เกษตรกรต้นแบบ

"สุนัน พละเจริญ : ปลูกกระจับเขาควายสร้างรายได้ไร่ละหมื่น"

 15 มกราคม 2563 7,838
จ.สุพรรณบุรี
อยากประสบความสำเร็จ
ต้องลงมือทำ ยอมรับความเห็น ไม่หยุดเรียนรู้

สมัยก่อน กระจับเขาควายเป็นเพียงวัชพืชเท่านั้น แต่ทุกวันนี้กลายเป็นพืชที่สามารถสร้างรายได้ให้กับคุณสุนันและเกษตรกรท่านอื่นๆ ได้มากกว่าพืชหลักอย่างข้าว แรกๆ การขายกระจับของคุณสุนันจะขายให้แม่ค้าในท้องถิ่นนำไปต้มฝักขายเท่านั้น แต่คุณสุนันก็ไม่หยุดหาช่องทางการจำหน่าย และเนื่องจากเห็นว่าทุกวันนี้โลกโซเชียลมีบทบาทมาก จึงเริ่มเปิดตลาดออนไลน์ ซึ่งก็ได้รับผลตอบรับที่ดีมาก คุณสุนันจึงจัดตั้งสหกรณ์ผู้ปลูกกระจับขึ้น เพื่อที่จะมีอำนาจต่อรองกับลูกค้ารายใหญ่ได้ ในที่สุดทุกวันนี้ก็มีโรงงานมาขอซื้อเป็นประจำ และจากการขายออนไลน์นี่เองที่ทำให้ช่องทางการตลาดขยายขึ้นอีกอย่างหนึ่ง เมื่อมีลูกค้าบางรายต้องการไปลองปลูกลองเก็บกระจับด้วยตัวเอง คุณสุนันจึงทำเป็นเกษตรท่องเที่ยวนวัตวิถี ให้คนที่สนใจมาลงมือเก็บเอง เป็นการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง นอกจากนี้คุณสุนันยังคิดถึงการแปรรูปกระจับอีกด้วย ซึ่งตอนนี้กำลังติดต่อกับสำนักงานอุตสาหกรรมภาค 8 ให้ช่วยดูว่าสามารถนำไปทำแป้งอะไรได้บ้าง ซึ่งหากมีการแปรรูปได้ ก็จะสามารถมีช่องทางการขายได้มากขึ้น

การปลูกกระจับต้องปลูกสลับกับการปลูกข้าว ไม่เช่นนั้นดินจะเกิดสาหร่าย มีปัญหาต่อกระจับ การปลูกสลับนี้ยังเป็นการพักน้ำพักพื้นดินตลอดจนสร้างแร่ธาตุให้ดินอีกด้วย เวลาปลูกข้าวก็จะลดต้นทุนในเรื่องปุ๋ยได้ สายพันธุ์ที่ปลูกคือพันธุ์เขาแหลมซึ่งมีข้อดีคือเปลือกบาง เนื้อเยอะ ลูกค้าชอบ การปลูกกระจับจะเน้นการให้ปุ๋ยกับยาโดยเน้นชีวภาพ เน้นการทำเกษตรแบบอินทรีย์ ไม่ใช้ยาฆ่าแมลง โดยให้ปุ๋ยแขนง 24-8-8 /ช่วงเดือนที่ 2 จะเปลี่ยนจาก 24-8-8 เป็น 8-24-24 สลับกัน แล้วพอเดือนที่ 3 ก็ใช้ฮอร์โมนไข่เพื่อเร่งดอก ปัญหาอุปสรรคในการปลูกกระจับนอกจากหอยเชอรี่ที่จะกัดดอกกระจับทำให้ไม่เจริญเป็นฝักแล้ว ก็ยังมีปัญหาในเรื่องเชื้อราซึ่งเป็นปัญหาใหญ่ จึงได้หาทางแก้ปัญหาตรงนี้จนค้นพบภูมิปัญญาที่สามารถกำจัดเชื้อราได้

คุณสุนันเป็นลูกชาวนาโดยกำเนิด เติบโตมากับการทำเกษตรของครอบครัว แล้วก็เป็นเหมือนลูกชาวนาทั่วไปที่ได้รับการปลูกฝังว่าการทำนาหรือทำเกษตรเป็นอาชีพที่เหนื่อย พ่อกับแม่อยากให้เรียนสูงๆ มีอาชีพที่ดี ไม่ต้องเหนื่อยยากลำบากกายเหมือนท่าน ซึ่งคุณสุนันก็คิดเช่นนั้น พอจบปริญญาตรี จึงไปสมัครเป็นครูที่โรงเรียนเอกชนอยู่หกปี ซึ่งอาชีพครูก็เป็นอาชีพที่รักและต้องทุ่มเทมากๆ แต่วันหนึ่งด้วยอะไรหลายๆ อย่างคุณสุนันรู้สึกว่านั่นไม่ใช่ที่ของตน จึงตัดสินใจลาออกเพื่อจะทำการเกษตร แน่นอนว่ามีเสียงตำหนิและไม่เข้าใจการกระทำของคุณสุนันเข้าหูเยอะมาก แตเขาก็ไม่ปล่อยให้คำเหล่านั้นมีอิทธิพลกับตัวเอง คุณสุนันคิดจะพัฒนาผืนดินของพ่อกับแม่ให้มีรายได้เพิ่มให้จงได้

จากแต่เดิมพ่อกับแม่จะใช้พื้นที่ที่มีทำนาอย่างเดียว เป็นเกษตรเชิงเดี่ยว คุณสุนันจึงคิดถึงเรื่องเกษตรผสมผสานขึ้นมา และเนื่องด้วยพื้นที่เป็นที่ที่มีน้ำขังตลอดปี ก็เห็นว่ากระจับนี่แหละที่สามารถปลูกหมุนวนกับการปลูกข้าวได้ และน่าจะหารายได้จากตรงนี้ได้ เพราะมีต้นพันธุ์อยู่แล้ว จึงเริ่มปลูกขยายไปเรื่อยๆ โดยตอนแรกจะขายให้กับแม่ค้าในท้องถิ่น นำไปต้มขายหรือทำขนมขายเท่านั้น แต่ตอนหลังก็เริ่มขยายตลาดไปสู่แม่ค้านอกท้องถิ่นที่ต้มขายตามข้างทาง มีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกขึ้นเรื่อยๆ จากการขายแบบปกติ ก็พัฒนาเป็นขายออนไลน์ด้วย ซึ่งตอนนี้ก็มีโรงงานเจ้าประจำมารับซื้อถึงที่ สร้างรายได้เป็นรายได้ประจำมากกว่าพืชหลักอย่างข้าวเสียอีก ยิ่งถ้าสามารถนำไปแปรรูปได้ ก็จะมีรายได้เพิ่มมากขึ้นไปอีก

สำหรับประโยชน์ของกระจับนั้นมีมาก ทำให้ความต้องการกระจับในตลาดมีมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนี้
- ผลนำมาต้มรับประทาน เนื้อด้านในมีสีขาว ให้รสคล้ายเมล็ดขนุน
- เนื้อเมล็ดนำมาประกอบอาหารได้ทั้งอาหารคาว และอาหารหวาน
- เปลือกฝักที่กะเทาะเนื้อออกแล้ว สามารถนำมาเป็นเชื้อเพลิงในครัวเรือนได้
- ต้นกระจับใช้ปลูกในกระถางเป็นบัวประดับชนิดหนึ่ง
- ลำต้น และใบ ตักมารวมกัน ใช้ทำปุ๋ยหมัก

ส่วนการปลูกกระจับก็สามารถทำได้สองวิธีคือ
- การปลูกด้วยเมล็ด จะใช้เมล็ดที่แก่แล้วเท่านั้น และเป็นเมล็ดที่ได้จากต้นมี่มีอายุการเก็บเกี่ยวสั้น โดยการเพาะจะเริ่มจากการนำดินผสมกับแกลบดำ อัตราส่วน 1:1 บรรจุใส่กระถาง แล้วฝังลงในกระถางตรงกลางให้ลึกพอดินกลบพอดี เรียบร้อยแล้วก็เทน้ำใส่กระถางให้ท่วม และปล่อยทิ้งไว้ หลังจากนั้น 1 เดือน ก็พร้อมย้ายลงปลูกในแปลง ทั้งนี้ ขณะเพาะเมล็ดต้องคอยดูแลให้น้ำท่วมหน้าดินในกระถางตลอด
- การปลูกด้วยเถา จะใช้เถาอ่อน ด้วยการนำเถามามัดรวมกัน 2-3 เถา แล้วกดเถาส่วนต้นที่มัดรวมกันลงหน้าดินใต้น้ำให้ลึกประมาณที่เถาไม่ลอย ระยะห่างระหว่างเถาที่ 2.5-3 เมตร
กระจับเป็นพืชที่เติบโตได้เฉพาะในแหล่งน้ำขัง ซึ่งมีระดับความลึกแตกต่างกันไปตามธรรมชาติ บางแห่งอาจพบกระจับเติบโตได้ในแหล่งน้ำที่ลึกได้มากกว่า 3 เมตร โดยพื้นที่ปลูกกระจับมักจะเลือกแหล่งที่มีระดับน้ำไม่ลึก ประมาณ 30-50 ซม. เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าเก็บฝัก และควรเป็นพื้นที่กลางแจ้ง ไม่มีต้นไม้ใหญ่ที่ทำให้เกิดร่มเงา

การเก็บฝัก กระจับจะเริ่มออกดอกหลังการปลูกประมาณ 3-4 เดือน และจะเริ่มติดเป็นฝักประมาณ 1 เดือน หลังจากนั้น ฝักจะเริ่มแก่เต็มที่ในเดือนที่ 5
ช่วงที่เริ่มเก็บฝักกระจับจะอยู่ในช่วงที่ใบกระจับเริ่มเหลือง โดยจะทยอยเก็บเป็นระยะ ทุกๆ 8-10 วันต่อครั้ง โดยกระจับ 1 กอ จะเก็บฝักได้ประมาณ 5-6 ครั้ง

แน่นอนว่าการปลูกกระจับก็ไม่ใช่เรื่องง่าย มีปัญหามีอุปสรรคเข้ามาเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นหอยเชอรี่ที่ชอบกัดกินดอก ทำให้ดอกไม่สามารถโตเป็นฝักกระจับที่สมบูรณ์ ก็ต้องคิดหาวิธีกำจัด เท่านั้นไม่พอ แปลงประจับบางแปลงยังกลายเป็นเชื้อราทั้งหมด ซึ่งหมายถึงทุนที่จมลงไป ตอนนั้นเองที่คุณสุนันรู้ตัวแล้วว่าความรู้เกี่ยวกับการทำกระจับของตัวเองยังไม่แน่นพอ จึงเริ่มศึกษาค้นคว้าและเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น จะต้องแก้ปัญหาตรงนี้ให้ได้ ก็เลยมาเจอวิธีกำจัดเชื้อราด้วยการใช้ขี้เถ้าป้องกันเชื้อราและไล่แมลง ซึ่งใช้วัสดุอุปกรณ์จากธรรมชาติ ไม่ส่งผลเสียต่อผู้บริโภค

นอกจากนี้ เนื่องจากความต้องการกระจับในตลาดที่เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ คุณสุนันจึงคิดหาวิธีเพิ่มความอร่อย หอม หวานมันให้แก่กระจับ ก็ได้พบว่าการใช้ฮอร์โมนไข่ จะช่วยให้กระจับอร่อยมากขึ้นเป็นที่ต้องการของลูกค้ามากขึ้น ทุกวันนี้คุณสุนันยังคงไม่หยุดพัฒนาช่องทางการตลาดของกระจับ จึงได้ติดต่อไปที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 8 เพื่อปรึกษาและขอคำแนะนำว่าสามารถนำกระจับไปทำแป้งทำขนมได้หรือไม่ ซึ่งถ้าทำได้ ตลาดกระจับก็จะขยายมากขึ้น นอกจากนี้แล้ว ยังเปิดแปลงปลูกกระจับให้เป็นสถานที่ท่องเที่ยวแบบนวัติวิถีสำหรับลูกค้าที่สนใจจะปลูกหรือเก็บกระจับเองอีกด้วย

เนื่องจากครั้งหนึ่ง แปลงปลูกกระจับของคุณสุนันถูกเชื้อราเล่นงานทั้งแปลง กระจับไม่ออกดอก ต้นทุนจม คุณสุนันจึงคิดหาวิธีกำจัดเชื้อราเหล่านี้ และได้ค้นพบเทคนิคการใช้น้ำขี้เถ้ากำจัด ซึ่งนอกจากฆ่าเชื้อราแล้วยังมีผลพลอยได้ ช่วยไล่แมลงไม่ให้รบกวนกระจับอีกด้วย นอกจากนี้ด้วยนับวันกระจับจะเป็นที่ต้องการของผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น คุณสุนันและกลุ่มสหกรณ์ผู้ปลูกกระจับจังหวัดสุพรรณบุรี จึงคิดค้นสูตรที่จะทำให้กระจับมีความหอม หวานมันกว่าที่เป็นอยู่ ก็ได้ค้นพบสูตรฮอร์โมนไข่ ซึ่งนอกจากเร่งดอกให้เจริญเติบโตแล้ว ยังทำให้รสชาติของกระจับอร่อยมากขึ้นจากส่วนผสมที่ทำฮอร์โมนไข่นั่นเอง

" ถ้าอยากประสบความสำเร็จต้องลงมือทำ อย่างการทำเกษตร จะทำแต่ในแผ่นกระดาษไม่ได้ ต้องลงมือทำจริงๆ และการลงมือทำก็ต้องตั้งใจจริงด้วย การทำเกษตรต้องอย่าหยุดที่จะพัฒนา ต้องไม่หยุดที่จะเรียนรู้ อย่าเป็นน้ำเต็มแก้วที่จะไม่ยอมรับสิ่งอื่น ไม่ยอมรับความคิดของคนรุ่นก่อนและรุ่นหลังเรา เราอาจจะต้องยอมรับความคิดเห็นของคนที่อายุมากกว่าเรา แม้ว่าเขาจะไม่ได้เรียนสูง แต่เขาก็มีประสบการณ์มากกว่า ขณะเดียวกันก็ต้องไม่ทิ้งคนที่เด็กกว่าเรา เด็กสมัยใหม่เขาเก่งเรื่องเทคโนโลยี อย่างที่รู้กันว่ายุคนี้เป็นยุคโซเชียล ช่องทางการขายก็ต้องพึ่งสิ่งนี้ ซึ่งเด็กๆ เขาเก่งกว่าเรา สรุปก็คืออย่าเป็นน้ำเต็มแก้ว อย่ามองข้ามความคิดเห็นของผู้ใหญ่ และก็อย่าปฏิเสธคำแนะนำของเด็กรุ่นใหม่ "

เกียรติประวัติ : ได้รับเกียรติบัตร ‘ผักและผลไม้ปลอดภัย’ จากนายกรัฐมนตรีร่วมกับคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณสุนัน พละเจริญ อาศัยอยู่ที่บ้านเลขที่ 33/3 หมู่ 4 ตำบลศรีประจันต์ อำเภอศรีประจันต์ จังหวัดสุพรรณบุรี 72140 Facebook : Sunan Palajaren

ปลูกกระจับเขาควายสร้างรายได้ไร่ละหมื่น l รักบ้านเกิด



วิธีทำฮอร์โมนไข่เพิ่มความหวานมันให้กระจับ l รักบ้านเกิด



น้ำด่างขี้เถ้าป้องกันเชื้อราไล่แมลงให้กระจับ l รักบ้านเกิด

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด