เกษตรกรต้นแบบ

"ประมวล ธาตุทอง : สืบทอดอาชีพปลูกชมพู่เพชรสายรุ้ง"

 21 สิงหาคม 2562 3,605
จ.เพชรบุรี
อดทน ขยัน มุ่งมั่น
มีใจรัก รู้จักพอ และพอเพียง

คุณประมวล ธาตุทอง เกษตรกรรุ่นใหม่ที่นำความรู้มาต่อยอดสวนชมพู่ของพ่อ

จากชีวิตที่เห็นต้นแบบจากพ่อ ที่ทำสวนชมพู่จนสามารถเลี้ยงชีพได้อย่างมั่นคง และส่งเขาเรียนจนจบปริญญาตรี ทำให้คุณประมวล ธาตุทองไม่คิดจะไปทำงานที่ไหน นอกจากนำความรู้ที่เรียนมามาช่วยสานงานที่บ้านต่อเท่านั้น สิ่งที่เขาทำคือ การนำภูมิปัญญาชาวบ้านผสมผสานกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์ที่เขามีมาพัฒนาสวนชมพู่ของพ่อ ให้เข้มแข็งยิ่งๆ ขึ้นไป จนวันนี้ ครอบครัวเขามีรายได้ต่อปีขั้นต่ำอยู่ราว ๆ 900,000 บาท ซึ่งก็พอเพียงสำหรับการดำรงชีวิต และทำให้ได้อยู่กับครอบครัว ไม่ต้องไปดิ้นรนที่ไหน มีความสุขสบายตามอัตภาพ

จากการตลาดของพ่อ ที่ใช้วิธีปากต่อปาก มาสู่รุ่นเขาที่ใช้เฟสบุ๊คเขาช่วย ทำให้สวนชมพู่ของเขาเป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง และวันข้างหน้า เขาจะพัฒนาต่อไปเป็นศูนย์เรียนรู้อนุรักษ์ชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้ง พันธุ์ไม้พระราชทานจากรัชกาลที่ 4 แบบครบวงจร เพื่อไม่ให้ศูนย์หายไปจากจังหวัดเพชรบุรี และให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาเรียนรู้ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ การปลูก การดูแล ตลอดจนการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ให้คงพันธุ์เดิม ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นได้เห็นความสำคัญ และให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการศึกษาและการอนุรักษ์ชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้งต่อไป

เริ่มนำความรู้ที่เรียนมา พัฒนาชมพู่เพชรสายรุ้ง...
เนื่องจากคุณประมวลโตมากับชมพู่อยู่แล้ว การเรียนรู้ที่จะปรับตัวทำความเข้าใจมันจึงไม่ยาก สิ่งที่เขาทำคือ นำภูมิปัญญาชาวบ้านที่เคยเรียนรู้มาประยุกต์ใช้กับความรู้ทางวิชาการที่เขามีให้ได้เท่านั้น อย่างเช่น ความรู้ที่บอกต่อมาจากรุ่นปู่ รุ่นพ่อ คือ ถ้ามีแมลงมาลงต้นชมพู่ ก็จะใช้น้ำพริกแกงเผ็ด หรือน้ำพริกแกงป่าผสมน้ำฉีดไล่แมลง จะได้ผลดี จะไม่ใช้สารเคมีหรือยาฆ่าแมลง แต่มีครั้งหนึ่งเขาต้องใช้ยาฆ่าแมลง เพราะในปี 2559 ปีนั้นมีหนอนมีแมลงมาเยอะมาก ใช้น้ำพริกแกงเผ็ด น้ำพริกแกงป่าฉีดสองครั้งแล้วก็ไม่อยู่ ก็เลยจำเป็นต้องฉีดยาฆ่าแมลง แต่ฉีดครั้งเดียวคลุมได้ประมาณ 5 วัน แล้วมันก็ไม่มีเข้ามากวนอีกเลย ทำครั้งสุดท้ายก็คือตอนนั้น และทำเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

นอกจากนั้นปัญหาที่เขาเจออีกคือ การหาไม้ที่จะเอามาค้ำพยุงต้น ตอนนี้ไม้เป็นของสำคัญและหายาก ต้องหาเจ้าใหม่ๆ ไว้ เผื่อว่าสมมุติว่าเจ้านี้ไม่มี หรือช่วงเวลาที่จำเป็น จะได้มีไม้มาใช้งานได้เลย ไม้ที่ใช้นี้เป็นไม้ไผ่ป่า เรียกว่าไผ่นวล ขึ้นอยู่ในป่าแถวกาญจนบุรี ราชบุรี เพชรบุรี ป่าที่มีไม้ไผ่ชนิดนี้ ถ้าเจอก็สามารถตัดมาได้ แต่ว่าปัจจุบันนี้นำออกมายาก เพราะว่ามันมีข้อกำหนดหลายๆอย่าง เขาให้เหตุผลมาว่า พอเราถางที่ ถางทาง เข้าไปปุ๊บทำให้ไม้ใหญ่โค่นล้มไปด้วย ซึ่งไม้ไผ่นี่ถ้าปลูกไปแล้วไม่ตัดมา มันก็ตายปกติ ถ้าเราเอามาใช้ให้เป็นประโยชน์ มันก็จะเป็นประโยชน์ ก็ต้องใช้ไผ่ป่าแทน ไผ่ป่านี่ข้อดีคือลำใหญ่ เนื้อหนา แต่ว่าการทำ จะทำยากเพราะว่ามันหนัก การผุไผ่ป่าจะผุก่อนไผ่นวลเพราะมันมีเนื้อเยื่อ ไผ่ป่าที่มีของเพชรบุรีนี่ก็จะเป็นพะองตาล ที่เอาไว้ขึ้นตาล แต่ว่ามันสู้ไผ่นวลไม่ได้ แต่ถ้าไม่มีไผ่ทั้งสองนี้ อาชีพเราก็ไม่สามารถดำเนินต่อไปได้ ใช้เหล็กก็ไม่ได้ เพราะว่าหนึ่งต้นทุนสูง สองเหล็กนี้มีการอมความร้อน เวลากิ่งไปพาดเหล็กจะทำให้เนื้อตรงนั้นสุกไหม้ และทำให้การส่งอาหารไม่สะดวก หรือถ้าเผลอเหยียบไปก็ร้อน เวลาฝนตกเหยียบไปก็ลื่น

อีกเรื่องที่หายากขึ้นทุกวันคือ แรงงาน แรงงานที่จะทำด้านนี้เริ่มน้อยลง เพราะว่าคนรุ่นใหม่น้อยแล้วที่จะมาทำ จะมาทำมาเก็บชมพู่ เขาไปทำอาชีพอื่นกันหมด ส่วนคนแก่ก็ไม่ไหวแล้ว แรงงานจึงหายาก เพราะว่ามันเป็นอาชีพเฉพาะ ส่วนแรงงานต่างด้าวก็ทำไม่ได้ เขาจะไม่เข้าใจ คุณประมวลชอบจ้างคนในพื้นที่ที่คลุกคลีหรือทำชมพู่อยู่แล้วมากกว่า ก็จำเป็นต้องหาวิธีทำงานที่ใช้คนให้น้อยที่สุด

อาณาจักรชมพู่เพชรสายรุ้ง

เป็นเกษตรกรเต็มตัว...
เนื่องจากเห็นจากพ่ออยู่แล้วว่า การปลูกชมพู่เป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ และส่งเสียให้เขาเรียนจนจบปริญญาตรี เขาจึงตั้งใจว่า เมื่อเรียนจบจากคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยีการเกษตร เอกเทคโนโลยีการผลิตพืช มหาวิทยาลัยศิลปากร ก็ไม่ไปทำงานที่ไหน จะมาทำงานกับพ่อเลย

คุณประมวล ธาตุทอง ตั้งใจนำความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา มาช่วยในเรื่องการเก็บเกี่ยวผลผลิตและการดูแลสวนให้ดีขึ้น เพราะมีตัวอย่างของพ่อที่ทำชมพู่มา แล้วมันสามารถเลี้ยงชีพได้ โดยที่ไม่ต้องไปเดือดร้อนหรือไปวุ่นวายกับใครเลย จึงตั้งใจมาสานต่องานพ่อ และพัฒนาให้ดียิ่งขึ้นไป คุณประมวลไม่ได้เรื่องทำให้เป็นสวนเกษตรอินทรีย์ แต่ตั้งใจเลือกสารเคมีที่นำมาใช้ ให้อยู่ในปริมาณที่เหมาะสม ที่ปลอดภัย คำว่า “สารเคมี” มันดูอันตราย แต่จริงๆ มันคือสารปกติ อย่างเช่นธาตุอาหารหลัก อาหารรอง ถ้ารู้จักนำมาใช้อย่างถูกต้องกับพืชของเรา ในปริมาณที่เหมาะสม ก็ทำให้คนกินปลอดภัย ตัวเขาเองก่อนให้คนอื่นกิน เขากินมาก่อนเป็นร้อย ๆ ลูก ถ้าหากมันอันตราย เขาจะได้รับผลเป็นคนแรก เพราะฉะนั้น ถึงที่นี่ไม่ได้เป็นเกษตรอินทรีย์ แต่ที่สวนชมพู่ของเขาเป็นพืชปลอดภัย เขาเลือกใช้สารเคมีที่จะนำมาช่วยในเรื่องดอก เรื่องต้น เรื่องการบำรุง เรื่องของกิ่งพันธุ์ แบบนี้ช่วยให้แตกราก แตกดอก แต่ทุกสารเคมีที่นำมาใช้ต้องปลอดภัยสำหรับผู้บริโภค

ชมพู่พันธุ์ที่บ้านเขาปลูก คือ ชมพู่พันธุ์สายรุ้ง เป็นชมพู่พันธุ์พระราชทานจากรัชกาลที่ 4 ต้นแรกของเพชรบุรีปลูกอยู่ที่วัดศาลาเขื่อน โดยหลวงพ่อพ่วงเอามาปลูก ต่อมามีการขยายพันธุ์มาเรื่อย ๆ ถ้าย้อนกลับไปสมัยก่อน ชมพู่เพชรสายรุ้งจะขายเป็นลูก ลูกละ 50 สตางค์ สองลูกหกสลึง จะขายเป็นลูกแพงมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว พอต่อมามีการขยายพันธุ์เพิ่มขึ้น มันก็จะถูกลง แต่ปัจจุบันนี้ก็แพงขึ้นเพราะว่าปริมาณต้นชมพู่ลดลง คือความต้องการเท่าเดิมและเพิ่มขึ้น แต่ต้นชมพู่ลดลงทำให้ชมพู่ในปัจจุบันนี้มีราคาที่สูงขึ้น

จุดเริ่มต้นของคุณประมวล คือ เป็นการทำการเกษตรที่ทำต่อมาจากรุ่นพ่อ โดยมีพื้นที่เป็นของตัวเอง ใช้ต้นพันธุ์เดิม ในพื้นที่ส่วนใหญ่จะเป็นต้นชมพู่ รองลงมาก็จะเป็นแปลงเพาะชำกิ่งพันธุ์ ต้นกล้วยที่ใช้ใบ ส่วนใหญ่เป็นกล้วยตานี และที่อยู่อาศัย การผลิตจะเป็นการผลิตตามฤดูกาลคือตั้งแต่ มกราคม - กรกฎาคม หลังจากนี้จะเข้าฤดูฝนก็จะหมดฤดูกาลของผลชมพู่ จะเข้าสู่การผลิตกิ่งพันธุ์โดยใช้วิธีการตอน

ชมพู่พันธุ์ดี ที่ผลิตจากรุ่นสู่รุ่น

การปลูกและดูแลชมพู่เพชรสายรุ้ง...
การเก็บชมพู่ของเขานั้น ก่อนเก็บต้องงดน้ำ 7 ถึง 10 วัน แล้วต้องเก็บชมพู่ที่แก่ รสชาติก็จะหวาน ถ้าทำแบบนี้ทุกเจ้า ผลผลิตก็จะมีราคาที่สูงได้ อย่าไปห่วงเรื่องน้ำหนักหรือปริมาณ ต้องห่วงเรื่องคุณภาพ คนซื้อจะถูกอกถูกใจหรือติดใจก็เพราะคุณภาพ ชมพู่จะเริ่มมีผลผลิตสามารถเก็บกินได้ตั้งแต่ปลายธันวาคม อันนี้ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศในแต่ละปีด้วย ถ้าปกติก็จะเป็นมกราคมช่วงปีใหม่ก็จะได้กินชมพู่กัน ชมพู่จะออกเดือนมกราคม กุมภาพันธุ์ มีนาคม เมษายน พฤษภาคม มิถุนายน นี้เป็นบางปี ถ้ามีก็จะมีต้นเดือน อย่างสามปีก่อนมีถึงกรกฎาคมแต่ช่วงต้นเดือน อีกอันก็ขึ้นอยู่กับความสมบูรณ์ของต้น สภาพอากาศในปีนั้น ๆ แต่โดยเฉลี่ยแล้วประมาณห้าถึงหกเดือนแล้วก็พักต้น ในระยะพักต้นจะมีการตัดแต่งกิ่ง บำรุงต้น เป็นช่วงเข้าฤดูฝนพอดี ฤดูฝนถ้ามีชมพู่จะจืด ไม่ได้คุณภาพ เราก็จะตัดกิ่ง ตัดแต่งใบ พอตัดแต่งใบแล้ว ตั้งแต่เดือนมิถุนายน กรกฎาคม สิงหาคม กันยายน ช่วงนี้จะเป็นช่วงพักต้น บำรุงต้น มีการซ่อมไม้ก็อยู่ในช่วงเดือนเหล่านี้ แต่ในช่วงเดือนพวกนี้จะไม่มีการออกดอกออกลูก จะไปออกลูกเดือนตุลาคม เดือนตุลาคมเริ่มออกดอกให้เห็น ใช้เวลาประมาณ 90- 95 วัน ก็เก็บกินได้ ดอกตูมจนบานใช้เวลาหนึ่งเดือน บานจนห่อได้อีกหนึ่งเดือน ห่อจนถึงเก็บได้อีกหนึ่งเดือน แต่ก็ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ ถ้าอากาศร้อน จะไวจะไม่ถึงสามเดือน จะประมาณ 80 - 85 วัน ถ้าอากาศเย็นจะครบสามเดือน

การปลูกชมพู่ จะเว้นระยะห่างกันตั้ง แต่ 6 เมตร 8 เมตร หรือถึง 10 เมตรจะยิ่งดี เพราะว่าอากาศ แสงแดดจะส่องได้รอบ ส่วนความสูงของต้น ควรสูงจากพื้น 2 เมตร 3 เมตรขึ้นไป จะให้ผลผลิตได้ดี จะออกผลได้ทั่วต้น ตามกิ่งเล็กกิ่งน้อยด้วย เพราะว่าช่วงระยะแบบนี้ เป็นช่วงที่พืชดูดน้ำได้ไว แต่คายน้ำได้ช้า ถ้าแดดส่องถึงโอกาสที่จะมีความหวานและลูกใหญ่ก็จะมากขึ้น โดยมีการดูแลดังนี้

1. มีการใช้สปิงเกอร์ ในการให้น้ำ ช่วยคายความร้อนของชั้นเรือนยอดและช่วยล้าง เกสรดอกชมพู่ในช่วงก่อนการห่อ ผลชมพู่
2. มีการใช้รีโมท ช่วยควบคุมการเปิด ปิด ของปั้มฉีดพ่น เมื่อเวลาให้อาหารต้นชมพู่ ช่วยให้ทำงานได้สะดวก รวดเร็ว และยังสามารถทำงานคนเดียวได้ ประหยัดเวลาและต้นทุน

ชมพู่ตั้งแต่ปลูก ถึงวันเก็บผลกินได้ ใช้เวลา 1 ปี สมมุติปลูกวันนี้ ปีหน้าก็จะได้กิน ปีหน้าได้กินเพราะชมพูนี่ยังไงก็ต้องออกดอก ไม่ว่าจะต้นเล็กหรือต้นใหญ่ยังไงก็ต้องออก มีกรณีเดียวที่ไม่ออกคือคนดูแลดีมากเกินไป ให้ปุ๋ยทุกเดือน มันดีไป เพราะว่าชมพู่ก็เหมือนข้าว ถ้าให้อาหาร ให้ปุ๋ยมากไป มันก็เป็นใบ ไม่เป็นรวง การดูแลก็ไม่ยากมากจนเราไม่สามารถเข้าใจมันได้ มันดูแลเหมือนพันธุ์ไม้ทั่วไป เดี๋ยวนี้ผลไม้ทุกชนิดต้องห่อ ชมพู่ก็ต้องห่อ
ด้านคุณภาพและมาตรฐานนั้น เรามีมาตรฐานของสวนเราอยู่แล้ว หน่วยงานราชการกำหนดไว้ว่าเกษตรกรที่จำหน่ายผลชมพู่เพชรสายรุ้งจะต้องขาย ให้มีความหวานมากกว่า 11 บริทซ์ แต่ถ้าจะออกจากสวนของคุณประมวลจะไม่ต่ำกว่า 13 บริทซ์ โดยคุณประมวลมีเทคนิคพิเศษ คือ การฉีดน้ำตาล หว่านเกลือ และการเปลี่ยนถุง จากถุงมืด มาเป็นถุงใส และด้วยความเป็นมาตรฐานของเขา เขาสามารถกำหนดและตั้งราคาเองได้ โดยเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภค โดยดูจากความต้องการที่เพิ่มขึ้นทุกปี

การออกแบบ การจัดทำบรรจุภัณฑ์ และการสร้างคุณค่าของตราสินค้า (แบรนด์) ของคุณประมวลนั้น ปัจจุบันเขาใส่ถุงห่อใบตอง แต่ในอนาคตที่คิดไว้ จะมีการจัดกระเช้า โดยใช้เครื่องจักสานจากใบตาล ซึ่งมีอยู่แล้วในท้องถิ่น ก็จะนำมาจัดในช่วงเทศกาลต่าง ๆ หรือตามที่ลูกค้าต้องการ
การกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภค ส่วนใหญ่ลูกค้าจะมารับสินค้าด้วยตัวเอง จึงไม่มีปัญหาในเรื่องการจัดการขนส่ง แต่อนาคต คุณประมวลจะทำบรรจุภัณฑ์ เพื่อให้สะดวกต่อการขนส่งทางไปรษณีย์

ส่วนการแข่งขันทางการตลาดและคู่แข่งทางธุรกิจนั้น คุณประมวลบอกว่า ปัจจุบันด้วยความเป็นมาตรฐาน และคุณภาพของสินค้าของที่สวน ยังไม่มีใครมาทำเลียนแบบหรือเป็นคู่แข่งทางการตลาด และเขายังใช้สื่อโซเชียลมีเดีย ในการโฆษณา ให้ความรู้ บอกสาระกิจกรรมต่างๆ ที่ทำในสวน การขายสินค้า รวมถึงการหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อจะนำมาใช้ในการพัฒนากิจกรรมของสวน ลูกค้าถ้าเป็นรุ่นพ่อจะเป็นการบอกปากต่อปาก พอถึงรุ่นคุณประมวลก็มีเปิด Pageสวนชมพู่ไพฑูลย์ มี Facebook ไว้คอยกระจายข่าว และที่สำคัญจะมีพวกรายการต่างๆ มาถ่ายทำมาเป็นสื่อโฆษณาให้โดยอัตโนมัติเลย พวกเขาจะรู้จักสวนจากงานเพชรบุรีดีจังของจังหวัดเพชรบุรี มีคนในท้องถิ่น ผู้นำในท้องถิ่น คณะกรรมการในการจัดกิจกรรมเขาพาคนมาชมสวน ในตอนนั้นพาคนมาชมสวน 2 วัน ประมาณ 500 กว่าคน ก็ไม่รู้ว่ามีใครมาบ้างมีคนไทยและทั้งคนต่างชาติ มาถ่ายรูป มาคุย หลังจากนั้นไปประมาณสองเดือนกว่าๆ ก็มีคนมาที่สวน ก็เลยถามว่ามาได้อย่างไร รู้จักได้อย่างไร เขาบอกว่าดูจากอินเตอร์เน็ต เราก็ไปเปิดหาว่าใครเอาไปลง ก็เลยรู้ว่าหนังสือพิมพ์ผู้จัดการออนไลน์เขาเอาไปลง แล้วพอย้อนกลับไปก็ไปอ่านในคำพูดที่เขาเขียนก็เลยรู้ว่า เขามาสัมภาษณ์วันนั้น เป็นหนึ่งในหนึ่งคณะที่มา ทำให้คนเริ่มรู้จัก แล้วก็มีหนังสือพิมพ์คมชัดลึก รายการต่างๆ ติดต่อมา ทำให้ที่สวนและชมพู่เพชรสายรุ้งเริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น คนก็จะติดต่อมามากขึ้น ทำให้การขายไม่เป็นปัญหาเลย มีรายการที่ถือว่าได้เกียรติมากที่สุด ก็คือรายการของในหลวงมาถ่ายทำ โดยทางนักเรียนของโรงเรียนไกลกังวลมาศึกษาดูงานที่นี่ และมีมหาวิทยาลัยต่างๆ มา ก็ถือว่าที่สวนได้รับเกียรติเป็นอย่างมาก

อนาคตคุณประมวลอยากเปิดเป็นศูนย์เรียนรู้ อนุรักษ์ชมพู่พันธุ์เพชรสายรุ้ง ซึ่งเป็นพันธุ์ไม้พระราชทานจากรัชกาลที่ 4 แบบครบวงจร เพื่อไม่ให้ศูนย์หายไปจากจังหวัดเพชรบุรี ให้คนรุ่นหลังได้เข้ามาเรียนรู้ประวัติความเป็นมา ความสำคัญ การปลูก การดูแล ตลอดจนการขยายพันธุ์เพื่อการอนุรักษ์ให้คงพันธุ์เดิม ส่งเสริมให้คนในท้องถิ่นได้เห็นความสำคัญ และให้คนทั่วไปได้มีส่วนร่วมในการศึกษาและการอนุรักษ์

สำหรับรายได้ของเขา รายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่ต่ำกว่า 20,000 บาท เฉพาะจำหน่ายผลอย่างเดียว สำหรับกิ่งพันธุ์อย่างเดียว ขายได้ปีละ 700,000 – 800,000 บาท

เกียรติประวัติ:มาตรฐาน GAP พืชปลอดภัย ของกรมวิชาการเกษตร

ที่นี่จะทำแคร่ไว้สำหรับเก็บลูก ห่อลูก และดูแลรักษาชมพู่ได้อย่างทั่วถึง

แหล่งอ้างอิงข้อมูล

นายประมวล ธาตุทอง ที่อยู่ 74 ม.5
ถ.บ้านหมอชอน ต.ท่าแร้ง
อ.บ้านแหลม จ.เพชรบุรี 76110

ประมวล ธาตุทอง สืบทอดอาชีพปลูกชมพู่เพชรสายรุ้ง

เทคนิคห่อลูกชมพู่ให้ หวานฉ่ำ รสชาติดี ได้คุณภาพ

เรื่อง/ภาพโดย: ณัฏฐ์ คำวิชัย ทีมงานรักบ้านเกิด