

"นพดล สว่างญาติ : วิศวกรทำนา"

ชุมชนต้องไปด้วย ต้องไปตามฝัน
ให้หลุดพ้นความจนด้วยกัน

คุณนพดล สว่างญาติ จากวิศวกร สู่เกษตกรอย่างเต็มตัว
เมื่อครั้งที่เขาจะเปลี่ยนอาชีพจากวิศวกรมาเป็นเกษตรกร หลายคนตั้งคำถามว่าจะทำอย่างนั้นทำไม ในเมื่อเป็นวิศวกรก็ดีอยู่แล้ว แต่สำหรับเขาในตอนนั้น คำว่า “ครอบครัว” สำคัญที่สุด เขาอยากมีเวลาให้ครอบครัว มีเวลาให้ลูก ให้พ่อแม่ ให้ภรรยา และเมื่อถึงวันนี้ ถึงแม้ตัวเลขรายรับของเขาจะน้อยกว่าเดิม แต่เมื่อค่าใช้จ่ายทุกอย่างลดลง รายรับที่มีน้อยกลับพอเพียงสำหรับการดำรงชีวิตอยู่ และสิ่งที่ได้มากกว่าเดิมคือ ความสุข เวลา และครอบครัว ซึ่งสำคัญกว่าทุกสิ่งสำหรับเขา
จากเด็กผู้ชายที่ไม่ชอบคำว่าเกษตรกร เพราะสำหรับเขามันดูหนัก ดูจน แต่วันนี้เขากลับพูดและเขียนได้อย่างเต็มใจ ว่าเขาคือเกษตรกร และยิ่งไปกว่านั้นลูกของเขาเองก็เขียนอย่างภาคภูมิใจว่าพ่อเป็นเกษตรกร และในวันข้างหน้าเขาก็จะเป็นเกษตรกรเช่นเดียวกับพ่อของเขาด้วยเช่นกัน
ความตั้งใจ...
คุณนพดลไม่ได้เริ่มต้นทำนาตั้งแต่ลาออกจากงานประจำ แต่เขาเริ่มตั้งแต่ยังทำงานประจำอยู่ ก่อนที่จะลาออก เขามีแผนแล้วว่าจะทำอะไร จะไปอยู่ตรงไหน เขารู้ว่าเขาไม่ถนัดที่จะลงแรง แต่เขามีทักษะด้านการบริหารจัดการ เขารู้ว่าจะทำอย่างไรให้ได้ข้าวคุณภาพดี ขายได้ เขานำทักษะของพ่อ และวิชาการของเขามารวมกัน จึงเกิดแนวทางการพัฒนาว่าจะทำอย่างไรที่จะให้เกิดผลผลิตหรือคุณภาพที่สมบูรณ์ที่สุด และสิ่งที่ทำให้เป็นแบบนี้ได้ สำหรับเขา เพราะคำว่า “ครอบครัว” จึงช่วยกัน ดีไม่ดีอย่างไรบอกกัน ฟังกัน หากมีหลายคนหลายความคิด สุดท้ายก็มาประมวลรวมกัน มีทะเลาะกันบ้าง แต่สุดท้ายก็สรุปจบวิธีเดียวกัน ปัญหาด้านการทำงานของเขาจึงไม่มี แต่จะมีก็เกิดจากการรวมกลุ่มเกษตรกร
เมื่อเกษตรกรหลายครัวเรือนมารวมตัวกัน หลายคนยังไม่เข้าใจคำว่าสหกรณ์ บางคนเข้ามาร่วมสหกรณ์เพราะคิดว่าสหกรณ์นี้จะมีงบประมาณให้กู้ ซึ่งอันนี้ไม่ใช่ ก็ต้องค่อย ๆ อธิบาย ค่อย ๆ บอกให้ทราบว่าเราไม่สามารถอยู่คนเดียวได้แล้วเพราะจะทำให้เราไปต่อรองอะไรกับใครไม่ได้ และการรวมกลุ่มจะช่วยให้เราได้แบ่งปันกันทั้งความรู้ วิธีการ และอำนาจการต่อรองกับกลุ่มอื่นๆ หรือการเจรจากับหน่วยงานรัฐ ซึ่งตอนนี้กลุ่มที่คุณนภดลตั้งขึ้นในรูปแบบของสหกรณ์มี 80 – 100 คนแล้ว
สำหรับคนที่อยากออกมาทำการเกษตรจริงๆ คุณนพดลแนะนำว่าอย่าคิดว่าเป็นเรื่องยาก คุณไม่จำเป็นต้องไปไถนา ตากแดด คุณถนัดแบบไหน ให้ทำแบบนั้น ถ้าจบวิศวะ ก็ประยุกต์งานวิศวะเข้ามา จบการตลาด นิเทศศาสตร์ ก็ปรับความถนัดของเราให้เข้ากับงาน สิ่งที่สำคัญคือต้องมองเห็นกระบวนการงานทั้งหมด แล้วมองว่าตัวเองจะไปอยู่ตรงไหน และสิ่งสำคัญคือการเรียนรู้ ต้องหมั่นเรียนรู้ หมั่นถาม หมั่นขโมยความรู้จากผู้ที่รู้จริง คุณนพดลเองก็ขโมยความรู้จากคุณพ่อเขาเช่นกัน แล้วนำมาต่อยอดให้ได้ ถ้าไม่ถนัดภาคเกษตร มาอยู่ภาคธุรกิจการเกษตรก็ได้
และปัจจุบัน จะมีกลุ่มทายาทเกษตรกรของ ธกส. สมาร์ทฟาร์มเมอร์ของกรมส่งเสริมการเกษตร กลุ่มเหล่านี้จะเป็นกลุ่มที่มีเครือข่ายกัน ถ้าหากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มเหล่านี้ ก็จะมีเครือข่ายคอยช่วยเหลือ ให้คำแนะนำกัน ไม่ต้องไปคนเดียว เพราะฉะนั้นสิ่งที่คุณต้องรู้อย่างแรกเลยคือ คุณจะอยู่ตรงไหนของภาคเกษตร หรือ ภาคธุรกิจเกษตร
" สิ่งที่คุณนพดลตระหนักอยู่ในใจคือ เราไม่สามารถเดินไปไหนได้คนเดียว ถ้าเราไปคนเดียว เดินไปไหนคนไม่มองหน้า แต่ถ้าเราไปพร้อมกันทั้งชุมชน คนจะหันมามองเรา และความฝันของเขาคือ ที่นี่จะเป็นชุมชนต้นแบบที่จะให้เกษตรกรพ้นจากความจน นั่นคือฝันที่เขาจะทำให้เกิดขึ้นให้ได้ ถึงไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ แต่มันคือความฝันที่เขาตั้งใจเดินไปให้ถึง "
ทำนาแบบวิศวกร ต้องเรียนรู้และทดลอง
โตขึ้นเรียนสูงๆ ไปเป็นเจ้าคนนายคน...มันไม่ใช่
จากเด็กผู้ชายคนหนึ่งที่วิ่งเล่นกะโปโลอยู่ตามท้องไร่ท้องนาอยุธยา โดนฝังหัวไว้ว่า โตขึ้นให้เป็นเจ้าคนนายคน จะต้องไปเป็นวิศวกร ความคิดนี้ถูกฝังใส่หัวมาตั้งแต่เด็ก และมันทำให้เขาตั้งใจว่า ต้องไปถึงจุดนั้นให้ได้ และเขาก็ทำได้ในที่สุด
เขาจบปริญญาตรีที่คณะวิศวกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง สาขาเครื่องมือวัดและควบคุมทางอุตสาหกรรม เมื่อจบมาก็เป็นวิศวกร ทำงานที่บริษัทเอกชนอยู่ในส่วนงานของการวิจัยและพัฒนา ก็คืองานพัฒนาผลิตภัณฑ์ งานสุดท้ายก่อนที่จะลาออกมาทำนา เป็นผู้จัดการแผนกวิจัยและพัฒนา
ปัจจุบันคุณนพดล สว่างญาติ ถือว่าตัวเองเป็นเกษตรกร ทำนาข้าวเป็นหลัก และเป็นแกนสำคัญในการรวมกลุ่มเกษตรกร หาแนวทางที่จะทำให้สมาชิกในกลุ่มปรับเปลี่ยนวิธีการทำนาให้ได้ผลที่ดี คุ้มค่า และปลอดภัยต่อผู้บริโภค
สาเหตุที่คุณนพดลตัดสินใจเปลี่ยนจากวิศวกรมาทำนานั้น ไม่ใช่ไม่รักในอาชีพ จริงๆ แล้วเขาก็รักในความเป็นวิศวกรของเขา แต่ในช่วงเวลานั้น คุณนพดลมีครอบครัว มีลูก แต่ด้วยการทำงานที่ต้องทำที่กรุงเทพฯ แต่เขาพักอยู่ที่อยุธยา จึงต้องออกจากบ้านแต่เช้าเมื่อลูกยังไม่ตื่น กลับเข้ามาตอนค่ำเมื่อลูกหลับไปแล้ว เขาจึงรู้สึกว่าไม่ใช่ชีวิตที่เขาต้องการอีกแล้ว เขาอยากมีเวลากับครอบครัว กับภรรยา ลูก และพ่อแม่มากกว่านี้
เมื่อคิดได้ดังนั้น คุณนพดลจึงเริ่มทดลองจากการคิดนวัตกรรมต่างๆ ให้พ่อซึ่งเป็นชาวนาอยู่แล้วไปทำ โดยเขาเองก็ยังทำงานวิศวกรอยู่ แต่หลังจากทดลองทำไป ๒ เดือน ก็เริ่มเห็นทิศทางว่าเป็นไปได้ เขาจึงตัดสินใจลาออก โดยบอกพ่อกับแม่ไว้ก่อนล่วงหน้าถึง ๓ เดือน แต่เมื่อถึงเวลาที่เขาลาออกจากงานประจำจริงๆ คนเป็นพ่อแม่ก็อดไม่เสียใจไม่ได้ แต่ก็เคารพการตัดสินใจของลูกชาย
เมื่อแรกลาออก เขาบอกแม่ว่าลาออกแล้วขอนั่งอยู่บ้านก่อนนะซักเดือนหนึ่ง ผ่อนคลายสักนิดหนึ่ง แต่เมื่อถึงเวลานั้นจริงๆ ปรากฏว่าไม่ได้พักเลย พอลาออกเดือนแรกก็มีงานเข้ามาเต็มไปหมด กลายเป็นว่าวุ่นวายกว่าที่คิดเยอะ แต่สำหรับเขามันคือความสนุก เพราะงานใหม่ที่ทำ เขาไม่ได้ทำให้คนอื่นเลย ทั้งหมดนี้คือการทำเพื่อตัวเอง เพื่อครอบครัว และตอนนี้ก็กำลังทำเพื่อชุมชนด้วย
เมื่อคุณนพดลมีความรู้ทางด้านวิชาการแล้ว ยังขาดความรู้ทางด้านการปฏิบัติ จึงได้ออกเดินทางเพื่อเข้าอบรมยังหน่วยงานต่างๆ ที่เปิดอบรมหลักสูตรพัฒนาเกษตรกรในหลายๆที่ เพื่อเพิ่มองค์ความรู้ให้กับตัวเอง
หลังจากที่คุณนพดลได้ศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม และได้ไปเรียนรู้จากการอบรมในหน่วยงานต่างๆ คุณนพดลจึงมีความรู้และประสบการณ์ที่พร้อมจะมาเป็นเกษตรกรอย่างเต็มรูปแบบ จึงได้นำองค์ความรู้เหล่านั้นมาทำการทดลองในแปลงนาของตนเอง โดยมีการเก็บข้อมูลเชิงสถิติเสมอ เสมือนเป็นการนำความรู้ด้านวิชาการ มาลงมือปฏิบัติให้เห็นผลอย่างชัดเจน คุณนพดลยังบอกอีกว่า “การจะทำนาให้ประสบความสำเร็จนั้นไม่เพียงแต่พึ่งพาความรู้และประสบการณ์เท่านั้น แต่ยังต้องมีกระบวนการ การวางแผนและการจัดการพื้นที่นาของเราอีกด้วย ที่จะทำให้การทำนาของเรา ได้ผลผลิตตามที่เรานั้นตั้งเป้าหมายเอาไว้ ”
ถึงแม้การกลับมาเป็นเกษตรกรของคุณนพดลจะไม่ใช่การกลับมาปลูกข้าว ไถนา เกี่ยวข้าวเอง แต่คุณนพดลใช้ความรู้ของตนเข้ามาช่วยพัฒนาวางแผนการผลิต จากการศึกษา ทดลอง และลงมือทำจริง ทำให้ได้ข้าวมากกว่า 60 ถังต่อไร่ เข้ามาจัดพื้นที่การทำนา เลี้ยงไก่ การจัดการน้ำ จนกระทั่งปัจจุบัน คุณนพดลได้มีการรวมกลุ่มเกษตรกรผู้ทำนาบ้านช้างใหญ่ จนเกิดเป็นสหกรณ์ของชุมชน และยังพัฒนาพื้นที่ของตนเป็นศูนย์การเรียนรู้ทำนาแบบครบวงจรที่มีชื่อว่า ศูนย์ปราชญ์เกษตรบ้านช้างใหญ่อีกด้วย
เกียรติประวัติ : มาตรฐาน GAP
GAP(จี เอ พี) คือการปฎิบัติในการผลิตพืชเพื่อให้ผลผลิตได้มาตรฐานปลอดภัย ปลอดศัตรูพืช และมีคุณภาพดี หรือก็คือค่ามาตรฐานผลผลิต ซึ่งเป็นค่ามาตรฐานที่ออกโดยกรมวิชาการเกษตรและกรมการข้าว ซึ่ง GAP ย่อมาจาก Good Agriculture Practice แปลว่า การปฏิบัติการเกษตรที่ดี
แปลงนาอินทรีย์ เน้นสารชีวภัณฑ์เป็นหลัก ปลอดภัยทั้งคนกิน คนปลูก
นพดล สว่างญาติ
ศูนย์ปราชญ์เกษตรช้างใหญ่
ต.ช้างใหญ่
อ.บางไทร
จ.พระนครศรีอยุธยา
13290


