

"สุภานัน คำโม : ทำตามฝันที่ตั้งใจ ฉันจะทำเกษตรอินทรีย์"

แล้ววันนั้นจะอยู่ได้อย่างแข็งแรง

จากเริ่มต้นที่ล้มเหลวไปกับน้ำท่วม ในตอนนี้สวนเกษตรของคุณสุมานันเริ่มเข้าที่เข้าทาง มีรายได้เดือนละ 30,000 - 40,000 บาท แต่ว่ารายจ่ายแทบไม่มี จึงอยู่ได้อย่างมีความสุข สุขที่ได้อยู่ท่ามกลางต้นไม้ใบหญ้าอย่างตั้งใจ สุขที่ได้ทำให้ความฝันของตนเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา และสุขที่ได้ทำให้คุณพ่อคุณแม่มั่นใจในอาชีพของตนในระดับหนึ่ง ... และเชื่อว่ามันจะแข็งแรงยิ่ง ๆ ขึ้นไป
"อดทน" อดทนรอคอยกว่าทุกอย่างจะก่อร่างสร้างตัว
ในช่วงแรกเธอต้องสอนพิเศษไปด้วย เพื่อนำเงินมาทำสวนเกษตร
เมื่อมันค่อยๆ เข้าที่เข้าทาง จึงหันมาทำเต็มตัว
ต้องเรียนรู้เรื่องเวลาของแต่ละผลผลิต ต้องรู้จักรอคอยเวลาที่มันให้ผล
... การอดทนจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับคุณสุมานัน ก่อนจะมาถึงวันที่แข็งแรงได้ในวันนี้
คุณสุมานันเริ่มทำการเกษตรบนความไม่เห็นด้วยของพ่อกับแม่ เธอจึงต้องยึดอาชีพครูสอนพิเศษไว้ก่อน เพื่อทำควบคู่กันไป จนกว่าสวนเกษตรของเธอจะไปได้ เมื่อพ่อกับแม่เห็นด้วยแล้ว จึงออกมาทำเต็มตัว สิ่งที่เธอเรียนรู้คือ การทำการเกษตรต้องอดทน เพราะการปลูกพืชกว่าจะให้ผลต้องใช้เวลา และต้องมีการวางแผนในการเก็บเกี่ยว เพื่อที่จะมีรายได้ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะการทำเกษตรอินทรีย์ต้องอดทนประมาณ 3 ปี หลังจากนั้นระบบมันจะเซตตัวเอง แทบไม่ต้องทำอะไรเลย พอถึงเวลามันก็จะออกลูกเอง โตเอง ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้น ทุกอย่างก็จะลงตัว เพียงแต่กว่าจะถึงเวลานั้น ความอดทน และรู้จักรอคอยเป็นสิ่งสำคัญ
ในการทำงาน ต้องมีอุปสรรคปัญหาเป็นเรื่องธรรมดา ปัญหาหนักที่คุณสุมานันเจอ คือ ช่วงเริ่มต้นที่มีวิกฤติการณ์น้ำท่วม ตอนนั้นเงินลงทุนที่ทำไป หายไปกับน้ำ เธอต้องเริ่มต้นใหม่ แสดงอาการท้อให้พ่อแม่เห็นไม่ได้ ต้องอดทนทำไป แต่หลังจากนั้นก็ไม่เจอปัญหาหนักอะไรอีก สิ่งที่สำคัญคือการจัดการด้านเวลา เพราะต้องดูเวลาในการให้ผลผลิตของพืชพรรณด้วยเป็นสำคัญ นอกจากนั้นก็มีสภาพแวดล้อมอากาศบ้าง โรคพืชบ้าง แต่ไม่หนักหนาอะไร สามารถจัดการได้
จากนี้ สิ่งที่คุณสุมานันคิดที่จะทำอีกคือ การเปิดให้คณะครูอาจารย์ มหาวิทยาลัยต่าง ๆ มาศึกษาดูงาน แต่คงเลือกให้เข้ามาวันเสาร์ อาทิตย์ที่เธออยู่เท่านั้น เพื่อจะได้จัดการดูแลได้สะดวก
และสำหรับคนรุ่นใหม่ที่จะมาทำการเกษตร สิ่งสำคัญคือการหาข้อมูลให้ดีก่อนลงมือทำ การตกลงทำความเข้าใจกับครอบครัว ตรงนี้สำหรับคุณสุมานันเป็นเรื่องสำคัญ เธอยอมทำในสิ่งที่คุณพ่อคุณแม่สบายใจ นั่นคือยังสอนพิเศษอยู่ เป็นอาจารย์จ้างพิเศษให้วิทยาลัยเทคนิคอยู่ เพื่อให้พ่อแม่สบายใจ และเธอเองก็มีรายได้ ในขณะเดียวกันก็แบ่งเวลามาทำสวนเกษตรของเธอด้วย รอจนกว่าทุกอย่างเข้ารูปเข้ารอย คุณพ่อคุณแม่เห็นด้วย เธอจึงลาออกมาทำเต็มตัว ... เพราะชีวิตไม่ใช่ของเธอคนเดียว การจัดให้ทุกอย่างสมดุลระหว่างคนในครอบครัวจึงเป็นสิ่งสำคัญด้วยเช่นกัน
ด้วยความที่เห็นปู่และย่าทำสวนผักมาตั้งแต่เด็ก จึงคิดว่าการทำการเกษตรเป็นเรื่องเหนื่อย เรื่องลำบาก จึงไม่คิดแม้แต่จะเรียนด้านนี้เลยด้วยซ้ำ
คุณสุมานัน คำโม จบการศึกษาจากคณะศึกษาศาสตร์ เอกภาษาอังกฤษ มหาวิทยาลัยศิลปากร เรียนจบมาก็เป็นพนักงานธนาคารอยู่ที่หนองโพ ไม่ไกลจากบ้านมากนัก แต่ทำได้เพียงปีเดียวก็เบื่อแล้ว ถึงแม้ช่วงเวลานั้นจะได้ความคิดดี ๆ มากมาย เพราะได้เจอเกษตรกรทำฟาร์มวัวนมเยอะ ได้พูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดกัน แต่ก็ลาออกมาทำงานอิสระ มาสอนพิเศษภาษาอังกฤษ เป็นติวเตอร์ และมาเป็นครูจ้างสอนที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรี
อันที่จริง ตอนที่เธอลาออกจากธนาคาร เธออยากมาทำสวนทำไร่ เพราะตั้งแต่ปู่ย่าเสียชีวิต จากที่เคยมีผลไม้ทานเองอยู่หลังบ้าน ไม่ว่าจะเป็น น้อยหน่า ลำไย กระท้อน มะม่วง แต่พอปูย่าไม่อยู่แล้วพ่อไม่รู้จะทำอย่างไรดี ก็ตัดทิ้งทั้งหมด แล้วปลูกต้นกฤษณาแทน ปลูกได้ปีหนึ่ง คุณสุมานันก็บ่นไม่มีของกิน พ่อก็เลยเลิกปลูกต้นกฤษณา กลับมาปลูกต้นไม้ที่กินได้เหมือนตอนที่ปู่และย่าปลูก สุดท้ายเธอก็คิดเองในใจว่า กลับมาอยู่บ้านดีกว่า อยากอยู่บ้านที่มีสวนเหมือนเดิมแบบที่เคยอยู่ตอนเด็ก ๆ แต่ตอนที่ลาออกจากงานมา พ่อกับแม่ไม่เห็นด้วย เธอบอกพ่อแม่ไปว่าอยากทำไร่ และพ่อมีที่ให้เขาเช่าทำนาอยู่ 9 ไร่ ไร่ละ 500 บาทต่อปี ตกปีละ 4,500 บาท คุณสุมานันจึงขอเช่าต่อ ระหว่างนั้นเธอก็อ่านหนังสือการเกษตรเยอะ และเป็นครูจ้างสอนภาษาอังกฤษที่วิทยาลัยเทคนิคราชบุรีไปด้วย พ่อแม่ก็เลยยอม เพราะใช้ทุนตัวเอง และเธอยังมีอาชีพอยู่ ก็ได้ลงมือทำสลับกับการสอนที่วิทยาลัยเทคนิค สอนพิเศษเฉพาะเสาร์อาทิตย์ แล้วก็ไปเรียนต่อปริญญาโทช่วงเสาร์อาทิตย์เพิ่มอีก
ปีแรกที่ทำการเกษตร ขุดร่องทำสวน ทำบ่อน้ำ ปีนั้นน้ำท่วมใหญ่ช่วงปี พ.ศ. 2554 เงินที่ลงไปเป็นแสนหายไปกับน้ำทั้งหมด ก็ตั้งใจทำใหม่ ไม่แสดงอาการท้อให้พ่อแม่เห็น และปี 2555 ก็ลาออกจากงานครูมาเริ่มต้นทำใหม่ แต่ยังสอนภาษาอังกฤษที่บ้านอยู่เพื่อให้ยังพอมีรายได้
เมื่อเริ่มต้นทำสวนผักอีกครั้ง คราวนี้เงินทองเริ่มเหลือน้อย เพราะที่เคยลงทุนไปสูญหายไปกับน้ำท่วมหมด ก็เริ่มจากซื้อมะละกอมาเพาะต้นพันธุ์ขาย ปลูกผักสลัดขาย และยังสอนภาษาอังกฤษอยู่เพื่อเอาเงินมาลงที่ไร่ต่อ แต่ก็มีลูกค้าจากวิทยาลัยเทคนิคมาซื้อผักสลัด ทั้งครูและผู้ปกครอง ที่เลือกปลูกผักสลัดเพราะตอนนั้นไม่มีเงินทุน ต้องคิดว่าอะไรลงทุนน้อยที่สุด แต่ได้เงินเยอะที่สุด ตอนนั้นยังไม่มีใครปลูกผักสลัดที่เป็นไฮโดรโปนิกส์ ก็เลยปลูกผักสลัดลงกระถาง ขายได้กิโลกรัมละ 150 บาท วันละอย่างน้อย 10 กิโลกรัม เมื่อก่อนเป็นท่าทรายก็เอาอิฐบล็อกมาวางเรียงสี่ด้าน ผสมดินใส่แล้วก็เอาต้นผักสลัดใส่ เพราะคิดว่าผักสลัดยังอยู่ในน้ำได้ ก็ลองทำแบบนี้ดู ก็ใช้ได้ เพราะมีคนเห็นว่าถ่ายรูปสวย ก็มีคนเข้ามาถ่ายรูป แล้วก็ซื้อผักกลับ ก็เลยขายได้วันละ 10 กิโลกรัม อาทิตย์หนึ่งได้ประมาณ 50 - 60 กิโลกรัม หลังจากนั้นก็ไปขยายต่อในไร่ เพราะพวกมะละกอมันให้ผลนาน ผัก 45 วันก็เก็บขายได้ มะละกอใช้เวลา 8 เดือน ช่วงระหว่างนั้นเธอก็ขายผักสลัดไป
เมื่อทำได้ผลดี คุณสุมานันก็เริ่มน้อมนำแนวคิดเกษตรทฤษฎีใหม่ของในหลวง ร.9 มาปรับใช้ในชีวิต ทำการเกษตรอย่างมีระบบ โดยเธอเริ่มจากการปลูกพืชทำแนวกันไฟ อาทิ กล้วย มะละกอ ซึ่งพืชทั้ง 2 ชนิดนี้จะได้ประโยชน์เป็นทั้งแนวป้องกันไฟป่า และปลูกผลไม้ไว้รับประทานด้วย หลังจากนั้นเธอได้ทำวิธีการเลี้ยงดิน ให้ดินเลี้ยงพืช คือ การปรุงดิน ให้ดินนั้นมีธาตุอาหารสูง และเธอได้ปลูกไม้ผลต่างๆอีกมากมาย ทั้งมะละกอ ฝรั่ง มะม่วง จนพ่อเห็นว่าไปได้แล้ว จึงช่วยซื้อที่ดินเพิ่มให้ คุณสุมานั้นก็ซื้อเองบ้าง จนที่ดิมเพิ่มมาติดหลังบ้าน จากเดิมที่มี 9 ไร่กลายเป็น 25 ไร่ แต่ก็ยังทำคนเดียวเป็นหลักอยู่ อาจจะจ้างคนมาช่วยตัดหญ้า หรือทำด้านอื่น ๆ ในรูปแบบรายวันบ้าง และเพราะทำคนเดียว จึงต้องปรับวิธีการให้มันง่าย เช่น ใส่ปุ๋ยแบบไม่ต้องเดินใส่ได้ไหมจะทำอย่างไร ก็เลยใช้ระบบใส่ไปกับน้ำ โดยพี่ที่มาช่วยตัดหญ้าเป็นคนแนะนำให้ทำแบบเรือรดน้ำ เวลารดน้ำเอาปุ๋ยใส่ลงไปในเรือ เวลาเขาสูบน้ำทีจะรดก็ดูดปุ๋ยไปด้วย เป็นต้น
จากเริ่มต้นที่ทำมา ตอนนี้รายได้ของคุณสุมานันอยู่ที่ 30,000-40,000 บาท แต่แทบไม่ได้ใช้เงินซื้ออะไร เพราะมีเองทั้งผัก ทั้งผลไม้ มีชมพู่น้ำดอกไม้ หม่อน ฝรั่ง มะละกอ แตงโม ผักสลัด สับปะรด มะยงชิด แล้วก็แปรรูปน้ำผลไม้ น้ำฝรั่ง คือแทบไม่ต้องไปซื้อข้างนอกเลย ขาดแต่เรื่องของเนื้อสัตว์ หมู ไข่ ตอนนี้มีเพื่อนทำไข่ไก่อินทรีย์ หมูอินทรีย์ ซึ่งในภายภาคหน้าอาจจะทำงานร่วมกัน อาจจะเอาเข้ามาขายที่ไร่ หรือทำร้านอาหารเอง ซึ่งอาจจะเป็นเมนูอินทรีย์ทั้งหมด
ด้านการตลาด ใช้ Facebook เป็นตัวหลัก เป็นตัวนำเสนอว่าคิดอะไร ทำอย่างไร เพราะว่าเกษตรกรนั้นมีทั่วประเทศ ทำอย่างไรให้ไม่เหมือนคนอื่น ก็เล่าเรื่องราวต่างๆ ที่เฟสบุ๊ค ส่วนตัว แต่ยังมี Page ไร่ทานตะวันต่างหาก ซึ่งนาน ๆ จะเข้าไปโพสต์
" ในปัจจุบันไร่ธารตะวันของคุณสุมานัน เป็นไร่ผสมผสานที่มีทั้งพืชผัก ผลไม้นานาชนิด อีกทั้งยังเป็นการปลูกแบบอินทรีย์ 100% จึงทำให้ผู้บริโภคปลอดภัยจากสารเคมีแน่นอน "
น.ส.สุมานัน คำโม ที่อยู่
ศูนย์การเรียนรู้เกษตรอินทรีย์
อ.โพธาราม จ.ราชบุรี


