

"สุเมธ ช้างเชื้อ : เลี้ยงเป็ดขายไข่ ความสุขเรียบง่ายที่บ้านเรา..."


ความสุขของการทำเกษตรของคุณสุเมธ คือ หนึ่งสัมผัสกับธรรมชาติทุกวัน ไม่จำเป็นต้องตื่นนอนตรงเวลา วันไหนที่ขี้เกียจ ก็แค่ลุกมาให้อาหารเป็ด ไข่ไม่เก็บก็ได้ แล้วก็ไปทำอย่างอื่น พอเสร็จธุระค่อยกลับมาทำงานก็ได้ อีกอย่างหนึ่งคือ ได้อยู่ใกล้ครอบครัวพี่น้องพ่อแม่ ได้ดูแลทุกคน ถ้าอยู่กรุงเทพ ฯ จะกลับบ้านทีก็ปีใหม่หรือสงกรานต์ แย่งกันไปแย่งกันกลับ ไม่กี่วันก็ต้องกลับมาอีกแล้ว บางคนก็เหนื่อย บางคนไปแล้วไม่อยากกลับเลย ทุกคนอยากจะกลับมาอยู่บ้าน แต่ที่อยู่ไม่ได้เพราะยังไม่ได้สร้างพื้นฐานในการทำอาชีพ แต่ถ้ามองเรื่องนั้นตั้งแต่ตอนนี้ จะมีความสุข อย่างทุกวันนี้เช้ามาเก็บไข่ สายออกไปบ่อปลาแล้วก็รดน้ำต้นไม้บ้าง อยากกินปลา ก็ทอดแหได้ บ่อเรา เราจะนั่งตกปลาก็ได้ เย็นๆ ก็ได้อาหารกิน และมีผักกิน มีไข่กิน มีปลากิน นี่คือความสุขของชีวิต ไม่ต้องไปดิ้นรนมากมาย
ทุกวันนี้ เขาภูมิใจมากกับคำว่า "เกษตรกร" เพราะโดยพื้นฐานแล้วเขาก็เป็นเกษตรกร ตอนเล็กๆ ช่วยพ่อแม่ทำนาทำไร่ แต่เขาเป็นเกษตรกรที่ค่อนข้างจะยุคใหม่นิดหนึ่ง มีแนวความคิดของระบบอุตสาหกรรมมาประยุกต์ใช้ จากเดิมที่พี่น้องของเขาทำนาอย่างเดียว ก็เริ่มมาเลี้ยงเป็ดกันมากขึ้น มีอาชีพที่มั่นคงอีกอันหนึ่ง ก็ทำให้การใช้ชีวิตของเกษตรกรดีขึ้น ไม่จำเป็นต้องพึ่งพาพืชอย่างเดียวหรือเกษตรกรเชิงเดียวอีกต่อไป
ในอนาคตนี้เขามีความฝันอีกอย่างหนึ่งคือ จะทำคล้าย ๆ กับแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งตอนนี้เริ่มดำเนินการไปบางส่วน โดยการขุดบ่อไป 2 บ่อ 5 ไร่ ในอนาคตก็จะมีที่ของพี่ ๆ น้อง ๆ อยู่ประมาณ 50 ถึง 60 ไร่นาในละแวกเดียวกัน จะขุดล้อมแล้วก็จะปลูกข้าวหอมมะลิ ซึ่งเป็นข้าวที่คนนิยมบริโภค แล้วทำสถานที่ท่องเที่ยวเชิงเกษตร เขาคิดว่าจะสามารถดึงลูกหลานเข้ามาช่วยบริหารงานตรงนี้ได้ ลูกหลานก็ไม่ต้องไปดิ้นรนในเมือง ซึ่งเขาเคยดิ้นรนมาแล้วเกือบ 20 ปี
ในการทำงานของคุณสุเมธนั้น หลักสำคัญคือการไม่ท้อ เมื่อทำยังไม่สำเร็จ ก็มองหาเส้นทางอื่นและทำต่อไป ความสำเร็จย่อมมาถึงสักวัน
สำหรับเกษตรกรรุ่นใหม่ที่สนใจกลับมาทำเกษตรที่บ้าน อันดับแรกเลยก็คือสำรวจตัวเองก่อนว่าชอบเกษตรจริงๆหรือเปล่า อันดับสองก็คือพื้นที่ที่คุณทำพอกับความต้องการของคุณไหม มีพื้นที่พอไหม ส่วนทุนก็เป็นเรื่องสำคัญ อย่าเริ่มอะไรที่มันใหญ่โตเกินไป ค่อย ๆ เริ่มทีละเล็กทีละน้อย ค่อย ๆ สะสมประสบการณ์ไป
อีกเรื่องหนึ่งที่สำคัญก็คือเรื่องของการตลาด เรื่องการทำการเกษตรที่คุณสุเมธสัมผัสมาไม่ยาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเลี้ยงเป็ด การเลี้ยงนกกระทา การเลี้ยงตะพาบ การทำนา ทำได้ทุกอย่าง แต่ที่ยากคือการขาย ถ้าทำแล้วแต่ไม่มีที่ขายนั้นคือจบเลย นั่นคือไม่มีทุนที่จะทำอะไรต่อเลย เพราะฉะนั้นถ้าจะทำอะไรต้องคิดถึงตลาด แล้วก็จะคิดว่าเราชอบจริง ๆ ไหม ถ้าเราโอเคตรงนั้นสองอย่างที่พร้อมแล้ว ก็ตัดสินใจได้ เพียงแต่ว่าเราต้องค่อย ๆ เริ่ม เราไม่จำเป็นว่าต้องลาออกปุ๊บแล้วเริ่มทำเลย ถ้าทำอย่างนั้นเหนื่อยแน่นอน เพราะภายในปีสองปีแรกไม่มีอะไร มีแต่ความเหนื่อยความท้อ เพราะฉะนั้นกลับไปสร้างก่อนที่บ้านทีละเล็กทีละน้อย ให้มีรายได้เข้ามาก่อน แล้วค่อย ๆ ขยับออกไปทีละนิดๆ จนเรารู้ว่ามันดีแล้ว เราพร้อมแล้ว พร้อมที่จะเดินทาง ที่จะก้าวค่อยออกไปเต็มตัว จากนั้นค่อยลาออกมาทำ
การที่เราจะประสบความสำเร็จ บางครั้งต้องใช้เวลาหาเส้นทางของตัวเอง บางคนเจอช้า บางคนเจอเร็ว แล้วแต่ความโชคดีของแต่ละคน แต่สำหรับคุณสุเมธ เขาต้องใช้เวลาพอสมควร กว่าจะเจอเส้นทางที่ใช่
คุณสุเมธ ช้างเชื้อ เป็นเกษตรกรเลี้ยงเป็ด และมีอาชีพเสริมคือ ทำนา ปลูกผัก เลี้ยงปลา ตามฤดูกาล
ก่อนที่จะมาเลี้ยงเป็ด เขาเคยอยู่โรงงานอุตสาหกรรมที่สมุทรปราการ ที่นิคมอุตสาหกรรมบางปูมามากว่า 20 ปี ทำงานเกี่ยวกับหน้ากระจกเครื่องถ่ายเอกสาร จุดพลิกผันให้เปลี่ยนงาน คือ ความรู้สึกอิ่มตัวที่ทำงานด้านนี้ เพราะทำงานมานานจนรู้ระบบทุกอย่างแล้ว การทำงานก็เริ่มมีภาระหน้าที่เยอะขึ้น ความรับผิดชอบสูงขึ้น โทรศัพท์ห้ามปิดตลอด 24 ชั่วโมงเพราะเมื่อมีปัญหาอะไรต้องสามารถติดต่อได้ตลอดเวลา แล้วต้องรีบเข้าไปแก้ทันที สิ่งนั้นคือภาระที่เขาต้องรับผิดชอบ ก็เลยลองกลับมาคิดดูว่าถ้าทำอย่างนั้นต่อไปอีกจนอายุ 40 - 55 ปีแล้ว จากนั้นจะทำอะไรต่อ จึงคิดอยากจะเริ่มทำงานของตนเองตั้งแต่ตอนนี้ ตอนที่ยังมีแรงอยู่ จึงปรึกษากับพี่ชายว่าหันกลับไปทำการเกษตรกัน ก็เลยตกลง โดยเขาลาออกมาทำก่อน พี่ชายยังทำงานประจำอยู่ ก็เริ่มตั้งแต่เลี้ยงนกกระทา 10,000 กว่าตัว สุดท้ายขาดทุนไป 100,000 กว่าบาท แต่ก็ทำให้มีประสบการณ์ในเรื่องของการดูแลสัตว์ การรักษา การตลาด ซึ่งไม่เคยทำมาก่อน
พอขาดทุนจากการเลี้ยงนกกระทาแล้ว เขาก็ไม่ได้ท้อถอยอะไร ก็เริ่มใหม่ด้วยการมาเลี้ยงตะพาบน้ำ พันธุ์ไต้หวัน ในช่วงสองปีแรกก็ประสบความสำเร็จดี ได้ราคาดีทั้งตัวตะพาบ และไข่ เป็นที่นิยมของคนพอสมควร เมื่อเป็นที่นิยมคนเลี้ยงก็เริ่มเยอะขึ้น ตลาดก็เริ่มน้อยลง การแข่งขันก็เริ่มสูงขึ้น ในที่สุดเขาก็เลิกทำ เพราะเริ่มไปไม่รอด ก็เริ่มดึงทุนกลับมาด้วยการขายตัวไป สุดท้ายก็มาจบที่การเลี้ยงเป็ด เริ่มเลี้ยงโดยที่ไม่รู้อะไรเลย ไม่เคยเลี้ยงมาก่อน ก็เริ่มเลี้ยงที่ 500 ตัว เริ่มตั้งแต่ให้กินอาหารผสม ลองเลี้ยงแบบบนบกอย่างเดียว แล้วก็ให้ลงน้ำอย่างเดียว แล้วก็เลี้ยงแบบทั้งสองอย่างคืออยู่บนบกด้วยในน้ำด้วย สุดท้ายมาจบตรงที่ว่าอยู่บนบกดีที่สุด ปัญหาในเรื่องของการไข่หรือปัญหาอื่น ๆ น้อย การดูแลง่าย และไม่มีผลกระทบอะไรกับเป็ด เป็ดสามารถอยู่ได้ ก็มาจบกันตรงนี้ และยึดอาชีพนี้มานาน 7--8 ปีแล้ว จากที่เคยเลี้ยง 500 ตัว ตอนนี้ก็ขยายเป็นของคุณสุเมธเอง 1,000 - 1,200 ตัว ของพี่ชายมีอยู่ 1,000 ตัว ของพี่สาวมีอยู่ 3,000 ตัว รวมกันแล้วก็ 5,000- 6,000 ตัว ตอนนี้
เป็ดสายพันธุ์ที่คุณสุเมธเลี้ยง เป็นชลบุรีลูกผสม ลักษณะเด่นของเป็ดตัวนี้คือไข่จะดก กินอาหารไม่เยอะเท่าไร อายุการเลี้ยงค่อนข้างที่จะนานพอสมควร
เป็ดที่คุณสุเมธเราซื้อมา เป็นเป็ดที่พร้อมไข่ ไม่ใช่เป็ดเด็กที่ต้องมาเลี้ยงต่อ เขาซื้อเป็ดที่มีอายุสี่เดือนครึ่งถึงห้าเดือนครึ่ง คือเป็ดพร้อมไข่ การเลือกซื้อก็จะต้องไปดูพ่อค้าที่คุ้นเคยการซื้อมาหลายครั้งแล้ว เพื่อความชัวร์ของอายุเป็ด เพราะว่าถ้าเอาเข้าฟาร์ม ถ้าได้เป็ดอ่อนมา ต้นทุนค่าอาหารจะเยอะ เช่น เป็ด 1000 ตัวละ 2 บาท เราต้องจ่ายวันละ 2000 บาท ถ้าพูดง่าย ๆ เลี้ยงมาหนึ่งสัปดาห์ยังไม่ได้ไข่เลย ก็จะเสียเงินไป 14,000 บาท ต่อสองสัปดาห์ เพราะฉะนั้นตอนซื้อเป็ด ต้องดูดี ๆ ก็คือต้องได้เป็ดที่มีอายุจริงๆ เป็ดจะเริ่มไข่ตั้งแต่อายุสี่เดือนครึ่งขึ้นไป ถ้าสมบูรณ์ จะอยู่ที่อายุประมาณหกเดือนก็จะไข่เต็มที่แล้วครบ 90 - 95% ที่เป็นสาวก็เลี้ยงต่อไปเรื่อย ๆ จาก 90% จะเหลือแค่ 85 ถึง 80% ถามว่าอยู่ได้ไหม ยังอยู่ได้ แต่ไข่เปลือกบางมาก พ่อค้าก็จะติในเรื่องของเปลือกบาง เอาไปส่งทำไข่เค็มไม่ได้ ความเสียหายทางการขนส่งก็จะเยอะ เสียหายตอนคัดคุณภาพ คัดเกรดก็เยอะ เราก็ต้องเปลี่ยน
สำหรับเป็ดชลบุรีลูกผสมที่คุณสุเมธเลี้ยง จะมีภูมิคุ้มกันดี แต่เมื่อเทียบกับสายพันธุ์อื่นโดยมากจะใกล้เคียงกันแทบทุกสายพันธุ์ แต่ขึ้นอยู่กับคนที่เลี้ยงว่าสภาพเล้าเป็นอย่างไร อาหารเป็นอย่างไร การดูแลเรื่องวิตามินเป็นอย่างไร เป็นต้น แต่โดยปรกติเป็ดของคุณสุเมธไม่เป็นอะไรง่าย ๆ
องค์ประกอบของการเลี้ยงเป็ด อันดับแรกเลยคือโรงเรือน ภายในโรงเรือนจะแบ่งออกเป็น 3 ส่วน ส่วนแรกคือส่วนที่ให้เป็ดไข่ จะปิดตอนกลางวันไม่ให้เข้ามาเลย เพราะว่าถ้าเข้ามาปุ๊ป เป็ดก็จะเข้ามานอน แล้วก็จะมาขี้ใส่ จะทำให้ในนี้สกปรกแล้วไข่เราก็จะสกปรกด้วย ต้องเสียเวลามานั่งทำความสะอาด เพราะฉะนั้นเวลากลางวันเราจะปิด จะเปิดให้เฉพาะกลางคืน
ส่วนที่สองก็คือส่วนที่เป็ดอยู่กลางวัน ต้องมีปริมาณเพียงพอ ไม่หนาแน่นเกินไป ถ้าหนาแน่นเกินไป เป็ดมันจะร้อน เป็ดไม่ชอบอากาศร้อน ถ้าร้อนก็จะไม่ค่อยกินอาหาร เปอร์เซ็นต์ไข่ก็จะหาย อีกส่วนหนึ่งก็คือบริเวณที่กินน้ำด้านริม บริเวณที่กินน้ำก็คือ น้ำที่หกจากรางจะต้องลงไปข้างล่างเลย ห้ามอยู่ในโรงเรือน จะมีติดตัวเป็ดมาบ้างนิดหน่อยไม่เป็นไร แต่ห้ามให้มันเข้ามา เพราะว่าถ้าพื้นแฉะปุ๊ป ปัญหาเรื่องโรค เรื่องกลิ่น จะเยอะ เล้าเป็ดต้องแห้ง ถ้ามันเปียก มันแฉะ ความชื้นมันเยอะ ถ้าเป็ดไปกินขี้ตัวเองจะเกิดท้องเสีย ถ้าดูแลไม่ดีก็จะเป็นโรคอหิวาต์ มันก็จะติดต่อกันไปเรื่อย ๆ แต่มันก็จะมียาป้องกันอยู่ ทางที่ดีก็คือต้องวางแผนเรื่องเล้าก่อน อันดับแรกเลยคือต้องไม่ให้เล้าแฉะ ไม่ว่าจะเป็นน้ำที่กิน หรือน้ำที่มาจากฝนตก ต้องดูแลตรงนี้ให้ได้ ถ้าเล้าไม่แฉะเรื่องโรคก็ไม่มีปัญหา หลังคาต้องกันฝนสาดได้ แต่ต้องให้ลมเข้ามาได้ดี เพราะมันจะช่วยระบายความร้อนในตอนกลางวัน ถ้าอากาศร้อนมากเป็ดก็จะไม่ค่อยกินอาหาร เปอร์เซ็นต์ไข่มันก็จะหายไปด้วย ไข่มันก็จะลูกเล็ก
ด้านการตลาด ตั้งแต่เริ่มแรกเลยที่เลี้ยง 500 ตัว ก็คิดว่าเลี้ยงโอเคแล้ว ไม่มีพ่อค้ารับซื้อ ต้องวิ่งไปที่ทำงานเก่าที่สมุทรปราการ วิ่งไปขายไข่เร่ขายตามร้านอาหาร ตามตลาดนัด จนในที่สุดหลานมาสานต่อตอนนี้เป็นตลาดหลักแล้วมีสมุทรปราการ และก็ไปได้พ่อค้าคนหนึ่งที่อยู่แถวหมู่บ้านเดียวกัน ก็ส่งให้เขามาเจ็ดแปดปีแล้ว ก็จะช่วยเหลือกัน ในช่วงไข่ตกไข่ราคาไม่ดี เขาก็ไม่ได้กดราคาลงจนเราอยู่ไม่ได้ ช่วงที่ราคาสูงเขาอาจจะให้ราคาต่ำกว่าคนอื่นนิดหน่อย แต่ทางคุณสุเมธก็ยังอยู่ได้ อยู่ได้ตลอดทั้งปี
นอกจากนี้ ก็มีตลาดที่หาเองเป็นตลาดนัดที่อยุธยาแถวโรงงานโรจนะ ไปขายทุกวันอังคาร วันพฤหัสบดี วันอาทิตย์ 3 วัน อีกที่หนึ่งก็คือที่ อ.ปากเกร็ด จ.นนทบุรี ไปวันเสาร์ ที่นี่เป็นตลาดใหม่ ก็ถือว่าพอไปได้แต่ไม่ถึงกับดี เพราะมันเป็นตลาดใหม่ ต้องไปแข่งกับคนที่ส่งเดิม แล้วก็ต้องไปดูตลาดใหม่ ๆ เพิ่ม
ทางด้านอาหารเป็ด ตอนแรกเริ่มเลยก็ให้กินอาหารผสม ก็จะเป็น รำ ปลายข้าว หัวอาหาร วิตามิน ก็ดีในระดับหนึ่ง แต่กจะมีปัญหาเรื่องวัตถุดิบ เพราะว่าวัตถุดิบตัวนี้มันเป็นตามฤดูกาล ถ้าปีไหนทำข้าวเยอะ พวกรำ พวกปลายก็จะถูกหน่อย แต่ถ้าปีไหนน้ำแล้ง ทำข้าวไม่ได้ พวกวัตถุดิบตรงนี้จะราคาสูงขึ้น บางทีในละแวกจังหวัดไม่มี เราต้องวิ่งไปสิงห์บุรี ซึ่งตรงนั้นก็จะเกิดค่าใช้จ่ายส่วนหนึ่ง ก็เลยหันมาเลี้ยงอาหารสำเร็จรูป ค่าอาหารราคาค่อนข้างสูง แต่เมื่อเทียบกับเปอร์เซ็นต์ไข่แล้ว ความสะดวกสบายที่เราได้ ก็จะคุ้มกว่า อย่างเช่นที่พี่คุณสุเมธเลี้ยง จะเทอาหารให้ครั้งเดียวเลยตอนเช้า เทใส่กะละมังให้เป็ดกินตั้งแต่เช้า จนกระทั่งสองทุ่มก็มาเช็คดู ถ้าอาหารหมดก็ไม่เป็นไร แต่ถ้าเหลือจนถึงอีกเช้าแสดงว่าอาหารเหลือ ให้ปริมาณมากกิน ต้องลดปริมาณลง ปริมาณอาหารจะไม่ค่อยตายตัวเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับอากาศ ถ้าอากาศร้อนเป็ดจะกินน้อย ถ้าอากาศเย็นเป็ดก็จะกินเยอะหน่อย ต้องดูสภาพอากาศของแต่ละวันด้วย
ถ้าเป็นเป็ดตอนนี้ เป็ดสาว 1,000 ตัว ผลผลิตก็อยู่ที่ประมาณ 900 ถึง 950 ฟองต่อวัน ถ้าอายุหนึ่งปีขึ้นไปแล้ว ไข่ก็จะหายไปประมาณ 10% ก็จะเหลือประมาณ 85 ถึง 90% ไม่เกินนี้ ยิ่งเป็ดอายุเยอะมากขึ้น จำนวนไข่ก็จะน้อยลง เปลือกก็จะบาง พอเปลือกบาง ความเสียหายที่เกิดจากการเหยียบแตก หรืออะไรมันก็จะมี มันก็จะหายไปอีกส่วนหนึ่ง การคัดเกรดไข่ก็จะแบ่งออกเป็นตามน้ำหนัก น้ำหนักเขาเรียกว่าหนึ่งตั้งก็คือไข่จำนวน 10 แผง ถ้าเป็นน้ำหนัก 21 - 23 กิโลกรัมขึ้นไป ถือว่าเป็นไข่ใหญ่ ตอนนี้ถ้าเป็นตลาดในละแวกของอ่างทอง อยุธยา สุพรรณบุรีนี้ใบละไม่เกินสามบาทสำหรับน้ำหนัก 23 กิโลกรัม แต่ถ้าไปไกลแถวสมุทรปราการ กรุงเทพฯ ก็จะเป็นใบละ 4 บาท ขึ้นอยู่กับตลาดและพื้นที่ว่าความต้องการของตลาดเป็นอย่างไร และการแข่งขันสูงแค่ไหน เพราะในละแวกนี้ปริมาณไข่มันเยอะ มันก็เกิดการแข่งขันสูง
จากปริมาณไข่ตอนนี้ คุณสุเมธมีรายได้ 600-700 บาทต่อวัน ใช้เวลาอยู่ในฟาร์มตั้งแต่ 6 โมงเช้าถึง 9 โมงเช้า แล้วตอนเย็นก็มาแค่เปิดไฟกับเปิดเล้าให้เขา ช่วงเวลาที่เหลือเราสามารถไปบริหารทำอย่างอื่นได้อีก ก็ถือว่าพอใจกับรายได้ที่มีตอนนี้
สุเมธ ช้างเชื้อ บ้านเลขที่ 48 ม.5 ต.ตลาดใหม่ อ.วิเศษชัยชาญ จ.อ่างทอง 14110


