เกษตรกรต้นแบบ

"อภิชาต อภิเดชวาณิชกุล : หันหลังให้โรงงาน มุ่งมั่น ปั้นความสุขด้วยเกษตร"

 01 ตุลาคม 2562 2,609
จ.สระบุรี
ความขยัน
ถือเป็นหลักสำคัญ
หนักต้องเอา เบาต้องสู้ ไม่รู้ถอย

ถ้าหากถามว่าวันนี้คุณเอกพอใจกับชีวิตตัวเองแค่ไหน เขาตอบได้เลยว่าพอใจ เพราะทุกอย่างเป็นไปตามที่เขาวางแผนไว้ เขาเชื่อว่าเราต้องมีการวางแผนทุกอย่าง ถ้าเราวางแผนดีแล้ว มันจะไปเป็นตามขั้นตอนของมันเอง มันจะไปของมันเรื่อย ๆ อย่างตอนนี้ จากรายได้ครั้งแรกที่ขายวันละ 100 บาท ตอนนี้เขามีรายได้ 3,000 - 4,000 บาทต่อวัน หรือเฉลี่ย 100,000 บาทต่อเดือน หักค่าใช้จ่ายแล้วก็เหลือประมาณ 60,000 - 70,000 บาท ซึ่งถือว่าพอเพียงสำหรับครอบครัวเขา

ผมมองว่าประเทศไทยเป็นแผ่นดินธรรมแผ่นดินทอง เพราะทำแล้วมันเป็นแผ่นดินทองจริง ๆ ทำในแผ่นดิน เมื่อทำเสร็จมันก็ได้เงิน แล้วอยากได้ทองก็ไปซื้อทอง แล้วแต่มุมมองของแต่ละคน แต่สำหรับเขามันเป็นเช่นนั้น

สำหรับคุณเอก สิ่งสำคัญที่ต้องถามตัวเองคือ บั้นปลายอยากได้ชีวิตแบบไหน ตัวเขาตอบตัวเองได้ว่า บั้นปลายอยากอยู่กับสวนกับไร่ ถ้าอย่างนั้นก็ต้องลงมือทำ เขาถึงออกจากงานมาลงมือทำที่ผืนดินนี้ ถามว่าวันนี้เขามีความสุขไหม เขาตอบได้เลยว่า “มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองทำไว้ วางไว้ เราเป็นคนวางแผน เราเป็นคนกำหนดทุกอย่างของเราเอง อย่างคนงานบางทีไม่มีงานหรอก เราก็ให้เขามาช่วยเก็บโน่นเก็บนี่ ก็จ้างเขาให้เขามีรายได้ บางคนที่ทำอยู่นี่อายุเยอะ ๆ ทั้งนั้น 60 - 70 ปีกว่ากันแล้ว แต่แกก็ชอบทำ ก็อยู่กับผมทำไปเรื่อย ๆ”

และที่สำคัญ คุณเอกไม่มองข้ามเงินน้อย 5 บาท 10 บาท เขาก็ทำ เป็นเงิน เป็นค่ากับข้าวได้ทั้งนั้น วันแรกที่เขาขาย ผักปลอดสารพิษกำละ 10 บาทเท่านั้น วันแรกขายทั้งวันได้ 100 กว่าบาท ค่าร่ม 20 ค่าที่ 20 เหลือ 60 บาท ผักที่เหลือแจกคนที่เดินผ่านไปมาเลย แต่หลังๆ ก็หาตลาดเช้าขาย ถ้าเย็นเหลือก็นำมาขายตอนเช้า ตอนนี้เขามีเงินไม่ขาดมือ จากขายผักกำละ 10 บาทนี่แหละ และเก็บเงินให้ลูกได้หลายหมื่นแล้ว

นอกจากนั้น คุณเอกเป็นคนสู้ไม่ถอย เมื่อครอบครัวประสบปัญหาทางธุรกิจ คุณเอกและแม่ลงมือปลูกผัก เก็บผักขาย เพื่อให้มีกิน ไม่อด และเมื่อวันที่เขาไปทำงานโรงงาน เขาก็ยังขายผักอยู่ และเอาเงินที่ได้จากการทำงานโรงงานให้พ่อแม่ทั้งหมด ถือเป็นความกตัญญูที่เขามีต่อพอแม่ด้วยเช่นกัน และเมื่อตัวเขาเองประสบปัญหาทางการเงินอีกครั้ง เขาก็ไม่ยอมแพ้ ทั้งลดค่าใช้จ่าย ทั้งทำงานเพื่อนำมาใช้หนี้ จนถึงวันนี้ หนี้ก้อนใหญ่ที่เขามีเหลือเพียงน้อยนิดเท่านั้น



สำหรับคุณเอก “ความขยันถือเป็นหลักสำคัญ” ความขยันของเขาหมายถึงการไม่ยอมแพ้ การสู้ไม่ถอย การหนักเอาเบาสู้ การทำอย่างไม่ยอมหยุดหย่อน ทุกอย่างนั้นหลอมให้เขาเป็นเขาในวันนี้ ที่สำคัญอีกอย่างเขาเป็นคนกตัญญู ช่วงเวลาที่ครอบครัวลำบาก คุณเอกทำงานอย่างไม่รู้จักเหน็ดเหนื่อยเพื่อช่วยพยุงครอบครัวไปกับคุณพ่อและคุณแม่ของเขา และทุกอย่างนั้นเอง ผลักดันให้เขาขยัน และประสบความสำเร็จในที่สุด

กว่าจะมีชีวิตที่สุขสบาย ผู้ชายคนนี้ผ่านมรสุมมาลูกแล้วลูกเล่า แต่เขาก็ยังยืนหยัดที่จะทำงานเพื่อครอบครัว และเพราะคำว่าเพื่อครอบครัว ทำให้เขามีพลังทำงานจนมีความสุขแบบที่เขาต้องการในวันนี้

คุณเอก - อภิชาต อภิเดชวาณิชกุล เกษตรกร ที่ทำการเกษตรแบบผสมผสานตาม แนวเกษตรทฤษฎีใหม่ของ ในหลวง ร. ๙ บนพื้นที่ของเขา มีทั้งปลูกผัก เลี้ยงปลา เลี้ยงไก่ไข่ แล้วก็ทำนาข้าวอินทรีย์

คุณเอกไม่ได้มาจากครอบครัวเกษตรกร ไม่มีพื้นฐานทางการเกษตรมาก่อน เพราะครอบครัวทำงานรับเหมาก่อสร้าง เป็นธุรกิจใหญ่ มาแย่ช่วงฟองสบู่แตก เลยมองเห็นว่าการทำการเกษตรมันช่วยประทังชีวิต มันสามารถทำให้อยู่ได้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ทำให้มองเห็นคุณค่าของการเกษตร เขาเริ่มทำงานด้านการเกษตรตั้งแต่ตอนนั้น เก็บผักกำละ 50 สตางค์ขาย วันหนึ่งได้ 200 - 300บาท ช่วงนั้นเขาอายุประมาณ 13-14 ปี เรียนไปด้วย ช่วยแม่เก็บผักขายด้วย แต่มันก็ไม่พอใช้เพราะเป็นหนี้จากธุรกิจก่อสร้างของครอบครัวเยอะ ก็เลยทำเกษตรเพื่อให้มีกิน ทำอะไรก็ได้ที่ไม่ต้องซื้อเขากิน สองปีผ่านไปก็เริ่มดีขึ้น จากปลูกผักอย่างเดียวก็เริ่มมาทำนา ทำให้มีข้าวกิน หลังจากนั้นก็ไปซื้อไก่ไข่มาเลี้ยง ครั้งแรก 10 ตัว ก็เริ่มมีไข่ขาย แล้วก็เหลือไว้กิน มีพี่น้องสี่คน ก็กินไข่มันทุกวัน เหลือก็เอาไปขายให้ข้างบ้าน หลัง ๆก็เริ่มรู้สึกว่าเลี้ยงไก่มันก็มีรายได้เหมือนกัน ก็เลยมาเลี้ยง 50 ตัว แล้วเพิ่มเป็น 100 เป็น 1,000 และเป็น 10,000 ตัว เริ่มเลี้ยงเป็นฟาร์มใหญ่ พอเลี้ยงเป็น 10,000 ตัว ก็ต้องไปหาทุน ก็ไปกู้ ธกส. มาทำโรงเลี้ยง ช่วงนั้นไข้หวัดนกมา ไข้หวัดนกระบาดทั่วประเทศ ไก่ตายทั้งเล้าทั้งลูกเเจี๊ยบ ไก่ใหญ่ ตายทั้งหมด ก็กลับมาเป็นหนี้เหมือนเดิมอีก ก็กลับมาปลูกผักกินและขาย ได้วันละ200 - 300 บาท เหมือนเดิม จังหวะนั้นเพื่อนพ่อมาชวนพ่อกลับไปทำรับเหมาก่อสร้างเหมือนเดิม ส่วนเขาจบ ม.6 พอดี ก็ไปทำงานโรงงาน และลงเรียน มสธ. คณะนิติศาสตร์วันเสาร์อาทิตย์ไว้ด้วย แต่ระหว่างนั้นเขาก็ยังตื่นเช้าตี 5 มาเก็บผักขายเหมือนเดิม เย็นก็กลับมา 2 ทุ่มลงแปลงผัก ได้เงินวันละ 200 บาท ไว้เป็นค่าข้าว ค่ารถ ส่วนเงินที่ได้จากโรงงานก็ให้พ่อแม่หมด ทำงานโรงงานอยู่ 10 ปี เป็นหนี้บัตรเครดิต 800,000 บาท ใช้กัน 2 คน เขากับแฟน จึงมาตั้งสติว่าทำอย่างไรถึงจะปลดหนี้ได้ ก็เริ่มลดค่าใช้จ่ายเป็นอันดับแรก อ่านหนังสือเจอเรื่องทฤษฎีใหม่ ก็เลยคิดว่ากลับมาทำการเกษตรดีกว่า ค่าน้ำมันไม่เสีย ค่ากินไม่ต้อง ให้แฟนย้ายจากกรุงเทพฯ กลับมาอยู่สระบุรี ส่วนตัวเขาตัดสินใจออกจากงาน ซึ่งที่บ้านคัดค้านหมด เพราะตอนนั้นเงินเดือนก็ 50,000 แล้ว จะออกจากงานมาทำไม แต่เขาก็ยังยืนหยัดเจตนารมณ์เดิม

มื่อแรกออกจากงาน พ่อให้ไปช่วยคุมงานก่อสร้าง ทำให้ไม่มีเวลาดูแลพื้นที่การเกษตรของตัวเอง ก็เลยขอพ่อว่าไม่ไหว ขอกลับไปทำการเกษตรอย่างเดียว เพราะพืชผักต้องการการดูแล และเขาไม่ได้จ้างใคร ทำคนเดียว เมื่อมาช่วยพ่อ ก็ไม่มีใครดูแลพืชผัก พ่อก็เลยยอมให้ไป แต่ให้ไปมือเปล่า ไม่ให้เอาอะไรไปด้วยเลย ตอนนั้นเขาเองก็ไม่มีเงิน เพราะไปปลูกพืชเชิงเดี่ยวจนเงินหมด แต่ก็ต้องทำให้ได้ เขาเชื่อในโครงการทฤษฎีใหม่ว่าถ้าเราทำหลายๆ อย่างและมีอาหารกินแล้วเรื่องเงินจะตามมา ตอนนั้นเจ้าหนี้ก็เยอะ แต่พอทำได้ครึ่งปีทุกอย่างก็ดีขึ้น เพราะตัวเขาทำงานทั้งวันทั้งคืน ง่วงก็นอน รู้สึกตัวตื่นก็ทำ เช้าขายผัก เย็นขายผัก เรียกว่าทำงานแทบตลอดเวลา แต่ทุกอย่างก็ดีขึ้นภายในครึ่งปี

เมื่อออกจากงานมาทำเอง คุณเอกเลือกทำเกษตรทฤษฎีใหม่ ตามรอยในหลวง ร. 9 ตอนเริ่มต้นคุณเอกเริ่มปลูกทุกอย่าง เริ่มต้นจาก 500 บาท ขอยืมน้ามา 1500 บาทใช้ 500 บาทมาซื้อเมล็ดพันธ์ต่าง ๆ ซื้อปุ๋ย แล้วมาขุดขี้วัวในคอกนาไปใส่บ้าง เอาขี้ไก่ที่เลี้ยงมาใส่แปลงบ้าง search อินเตอร์เน็ตหาว่าอะไรที่มันบำรุงต้นไม้ ไล่แมลงได้บ้าง ศึกษาจนรู้วงจรชีวิตของผักหมด เช้าไปขายผัก เที่ยงหรือเย็นกลับมา ก็ต้องเตรียมทำผัก เก็บผักเลย กลางคืนก็ทำจนเขาว่าบ้า อยู่อย่างนี้ประมาณครึ่งปีก็เริ่มมีเงินมา เพราะว่าผักคนกินทุกวัน พอมีเงินเก็บ ก็ค่อย ๆ ทยอยใช้หนี้ แต่การขายทุกวันแบบนี้ ทำให้เขาเหนื่อย เขาจึงคิดหาทางที่จะให้ตัวเองสบาย ก็เลยหาตลาดส่ง อาจจะได้ถูกกว่าเขาหน่อย แต่ไม่ต้องไปไหนและไม่มีค่าใช้จ่าย ก็เลยไปวิ่งหาตลาด ไปตลาดไท ไปทุกที่ ก็เลยมองไปที่ตลาดล้งสระบุรี เพราะมันใกล้ ก็ไปนั่งขายที่ตลาดล้งแบบขายส่ง ก็เริ่มทำแปลงใหญ่ขึ้น เริ่มจ้างแรงงาน จ้างชาวบ้านรายวัน ก็เริ่มมาอยู่แบบครอบครัว คุณเอกบอกให้เขาทำตามที่คุณเอกวางแผน ส่วนคุณเอกมีหน้าที่ไปหาตลาด จนวันหนึ่งไปเจอพี่สมเกียรติผักอร่อยที่แกอยู่ อ.นางรอง จ.บุรีรัมย์ เขาก็ให้ออเดอร์มาหลายตัว ทำตัวไหนได้เราก็เริ่มจากตรงนั้น จากตอนแรกที่มีออเดอร์ 30 กิโลกรัม เพิ่มเป็น 40 50 จนเป็นวันละ 200 - 300 กว่ากิโลกรัม แล้วราคาเขาจะเป็นราคาประกัน เราส่งให้กับทางพี่สมเกียรติแล้วเขาก็ส่งให้แม็คโครอีกทีหนึ่ง

ช่วงนั้นทำประมาณหนึ่งไร่กว่าถึงสองไร่ เน้นปลูกผักบุ้งจีน ซึ่งเป็นพืชที่โตไว 18 วันนี้เก็บได้แล้ว นอกจากนั้นมี คะน้า กวางตุ้ง กวางตุ้งฮ่องเต้ แตง มะเขือ ถั่วฝักยาว ผักชี ผักสลัด กระเพรา โหระพา แมงลัก ซึ่งเป็นผักอายุสั้นทั้งสิ้น สำหรับรายได้ แค่ผักบุ้งอย่างเดียวเดือนหนึ่งก็เกือบ 100,000 บาทแล้ว หลังจากหักค่าแรงก็เหลือหลายหมื่น มีค่าใช้จ่ายมีแค่ค่าคนงาน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าปุ๋ยบ้าง จากนั้นก็ใช้หนี้จนเกือบหมดแล้ว ตอนนี้เหลืออยู่ประมาณสักแสนกว่าบาทจาก 800,000 บาท

หลังจากนั้นเขาก็มาขุดสระ เพราะว่าบ้านเขาไกลแหล่งน้ำ เขาจึงมาคิดว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 ท่านเน้นเรื่องน้ำ น้ำคือชีวิต เขาเลยขุดสระ 3 บ่อ เพื่อไว้ใช้ทำการเกษตร ตอนนั้นไม่มีเงินก็ติดหนี้เขาค่าแม็คโคร แล้วทยอยจ่ายคืน

การหาตลาดนั้น วิธีการของคุณเอกคือ ต้องมองให้กว้าง ตลาดจะมีอยู่ 3 ตลาด ตลาดบน ตลาดกลาง ตลาดล่าง ตลาดล่างคือตลาดส่งทั่วไป ตลาดกลางคือเราขายตามท้องตลาด ตลาดนัด ตลาดทั่วไป ตลาดบนก็คือเข้าห้าง ส่วนมากจะรับประมาณ 10% เข้าห้าง ตลาดกลางก็จะประมาณ 20% ตลาดส่งประมาณ 70% ตอนนี้รายได้ของเขาอยู่ที่วันละ 3,000 – 4,000 บาท ได้ค่ารถ ค่าผัก ค่าขนมลูก แล้วตอนนี้ภรรยาก็ลาออกจากงาน มาคอยรับออเดอร์แทนเขา ทำให้ครอบครัวมีเวลาอยู่ด้วยกันมากขึ้น

ส่วนแผนงานในอนาคต คุณเอกเตรียมไว้ว่า จะสร้างโรงฟักไข่เป็นของตัวเอง เพราะตอนนี้เขามีเป็ดไข่ เลี้ยงไก่บ้าน อยู่แล้ว และจะทำให้เป็นเกษตรเชิงท่องเที่ยว เพราะตรงบริเวณพื้นที่ของเขาใกล้กับมูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ ของอาจารย์ยักษ์ - วิวัฒน์ ศัลย์กำธร ตรงนี้เป็นทางผ่านไปมูลนิธิ ก็เลยจะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร และจะมีร้านขายผักในนี้

นอกจากนั้น เขาจะทำโรงงานแพ็คกิ้งให้ได้ ต้องมีโรงงานทำตรงนี้ คือผลิตตรงนี้ แปรรูปตรงนี้ เป็นส่วนรับสินค้ากระจายสินค้า เขาเรียกว่าเป็นศูนย์ผู้รวบรวมสินค้า ผู้รวบรวมผักชาวบ้าน

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

คุณอภิชาต อภิเดชวาณิชกุล
เลขที่ 1 ม.1 ต.หนองหัวโพ
อ.หนองแซง จ.สระบุรี

อภิชาติ อภิเดชวาณิชกุล หันหลังให้โรงงาน มุ่งมั่น ปั้นความสุขด้วยเกษตร



เทคนิคห่มดินเพิ่มธาตุอาหารพืช

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด