เกษตรกรต้นแบบ

"ไพศาล ผาจันดา : เกษตรกรผู้พลิกผืนนาข้าวให้มีค่า"

 21 เมษายน 2559 3,794
จ.ขอนแก่น
ทำงานต้องทำด้วยใจรัก รู้จักรับผิดชอบหน้าที่
และเสียสละแก่ส่วนร่วม

นายไพศาล ผาจันดา ผู้ประสบความสำเร็จในด้านการปลูกข้าว

นายไพศาล ผาจันดา เกษตรกรวัย 59 ปี ประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชนบ้านถลุงเหล็ก มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ถือเป็นเกษตรกรต้นแบบที่นำเอาหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาปฏิบัติจนประสบความสำเร็จและเป็นต้นแบบที่เกษตรกรทุกคนสามารถทำได้ตามอุดมคติที่ว่า "ทำงานต้องทำด้วยใจรัก รู้จักรับผิดชอบหน้าที่ และเสียสละแก่ส่วนรวม" สามารถนำมาถ่ายทอดให้เกษตรกรในพื้นที่ได้เป็นอย่างดี ถึงแม้ว่าในพื้นที่จะแห้งแล้งอยู่นอกเขตชลประทาน แต่ด้วยความตั้งใจและมุ่งมั่นในการผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวที่มีคุณภาพเพื่อจำหน่าย จนเมื่อปี พ.ศ.2544 ได้เริ่มก่อตั้งวิสาหกิจชุมชนศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชนบ้านถลุงเหล็ก อ.แวงใหญ่ จ.ขอนแก่น โดยการรวมกลุ่มของสมาชิกในชุมชนผลิตข้าวให้ได้เกณฑ์มาตรฐาน รวมทั้งการแปรรูปข้าวให้มีคุณภาพควบคุมการผลิตทุกขั้นตอนตั้งแต่คัดเลือกเกษตรกรผู้ปลูก เลือกพื้นที่ดูแล การปลูก การเก็บเกี่ยวและเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ โดยเมล็ดพันธุ์ข้าวที่รับซื้อคืนจากสมาชิก จะถูกนำไปขายให้ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวขอนแก่นต่อไป

หลักคิดในการใช้ชีวิต

นายไพศาล ผาจันดา เกิดเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม พ.ศ.2500 บิดาชื่อ นายพิมพ์ ผาจันดา มารดาชื่อ นางเผ่า ผาจันดา มีพี่น้องร่วมบิดา-มารดา จำนวน 4 คน โดยนายไพศาล เป็นบุตรคนที่ 2 ของครอบครัว จบการศึกษา ม.6 โดยการบวชเรียน จากวัดศรีนวลศรีจันทร์ จังหวัดขอนแก่น สมรสกับนางสุบรรณ์ ผาจันดา มีบุตรด้วย 3 คน ด้วยอาชีพทำนาและใช้ชีวิตแบบพอเพียงจึงได้น้อมนำปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงมาประยุกต์ใช้ ทำให้ครอบครัวและชุมชนมีอยู่มีกิน มีชีวิตที่ดีขึ้น โดยดำเนินการตามหลักเกษตรทฤษฎีใหม่ ด้วยการแบ่งพื้นที่ทำการเกษตรไร่นาสวนผสม คนในชุมชนรักใคร่สามัคคี ชีวิตก็มีความสุข

ด้วยในวัยเด็กพ่อ-แม่ มีอาชีพทำนาเป็นหลัก ทำให้นายไพศาล มีใจที่รักการทำนาจนขณะนี้อายุ 59 ปี ยังยึดอาชีพทำนาเหมือนเดิม ถึงแม้ว่าจะประสบปัญหาต่อการทำนาบ้าง แต่ไม่เคยคิดจะเลิกหรือท้อถอยต่อการทำนา ด้วยที่ว่าจะคงรักษาอาชีพทำนาตลอดจนชั่วลูกชั่วหลานต่อไป ขณะเดียวกัน นายไพศาล ยังมีความมุ่งมั่นแปรรูปผลิตภัณฑ์เพื่อเพิ่มมูลค่า เพิ่มทางเลือกให้แก่ผู้บริโภค จึงตั้งศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชนบ้านถลุงเหล็กที่ใช้ภูมิปัญญาชาวบ้านผลิตข้าวฮาง โดยยึดภูมิปัญญาชาวบ้านเป็นแนวทางในการทำงาน

เผยแพร่ความรู้ด้านการปลูกข้าว

ประวัติและความเป็นมาเกี่ยวกับตัวเกษตรกร

การพัฒนาพันธุ์ข้าวที่ให้ผลผลิตเพิ่ม นายไพศาล กล่าวว่า ได้ผลิตข้าวฮางงอกออกจำหน่ายโดยใช้ชื่อแบรนด์ว่า "ขวัญนา" ซึ่งได้รับการตอบรับเป็นอย่างดีจากผู้บริโภค นอกจากผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกธรรมดาแล้ว นายไพศาล ยังได้คิดค้นแปรรูปข้าวต่างๆ เช่น ข้าวสมุนไพร (กลิ่นกระชายดำ กลิ่นใบเตย กลิ่นตะไคร้) ข้าวฮางสามสายพันธุ์ ข้าวหอมนิล ข้าวเจ้าสีดำ ข้าวฮางผงแบบชงดื่ม ส่วนการทำข้าวฮางงอก "ขวัญนา" นายไพศาล เล่าว่า ได้จากการนำข้าวเปลือกหอมมะลิพันธุ์ดี (ข้าวหอมมะลิพันธุ์ 105)โดยมีขั้นตอนการทำคือ นำข้าวปริมาณ 3 กิโลกรัมต่อ 1 ครั้ง นำมาแช่น้ำไว้ในถังที่เตรียมไว้ 1 คืน จากนั้นนำข้าวเปลือกที่แช่ไว้ไปนึ่งในหวดนึ่งข้าว แล้วนำข้าวที่นึ่งไปตากแดดให้แห้งสนิท 4-5 ชั่วโมง จึงนำข้าวเปลือกที่ได้ไปสีโดยไม่ขัดขาว (ให้เป็นข้าวกล้อง) นำข้าวที่ได้ไปคัดเมล็ด เอาเมล็ดที่ลีบทิ้ง ก่อนนำข้าวที่ได้ไปบรรจุภัณฑ์ใส่ถุงสูญญากาศ ทั้งนี้นายไพศาล ในฐานะประธานศูนย์ส่งเสริมและผลิตภัณฑ์ข้าวชุมชนฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า เดิมทีชาวบ้านในพื้นที่ทำนาปลูกข้าวส่งขาย แต่ในทุกๆปี จะมีปัญหาราคาข้าวตกต่ำผลผลิตได้น้อย นายไพศาลจึงได้มีการรวมกลุ่มจัดตั้งเป็นศูนย์ขึ้น โดยมีเกษตรกรในชุมชนเป็นสมาชิกเพื่อผลิตข้าวออกสู่ตลาดสร้างรายได้แก่ชุมชน

นอกจากนี้ นายไพศาล ผาจันดา เกษตรกรผู้พลิกผืนนาข้าวให้มีค่า ได้คิดกระบวกการพัฒนาเพื่อสร้างความมั่นคงให้กับศูนย์ ดังนี้
-ส่งเสริมอาชีพหลังฤดูทำนา (อาชีพเสริมเพิ่มรายได้)
-ลดต้นทุนการผลิตทางการเกษตร(ลดต้นทุนการผลิต)
-การระดมเงินออมในชุมชน(ลดต้นทุนเงิน)
-ขุดหลอกหนองสาธารณะ (เพิ่มประสิทธิภาพการผลิตข้าว)
-สร้างที่ทำการศูนย์ข้าวชุมชนและฉางเก็บเมล็ดพันธุ์ (ศูนย์เรียนรู้ชุมชน)
-เชื่อมโยงการผลิตและการตลาด(เครือข่ายธุรกิจชุมชน)

ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากข้าว

เกียรติประวัติและผลงาน

1.ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดข้าวหอมมะลิระดับอำเภอ ปี 2558/2559
2.ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดศูนย์ข้าวชุมชน 7 ปีซ้อน (ปี 2548-2554)
3.ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดศูนย์ข้าวชุมชน ระดับจังหวัด 5 ปี
4.ได้รับรางวัลการพัฒนาศูนย์เรียนรู้เรื่องข้าวระดับจังหวัด
5.ได้รับรางวัลการเป็น Smart famer ของกรมการข้าว
6.ได้รับโล่พระราชทานในงานพระราชพิธีจรดพระนังคัลแรกนาขวัญ ปี 2554
7.ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 1 การประกวดครอบครัวชาวนาดีเด่น ปี 58 ระดับจังหวัด
8.ได้รับรางวัลชนะเลิศอันดับ 3 การประกวดครอบครัวชาวนาดีเด่น ระดับภาค

รางวัลการันตีคุณภาพและความสำเร็จทางด้านการผลิตข้าวแปรรูป

เรื่อง/ภาพโดย: ปาริฉัตร โพพันเรือ จนท.ศูนย์ประสานงานร่วมด้วยช่วยกันสำนึกรักบ้านเกิด จ.ขอนแก่น