เกษตรกรต้นแบบ

"ปา ไชยปัญหา : เจ้าของไร่อรหันต์ เริ่มจากปลูกมันสู่เกษตรแบบผสมผสาน"

 03 กุมภาพันธ์ 2563 5,981
จ.นครราชสีมา
ทำเกษตรแบบกษัตริย์
ไม่ทำเกษตรแบบกระสือ

ทำเกษตรแบบกษัตริย์ ไม่ทำเกษตรแบบกระสือ การทำเกษตรแบบกษัตริย์หมายถึงกษัตริย์สอนให้แบ่งปันสอนให้เรียนรู้ ยิ่งให้ไป ยิ่งได้มา มีการรวมกลุ่ม นั่นคือกษัตริย์สอน ส่วนการทำเกษตรแบบกระสือก็คือการเอากำไรเป็นที่ตั้ง เอารายได้เป็นที่ตั้ง เช่น เพิ่งฉีดยาแตงโมเมื่อวานนี้ วันนี้ราคาแตงโมขึ้น ก็เก็บขายโดยที่ไม่สนใจผู้บริโภค ไม่สนใจสิ่งแวดล้อม เอารายได้เป็นหลักอย่างเดียว นี่คือพวกทำเกษตรแบบกระสือ แบบนี้จะขายให้เขาได้เพียงแค่รอบเดียว พอเขารู้ว่าทำแบบนั้น ก็จะขายผลผลิตไม่ได้อีกแล้ว เพราะฉะนั้นเราต้องมาทำเกษตรแบบกษัตริย์ อย่าทำเกษตรแบบกระสือ

สิบกว่าปีก่อน คุณปาย้ายมาทำงานที่โคราช แล้วตัดสินใจซื้อที่ดินไว้แปลงหนึ่ง ตั้งชื่อว่าไร่อรหันต์ พืชที่ปลูกเป็นอย่างแรกคือมันสำปะหลัง เพราะพื้นที่แถบนั้นปลูกมันกันเป็นส่วนใหญ่ คุณปาได้ประกาศว่าจะทำให้ได้ไร่ละ 20 ตัน แต่ปรากฏว่าได้แค่ 2 ตันเท่านั้น ขณะที่ไร่อื่นๆ ได้ 5-6 ตัน คุณปาก็เลยนำหลักการแก้ปัญหาที่ใช้ในการทำงานบริษัทมาใช้นั่นคือแผนผังก้างปลา (เป็นแผนผังที่แสดงสมมติฐานของความสัมพันธ์อย่างเป็นระบบระหว่างสาเหตุหลาย ๆ สาเหตุ ที่ส่งผลต่อปัญหาหนึ่งปัญหา) เพื่อสางดูว่าตัวเองผิดพลาดตรงไหน ปีที่สองได้ผลผลิตขึ้นมาเป็น 7 ตัน ปีที่สามได้ 17 ตัน พอเข้าปีที่สี่มีข่าวว่าเออีซีจะเข้ามา การมาถึงของเออีซีจะทำให้การซื้อของง่ายขึ้น ไม่ต้องจ่ายภาษี ใครอยากไปซื้อไปเที่ยวไปเล่นที่ไหนก็ได้ ซึ่งตรงนี้ต้องส่งผลกระทบกับมันสำปะหลังแน่ๆ เพราะประเทศเพื่อนบ้านก็ปลูกมันสำปะหลังเช่นกัน แต่ต้นทุนเขาน้อยกว่า จะกลายเป็นเราไม่รอด คุณปาเลยไถมันสำปะหลังทิ้งหมด แล้วเริ่มศึกษาเรื่องเกษตรผสมสผานแทน โดยเดินตามรอยของในหลวง เริ่มจากการปลูกเพื่อเรียนรู้สู่การปลูกเพื่อขาย ทุกวันนี้รายได้หลักของไร่อรหันต์มาจากการขายผลไม้ทั้งตามฤดูและนอกฤดูกาล จากการขายกิ่งพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ รวมถึงพืชแปลกหายาก และการทำพืชแฟนซี นอกจากนี้คุณปายังได้เปิดไร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับผู้ที่สนใจจะทำเกษตรแบบผสมผสานอีกด้วย

ตอนที่ปลูกมันสำปะหลังนั้น คุณปายอมรับว่าเป็นการปลูกแบบไม่มีความรู้ เมื่อผลผลิตได้น้อย ถึงได้ทำการศึกษาวิเคราะห์และแก้ไขจนสามารถเพิ่มผลผลิตได้ จากไร่ที่มีแต่คนหัวเราะกลายเป็นไร่ที่สามารถปลูกมันสำปะหลังได้มากที่สุดในประเทศในขณะนั้น ต่อมา คุณปาตัดสินใจถอนมันสำปะหลังทิ้งแล้วปลูกต้นไม้ชนิดอื่น แต่ยังเป็นการปลูกแบบไม่ศึกษาเหมือนเดิม ไม่มีการวางแผน ไม่มีการวางกลยุทธ์ ไม่รู้จักดินไม่รู้จักน้ำ ผลก็คือต้นไม้ตายเกือบหมด จนมาตอนหลัง ได้ศึกษาหลักการเกษตรผสมผสานของในหลวง สถานการณ์ในไร่ค่อยๆ ดีขึ้น ซึ่งหนึ่งในหลักการของในหลวงคือการไปเรียนรู้จากเกษตรกรเก่งๆ ส่งผลให้ผลผลิตดีขึ้นเรื่อยๆ และกลายเป็นดีมาก

ทุกวันนี้นอกจากขายผลผลิตจากไร่แล้ว คุณปายังเปิดไร่เป็นแหล่งเรียนรู้อีกด้วย ในอนาคตข้างหน้า คุณปาอยากให้ไร่อรหันต์เป็นทั้งแหล่งเรียนรู้และเป็นหนึ่งในแหล่งท่องเที่ยวของปากช่อง มีรีสอร์ทให้คนมาพัก อยากจะสร้างลู่ให้คนมาออกกำลังกาย ปั่นจักรยาน พอออกกำลังกายเสร็จก็มีผักผลไม้สดๆ ปลอดสารพิษรับประทานเลย

คุณปาเป็นชาวสกลนคร พอเรียนจบก็ไปทำงานในบริษัทช่างอิเล็คทรอนิกส์ยักษ์ใหญ่บริษัทหนึ่งของโลก ซึ่งเมื่อก่อนฐานการผลิตอยู่ที่กรุงเทพ ตอนหลังฐานการผลิตย้ายมาที่โคราช พอย้ายมาคุณปาก็ตัดสินใจซื้อที่ไว้แปลงหนึ่ง ตั้งชื่อว่าไร่อรหันต์ แปลว่า ‘ผู้ที่มีความมุมานะพยายามจนประสบความสำเร็จ’

โดยปลูกมันสำปะหลังเป็นอย่างแรก ปลูกโดยที่ไม่เคยรู้ว่ามันสำปะหลังคืออะไร อายุการเจริญเติบโตของมันเป็นอย่างไร แต่ไฟแรงและถือดี ถึงขนาดขึ้นป้ายว่า ‘ไร่อรหันต์ มันสำปะหลังโครงการ 20 ตันต่อไร่’ ใครเห็นก็หัวเราะว่าจะทำได้หรือเพราะถือเป็นตัวเลขที่สูงมาก คุณปาได้แต่คิดในใจว่าจะต้องลบคำสบประมาทให้ได้ แต่ผลปรากฏว่าปีแรกได้ไร่ละ 2 ตันเท่านั้น คุณปาจึงทำแผนผังก้างปลา เพื่อดูว่าปัญหาตัวเองอยู่ตรงไหน ทำให้พอเข้าปีที่สองสามารถทำได้ 7 ตัน จึงเริ่มมีกำลังใจ แต่ยังไม่พอใจ เพราะยังห่างไกลเป้าหมาย จึงศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม คราวนี้ประสบความสำเร็จไปอีกขั้น เพราะสามารถทำได้ไร่ละ 17 ตัน กลายเป็นไร่ที่ปลูกมันสำปะหลังได้มากที่สุดในประเทศ พอเข้าปีที่สี่ มีข่าวว่าเออีซีจะเข้ามา หมายถึงการเปิดกว้างในทุกๆ อย่าง ทุกเรื่องจะกลายเป็นเรื่องง่ายกว่าเดิม ซึ่งคุณปามองว่า ถ้าเป็นแบบนี้ ประเทศเพื่อนบ้านอาจปลูกมันสำปะหลังเยอะขึ้น แต่ราคาต้นทุนเขาต่ำกว่า เราก็อยู่ไม่ได้ จึงตัดสินใจไถมันสัปปะหลังทิ้ง แล้วปลูกผลไม้ชนิดอื่น ซึ่งช่วงแรกๆ ยังคงเป็นการปลูกแบบไม่ศึกษา ไม่วางแผน ผลคือต้นไม้ตายเกือบหมด ตอนหลังจึงได้ศึกษาการเกษตรผสมผสานตามทฤษฎีของในหลวงว่าด้วยการปลูกเพื่อเรียนรู้ ปลูกเพื่อขายผลผลิต อีกทั้งฝึกทำนอกฤดูกาล และปลูกเพื่อผลพลอยได้ โดยทุกวันนี้รายได้หลักของไร่มาจากพืชที่เรียกว่าพืชผลพลอยได้ (การขายกิ่งพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ พืชแฟนซี รวมถึงพืชแปลกหายาก)

และจากการทำการเกษตรนี่เอง ทำให้คุณปาได้ค้นพบว่า ชีวิตต้องมี ‘3 การ’ คือ หนึ่ง อุดมการณ์ ต้องเชื่อมั่นในสิ่งที่ทำ อย่างทำการเกษตรก็ต้องเชื่อว่าเกษตรต้องอยู่ได้ เกษตรต้องเลี้ยงชีพได้ สอง วิชาการ หมายถึงการหาความรู้ใส่ตัว เช่น ใครเก่งสุดเรื่องขยายพันธุ์ ใครเก่งสุดเรื่องดิน ใครเก่งสุดเรื่องน้ำ คุณปาจะไปเรียนรู้จากคนเหล่านั้นแล้วนำมาปรับใช้กับไร่ของตนเอง สาม ประสบการณ์ ทั้งหมดทั้งมวลที่คุณปาลองผิดลองถูกมา นั่นคือประสบการณ์สำคัญที่ทำให้ไร่อรหันต์ค่อยๆ เติบโตอย่างแข็งแรงและมั่นคง

สำหรับคนรุ่นใหม่ที่อยากจะมาทำเกษตร คุณปามีคำแนะนำที่น่าสนใจว่า ถ้ามีงานทำอยู่แล้ว อย่าเพิ่งออกจากงาน ให้ทำควบคู่กันไปก่อน ให้ค่อยๆ ทำไป เรียนรู้ไป เพราะถ้าเพลี่ยงพล้ำมา เราจะยังมีงานประจำอยู่ เพราะการทำเกษตรก็เหมือนการสร้างบ้าน คือจะบานปลายไปเรื่อยๆ และในการทำการเกษตรจะต้องมีสามปลูกคือ ปลูกพืชเพื่อเรียนรู้ (ปลูกแค่ต้นสองต้นก่อน) สอง ปลูกเพื่อขายผลผลิตและทำออกนอกฤดู สาม ปลูกเพื่อผลพลอยได้ ถ้าทำได้ทั้งสามอย่างนี้ การทำเกษตรจะยั่งยืนและสามารถเพิ่มรายได้ให้เกษตรกรได้อย่างไม่น่าเชื่อ ขอเพียงต้องอดทน ต้องใช้เวลา อย่าท้อง่ายๆ และสิ่งที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ การทำการเกษตรจะต้องไม่ทำร้ายสิ่งแวดล้อม ควรจะทำแบบอินทรีย์ แล้ววันหนึ่งสิ่งเหล่านี้จะตอบแทนเรา อย่างน้อยเราได้อยู่ในที่ที่อากาศดี ไม่มีมลพิษ ผู้คนก็อยากจะมาหาเราเพราะแน่ใจว่ามาแล้วจะได้สิ่งดีๆ ได้ของกินที่ปลอดสารพิษกลับไป

หลักการทำเกษตรแบบผสมผสานของไร่อรหันต์จะทำแบบสามปลูก นั่นคือ ปลูกเพื่อเรียนรู้ ปลูกเพื่อขายผลผลิตและปลูกเพื่อผลพลอยได้ ซึ่งที่สุดแล้วพบว่าพืชที่สร้างรายได้หลักให้ไร่คือพืชที่ปลูกเพื่อผลพลอยได้ ไม่ว่าจะเป็นขายกิ่งพันธุ์ ต้นและเมล็ดพันธุ์ พืชหายาก รวมถึงการทำพืชแฟนซี คุณปาจึงคิดค้นและทดลองปลูกพืชกลุ่มนี้อยู่เรื่อยๆ ซึ่งในที่นี้จะพูดถึงเทคนิคการตอนกิ่งในช่วงฤดูร้อน (ตามปกติจะตอนกิ่งกันในช่วงฤดูฝน) และการทำพืชแฟนซี

ชื่อไร่อรหันต์ เริ่มเป็นที่รู้จักเพราะเมื่อหลายปีก่อนสามารถทำมันสำปะหลังได้มากที่สุดในประเทศนั่นคือ 17 ตันต่อไร่(ไร่อื่นปลูกได้ 6-7 ตันต่อไร่) ทำให้มีผู้คนแวะเวียนเข้าไปขอความรู้ ทั้งคนไทยทั้งต่างชาติ เกิดกระแสปากต่อปาก ต่อมา คณปาได้ไถมันสำปะหลังทิ้งและทำเกษตรผสมผสาน ไร่อรหันต์ก็เริ่มเป็นที่รู้จักอีกครั้งเพราะ สามารถปลูกพืชได้อย่างคุ้มค่าบนเนื้อที่ที่มีจำกัด ไม่ว่าจะเป็นไผ่ตงลืมแล้ง ไผ่หวานเพชรน้ำผึ้ง ฝรั่งทับทิมสยาม อินทผลัม พยุง มะขามป้อม ทุเรียน มะกรูด สะเดาดำ มะนาว แก้วมังกร ต้นสัก พริก รวมถึงพืชหายากอื่นๆ ไม่เพียงเท่านั้นคุณปายังแบ่งพื้นที่สำหรับแปลงทดลองเรื่องน้ำหมัก เรื่องโรค เรื่องแมลง รวมถึงยังมีเล้าไก่ มีบ่อกบและบ่อปลาอีกด้วย คุณปาแทบไม่ต้องนำผลไม้ออกไปวางขายที่ไหน เพราะมีคนไปรับซื้อถึงไร่ ซึ่งไม่แค่ซื้อผลผลิต แต่คนยังซื้อพวกกิ่งพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ไปด้วย จนกลายเป็นรายได้หลักของไร่ ตอนหลังมีคนเข้าไปดูงานเยอะขึ้น เริ่มมีสื่อมวลชนไปสัมภาษณ์คุณปาลงตามช่องทางต่างๆ บวกกับคุณปาเองก็รับเป็นวิทยากรด้วย จึงเหมือนเป็นการประชาสัมพันธ์ไร่ไปในตัว ทุกวันนี้คุณปามีช่องยูทูปเป็นของตนเอง เปิดไร่ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ซึ่งก็มีผู้สนใจเข้าไปอบรมอยู่ไม่ขาดสาย โดยสามารถโทร.สั่งซื้อผลผลิต พันธุ์พืชหรือขอเข้าอบอรมได้ที่คุณปาโดยตรง

เกียรติประวัติ : รางวัลแทนคุณแผ่นดินจากมูลนิธิชัยพัฒนา

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณปา ไชยปัญหา อาศัยอยู่ที่บ้านกุดปลาเข็ง หมู่ที่ 1 ตำบลโนนค่า อำเภอสูงเนิน จังหวัดนครราชสีมา 30170

ปา ไชยปัญหา เจ้าของไร่อรหันต์ เริ่มจากปลูกมันสู่ เกษตรแบบผสมผสาน l รักบ้านเกิด



วิธีทำพืชแฟนซี ต้นเดียวมีตั้งหลายพันธุ์ เพิ่มมูลค่าผลผลิต l รักบ้านเกิด



วิธีตอนพืชในหน้าแล้งให้รอดตาย เพื่อจำหน่ายกิ่งพันธุ์ในหน้าฝน l รักบ้านเกิด

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด