุลงกล่อง นำใบโกงกางบ้าง ใบกล้วยบ้างมารองพื้น แต่ก็ยังแก้ปัญหาไม่ได้ ยังเน่าอยู่ดี ภายหลังลองวางสาหร่ายไว้เฉยๆ ไม่ต้องเอาเข้าตู้เย็น ผลปรากฏว่าสาหร่ายไม่เน่า ไม่เละ และอยู่ได้ถึง 7 วัน แต่ถ้านำใส่ตู้เย็น สาหร่ายจะเละเป็นน้ำ พอรู้วิธีที่ทำให้สาหร่ายไม่เสียแล้วก็เริ่มนำกลับออกสู่ตลาดอีกครั้ง และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีมากจากผู้บริโภคจนถึงตอนนี้

คุณจิรวุฒิเป็นคนตรังโดยกำเนิด คุณพ่อคุณแม่มีอาชีพทำเตาถ่าน และมีสวนยางพารา พอจบชั้นประถมศึกษาปีที่หกก็เข้าไปเรียนที่กรุงเทพจนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เรียนจบแล้วก็ทำงานที่บริษัทปูนซิเมนต์ไทย แล้วย้ายไปทำที่บริษัทบางจากปิโตรเลียม ต่อมา ลาออกจากงานเพื่อไปเรียนปริญญาโทด้านเอ็มบีเอที่มหาวิทยาลัยรามคำแหง พอจบปริญญาโทก็ไปทำงานที่บางจากต่อ จนกระทั่งได้เป็นผู้จัดการเขตดูแลภาคใต้ หลังจากนั้นก็ย้ายงานอีกครั้งไปอยู่ที่บริษัทพีพีพีเอ็นนิจีมหาชนซึ่งอยู่ที่กรุงเทพ คุณจิรวุฒิทำงานที่นี่จนอายุ 45 ปี ก็นึกถึงคุณพ่อคุณแม่ที่อายุมากขึ้นทุกวัน จึงตัดสินใจลาออกกลับมาอยู่บ้าน เพื่อจะได้ดูแลท่าน

ช่วงที่คุณจิรวุฒิทำงานอยู่กรุงเทพ เตาถ่านที่คุณพ่อคุณแม่ทำอยู่หมดสัมปทาน คุณจิรวุฒิจึงให้ทุนท่านเลี้ยงปลาในกระชัง แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ ดังนั้นเองเมื่อกลับมาอยู่บ้าน จึงสานต่ออาชีพนี้ แล้วจึงทราบว่าสาเหตุที่ท่านไม่ประสบความสำเร็จ เพราะว่าต้นทุนสู้กับการเลี้ยงปลาบ่อไม่ได้ อย่างที่อื่นที่เขาเลี้ยงเป็นอุตสาหกรรม ต้นทุนเขาต่ำ เขาส่งเข้าแมคโคร โลตัส ขายกิโลกรัมละ 120 บาทแต่ต้นทุนคุณจิรวุฒิอยู่ที่ 150 บาท จึงต้องขายอยู่ที่ 170 ซึ่งขายไม่ได้ สู้เขาไม่ได้ จึงต้องมองหาอาชีพอื่น จนเจออาชีพเพาะเลี้ยงสาหร่ายองุ่น ยิ่งรู้ว่าแถบนั้นไม่เคยมีการเลี้ยงสาหร่ายแบบนี้มาก่อน บวกกับราคายางพาราลดลงอย่างต่อเนื่อง ยิ่งทำให้ตัดสินใจได้เร็วขึ้น ตัดสินใจแล้วก็ศึกษาหาความรู้ และลงมือทำทันที แต่ก็ใช่ว่าจะประสบความสำเร็จได้ง่าย ครั้งแรกที่เลี้ยง สาหร่ายตายเกือบหมด แต่ไม่ยอมแพ้ นำสาหร่ายที่เหลืออยู่นิดหน่อยมาเพาะใหม่ ดูแลเอาใจใส่อย่างดี สาหร่ายรอด ส่งขายได้ และทุกครั้งที่มีปัญหาอะไรเข้ามาก็หาทางเรียนรู้ แก้ไขจนสำเร็จ

จากทำสาหร่ายเพียงกระชังเดียว ตอนนี้คุณจิรวุฒิสามารถขยายได้ถึง 60 กระชัง และนอกจากส่งสาหร่ายสดทั่วประเทศแล้ว คุณจิรวุฒิยังนำสาหร่ายมาแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่าและเพิ่มรายได้อีกด้วย นั่นคือการทำข้าวเกรียบสาหร่าย น้ำสาหร่ายพวงองุ่น และเกลือสปาสาหร่าย ซึ่งก็ได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี

คุณจิรวุฒิมองว่าตัวเอง เพิ่งเดินได้เพียงครึ่งทางเท่านั้น ยังไม่ประสบความสำเร็จขั้นสูงสุด ในอนาคต คุณจิรวุฒิคิดปลูกพืชอื่นๆ เพิ่มขึ้น โดยจะเน้นแบบออร์แกนิค และสิ่งสุดท้ายที่หวังไว้คืออยากจะทำรีสอร์ทสำหรับผู้สูงอายุ จะเน้นรับเฉพาะผู้เกษียณอายุ เพราะตรงนี้มีบรรยากาศที่ดี อากาศดี อยากให้พวกเขาได้เจอสิ่งแวดล้อมที่ดีเหมือนกับตนเอง

สำหรับคนที่คิดว่าจะกลับมาทำอาชีพเกษตร คุณจิรวุฒิบอกว่าอย่ายอมแพ้ การทำเกษตรนี้ไม่ง่ายก็จริง แต่เมื่อรู้เทคนิคของมันแล้วเราก็ไปได้ อยากให้ทุ่มเท เชื่อว่าความทุ่มเทและการตั้งใจจริงจะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้

สาหร่ายพวงองุ่นเป็นสาหร่ายที่มีรสชาติดีและจัดเป็นอาหารเพื่อสุขภาพ เนื่องจากมีคุณค่าทางอาหารสูงอุดมด้วยวิตามินหลายชนิด ได้แก่ วิตามินบี1, บี2 วิตามินอี และมีเบต้าแคโรทีน ซึ่งเป็นสารตั้งต้นของวิตามินเอ สามารถนำไปทำอาหารได้หลากหลายเมนู ร่างกายดูดซึมนำไปใช้ได้ง่าย เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการลดความอ้วน

การเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นมี 2 วิธีคือ เลี้ยงในบ่อดินและบ่อคอนกรีต และต้องทำแผงสำหรับเลี้ยงเพื่อให้สาหร่ายเกาะ แต่คุณจิรวุฒิปรับเป็นมาเลี้ยงในกระชังซึ่งมีตาข่ายอยู่แล้ว จึงลดทุนในส่วนนี้ไป แต่การเลี้ยงในกระชังก็ต้องมีเทคนิคที่แตกต่างออกไปจากบ่อปกติ

สำหรับผู้ที่จะเลี้ยงในบ่อดินหรือบ่อคอนกรีต ก็ควรต้องมีการเตรียมบ่อให้พร้อมดังนี้

- หากเป็นบ่อเก่า ต้องมีการตากบ่อ โรยปูนขาวเพื่อปรับสภาพพื้นบ่อ ให้พื้นบ่อได้รับแสงแดดและออกซิเจน จะช่วยให้คราบอินทรียวัตถุที่หมักหมมย่อยสยายได้ง่าย

- ลอกบ่อ ขจัดวัชพืชที่อาจเป็นศัตรูของสาหร่ายพวงองุ่น

- เพิ่มอากาศและความเคลื่อนไหวของน้ำ โดยติดตั้งระบบอากาศให้พื้นบ่อ

- น้ำที่ใช้เลี้ยงสาหร่ายองุ่น ควรเป็นน้ำทะเลธรรมชาติที่สะอาด ปราศจากสิ่งปนเปื้อนที่เป็นโลหะหนัก คุณภาพน้ำอยู่ในช่วงที่เหมาะสมสำหรับการเจริญเติบโต

ขั้นตอนการเพาะเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่น
- ในช่วงเริ่มต้นปลูกครั้งแรก เติมน้ำความเค็ม 27-30 ส่วนในพัน ประมาณ 40 เซนติเมตร เมื่อปลูกแล้วประมาณ 1 สัปดาห์จึงค่อยเพิ่มระดับน้ำให้อยู่ในระดับที่แสงส่องถึง โดยมากรักษาระดับน้ำให้มีความลึกประมาณ 60-100 ซม.

- หลังจากการปลูกประมาณ 1-3 เดือน จะสามารถเก็บเกี่ยวสาหร่ายได้ และความถี่ในการเก็บเกี่ยว 2 สัปดาห์ต่อครั้ง

- ควรมีการสูบน้ำเข้าบ่อเลี้ยงประมาณ 2 ครั้งต่อสัปดาห์หรือดัดแปลงบ่อด้วยการติดตั้งท่อน้ำเข้าออกแบบมีลิ้นปิดเปิดตามระดับน้ำธรรมชาติ นอกจากนี้ความถี่ในการสูบน้ำเข้ายังขึ้นกับอายุการเลี้ยงและความหนาแน่นของสาหร่าย เพื่อเพิ่มสารอาหารธรรมชาติ การหมุนเวียนน้ำ และการรักษาระดับน้ำ

- อาจติดตั้งเครื่องตีน้ำรอบช้าหรือระบบยกน้ำ เพื่อเพิ่มการหมุนเวียนน้ำและป้องกันการแบ่งชั้นของน้ำ และติดตั้งท่อระบายน้ำผิวบนออก ในฤดูฝน

- เพื่อป้องกันการบังแสงและแย่งสารอาหาร ควรตรวจความหนาแน่นของสาหร่าย โดยอัตราความหนาแน่นที่เหมาะสมประมาณ 1 กิโลกรัมต่อตารางเมตร ทยอยเก็บเกี่ยวทุก 2 สัปดาห์และคงปริมาณไว้ประมาณ 25% ของปริมาณตั้งต้น หากสาหร่ายแน่นเกินไป ให้นำไปหว่านบริเวณอื่น

- หมั่นกำจัดและป้องกันศัตรูของสาหร่ายเช่น สาหร่ายไส้ไก่



การเก็บเกี่ยวสาหร่ายพวงองุ่น
ตลาดต้องการสาหร่ายขนาด 3 นิ้วขึ้นไป ถ้าเล็กกว่านี้ขายไม่ได้ราคา จากนั้นนำไปแพ็คขายหรือนำไปแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อจำหน่ายได้ ซึ่งคุณจิรวุฒิจะได้แนะนำเทคนิคการแปรรูปสาหร่ายพวงองุ่นด้วย นั่นคือการทำข้าวเกรียบพวงองุ่นนั่นเอง

ช่วงแรกคุณจิรวุฒิได้ไปติดต่อขอขายสาหร่ายพวงองุ่นที่โรงพยาบาลปะเหลียน ซึ่งก็ได้รับการตอบรับที่ดี โดยแรกๆ ขายได้วันหนึ่ง 50 กล่อง แต่ขายไปสักพัก ยอดเริ่มตกมาเรื่อยๆ เหลือ 40 กล่อง 30 กล่อง 20 กล่อง 10 กล่องแล้วยอดก็หายไปเลย มีคนบอกว่า สาหร่ายอยู่ได้ไม่เกิน 1 วันก็เน่าก็เละแล้ว คุณจิรวุฒิจึงคิดหาวิธีการแก้ไขตรงนี้ ด้วยการเอามาบรรจุแพ็กเก็จ แล้วใส่ใบโกงกาง ใบกล้วย ถุงพลาสติกรองพื้นก่อนบรรจุลงกล่อง และต้องไม่นำเข้าตู้เย็น พอแก้ไขปัญหาตรงนี้ได้ ก็เริ่มขายทางออนไลน์ โดยขายกับ Shopee และ Lazada ปัจจุบันรายได้หลักก็ได้จากการขายออนไลน์ ซึ่งมีทั้งขายส่งและขายปลีก ขายส่งราคาจะอยู่ที่กิโลกรัมละ 200 บาท ส่วนแบ่งขาย จะขายเป็นกล่อง กล่องละ 1 ขีด จะอยู่ที่ขีดละ 35 บาท พร้อมกับมีน้ำจิ้มเม็ดมะม่วงหิมพานต์ทำเองแถมให้ในกล่องอีกด้วย ลูกค้าของคุณจิรวุฒิมีอยู่ทั่วประเทศ โดยในอนาคตจะขยายไปส่งขายต่างประเทศเป็นอันดับต่อไป

นอกจากนี้คุณจิวรวุฒิก็ยังนำสาหร่ายมาแปรรูปเพื่อขยายตลาดของตัวเองอีกด้วย ทำให้แต่ละเดือนมีรายได้เข้ามาเดือนละประมาณ 100,000 บาท สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้เป็นอย่างดี

คติที่ยึดเป็นหลักคือคำว่าอย่ายอมแพ้และคำว่ามองหาโอกาสใหม่ๆ เสมอ อย่างตัวคุณจิรวุฒิเอง ก็ล้มเหลวจากการเลี้ยงปลาในกระชังมา แต่ไม่ยอมแพ้ มองหาอาชีพใหม่ เจอแล้วก็ศึกษาหาความรู้ทั้งด้วยตัวเอง ทั้งไปศึกษากับเกษตรกรตัวจริง เรียกว่าศึกษาให้รู้จริงก่อนลงมือทำ แต่ต่อให้ศึกษามาเยอะแค่ไหน การลงมือทำจริงก็มีโอกาสจะผิดพลาดหรือล้มเหลวได้เหมือนกัน แต่ต้องอย่ายอมแพ้ ล้มเหลวแล้วลุกให้เร็ว แล้วเริ่มต้นใหม่



เกียรติประวัติ : ได้รับรางวัลจากสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและย่อม และได้รางวัลผู้ผลิตสาหร่ายพวงองุ่นที่มีคุณภาพของอำเภอปะเหลียน

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณจิรวุฒิ วงศ์เทพวณิชย์ อาศัยอยู่ที่ตำบลท่าข้าม อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง 92120

เป็นนายตัวเองดีกว่า กลับบ้านเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในกระชัง l รักบ้านเกิด



เทคนิคการเลี้ยงสาหร่ายพวงองุ่นในกระชัง l รักบ้านเกิด



สาหร่ายพวงองุ่นทำเป็นข้าวเกรียบได้ ส่งขายต่างประเทศ!!! l รักบ้านเกิด

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด