

"อาธัญฤทธิ์ ศรีเทวรักษณ์ : สวนพริกไทยอินทรีย์ จากเกษตรกรอินเตอร์"

อาจจะไปได้ไว
แต่ถ้าไปด้วยกัน
มันจะไปได้ไกลกว่า

คุณอาธัญฤทธิ์ ศรีเทวรักษณ์ เกษตรกรหนุ่มไฟแรง สวนพริกไทย จ.นครสวรรค์
"คนเดียวอาจจะไปได้ไว แต่ถ้าไปด้วยกันมันจะไปได้ไกลกว่า" ความสำเร็จของคุณอาธัญฤทธิ์ในวันนี้เป็นเพราะเขาไม่ได้เดินคนเดียว เขามีเพื่อนร่วมทีมที่สนับสนุนให้เขาเดินก้าวไปได้เรื่อย ๆ ตัวเขาเองก็พร้อมเป็นทีมสนับสนุนให้ผู้อื่นก้าวไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน เพราะฉะนั้นไม่ว่าใครต้องการข้อมูลหรือคำแนะนำอะไร เขายินดีที่จะเป็นฝ่ายสนับสนุนให้อย่างเต็มหัวใจ
ทุกวันนี้เขาเป็นสุขใจกับการเป็นเกษตรกร แม้วันนี้เขาจะมีอีกบทบาทหนึ่งเพิ่มขึ้นมา คือ การเป็นนักธุรกิจ แต่เขากลับสุขใจ และเวลาไปบรรยายที่ใดก็บอกว่าเป็นเกษตรกร มีใบเกษตรกร
เขาเชื่อว่า เกษตรเป็นเสมือนหัวใจของโลกนี้ ไม่มีใครบนโลกอยู่ได้โดยไม่กิน เพราะฉะนั้นพื้นฐานของโลกคือการเกษตร ทุก ๆ อย่างที่เราใช้ มันต้องมาจากการเกษตรก่อน ก่อนที่จะเป็นอุตสาหกรรม ถ้าไม่มีวัตถุดิบมันก็คงจะเกิดกระบวนการไม่ได้ เพราะฉะนั้นการเกษตรเปรียบเสมือนต้นน้ำของทุกอย่าง ทำให้มีของกิน ทำให้มีแรงไปสร้างสรรค์อะไรต่าง ๆ มากมายบนโลกนี้ เพราะฉะนั้นของกินก็คือเกษตร เกษตรก็คือชีวิต ก็คืออันเดียวกัน และเกษตรกรก็สามารถเป็นนักธุรกิจได้ ทุกวันนี้เขาเปิดบริษัททำเป็นโรงงานแปรรูปอาหาร เพื่อที่จะให้เกษตรกรมีทางเลือกในการเพิ่มมูลค่าสินค้า เราควรจะช่วยกันส่งเสริม เขาภูมิใจที่เป็นส่วนนี้ และขอให้เชื่อว่า ทำการเกษตรก็รวยได้ถ้าเราเข้าใจกลไกตลาด และศึกษาข้อมูลอยู่เสมอ
คำพูดนี้ยืนยันได้ด้วยรายได้ของคุณอาธัญฤทธิ์เอง สำหรับสวนพริกไทยครบวงจร ก็ตีไปงานละ 100,000 บาทเดือน ๆ หนึ่ง ทำยอด 3 ไร่ 1 ไร่ มี 4 งาน ก็เอา 3 × 4 แล้วก็คูณด้วย 100,000 บาทนี่ก็คือรายได้คร่าว ๆ ของคุณธัญฤทธิ์ต่อเดือน ส่วนพริกไทยแปรรูป พริกไทยดำตกกิโลละ 350-500 บาท ในกรณีขายปลีก คุณอาธัญฤทธิ์ส่งอยู่เดือนหนึ่งเฉลี่ยประมาณ 500 กิโลกรัม ถึง 1 ตัน ซึ่งรายได้นี้ยังไม่รวมที่ขายส่งอีก
เริ่มจากซื่อสัตย์และเดินไปด้วยกัน
สำหรับคุณอาธัญฤทธิ์ สิ่งที่เขายึดมั่นเลย คือ ความดี ความซื่อสัตย์ เขาคิดเสมอว่า ต้องซื่อสัตย์ต่อทั้งตัวเอง ซื่อสัตย์ต่อผู้บริโภค และซื่อสัตย์ต่อกลุ่มของเขา ต่อคนที่อยากจะให้เขาเข้ามาใช้มาซื้อของของเรา หรือมารวมกลุ่มทำไปเกษตรกับเรา เพราะว่าถ้าไม่ซื่อสัตย์ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องคุณภาพ การดูแลการเอาใจใส่ต่างๆ เราอาจจะไปคนเดียวได้ไว แต่ถ้าไปด้วยกันมันจะไปได้ไกลกว่า คำๆ นี้เป็นคำที่มีประสิทธิภาพจริงๆ
คุณธัญฤทธิ์เชื่อว่า การที่เขามาไกลขนาดนี้ เพราะเขามีทีมคอยช่วยเหลือ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการทำน้ำหมัก การทำมูล การทำปุ๋ยหมัก เราต่างเรียนรู้ซึ่งกันและกัน เราไม่รู้อะไรก็อาจจะได้รู้สิ่งที่เราไม่รู้จากคนอื่น และสิ่งที่สำคัญคือ ต้องพยายามศึกษาหาข้อมูลอยู่เสมอ เพราะโลกทุกวันนี้ถ้าเราไม่ศึกษาข้อมูลใหม่ ๆ เราอาจจะเป็นคนที่เดินถอยหลังก็ได้ เพราะฉะนั้นการหมั่นศึกษาหาความรู้จึงเป็นสิ่งที่สำคัญ
ส่วนใครก็ตามที่อยากมาทำการเกษตร เขาแนะนำให้หาข้อมูลให้เพียงพอก่อน ลองทำเล็ก ๆ ก่อนว่าตัวเองชอบไหม ถ้าลองแล้วชอบ คุณทนความเหนื่อยได้ไหม มีวินัยรึเปล่า ถ้าสามอย่างนี้ผ่านแสดงว่าคุณทำได้ เริ่มทำได้ หลังจากนั้นก็ศึกษาตลาดว่าตลาดนี้อยู่ที่ไหนบ้าง เราจะเพิ่มมูลค่ามันอย่างไรได้บ้าง และผลผลิตที่เราจะส่งมีมากแค่ไหน ต้องวางแผนไว้ก่อน สำคัญเลยต้องวางแผนว่าจะปลูกอะไร ทำอะไร ขายที่ไหน ขายให้ใคร เพราะว่าสิ่งนี้จะเป็นเหมือนเราสร้างของบางอย่างขึ้นมาแล้ว เราต้องมีที่จำหน่าย ดีกว่าเราสร้างมาแล้วเก็บไว้ใช้เอง
ใช้หนึ่งอย่างสองอย่างมันก็พอใช้ได้ แต่ถ้าสามสี่อย่างขึ้นไป มันก็เป็นค่าใช้จ่าย เพราะฉะนั้นอยากให้วางแผนดีกว่า แล้วก็พยายามศึกษาหรือสอบถามข้อมูล ถ้าสนใจทำพริกไทย มาสอบที่เขาได้เลย มาได้ตลอดเพราะเขาก็อยากให้ทุก ๆ ส่วนที่ทำเกษตร เป็นที่ปรึกษาให้กับทุก ๆ คนได้เหมือนกัน เพราะว่ายิ่งเราช่วย ๆ กันยิ่งทำให้ประเทศเราพัฒนาขึ้น เราจะมีฐานข้อมูล แนวคิดใหม่ ๆ เพิ่มขึ้นอีกมากมาย ถ้าเราช่วยกันค้นคว้าและแบ่งปันกัน
พริกไทย เป็นทั้งของปรุงรส และสมุนไพรไทย
คุณมาถึงจุดนี้..ได้อย่างไร
คุณอาธัญฤทธิ์ หรือคุณตี้เจ้าของสวนพริกไทยอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์แปรรูปต่างๆ แต่เดิมเคยทำนามาก่อน แล้วมีรถตัดข้าวโพด ออกรับจ้างทั่วไป หลังจากนั้นเปลี่ยนกิจการมาปลูกพืช ก็เลยใช้พริกไทยเป็นพืชอีกทางเลือกหนึ่ง เพื่อที่จะมาทำการแปรรูป เพราะว่าตัวเขาเองก็มีโรงงานแปรรูปของตัวเองอยู่ด้วย
ตอนที่เปลี่ยนมาปลุกพริกไทย เขามอง ๆ อยู่ไว้หลายชนิดเหมือนกัน แต่มาตัดสินใจเลือกปลูกพริกไทย เพราะการดูแลไม่ยาก พริกไทยนี่อาทิตย์หนึ่งเข้าสวนแค่ครั้งหนึ่งก็ได้ ในช่วงแรก ๆ มาวัดยอดมัน พอหลังจากนั้นก็มาดูว่ามีเพลี้ยรบกวนไหม มีแมลงรบกวนรึเปล่า แต่หลัก ๆ แล้วเขาจะฉีดพวกสารชีวภาพทุก 15 วัน มันก็เลยไม่ค่อยมีอะไรมากวนเท่าไหร่ ถือว่าเป็นการปลูกพืชที่ดูแลง่าย สะดวกต่อการดูแลสำหรับเขาเอง
ในตอนแรกเริ่มที่ปลูก เขายังใช้สารเคมีปกติ แต่คุณแม่ของเขาแพ้สารป้องกันศัตรูพืช สารกำจัดเชื้อรา และตัวเขาเองก็แพ้ด้วย ได้กลิ่นแล้วเวียนหัว ก็เลยมาทำอินทรีย์ดีกว่า และผลก็ใช้ได้เหมือนกัน ที่ดีกว่าคือต้นทุนถูกกว่า เพราะบางอย่างสามารถหมักเองได้
หลังจากที่เขาลองใช้ปุ๋ยอินทรีย์ เขาได้บันทึกผล ว่าใช้แล้วเป็นอย่างไร ดีไหม รอดไหม สรุปว่ามันใช้ได้ดีเลยทีเดียว ตอนนี้เขาปลูกแบบอินทรีย์มาปีกว่าแล้ว ตั้งแต่เลิกใช้สารเคมี พริกไทยก็เติบโตดี ใครมาเห็นก็ตกใจว่านี่อินทรีย์หรอ ทำไมมันถึงได้งามขนาดนี้ เขาสามารถยืนยันได้เลยว่าทำอินทรีย์จริงๆ แล้วทุกวันนี้เวลาที่เดินเข้าสวนเนี่ย หายใจได้เต็มปอดเลยทีเดียว
พันธุ์พริกไทยพันธุ์แรกที่เขาเลือกมาปลูกที่สวนเป็นพันธุ์ที่ได้มาจากประเทศศรีลังกา คือพันธุ์ซีลอน แต่ก็เพาะพันธ์ขยายพันธุ์ในประเทศไทยนี่เอง ที่เลือกพันธุ์ซีลอนเพราะว่ามันออกผลผลิตได้เยอะกว่า อีกพันธุ์หนึ่งที่ใช้คือพันธุ์ซาลาวัค แต่พันธุ์ซีลอนเขาโตเร็ว ขยายพันธุ์ง่าย ผลผลิตต่อหนึ่งหลักมันเยอะกว่าอีกสายพันธุ์หนึ่งแล้วก็กินอ่อนได้ ตอนนี้เขาปลูกพริกไทยไปแล้วทั้งหมด 2 ไร่ ถ้านับเป็นหลักก็ประมาณ 800 - 1,000 หลัก เพราะว่าในหนึ่งงานเขาปลูกได้ 100 หลัก แต่เขาปลูกด้านข้างด้วย เพื่อที่จะให้มันมีการหมุนเวียนของตัวต้นพันธุ์แล้วก็ของผลผลิต แล้วก็ปลูกไล่ระดับไปแต่ละช่วง
หลังจากนั้นใช้สารชีวภาพไล่แมลง จะเป็นพวกน้ำหมักสมุนไพร น้ำส้มควันไม้ ถ้าตัวบำรุงก็จะใช้พวกปุ๋ยปลาหมัก ฮอร์โมนไข่ น้ำหมักชีวภาพที่ช่วยบำรุงน้ำหมักผลไม้อะไรประมาณนี้ จะใช้เป็นประจำทุก 15 วัน เพราะปุ๋ยอินทรีย์สามารถใช้ได้เรื่อย ๆ แต่เว้นช่วงใช้ แต่ต้องใช้ประจำ ไม่ขาดการใช้
พริกไทยเป็นพืชที่มีลักษณะเป็นไม้เถา รากแผ่กระจาย ทรงพุ่มรอบต้น ระยะห่างของแขนที่ยื่นออกไปประมาณ 80 เซนติเมตร ระยะที่เขาปลูกก็คือ 2 × 2 เมตร จะมีทางเดินเหลือประมาณเมตรหนึ่ง เป็นพืชที่ไม่ชอบอากาศร้อนมาก เวลาปลูกจะใช้แสลนกรองแสงอยู่ที่ประมาณ 60-70 % อุณหภูมิที่เหมาะสมกับพริกไทยก็คือตั้งแต่ 20-40 องศาเซลเซียส แต่ไม่ควรเกิน 40 องศา
แต่ที่ผ่านมา สวนพริกไทยของคุณอาธัญฤทธิ์ก็เจอร้อนมาเหมือนกัน แต่ถือว่ายังใช้ได้ เพราะว่าเขาใช้ระบบหญ้าคลุมดินเพื่อให้มันชื้น ปกติเขาใช้ปุ๋ยอินทรีย์อยู่แล้ว ไม่ได้ฆ่าหญ้า ใช้วิธีตัด ไม่ถอน ตัดเอาเหมือนสนามฟุตบอลเพื่อที่จะให้มันเก็บความชื้น อากาศข้างในก็เลยเย็น พริกไทยก็เลยเติบโตได้
เวลาที่เก็บเกี่ยวผลผลิต พืชเขาต้องการแสง ตัวแสลนที่บังแสงไว้จะไม่ยึดตายตัว พอต้องการให้มันออกผลผลิต คุณธัญฤทธิ์ก็หุบแสลนเพื่อให้เขาได้สังเคราะห์อาหาร สร้างผลผลิต และพอมันออกฝักออกช่อมาแล้ว หากกลัวว่าเกสรมันจะแห้งไป ก็หุบแสลนเพื่อให้เขาเลี้ยงฝักได้ เป็นการดูแลและเก็บเกี่ยวโดยปกติ ปกติปลูกไปปีกว่า ๆ เขาก็เริ่มออกผลผลิต ต้องดูที่ความสมบูรณ์ของต้นว่ามันแก่พอหรือยัง เพราะว่าบางครั้งคนดูแลอาจจะไม่ได้ตัดแต่งกิ่ง มันอาจจะออกแต่ยอดจนเกินไป พอออกยอดปุ๊บต้นมันยังไม่แก่ก็ยังให้ผลผลิตไม่ได้ โดยธรรมชาติแล้วที่เขานิยมไว้กันก็คือหลังจากสองปีขึ้นไปแล้ว ต้นมันจะแก่ เวลาที่มันออกฝัก ต้นจะไม่โทรม สามารถให้ผลผลิตได้ แต่ถ้ามันอ่อนมากกว่านั้น แค่ปีกว่า พอมันออกฝัก ได้เก็บฝักก็จริง เก็บผลผลิตแล้ว ต้นมันจะเริ่มโทรมแล้วก็ไม่ต้านทานโรค ก็เลยเป็นสาเหตุที่ว่าเขาจะทิ้งกันไว้สองปี บำรุงต้น ตัดแต่งกิ่งแล้วค่อยปล่อยให้ออกฝัก ให้มันได้ปริมาณมาก ๆ และต้นจะไม่โทรม
เมื่อเก็บเกี่ยวแล้ว พริกไทยพันธุ์ซีลอนของคุณอาธัญฤทธิ์นำไปจัดจำหน่ายได้หลายรูปแบบ คือ หลังจากที่เก็บเกี่ยวมันจะมีช่วงทำเป็นพริกไทยอ่อน คือผลมันจะอายุไม่ถึงหกเดือน สามารถบริโภคสดได้เลย หลังจากที่เก็บพริกไทยอ่อนไปในระดับหนึ่งแล้ว ก็ปล่อยให้มันเป็นสีเขียวเข้มเรียกว่าพริกไทยแก่เข้ากะลา อันนี้เอาไปตากแล้วก็นวดเพื่อที่จะทำเป็นพริกไทยดำ พอทำเป็นพริกไทยดำแล้ว จะมาทำพริกไทยขาวก็คือใช้ตัวของพริกไทยดำนี่แหละ เอามาแช่น้ำเพื่อให้เปลือกมันยุ่ย แล้วก็เอาเปลือกออก กลายเป็นพริกไทยขาว เพราะว่าถ้ามันเป็นพริกไทยอ่อนแล้วเอามาตากแดดทำดำ มันไม่สามารถทำพริกไทยขาวได้เพราะว่าเม็ดข้างในมันไม่แข็ง จะทำพริกไทยขาวไม่ได้ แต่ถ้าเป็นพริกไทยที่มันแก่หรือสุกแล้วที่เป็นสีแดงเนี่ย จะทำเป็นพริกไทยขาวได้เลย
ทางด้านการขยายพันธุ์ สำหรับพริกไทยเวลาที่เขาขยายพันธุ์ เขาสามารถที่จะใช้เมล็ดก็ได้หรือจะใช้กิ่งตอนก็ได้ แต่ส่วนใหญ่แล้วจะใช้กิ่งตอนมากกว่า เพราะว่าเม็ดขยายพันธุ์ค่อนข้างยาก นอกจากจะเป็นคนที่เชี่ยวชาญจริง ๆ แต่ที่สวนของคุณอาธัญฤทธิ์จะใช้กิ่งตอนก่อน เพราะว่าจะสามารถเห็นว่าในตัวกิ่งมันออกรากแล้วหรือยัง หลังจากที่ออกรากแล้ว ก็ตัดลงมา แล้วก็มาลงถุงดำอีกทีหนึ่ง เพื่อให้มันเกิดรากสองชั้น หรือถ้าใครพื้นที่ที่สูงหน่อยที่ระบายน้ำได้ดี ก็จะตัดกิ่งตอนนี่ลงไปปลูกที่ดินเลย ก็ขึ้นได้เหมือนกันแต่ความแข็งแรง เขาแนะนำเป็นถุงดำจะแข็งแรงกว่า เพราะว่ามีรากจากต้นตอแล้วก็เอาไปใส่ถุง มันก็เลี้ยงรากไปอีกระดับหนึ่งก็จะแข็งแรง ปลูกแล้วโอกาสรอดสูงไม่ค่อยมีปัญหาอะไร
ส่วนโรคของพริกไทยส่วนใหญ่มากับความชื้นที่มากเกินไป ส่วนใหญ่ที่เราเจอหลัก ๆ เลยจะเป็นโรครากเน่าโคนเน่าที่เรียกว่าเชื้อรา ไฟท็อปเทอร่า(phytophthora) เกิดจากปริมาณฝนที่มากเกินไป แล้วบริเวณตัวโคนของพริกไทยมีน้ำขัง ทำให้รากขาดออกซิเจนจนรากเน่าเป็นเชื้อราขึ้นมา วิธีป้องกันที่เขาใช้ส่วนใหญ่จะเป็นการใช้ไตรโคเดอร์ม่า แล้วก็พวกน้ำหมักที่ช่วยป้องกันเชื้อรา รวมถึงแสลนที่เราเอาบังแสงตอนช่วงอากาศร้อน แต่ถ้าฝนตกมาก ๆ จะหุบแสลนเพื่อให้พื้นระบายอากาศได้ดี แล้วพื้นเราจะไม่ตัดหญ้า จะใช้หญ้าเป็นผู้พิทักษ์โคนเพื่อไม่ให้เชื้อโรคและเชื้อราต่างๆเข้าสู่ระบบรากของพริกไทยได้ง่าย ถ้ามีหญ้าขึ้นก็ตัดสั้น ๆ ก็พอแล้ว แล้วส่วนแมลงที่เจอส่วนใหญ่จะเป็นแมลงที่มาจากเพลี้ยแป้ง แล้วก็พวกเพลี้ยเกล็ด พวกนี้วิธีการที่ใช้ของอินทรีย์กับพริกไทยก็คือการใช้เชื้อราบีที น้ำส้มควันไม้ น้ำหมักไล่แมลง ที่หมักเองส่วนใหญ่ก็จะเป็นพวกเหล้าขาว ยาฉุน เครื่องแกงผงพะโล้เพื่อให้มันมีกลิ่นขับไล่แมลงไป
ผลงาน...
-สวนพริกไทยได้รับจดการจดทะเบียนออร์แกนิคไทยแลนด์เรียบร้อยแล้ว
-อนุกรรมการ หอการค้าจังหวัดนครสวรรค์ โครงการคัดเลือกเพื่อที่จะแปรรูป---สินค้าเกษตร และคัดเลือกสินค้าเกษตรเพื่อเข้าโครงการ ผู้ประกอบการ SME ของสสว.
-วิทยากรนะครับของ PepInter
-วิทยากรพิเศษตามมหาลัยต่าง ๆ ที่ได้เชิญไปบรรยายเกี่ยวกับการทำเกษตรยุคใหม่
เป็นสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยา เป็นราชาแห่งเครื่องเทศที่มีรสชาติเผ็ดร้อน
นายอาธัญฤทธิ์ ศรีเทวรักษณ์
อยู่บ้านเลขที่ 98/9 หมู่ 5
ต.บึงปลาทู อ.บรรพตพิสัย
จ.นครสวรรค์ 60180
โทร. 0979249993


