เกษตรกรต้นแบบ

"สุรกิจ ละเอียดดี : เลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ คุณภาพดีๆส่งต่อถึงผู้บริโภค"

 24 ธันวาคม 2562 4,257
จ.สมุทรปราการ
เดินตามแนวบาทพระราชา
นั่นคือตำราที่ดีที่สุด

จากนักเรียนช่างกลที่เป็นลูกหลานเกษตรกร และวันหนึ่งได้มาเป็นเกษตรเต็มตัว มาทำเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ และได้พบว่าความสุขอยู่ที่ตรงนี้เอง ตรงที่ได้ทำงานสืบทอดให้ที่บ้าน ได้มีการรณรงค์ และเป็นตัวต้นแบบเรื่องการรณรงค์การเลี้ยงประมงระบบอินทรีย์ปลอดภัยต่อผู้บริโภค ซึ่งทำให้เขาภาคภูมิใจมาก จากที่มีคนเคยมองเขาว่าเป็นเกษตรกรรุ่นใหม่บ้า บอๆ จากที่เลี้ยงกุ้งบนพื้นที่โล่งๆ ก็หาอะไรมาปลูกมาให้รก แม้กระทั่งคุณแม่ของเขาเองก็ยังเอ่ยว่ากว่าเขาจะทำให้เตียนเขาเสียเงินไปเท่าไหร่ แต่คุณสุรกิจกลับมาทำให้รก

ความรกของต้นไม้ที่คนอื่นเห็น กลับเป็นความสดชื่นสำหรับคุณสุรกิจเอง ใครมาเดินมาเยี่ยมชมก็สดชื่น สัตว์น้ำที่อยู่ในบ่อก็สดชื่น อยู่แบบมีความสุขเหมือนกัน

ความภูมิใจอีกอย่างที่เขามีคือ สามารถทำให้ปู่ย่าตายายที่เขาทำมาชื่นใจได้ว่า ลูกหลานที่เรียนจบช่างกลคนนี้ จะได้รับเกียรติได้รับรางวัลเกษตรกรดีเด่นแห่งชาติถึงสองปีซ้อน คือปี พ.ศ. 2558 และปี พ.ศ. 2560 เป็นความภูมิใจให้ครอบครัว ปู่ย่าตายาย ที่เกษตรกรตัวเล็กๆ ครอบครัวเล็ก ๆ ครอบครัวหนึ่งในตำบลแหลมฟ้าผ่า อำเภอพระสมุทรเจดีย์ จังหวัดสมุทรปราการ ก็สามารถเป็นเกษตรดีเด่นได้เหมือนกัน

อีกความภูมิใจคือ เขาได้ทำให้บุคคลภายนอกรู้ว่าที่แหลมฟ้าผ่าก็มีผลิตภัณฑ์ดี ๆ ด้วยเหมือนกัน เป็นแหล่งผลิตวัตถุดิบที่ปลอดภัยกับผู้บริโภคระบบอินทรีย์เจ้าเดียวในประเทศ กรมประมงและกระทรวงพาณิชย์ก็นำคนมาดูงาน มาช่วยเหลือเชิงวิชาการต่างๆ เป็นการจับมือก้าวไปด้วยกัน และเป็นผลดีต่อผู้บริโภคที่จะมีผลิตภัณฑ์ วัตถุดิบอาหารทะเลที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและปลอดภัยต่อผู้บริโภคอย่างแท้จริง

ทางเดินชีวิตของคุณสุรกิจด้านการเกษตรนั้น เป็นทางเดินที่เดินมาตามปู่ย่าตายาย บรรพบุรุษ คุณสุรกิจบอกว่าเขาได้รับการฝึกเรื่องความอดทนมา เดินเท้าเปล่าเหยียบขี้เลน ขี้ดินมาตั้งแต่เด็ก ก็เกิดความรู้สึกว่าเราคือเกษตรกร และเป็นเกษตรกรที่เดินตามแนวทางที่ทำแล้วเป็นสิ่งที่ภาคภูมิใจมากที่สุด คือ ได้เดินตามรอยที่ ในหลวงรัชกาลที่ 9 วางไว้ให้ ได้เกิดภายใต้รัชสมัยท่าน มีพ่อหลวงของแผ่นดินที่เป็นแบบอย่างที่ดีให้ได้เดินตาม คุณสุรกิจบอกว่าเราไม่จำเป็นต้องลองผิดลองถูก เพราะมีโครงการหลวงต่างๆ ที่ท่านทำไว้ ไม่ว่าจะเรื่องสัตว์น้ำ เรื่องพืช เรื่องปศุสัตว์ อะไรต่าง ๆ เหล่านี้ เราสามารถไปเรียนรู้จากโครงการหลวงของท่าน แล้วมาประยุกต์ใช้กับพื้นที่เราเองได้เลย การดำเนินชีวิตของเขาเลยประสบความสำเร็จเร็วขึ้น เพราะไม่ต้องมาลองผิดลองถูก มีความรู้ที่รวบรวมไว้แล้ว และกระชับเวลา ลดต้นทุน

คุณสุรกิจ ละเอียดดี เกษตรกรต้นแบบของ อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ ในเรื่องการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำท้องถิ่นระบบอินทรีย์แบบผสมผสาน ก่อนที่จะประสบความสำเร็จเป็นเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งรายใหญ่ในวันนี้ คุณสุรกิจเล่าให้ฟังว่า ครอบครัวประกอบอาชีพทำประมงอยู่แล้ว ตนเป็น รุ่นที่ 4 ของตระกูล แต่ก่อนที่จะเริ่มหันมาจับธุรกิจประมงอย่างจริงจัง ตนได้ทำงานบริษัทของน้า กว่า 10 ปี เวลาผ่านไปเริ่มรู้สึกว่างานที่ทำมันไม่ใช่ตัวเรา จึงตัดสินใจกลับมาสานต่อธุรกิจที่บ้าน เลี้ยงสัตว์น้ำแบบระบบพัฒนามาหลายอย่าง

เมื่อก่อน พื้นที่นี้เป็นการเลี้ยงระบบธรรมชาติการเลี้ยงผสมผสาน มีการทำอาชีพตั้งแต่นาเกลือจนถึงนาข้าว ส่วนนาข้าวเลิกทำเมื่อพ.ศ. 2518 ที่ต้องเลิกทำเพราะว่ามีการพังทลายของชายฝั่ง น้ำทะเลท่วมถึง ก็เลยไม่สามารถปลูกข้าวได้ จึงปรับเปลี่ยนมาเป็นนากุ้ง หรือที่เค้าเรียกกันว่าวังกุ้ง ส่วนนาเกลือก็เลิกตามมาเพราะว่าเกิดการพังทลายเหมือนกัน ก็เลยต้องเลิกมาทำวังกุ้ง เลี้ยงหอยแครง เลี้ยงกุ้ง เลี้ยงปู เลี้ยงปลา โดยช่วงสมัยที่ผ่านมาสัตว์น้ำในทะเลพวกเชื้อกุ้ง พันธุ์กุ้ง พันธุ์สัตว์น้ำต่างๆ มีเยอะมาก แค่ดึงน้ำจากทะเลเข้ามากักไว้ในบ่อกุ้งก็สามารถจับขายได้แล้ว แต่ในปัจจุบันนี้ยาก คนมากขึ้นและวิธีการจับสัตว์น้ำวิวัฒนาการเครื่องมือจับสัตว์น้ำก็ดีขึ้น ทำให้สัตว์น้ำในทะเลลดน้อยลง ระบบการเลี้ยงเปลี่ยนไป ต้องมีการซื้อลูกพันธุ์มาเพิ่มเติมในบ่อเลี้ยง อย่างเช่นลูกพันธุ์ปลากะพง ลูกพันธุ์กุ้งกุลาดำ ลูกพันธุ์หอยแครง ต้องเอามาเลี้ยงในบ่อเลี้ยงของตัวเอง

คุณสุรกิจ เป็นเกษตรกรรุ่นที่สี่ของตระกูล ทำมา 100 กว่าปี แต่ตัวเขามาทำจริงจังเมื่อ พ.ศ. 2538 มารับช่วงต่อจากครอบครัวราว ๆ 20 กว่าปี ตอนแรกที่เริ่มทำ เป็นการเลี้ยงระบบธรรมชาติ พอทำได้ระยะเวลาหนึ่งซักประมาณ 5 ปีสิ่งแวดล้อมเริ่มไม่ดี ลูกพันธุ์น้อยลง จังหวัดมีการพัฒนาระบบเลี้ยงกุ้งกุลาดำมากขึ้น เขาเลยเข้ามาลองเลี้ยงในระบบพัฒนาดู ช่วงปีแรก ๆ ก็ประสบความสำเร็จดี แต่พอเกษตรกรเริ่มเลี้ยงมากขึ้น ก็เริ่มมีโรคติดต่อ เป็นโรคตัวแดงดวงขาวเกิดการระบาด ช่วงนั้นเริ่มมีภาวะขาดทุน ถึงแม้จะไม่มากมาย แต่ก็เรียกว่าเริ่มขาดทุน ยังพอเลี้ยงอยู่ไปได้อีกระยะหนึ่ง พอดีช่วงนั้น หลาน ๆ ได้พาเพื่อน ๆ มาเที่ยวที่ฟาร์ม ช่วงนั้นเองกุ้งป่วยอยู่ และได้ใช้ยาปฏิชีวนะในการช่วยรักษาอยู่ แล้วทีนี้เขาขอกินแต่คุณสุรกิจไม่ให้ เขาก็หาว่าลุงหวงเขา เกิดความน้อยใจกันทั้งลุงทั้งหลาน หลังจากเลี้ยงรอบนี้เสร็จ คุณสุรกิจก็เลิกเลี้ยงระบบพัฒนาทันที เพราะคิดว่าการเลี้ยงระบบนี้ขนาดหลานเรามาเรายังไม่อยากให้หลานกิน แล้วถ้าเลี้ยงขายให้ผู้บริโภคกินมันก็เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง จึงยกเลิกการเลี้ยงแบบนี้ ปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงระบบธรรมชาติเหมือนเดิม

จากการที่ครอบครัวเคยเลี้ยงสัตว์น้ำมาหลายอย่างแต่ไม่ประสบความสำเร็จ คุณสุรกิจจึงหันมาเลี้ยงกุ้งกุลาดำ แถมการเลี้ยงของตนยังไม่เหมือนเกษตรกรทั่วไปอีก เพราะการเลี้ยงที่นี้จะใช้ระบบการเลี้ยงแบบอินทรีย์ ปราศจากสารเคมีต่างๆในบ่อกุ้ง การที่เขาเลี้ยงแบบอินทรีย์ได้นั้น เริ่มจากกรมประมงมีโครงการเกี่ยวกับเรื่องประมงอินทรีย์ คุณสุรกิจก็เลยสนใจว่าประมงอินทรีย์คืออะไร ตอนนั้นเคยได้ยินแต่เกษตรอินทรีย์ แต่ประมงอินทรีย์นั้นยังไม่รู้จักเพราะเป็นแค่โครงการเริ่มต้น ยังไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน คุณสุรกิจจึงเข้าร่วมโครงการ จากวันเริ่มต้นจนถึงระยะปรับเปลี่ยนทั้งหมดใช้เวลาสามปี ที่ปรับเปลี่ยนจากระบบธรรมชาติเป็นระบบอินทรีย์ แล้วถึงได้ใบรับรองจากกรมประมงเมื่อปีพ.ศ. 2549 จากวันนั้นจนถึงวันนี้ 13 ปี ที่ได้ใบรับรองมา

การเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำแบบอินทรีย์นั้น มีเงื่อนไข 3 อย่าง คือ ไม่ใช้สารเคมีโดยสิ้นเชิง ดูแลสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะป่าไม้ชายเลน และต้องไม่ตัดแต่งพันธุกรรมจีเอ็มโอ จะเน้นเรื่องสัตว์น้ำท้องถิ่นเท่านั้น คุณสุรกิจบอกว่า จริงๆ แล้วการเลี้ยงกุ้งกุลาดำเลี้ยงง่าย มีข้อดีหลายอย่าง ต้นทุนการเลี้ยงต่ำ สร้างระบบห่วงโซ่อาหารธรรมชาติ ให้กุ้งหาอาหารกินเอง โรคระบาดเกิดขึ้นน้อย กุ้งที่สุรกิจฟาร์มเลี้ยงเป็นกุ้งกุลาดำ ลูกพันธุ์ที่นำมาอนุบาลต้องได้มาจากฟาร์มมาตรฐานรับรองจากกรมประมง โดยนำลูกพันธุ์ ขนาด P15 มาเลี้ยงอนุบาลในบ่อ ใช้ระยะเวลา 1 เดือน เมื่อครบให้ย้ายกุ้งลงบ่อดิน ปล่อยลูกกุ้งทุกๆ 1เดือน จำนวนครั้งละ 300,000 ตัว ในบ่อขนาด 30 ไร่ ที่นี่จะจับกุ้งขายได้ทุกอาทิตย์ เพราะมีระบบจัดการที่ดี จึงจับได้ตลอด ถ้า 3 เดือน ปล่อยกุ้ง 1 ครั้ง จะขาดตอน เพราะกุ้งชุดใหญ่ออกไปแล้ว จึงต้องปล่อยเดือนละครั้ง ใช้ระยะเวลาเลี้ยงนาน 3 เดือน ค่อนข้างนานต่างจากบ่อพัฒนา ที่ใช้เวลาเลี้ยง 100 วัน แต่มีต้นทุนสูงมาก

คุณสุรกิจยังบอกอีกว่าการดูแลกุ้งกุลาดำนั้นง่ายมาก เพียงหมั่นดูแลประตูน้ำอย่าให้พัง คันดินอย่าให้ทะลุหรือรั่วไหล ถ้าน้ำดี ถือว่ามีชัยไปกว่าครึ่ง ถัดมาคือดูหน้าดินต่อว่าดินที่บ่อเน่าเสียหรือไม่ ถ้าตรงไหนเน่าเสียให้เอาจุลินทรีย์เข้าไปช่วย เอาปูนโดโลไมท์ไปใส่ เพราะถ้าดินเสียจะส่งผลต่อกุ้ง คือกุ้งจะป่วย หรือให้แก้ปัญหาโดยการใช้เรือดูดเลนที่เน่าเสียทิ้ง เลี้ยงระบบอินทรีย์ปัญหาเรื่องโรคเกิดขึ้นน้อย ติดริมตลิ่งพวกนกกระยางจะมาจิกกินเอง วิธีสังเกตเมื่อกุ้งเกิดโรคดูง่าย ๆ คือ วังไหนมีนกนางนวลบินวน ให้คอยดู แต่ถ้าเกิดขึ้นเราจะใช้วิธีธรรมชาติบำบัด เมื่อกุ้งป่วยปลาที่เลี้ยงไว้ในบ่อเดียวกันจะกินตัดวงจร หรือถ้าลอยวิเคราะห์ได้เลยว่าวังนั้นมีกุ้งป่วย

ส่วนเรื่องการตลาดของสุรกิจฟาร์ม คุณสุรกิจเป็นเกษตรกรต้นแบบด้วย จึงได้นำผลผลิตของทางสุรกิจฟาร์มเองและของสมาชิกไปออกบูธในที่ต่างๆ และไปขายสินค้าเองโดยตรง อย่างเช่น ที่ศูนย์ประชุมสิริกิติ์ งานออแกนนิกไทยแลนด์ หรือตลาดสุขใจสวนสามพรานโมเดล นอกจากนั้นก็ที่ตลาดและหน่วยงานราชการต่าง ๆ ที่เขาเชิญไป คุณสุรกิจก็จะเอาวัตถุดิบกุ้ง หอย ปู ปลา มีทั้งเป็นและแปรรูปเอาไปจำหน่าย ส่วนเรื่องอาหารสด ตลาดก็มีส่งเหมือนกัน เช่น โรงแรม ภัตตาคารห้าดาว หรือหกดาว บางส่วนก็ส่งห้องเย็น โดยมีบริษัทโบรคเกอร์บริษัทหนึ่งที่จะรับซื้อช่วงไป แล้วก็ไปจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าหรือว่าซุปเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ ส่วนที่เหลือไซส์ที่ผู้ค้าในกลุ่มพรีเมี่ยม ทางห้างสรรพสินค้าหรือซุปเปอร์มาร์เก็ตเขาไม่ต้องการ ก็จะนำมาขายแม่ค้าคนกลาง อย่างเช่นที่มหาชัย

อีกทางหนึ่งก็ส่งให้แม่บ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชน กลุ่มโอท็อป จะเอาสินค้าราคาต่ำ ตัวไม่ใหญ่ เอาไปแปรรูปเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น เป็นช่องทางการตลาดอีกช่องทางหนึ่งที่เอื้อกันระหว่างเกษตรกรกับกลุ่มแม่บ้านกลุ่มวิสาหกิจชุมชนต่างๆ เช่น แปรรูปสัตว์น้ำที่มี อย่างเช่นกุ้งขาว ก็จะนำมาทำเป็นกุ้งเหยียดของหมู่บ้านสาขา เป็นของขึ้นหน้าขึ้นตาของอำเภอพระสมุทรเจดีย์ เป็นกุ้งเหยียดตัวตรง ๆ แล้วก็ทำกุ้งแห้งบางส่วน พวกปลาขึ้นชื่อก็มีพวกปลาหมอเทศก็นำมาทำเป็นปลาแดดเดียว เป็นปลาแร่ตัดหัวประมาณนั้น แล้วก็มีอาหารทะเลสด ปูทะเล หอยแครง หอยแมลงภู่ แล้วก็สัตว์น้ำท้องถิ่น ปลากระบอก ปลากุเลา ปลาชนิดต่างๆ อีกมากมาย

นอกจากนั้น ที่สุรกิจฟาร์มเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ระดับอำเภอ มีการคัดเลือกกันคนที่มีความสามารถ หรือได้รับรางวัลต่าง ๆ ที่จะมาเป็นเกษตรกรต้นแบบ หรือเป็นปราชญ์ของท้องถิ่นในการให้ความรู้


เกียรติประวัติ : เกษตรกรดีเด่นแห่งชาติ สาขาเพาะเลี้ยงน้ำกร่อย ประจำปี พ.ศ. 2558 และ 2560
รางวัลโล่เกียรติคุณเรื่องสินค้าวัตถุดิบยอดเยี่ยม ของ มปช.
รางวัลที่หนึ่งชนะเลิศสินค้าวัตถุดิบเรื่องกุ้ง ปู หอยแครงสองปีซ้อน งานของดีเมืองปากน้ำ

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณสุรกิจ ละเอียดดี ที่อยู่ สุรกิจฟาร์มกุ้งอินทรีย์ เลขที่ 200/1 หมู่ที่ 13 ต.แหลมฟ้าผ่า อ.พระสมุทรเจดีย์ จ.สมุทรปราการ

สุรกิจ ละเอียดดี เลี้ยงสัตว์น้ำอินทรีย์ คุณภาพดีๆส่งต่อถึงผู้บริโภค



วิธีเพาะไรแดงด้วยตนเอง ให้เป็นอาหารลูกกุ้ง

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด