

"วันเพ็ญ นาทอง : เลี้ยงปลาด้วยความภูมิใจ...ปลาแรดอุทัยธานี"

เราก็จะสุขใจ เบาใจ
ไม่ต้องดิ้นรนให้เกินตัว

ชีวิตตอนนี้ของคุณวันเพ็ญ มีความสุขที่ได้เลี้ยงปลา หากวันไหนมีเรื่องเครียด แค่มานั่งเลี้ยงปลา มาดูปลากินอาหารก็มีความสุขแล้ว ปลากลายเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตไปแล้ว เวลาเราจับปลา มันเหมือนจับเงินก้อนขึ้นมา อยากได้อะไรก็ได้ ได้ซื้อได้จับจ่ายใช้สอย เป็นรายได้ที่ทำให้เราสามารถเลี้ยงครอบครัว ส่งลูกเรียนได้จนจบปริญญาตรีมีงานทำ เป็นความภูมิใจ
นอกจากนั้น คุณวันเพ็ญภูมิใจที่ได้ช่วยเหลือเกษตรกรชุมชนข้างเคียงหรือหมู่บ้านข้างเคียงให้เขาได้มีงานทำ ได้มารวมกลุ่มและเลี้ยงปลาด้วยกัน ทำให้ครอบครัวเขามีรายได้ มีอาชีพที่มีรายได้เพิ่มขึ้น ผู้แก่ผู้เฒ่าที่อยู่บ้านก็ให้ท่านได้มาช่วยแปรรูปสินค้า ได้เข้ามาร่วมกิจกรรมกัน ได้มาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน มาหัวเราะ มาทำงานร่วมกัน ถือเป็นความสุขของทุกคนและของชุมชนด้วย คุณวันเพ็ญเองก็ดีใจที่ได้หุงข้าวหุงปลาเลี้ยง เป็นความสุขที่ทำโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนตรงนี้เลย
ด้วยความที่คุณวันเพ็ญเป็นผู้นำชาวบ้าน สิ่งหนึ่งที่คุณวันเพ็ญมีคือ การสู้ไม่ถอย ไม่ยอมแพ้ แต่ก็อยู่บนหลักการ เหตุผล ไม่บุ่มบ่าม เพราะต้องนำชุมชนให้เดินไปข้างหน้าให้ได้ ต้องเสียสละ ใจใหญ่ เพื่อให้ผู้เดินตามวางใจ และกล้าเดินไปกับเรา เพราะฉะนั้น เวลาที่มีปัญหา สิ่งเดียวที่คุณวันเพ็ญทำ คือการเดินไปข้างหน้าอย่างรอบคอบ ไม่ท้อ ไม่หยุด
นอกจากนั้นหลักสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่คุณวันเพ็ญนำมาใช้คือ การอยู่แบบพอเพียง ตามพระราชดำริของในหลวง ร.๙ ใช้ชีวิตแบบไม่ฟุ้งเฟ้อ พอใจกับสิ่งที่เราที่เรามี
สำหรับเด็กรุ่นใหม่นั้น ใจหนึ่งคุณวันเพ็ญก็อยากให้ลูกๆเยาวชนกลับมาอยู่บ้าน เพราะสังเกตดูลูกหลานจะใช้ชีวิตแบบเดือนชนเดือน แต่ถ้าเขาจะกลับมา เขาต้องมีใจก่อน และต้องอดทน ไม่ยอมแพ้ง่ายๆ เพราะการทำงานย่อมมีปัญหาเป็นธรรมดา และที่สำคัญต้องเรียนรู้เรื่องตลาด เพราะเป็นปัจจัยสำคัญของการทำงาน นอกจากนั้นต้องรู้จักสร้างเครือข่าย เผื่อมีปัญหาอะไร จะได้มีที่ปรึกษา ไม่โดดเดี่ยว การมีเครือข่ายเป็นส่วนสำคัญให้เราเดินไปข้างหน้าได้เช่นกัน
ก่อนจะมาเลี้ยงปลาแรดในกระชังอย่างวันนี้ คุณวันเพ็ญเคยแต่งงาน แล้วไปขายเสื้อผ้าอยู่ต่างจังหวัด และย้ายไปเรื่อย ๆ จนมีคนจีนคนนึงบอกว่า อย่าย้ายไปเรื่อย ๆ แบบนี้ มันไม่เป็นหลักแหล่ง ให้กลับไปถิ่นเกิดแล้วค่อยๆ ดูว่าทำอะไรได้บ้าง คุณวันเพ็ญจึงมาพิจารณาดูว่าขายเสื้อผ้า และย้ายไปเรื่อยๆ แบบนี้มาปีหนึ่งแล้ว ยังไม่มีเงินเก็บเลย จึงกลับมาอยู่บ้าน
เมื่อกลับมาจึงไปซื้อวัวมาเลี้ยง พอเลี้ยงแล้วขายได้ก็เลยยึดเป็นอาชีพ จากที่เคยเลี้ยงวัวในที่ดินของคนอื่น ก็เริ่มเก็บเงินซื้อที่เดินเอง จาก 4-5 ไร่ กลายเป็น 30 ไร่ จึงคิดทำไร่นาสวนผสมตามแนวพระราชดำริเศรษฐกิจพอเพียง จึงแบ่งที่ดินมา 7-8 ไร่ เพื่อลองปลูกพืชผักดู มีมะม่วง ส้มโอ กล้วย มะละกอ ถั่วฝักยาว มะเขือ ปลูกแล้วเก็บขายได้ทุกวัน ชาวบ้านก็มายืนดูมองว่าก็ดีนะมันมีรายได้เข้ามาทุกวัน ได้วันละ 200 ,300 ,500 บาท มันก็เป็นรายได้ คนอื่นก็อยากทำบ้าง
แต่ด้วยปัญหาอุทกภัยที่เกิดขึ้นอยู่เป็นประจำทุกปี จึงทำให้เธอนั้นรู้สึกท้อกับการที่จะต้องมาแก้ไขปรับปรุงพืชภายในสวนของเธอ จึงมาคุยกันในกลุ่มชาวบ้านว่าบรรพบุรุษเราทำอะไร ก็ได้คำตอบว่าเลี้ยงปลาแรดในกระชัง และในปี พ.ศ. 2540 นั้นเอง ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุทัยธานี เข้ามาสอนเรื่องการเพาะพันธุ์ปลาแรด เพื่อลดต้นทุนในการซื้อพันธุ์ปลา ตนจึงเกิดความสนใจในการเลี้ยงปลาแรดอย่างจริงจัง จึงได้นำพันธุ์ปลาแรดจากศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงน้ำจืดอุทัยธานีมาเพาะเลี้ยงกว่า 1,000 ตัว และได้นำความรู้ที่ได้จากการเรียนรู้ มาปรับใช้ในการเลี้ยงปลาแรดครั้งนี้ด้วย
ปัจจุบันคุณวันเพ็ญมีการเลี้ยงปลาแรดกว่า 100 กระชัง ใน 1 กระชังจะมีปลาแรดอยู่ประมาณ 1,000 ตัว อัตราการรอดตายประมาณ 90% อีกทั้งราคาปลาแรดอยู่ที่กิโลกรัมละ 100 – 120 บาท และคุณวันเพ็ญยังเป็นประธานกลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงปลาแรดในกระชัง เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เพาะเลี้ยงปลาแรดอีกด้วย
เมื่อรวมกลุ่มกันได้ 10 คน ก็เริ่มต้นด้วยการเอาทุนมากองรวมกัน ถ้าได้งบประมาณมาก็จะคืนให้ แต่ถ้าไม่ได้อย่างไรประธานจะเป็นคนที่รับผิดชอบในเงินที่มากองไว้ แล้วก็ทำการสร้างกระชังให้ 10 คน 10 ลูก คนละหนึ่งลูก ในราคา 7,000 กว่าบาทต่อลูก ขนาดลูกละ 5 × 6 เมตร ทางภาครัฐเห็นว่ากลุ่มนี้ทำจริง ก็เตรียมโอนเงินเข้าบัญชีให้ พอได้เงินมา ก็นำไปคืนสมาชิกที่เข้ามาลงหุ้นไว้
คุณวันเพ็ญและกลุ่มเริ่มเลี้ยงปลาแรดเพียงอย่างเดียว เพราะจังหวัดอุทัยธานีจะดังเรื่องปลาแรด ตอนเริ่มต้นเลี้ยงไม่ได้คิดถึงปัญหาอะไร มองว่าพอเลี้ยงแล้ว ได้พันธุ์ปลาแล้ว ก็คิดว่าได้กำไรเลย แต่พอเลี้ยงกันไปได้ซักระยะหนึ่ง มันสะเปะสะปะ กระชังหนึ่งได้กำไรดี แต่กระชังที่สองได้น้อยลง พอกระชังที่ 3 , 4 เริ่มน้อยลงเรื่อย ๆ ก็เลยมาปรึกษากันว่าจะแก้ปัญหาอย่างไร จึงให้หน่วยงานประมงมาช่วยดู และพบว่ามันเกิดจากสายพันธุ์ปลา หลังจากนั้น เจ้าหน้าที่ภาครัฐให้จัดตั้งสหกรณ์เพื่อเขาจะเข้ามาช่วยเรื่องการเงินได้ และเรื่องแรกที่เข้ามาช่วยแก้ปัญหาคือ การลดต้นทุน เพราะเดิมซื้ออาหารเม็ด ก็เปลี่ยนมาเป็นพืชผักตามธรรมชาติ มะม่วงสุกบ้าง มะละกอสุกบ้าง ทำให้ลดต้นทุนไปกระชังละ 14,000 - 15,000 บาท
อาหารที่เรานำมาใช้ลดต้นทุน คือ ใช้อาหารสำเร็จรูปในบางส่วน ถ้าสมมติว่าเราเลี้ยงสองมื้อเช้าเย็น ตอนเช้าอาจให้อาหารสำเร็จรูป ในตอนเย็นก็ให้อาหารผักแทน โดยหาได้จากที่เรามี อาจจะเป็นเศษใบผักตามท้องตลาด ผักบุ้ง มะละกอสุก มะม่วงสุก นำมาหั่นแล้วโยนให้ดิบๆ เลย ทำให้ลดต้นทุนได้จริง
ทางด้านการตลาด คุณวันเพ็ญก็วิ่งเข้าหาตลาดเอง เพราะว่าก่อนหน้าเคยโดนพ่อค้าคนกลางกดราคา ก็เลยลองไปติดต่อตลาดกันเอง พอมีตลาด มันก็เป็นการเปิดตัวให้คนอื่น ๆ รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ คนที่มาซื้อไปทานแล้ว ก็รู้จักคุณภาพเนื้อปลาของทางกลุ่มคุณวันเพ็ญที่แตกต่างไปจากที่อื่น ไม่มีกลิ่นสาบโคลน รับรองคุณภาพได้ว่าเลี้ยงในแม่น้ำสะแกกรังจริง ๆ นานๆ เข้า คนก็เริ่มติด เริ่มเชื่อถือในคุณภาพ เชื่อมั่นว่าเป็นอาหารปลอดภัย นอกจากขายเนื้อปลาทุกส่วนแล้ว ทางกลุ่มยังมีกาแปรรูปเนื้อเป็นแหนมปลาแรด ปลาร้าด่วน ปลาส้ม ปลาแดดเดียวอีกด้วย
เกียรติประวัติ : -เกษตรดีเด่นแห่งชาติ ในนามกลุ่มกลุ่มผู้เลี้ยงสัตว์น้ำตำบลท่าซุง ปี 2557
-เกษตรกรเครือข่ายดีเด่น
-ปราชญ์ของหมู่บ้านระดับอำเภอ
คุณวันเพ็ญ นาทอง
บ้านโรงน้ำแข็ง 31 หมู่ที่ 5
ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง
จังหวัดอุทัยธานี 61000


